รู้จักการทำ “เด็กหลอดแก้ว” ความหวังสำหรับผู้มีบุตรยาก


เด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?​ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?​ มีโอกาสสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์? ใครสามารถทำเด็กหลอดแก้วได้?​ มีผลข้างเคียงไหม? ราคาเท่าไร?​ ทำที่ไหนดี? รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF อ่านได้ที่นี่

ครอบครัวใดที่ต้องการทำไอวีเอฟ (IVF) หรือเด็กหลอดแก้ว แต่ยังไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี หรือกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้วเพื่อประกอบการตัดสินใจ ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาคุณไปทำความรู้จักกับการทำเด็กหลอดแก้วตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย!

เลือกอ่านหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)

เด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร?

การปฏิสนธินอกร่างกาย (In-Vitro fertilization: IVF) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เด็กหลอดแก้ว” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ โดยการเก็บไข่ที่สุกเต็มที่แล้วออกมานอกร่างกายฝ่ายหญิง แล้วนำไปผสมกับเชื้ออสุจิของฝ่ายชายในหลอดทดลอง หรือจานแก้วที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อนอยู่

หลังจากนั้น 14-16 ชั่วโมง แพทย์จะตรวจดูการปฏิสนธิว่าปกติดีหรือไม่ และเลี้ยงไข่ต่อไปอีก 1 วัน เพื่อให้ไข่กลายเป็นตัวอ่อน (Embryo) รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง

เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะคัดเลือกตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพ 1-4 ตัว ย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเติบโตในครรภ์มารดาต่อไป โดยสาเหตุที่ย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกหลายตัวก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตั้งครรภ์นั่นเอง

เด็กหลอดแก้ว (IVF) มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์กี่เปอร์เซ็นต์?

American Pregnancy Association ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราความสำเร็จจากการตั้งครรภ์ด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วในสหรัฐอเมริกา ดังนี้

  • ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 41-43%
  • ผู้หญิงอายุ 35-37 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 33-36%
  • ผู้หญิงอายุ 38-40 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 23-27%
  • ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 13-18%

จะเห็นได้ว่า อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์จะลดลงตามอายุของมารดา แต่นอกจากอายุแล้ว ความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น ประวัติการตั้งครรภ์ สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก หรือปัจจัยการดำเนินชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก แพทย์จะย้ายตัวอ่อนพร้อมกันหลายตัวเพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดครรภ์แฝดตามมาด้วย

ใครที่สามารถทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้?

การทำเด็กหลอดแก้วสามารถใช้เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากในกลุ่มคนต่อไปนี้ได้

  • ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยวิธีปกติได้ภายใน 6 เดือน
  • ผู้หญิงที่มีปัญหาท่อนำรังไข่อุดตัน เสียหาย หรือเคยผ่าตัดท่อนำรังไข่ออกไปแล้ว
  • ผู้หญิงที่มีภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร (Premature ovarian failure: POV) ภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorders) หรือเนื้องอกที่มดลูก (Uterine fibroids)
  • ผู้ชายที่มีอสุจิอ่อนแอ เคลื่อนไหวได้น้อย มีรูปร่างผิดปกติ มีจำนวนอสุจิน้อยเกินไป (น้อยกว่า 2 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร) หรือมีความผิดปกติในการหลั่งอสุจิ
  • ผู้ที่มีประวัติตั้งครรภ์ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาก่อน หรือมีประวัติแท้งบุตรติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ที่ทำการแช่แข็งไข่เอาไว้ (Frozen eggs)

อยากทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ครอบครัวที่ต้องการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป คัดกรองโรคทางพันธุกรรม และตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น

  • ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ตรวจหมู่เลือด ตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม หรือโรคติดต่อที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็ก เช่น เอชไอวี (HIV) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบี หรือซี
  • ฝ่ายหญิง ตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดเพื่อดูมดลูกและรังไข่ ส่องกล้องดูโพรงมดลูกและท่อนำรังไข่ หรือจำลองการส่งตัวอ่อนเข้ามดลูก
  • ฝ่ายชาย ตรวจความสมบูรณ์ของอสุจิ โดยดูรูปทรง ขนาด และปริมาณของอสุจิ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจเลือกวิธีการผสมเทียมที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
เด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?​ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?​ มีโอกาสสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์? ใครสามารถทำเด็กหลอดแก้วได้?​ มีผลข้างเคียงไหม? ราคาเท่าไร?​ ทำที่ไหนดี? รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF อ่านได้ที่นี่

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เป็นอย่างไร?

กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ มี 5 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นรังไข่

แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ออกมามากกว่า 1 ฟอง และใช้ยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนกำหนด โดยสามารถเลือกมาฉีดยาที่โรงพยาบาลทุกวัน หรือฉีดเองที่บ้านก็ได้ แต่จะต้องเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่อยู่เสมอ

ตัวอย่างยาฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้กระตุ้นรังไข่

  • Luteinizing hormone (LH) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในเพศหญิง ทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา
  • Follicle stimulating hormone (FSH) เป็นฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่มากขึ้น
  • Gonadotropin-Releasing Hormone (GnRH Antagonist) ช่วยป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนกำหนด จะฉีด 2-4 วันหลังจากฉีดยากระตุ้นรังไข่
  • Human Chorionic Gonadotropin (hCG) แพทย์จะฉีดในตอนที่ไข่มีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกภายใน 24-36 ชั่วโมง

ข้อควรระวังในการใช้ยาฮอร์โมนสังเคราะห์กระตุ้นรังไข่: การใช้ยาฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์เเปรปรวน ร้อนวูบวาบ หรือท้องอืด ผู้เข้ารับการกระตุ้นรังไข่จึงควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อรับมือกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 เก็บไข่

ขั้นตอนนำไข่ออกมาจากรังไข่ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เก็บไข่” จะทำภายใต้การดมยาสลบ โดยแพทย์จะใช้หัวอัลตราซาวด์ที่มีหัวเข็มสอดเข้าไปในรังไข่เพื่อดูดไข่ออกมา

หลังจากนั้นแพทย์จะนำไข่ไปแช่ไว้ในของเหลวสำหรับเพาะเลี้ยง (Nutritive liquid) เพื่อรอผสมกับอุสจิจนเกิดเป็นตัวอ่อน

สำหรับใครที่อยากรู้ขั้นตอนการกระตุ้นรังไข่และเก็บไข่โดยละเอียด อ่านรีวิวจากผู้ใช้จริงได้ที่ รวมรีวิวฝากไข่ แช่แข็งไข่ ประสบการณ์จริงจาก HDreview

ขั้นตอนที่ 3 เก็บสเปิร์ม หรือเชื้ออสุจิ

การเก็บเสปิร์ม (Sperm) หรือเชื้ออสุจิจะทำในวันเดียวกับที่เก็บไข่เลย โดยหากฝ่ายชายมีการหลั่งอสุจิปกติ แพทย์ก็จะให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายชายไม่สามารหลั่งอสุจิได้ตามปกติ แพทย์จะใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในลูกอัณฑะเพื่อดูดอสุจิออกมาโดยตรง เรียกวิธีการนี้ว่า “ทีซ่า” (Testicular Sperm Aspiration: TESA)

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิสนธินอกร่างกาย

การปฏิสนธินอกร่างกายโดยทั่วไปแล้ว สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

  • การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ตามปกติ ในกรณีที่ได้เชื้ออสุจิสมบูรณ์ดี มีปริมาณที่เหมาะสม แพทย์จะนำไปผสมกับไข่ในหลอดแก้ว หรือจานทดลองที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อนอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมของเด็กหลอดแก้ว
  • การทำอิ๊กซี (Intracytoplasmic sperm injection: ISCI) ในกรณีที่มีเชื้ออสุจิที่แข็งแรงน้อยมาก แพทย์จะคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ จำนวน 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ โดยตรง

หลังจากที่ไข่กับเชื้ออสุจิทำการปฏิสนธิกันแล้ว แพทย์จะนำไปเพาะเลี้ยงตัวอ่อนต่อไป ใช้ระยะเวลาประมาณ​ 3-5 วัน

ในขั้นตอนการเลี้ยงตัวอ่อนนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนระยะก่อนฝังตัว (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) เพิ่มเติม เพื่อตรวจความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, 21, X และ/หรือ Y ด้วย

การตรวจ PGD นั้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายถอดความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ในผู้ที่ตั้งครรภ์ตอนมีอายุมาก (35 ปีขึ้นไป) มีประวัติความผิดปกติด้านพันธุกรรมในครอบครัว หรือในกรณีที่คู่สมรสเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรม

ขั้นตอนที่ 5 การย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก (Embryo Transfer: ET)

การย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกจะทำหลังจากที่ไข่ปฏิสนธิ 2-5 วัน

โดยแพทย์จะสอดสายสวนที่บรรจุตัวอ่อนไว้ 1 ตัวขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ร่วมกับผู้เข้ารับการทำเด็กหลอดแก้ว) เข้าไปในช่องคลอด แล้วปล่อยตัวอ่อนไว้ที่บริเวณโพรงมดลูก โดยตัวอ่อนจะฝังเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูกภายในระยะเวลา 6-10 วัน หลังการเก็บไข่

หลังจากที่ย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกเสร็จแล้ว แพทย์จะให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพื่อพยุงการตั้งครรภ์ ซึ่งมีทั้งแบบรับประทาน และแบบสอดช่องคลอด

เด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?​ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?​ มีโอกาสสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์? ใครสามารถทำเด็กหลอดแก้วได้?​ มีผลข้างเคียงไหม? ราคาเท่าไร?​ ทำที่ไหนดี? รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF อ่านได้ที่นี่

หลังทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ต้องดูแลตนเองอย่างไร?

