ตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมสุขภาพแม่และเด็ก


ตรวจการตั้งครรภ์

หากคุณกำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์หรือไม่ คุณสามารถเลือกตรวจการตั้งครรภ์ได้หลายรูปแบบ โดยสามารถตรวจเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง และควรตรวจยืนยันผลที่ชัดเจนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพของตนเองและลูกน้อย วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจการตั้งครรภ์มาฝากกัน


เลือกอ่านข้อมูลตรวจการตั้งครรภ์ได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ตรวจการตั้งครรภ์มีกี่วิธี?

การตรวจการตั้งครรภ์ จะเป็นการตรวจหาจากฮอร์โมนฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกสร้างจากรกของตัวอ่อนหลังจากปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ และฝังตัวที่ผนังมดลูกประมาณ 6 วัน และปริมาณฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุก 2-3 วัน จึงทำให้สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้จากน้ำปัสสาวะและเลือด โดยสามารถแบ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นด้วยตัวเอง 4 วิธี และการตรวจในห้องปฏิบัติการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 วิธี ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองแบบจุ่ม (Test Strip)

การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้จะใช้ชุดอุปกรณ์เพียง 2 ชิ้น ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์และถ้วยตวง วิธีการใช้คือ ปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3-5 วินาที จากนั้นนำแผ่นทดสอบออกมาจากถ้วยตวง โดยถือไว้หรือวางไว้ในแนวนอนบนพื้นผิวที่แห้งสนิท แล้วรออ่านผลประมาณ 5 นาที

ข้อดีของการตรวจครรภ์แบบจุ่ม

  • ราคาถูกกว่าการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองแบบอื่นๆ
  • ใช้งานง่าย
  • ราคาถูกกว่าการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองแบบอื่นๆ

ข้อเสียของการตรวจครรภ์แบบจุ่ม

  • ต้องใช้ความระมัดระวังสูง โดยขณะจุ่มต้องระวังไม่ให้น้ำปัสสาวะสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ เพื่อไม่ให้แผ่นทดสอบเสื่อมสภาพ
  • มีความยุ่งยากในการตวงปัสสาวะ

การตรวจครรภ์แบบจุ่มเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการทราบผลการตั้งครรภ์เบื้องต้น
เช็กราคาตรวจการตั้งครรภ์

2. ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองแบบหยดหรือแบบตลับ (Pregnancy Test Cassette)

การตรวจครรภ์ด้วยวิธีนี้จะใช้ชุดอุปกรณ์ 3 ชิ้นประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ วิธีการใช้คือ ปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับไว้บนพื้นราบประมาณ 5 นาที เพื่อรออ่านผล

ข้อดีของการตรวจครรภ์แบบหยด

  • ราคาถูก และใช้งานง่าย
  • ไม่ต้องใช้แผ่นทดสอบ จึงช่วยลดโอกาสที่แผ่นทดสอบจะเสื่อมสภาพจากการดูดซับปัสสาวะได้

ข้อเสียของการตรวจครรภ์แบบหยด

  • มีความยุ่งยากในการตวงปัสสาวะ
  • มีความยุ่งยากในการจัดเก็บและการทิ้งปัสสาวะ

การตรวจครรภ์แบบหยดเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการทราบผลการตั้งครรภ์เบื้องต้น

3. ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองแบบปากกาหรือแบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests)

วิธีนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะใช้งานง่าย โดยมีอุปกรณ์เพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออก โดยถือแท่งตรวจครรภ์ให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นถือหรือวางแท่งตรววจครรภ์ไว้ในแนวราบ รออ่านผลประมาณ 3-5 นาที

ข้อดีของการตรวจครรภ์แบบปากกา

  • ใช้งานง่าย
  • อุปกรณ์ที่ใช้ตรวจเก็บทิ้งสะดวก
  • ลดความยุ่งยากในการตวงปัสสาวะ

ข้อเสียของการตรวจครรภ์แบบปากกา

  • มีราคาแพงกว่าที่ตรวจครรภ์แบบหยดและแบบจุ่ม

การตรวจครรภ์แบบปากกาเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการทราบผลการตั้งครรภ์เบื้องต้น

4. ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองแบบดิจิตอล (Digital Pregnancy Test)

การตรวจครรภ์วิธีนี้ประกอบไปด้วยอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว คือแท่งสำหรับตรวจครรภ์ที่เป็นแบบดิจิตอล มีลักษณะคล้ายกับที่ตรวจครรภ์แบบปากกา ให้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำเพราะแสดงผลแบบจอดิจิตอล วิธีการใช้คือถอดฝาครอบแท่งตรวจครรภ์ออก โดยถือให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น จากนั้นปัสสาวะผ่านให้โดนบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าลูกศร ประมาณ 5-30 วินาที เพื่อให้ที่ตรวจครรภ์มีความชุ่มเพียงพอ ถือหรือวางแท่งทดสอบไว้ในแนวราบ และรออ่านผลอีกประมาณ 3-5 นาที

ข้อดีของการตรวจครรภ์แบบดิจิตอล

  • ใช้งานง่าย
  • ลดความยุ่งยากในการตวงปัสสาวะ
  • ให้ผลที่ค่อนข้างแม่นยำเพราะแสดงผลแบบจอดิจิตอล

ข้อเสียของการตรวจครรภ์แบบดิจิตอล

  • มีราคาแพงกว่าที่ตรวจครรภ์ด้วยตนเองแบบอื่นๆ

การตรวจครรภ์แบบดิจิตอลเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่ต้องการทราบผลการตั้งครรภ์เบื้องต้น

5. ตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะ (Urine Pregnancy Test: UPT)

เป็นการตรวจครรภ์จากปัสสาวะโดยส่งตรวจในห้องแลบ โดยจะทำการวิเคราะห์ผลโดยนักเทคนิคการแพทย์ โดยผู้ต้องการตรวจต้องนำส่งปัสสาวะภายใน 1 ชั่วโมง หรือเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วรีบนำส่งภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการจะมีขั้นตอนคล้ายกับที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม หรือที่ตรวจครรภ์แบบหยด แต่สามารถตรวจฮอร์โมน HCG ที่มีระดับต่ำได้ เพราะที่ตรวจของโรงพยาบาลหรือคลินิก มี SENSITIVITYสูง (20-25 MIU/ML)

ข้อดีของการตรวจ UPT

  • สามารถตรวจฮอร์โมน HCG ที่มีระดับต่ำได้
  • ราคาไม่แพง
  • เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก

ข้อเสียของการการตรวจ UPT

  • ต้องรีบนำส่งปัสสาวะภายใน 1 ชั่วโมง หรือเก็บไว้ตู้เย็น แล้วนำส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
  • ในบางครั้งการตรวจปัสสาวะคลาดเคลื่อน เนื่องจากอาจเก็บปัสสาวะในช่วงเย็น ทำให้อาจมีการปนเปื้อนสารอื่นๆ จากอาหารหรือยาที่รับประทานระหว่างวัน นอกจากนี้หากดื่มน้ำมากเกินไป ก็อาจทำให้ฮอร์โมน HCG เจือจางจนตรวจไม่พบการตั้งครรภ์

การตรวจ UPT เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่มีผลข้างเคียงจากการเจาะเลือด เช่น รอยเขียวช้ำ
  • ผู้ที่ต้องการตรวจแบบง่าย สะดวก ค่าใช้จ่ายไม่สูง

6. ตรวจการตั้งครรภ์แบบเจาะเลือด (Blood Test)

เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจครรภ์ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำสูง ผลการตรวจเลือดไม่เพียงบอกว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องหรือไม่ และยังสามารถตรวจระดับปริมาณฮอร์โมน HCG ที่ระบุอายุครรภ์ได้อีกด้วย เพราะระดับปริมาณฮอร์โมน HCG จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ ซึ่งวิธีนี้ หากค่า HCG > 25 MIU/ML แปลว่ามีการตั้งครรภ์ โดยมีวิธีการตรวจ 2 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 คือการตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณ HCG (Quantitative blood test) เพื่อดูว่ามีปริมาณฮอร์โมน HCG สูงหรือต่ำกว่าปกติ อายุครรภ์ และดูความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะต้องรอผลตรวจตั้งแต่ 1-3 วัน

แบบที่ 2 คือการตรวจเลือดเพื่อวัดคุณภาพของ HCG (Qualitative blood test) สำหรับผู้ที่ต้องการทราบว่าตั้งครรภ์หรือไม่อย่างเดียว สามารถทราบผลภายในวันที่เจาะเลือดส่งตรวจ

ข้อดีของการตรวจการตั้งครรภ์แบบเจาะเลือด

  • ให้ผลลัพธ์แม่นยำสูง
  • ตรวจตั้งครรภ์ได้เร็วสุดตั้งแต่ 8-10 วันหลังจากมีการปฏิสนธิ
  • ใช้เวลาในการรอฟังผลการตั้งครรภ์เพียง 1-2 ชั่วโมง

ข้อเสียของการตรวจการตั้งครรภ์แบบเจาะเลือด

  • อาจเกิดรอยเขียวช้ำบริเวณที่เจาะเลือดได้สำหรับผู้ที่เส้นเลือดเปาะแตกง่าย
  • มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการส่งตรวจปัสสาวะในห้องแลบ

การเจาะเลือดตรวจครรภ์เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่ส่งตรวจปัสสาวะแล้วผลออกมาไม่ชัดเจน

  • ผู้ที่ต้องการตรวจให้รู้ผลชัดเจนและรวดเร็ว
  • ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากหรือมีประวัติแท้งบุตร เพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนการดูแล ให้ฮอร์โมนเสริมต่างๆ เพื่อป้องกันการแท้งบุตร
เช็กราคาตรวจการตั้งครรภ์

7. ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การตรวจด้วยวิธีนี้ สามารถทำได้หลังจากที่ประจำเดือนไม่มา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะทำโดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์ส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องท้องและสร้างภาพขึ้นมา แพทย์จะใช้หัวตรวจวางบนผนังหน้าท้องบริเวณท้องน้อย หรือบางกรณีที่ต้องการความชัดเจนมากขึ้น แพทย์จะใช้หัวตรวจชนิดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอด ทำให้สามารถเห็นถุงการตั้งครรภ์และหัวใจของทารกได้ชัดเจนขึ้น

ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์สามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5-6 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่ามีการตั้งครรภ์แฝด มีการท้องนอกมดลูก มดลูกมีก้อนเนื้องอก ถุงน้ำ หรือซีสต์รังไข่หรือไม่ และหลังอายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว การตรวจอัลตร้าซาวด์ยังสามารถตรวจเพศของลูก และคัดกรองความพิการหรือภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น รกเกาะต่ำ ภาวะน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป ความพิการแต่กำเนิดของทารก เป็นต้น การตรวจด้วยวิธีนี้ไม่มีความเจ็บปวดหรืออันตรายต่อผู้ตรวจ แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ข้อดีของการตรวจตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

  • สามารถทราบอายุครรภ์
  • ลดอัตราการแท้งในอนาคต เพราะสามารถทราบตำแหน่งการตั้งครรภ์และภาวะผิดปกติของมดลูก
  • ตรวจเพศของลูกได้
  • ไม่มีความเจ็บปวดและไม่มีอันตรายต่อผู้ตรวจ

ข้อเสียของการตรวจตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

  • มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

การตรวจตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์เหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่มีภาวะผิดปกติของมดลูก เพื่อจะได้วางแผนการดูแลตนเองและทารกในครรภ์
  • ผู้ที่ต้องการทราบอายุครรภ์ที่ชัดเจนและความผิดปกติของทารกในครรภ์

อาการแบบไหนควรตรวจตั้งครรภ์?

ถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้ หลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย ควรใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง และควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจยืนยันต่อไป

  • ประจำเดือนขาด เป็นอาการแรกเริ่มที่เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วกำลังฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ร่างกายจะไม่มีเลือดประจำเดือน และอาจมีอาการปวดท้องเกร็งร่วมด้วยในช่วง 6-12 วัน
  • คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้องในช่วง 6-12 สัปดาห์แรก อาจเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงเช้า มีความรู้สึกไวต่อกลิ่นต่างๆ หรือเมื่อได้กลิ่นของอาหารบางชนิด แม้กระทั่งอาหารที่เคยชอบ
  • อยากรับประทานอาหารแปลกไปจากที่เคยรับประทาน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์
  • เหนื่อยล้า เป็นเรื่องปกติของผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์แรก เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายอาจเพิ่มสูงขึ้น เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของทารก
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย เป็นลักษณะอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีใจ เสียใจ หดหู่ หรือกังวล ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
  • ปัสสาวะบ่อย มักเกิดขึ้นในช่วง 6-8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ปริมาณของเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ ทำให้มีการดูดน้ำกลับบริเวณท่อไตลดลง อาจส่งผลให้ไตทำงานหนักเพื่อนำของเหลวไปยังกระเพาะปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ และมดลูกเริ่มขยายตัวมากขึ้น
  • คัดเต้านม หากสังเกตว่าเต้านมขยาย คัดเต้า เจ็บเต้านม หัวนมและลานนมมีสีเข้ม ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากมีเพศสัมพันธ์สักระยะ อาจเป็นไปได้ว่าฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับให้เข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์
  • ท้องผูก เป็นสัญญาณเตือนที่พบบ่อยระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ ที่ทำหน้าที่นำส่งอาหารชะลอตัวลงและการดูดซึมน้ำกลับเพิ่มขึ้นทำให้อุจจาระแข็งซึ่งอาจเกิดริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) จากการที่ขับถ่ายลำบากมากขึ้น
  • กรดไหลย้อน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบในที่ต่างๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อในหลอดอาหารที่เชื่อมระหว่างปากและท้องทำงานลดลง อีกทั้งการเคลื่อนที่ของทางเดินอาหารและการทำงานของถุงน้ำดียังลดลงไปด้วย ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

ตรวจการตั้งครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด?

การตรวจการตั้งครรภ์เร็วเกินไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม มีความเสี่ยงที่ผลการตรวจจะคลาดเคลื่อน เพราะการปฏิสนธิยังไม่สมบูรณ์ ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ยังไม่คงที่ โดยการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองควรรออย่างน้อย 12-14 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย และกรณีตรวจเลือดกับแพทย์ ควรรอ 8-10 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย หรืออาจรอตรวจในวันที่ 7 นับจากวันแรกที่ประจำเดือนไม่มา เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ตรวจการตั้งครรภ์กี่วันรู้ผล?

ผลของการตรวจการตั้งครรภ์ จะทราบผลโดยแบ่งตามวิธีการตรวจดังนี้

  • การตรวจครรภ์ด้วยตัวเองทั้ง 4 แบบ ทราบผลภายในเวลาประมาณ 5 นาที
  • การตรวจครรภ์โดยแพทย์ ด้วยการตรวจปัสสาวะ ทราบผลภายใน 1-3 วัน
  • การตรวจครรภ์โดยแพทย์ ด้วยการเจาะเลือด ทราบผลภายใน 1-2 ชั่วโมง หรือถ้าต้องการถามอายุครรภ์ด้วย จะทราบผลภายใน 1-3 วัน
  • ตรวจครรภ์โดยแพทย์ ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ทราบผลภายในวันที่ตรวจ

ควรทำอย่างไรต่อหลังทราบผลว่าตั้งครรภ์?

เมื่อทราบผลการตรวจว่าตั้งครรภ์ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ คือ

  • ไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจดูภาวะโดยรวม และนับอายุครรภ์ เพื่อบริหารจัดการและกำหนดข้อปฏิบัติตัว ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์ทั้งหมด 40 สัปดาห์
  • ฝากครรภ์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด แพทย์จะตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างละเอียด พร้อมติดตามดูพัฒนาการของทารกในครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ได้ พร้อมทั้งแนะนำวิธีดูแลครรภ์ จ่ายวิตามินบำรุงครรภ์ โดยคุณแม่ควรพบแพทย์ตามนัดจนกว่าจะคลอด
  • บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อปลา ธัญพืช อัลมอนด์ รวมถึงผักใบเขียวและผลไม้ต่างๆ เลือกรับประทานเฉพาะอาหารปรุงสดใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบ และอาหารแปรรูป เพราะอาจมีสารปรอทที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยไม่ให้น้ำหนักเกิน การนอนหลับดีขึ้น ลดปัญหาด้านท้องผูก ปวดหลัง โดยเลือกกีฬาที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ พิลาทิส เพราะแรงกระแทกต่ำ
  • ควรดื่มน้ำมากๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (2-2.5 ลิตร) เพื่อช่วยลดอาการท้องผูก ภาวะขาดน้ำ และทำให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นมากขึ้น
  • คุมน้ำหนักให้พอดี ไม่ควรรับประทานแบบตามใจปาก หรือรับประทานเพิ่มเป็น 2 เท่าเผื่อทารกในครรภ์ แต่ควรเลือกอาหารจำพวกโปรตีนเป็นหลัก รับประทานแป้งและไขมันอย่างพอดี เพราะถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักมากเกินไป อาจเกิดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนได้ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับให้ได้คืนละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 14 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และท่านอนตะแคงซ้ายหรือขวา เป็นท่านอนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงใกล้คลอด เพราะช่วยให้น้ำหนักทารกในครรภ์ไม่ทับหลอดเลือดใหญ่ที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ แขนขา ป้องกันอาการบวม เส้นเลือดขอด
  • ดูแลจิตใจให้ผ่องใส ไม่วิตกกังวล เพราะความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเครียด สารเคมีในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายของคุณแม่ เช่น อ่อนเพลีย หลอดเลือดตีบ ปวดหัวแบบเฉียบพลัน นอนไม่หลับ คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ความดันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ มือสั่น ชา ภูมิต้านทานลดลง เป็นต้น และอาจทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
  • ดูแลสุขอนามัยอย่างดี เช่น การรักษาความสะอาดของร่างกาย ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น แต่งกายด้วยชุดเหมาะสมไม่อึดอัด หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือรองเท้าที่แน่นเกินไปซึ่งจะทำให้เท้าและขาบวมได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน เพราะอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีแนวโน้มพิการแต่กำเนิด หรือระบบประสาทบกพร่อง
  • ไม่สูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน
ตรวจการตั้งครรภ์ ราคาพิเศษ

ควรตรวจการตั้งครรภ์ที่คลินิกตอนไหน?

หากตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองและได้ผลว่าตั้งครรภ์ หรือมีอาการที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ แต่ตรวจด้วยตนเองไม่พบ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันผลอีกครั้ง โดยยิ่งทราบผลเร็วมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีต่อทารกในครรภ์เท่านั้น และจะช่วยให้ดูแลทารกในครรภ์ได้อย่างถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม

สำหรับผู้หญิงที่มีอาการตั้งครรภ์ ถ้าต้องการทราบว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ เบื้องต้นสามารถตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง จากนั้นจึงไปตรวจกับแพทย์เพื่อให้ได้ทราบผลที่แน่ชัด โดยหากผลตรวจมีการตั้งครรภ์จะได้รีบฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกในครรภ์


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • แพทย์หญิงธาริณี ลำลึก, Maternal and Fetal Medicine รพ.ราชวิถี, สูติ-นารีเวชวิทยา วชิรพยาบาล, แพทยศาสตร์บัณฑิต ม.รังสิต, สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์, สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์, https://www.phyathai.com/article_detail/1939/th/สิ่งแรกที่ควรทำ_เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์.
  • แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์, แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์ ผลทดสอบการตั้งครรภ์, (https://hellokhunmor.com/การตั้งครรภ์/เตรียมตั้งครรภ์/วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์-ผลทดสอบการตั้งครรภ์/).
  • แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร, แพทยศาสตรบัณฑิต สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, คณะแพทยศาสตร์ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่, (https://hellokhunmor.com/การตั้งครรภ์/ระหว่างตั้งครรภ์/วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่/).
  • แพทย์หญิงปนัดดา บรรยงวิจัย, แพทยศาสตรบัณฑิต สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข้อควรรู้ การทำอัลตราซาวนด์ขณะตั้งครรภ์, (https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=463).
  • แพทย์หญิงสังวาลย์ เตชะพงศธร, แพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วุฒิบัตรสาขาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, (https://www.nakornthon.com/article/detail/เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์).
@‌hdcoth line chat