หลังจากที่ย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว คุณสามารถเลือกได้ว่าจะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล หรือกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านก็ได้ โดยในระหว่างนั้นจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่สด สะอาด ถูกหลักอนามัย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน
  • รับประทานยาฮอร์โมนที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • พยายามไม่เครียด หรือกดดันจนเกินไป โดยการหากิจกรรมยามว่างทำ เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากงดไม่ได้ ให้ดื่มไม่เกินวันละ 1 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การออกกำลังกายหนัก และการนั่งรถนานๆ
  • หลีกเลี่ยงการอบซาวน่า หรือสมุนไพร
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

หลังจากนั้น แพทย์จะนัดตรวจเลือด ภายใน 12-14 วัน หลังการเก็บไข่ เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ หากพบว่าตั้งครรภ์ก็จะส่งให้สูติแพทย์ดูแลต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ตั้งครรภ์ แพทย์จะให้หยุดยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยประจำเดือนควรจะมาภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าหากประจำเดือนไม่มา หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก ได้แก่

  • อาจมีของเหลวใส หรือเลือด ไหลออกมาเล็กน้อย หลังทำหัตถการ
  • อาจมีอาการท้องอืด หรือตะคริวเล็กน้อย
  • อาจมีอาการท้องผูก
  • อาจมีอาการเจ็บ หรือคัดตึงบริเวณเต้านม เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอวันนัดหมาย ได้แก่

  • เลือดออกทางช่องคลอด
  • มีเลือดในปัสสาวะ
  • ปวดกระดูกเชิงกราน
  • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส
ราคาทำเด็กหลอดแก้ว

การทำ ICSI และ IMSI เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)

การทำ ICSI และ IMSI เป็นส่วนหนึ่งของการทำเด็กหลอดแก้ว อยู่ในขั้นตอนการปฏิสนธินอกร่างกาย จะใช้ก็ต่อเมื่อการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการปกติไม่ประสบผลสำเร็จ มีรายละเอียดดังนี้

ICSI (Intracytoplasmic sperm injection)

ISCI คือการที่แพทย์คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดด้วยวิธีการส่องกล่องจุลทรรศน์จำนวน 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ โดยตรง ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการปฏิสนธิได้ประมาณ 90%

อย่างไรก็ตาม มีอัตราการสำเร็จในการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 32% เพราะหลังจากไข่กับอสุจิปฎิสนธิกันแล้ว มีโอกาสที่ไข่จะเสียหาย ไม่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน หรือตัวอ่อนอาจหยุดการเจริญเติบโตได้

IMSI (Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection)

IMSI คือเทคโนโลยีการคัดเลือกอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง 6,000 เท่า มากกว่าการคัดเลือกอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ เทคนิค ICSI ที่มีกำลังขยายเพียง 200-400 เท่า ทำให้สามารถเห็นลักษณะรูปร่างของตัวอสุจิได้ละเอียดกว่า

การทำ IMSI นั้น จะใช้ก็ต่อเมื่อการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีปกติ หรือใช้เทคนิคพิเศษ ICSI ในการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเจาะจง แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์

ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ราคาเท่าไร ทำที่ไหนดี?

ราคาการทำเด็กหลอดแก้ว เริ่มต้นที่ 150,000-300,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่มักรวมค่าตรวจประเมินภาวะมีบุตรยาก การกระตุ้นรังไข่ เก็บไข่ รวมไปถึงการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่เคยฝากไข่มาก่อน อาจเสียแค่ค่าละลายตัวอ่อนและย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกเท่านั้น มีราคาประมาณ​ 30,000-50,000 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจทำเด็กหลอดแก้ว HDmall.co.th ได้รวบรวมแพ็กเกจทำเด็กหลอดแก้วจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำไว้ที่นี่แล้ว สามารถเปรียบเทียบแพ็กเกจและราคาทำเด็กหลอดแก้วล่าสุดได้ที่นี่เลย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไลน์ @hdcoth มีน้องจิ๊บใจดีให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลาเก้าโมงเช้าถึงตีหนึ่ง!

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับการทำเด็กหลอดแก้ว

ที่มาของข้อมูล

American Pregnancy Association, IVF – In Vitro Fertilization (https://americanpregnancy.org/getting-pregnant/infertility/in-vitro-fertilization/), 14 October 2021.

NHS, IVF (https://www.nhs.uk/conditions/ivf/), 14 October 2021.

Mayo Clinic, In vitro fertilization (IVF) (https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/in-vitro-fertilization/about/pac-20384716), 14 October 2021.

@‌hdcoth line chat