อาการร้อนวูบวาบ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว อันตรายไหม

อาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes) คืออาการที่ร่างกายรู้สึก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว โดยเฉพาะกับร่างกายส่วนบน เช่น บริเวณใบหน้า ลำคอ และหน้าอก บางครั้งก็มีเหงื่อออกท่วมตัว บางครั้งก็กระวนกระวายอยู่ไม่สุข แถมบางคนก็เกิดอาการเฉพาะช่วงเวลา เช่น เป็นหลังตื่นนอนเท่านั้น หรือเป็นเฉพาะตอนกลางคืน

สงสัยไหมว่า อาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของอาการร้อนวูบวาบ 

1. เข้าสู่วัยทอง

เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งทำให้ร่ายกายเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น หัวใจเต้นถี่ หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงวัยทองส่วนใหญ่ล้วนมีอาการร้อนวูบวาบ

นอกจากนี้อาจทำให้ผิวหนังบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก เห่อแดง และรู้สึกร้อนวูบวาบขึ้นได้ รวมถึงอาจมีเหงื่อออกมากจนชุ่ม สลับกับรู้สึกหนาวสั่นในบางครั้ง

แม้อาการร้อนวูบวาบในวัยทองจะไม่ใช่อาการอันตราย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ เช่น บางคนอาจรู้สึกนอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย และกระวนกระวาย ซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและจิตใจอย่างมาก

2. อาจเกี่ยวข้องกับโรคปลายประสาทอักเสบ 

อาการร้อนวูบวาบที่มาพร้อมกับความรู้สึกเจ็บปวด เจ็บแปลบ และชา บริเวณใบหน้า แขนขา ปลายมือปลายเท้า โดยเฉพาะช่วงกลางคืนและหลังตื่นนอน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคปลายประสาทอักเสบ

ซึ่งสาเหตุของโรคมักเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ หรือถูกทำลายจากการติดเชื้อ และการขาดวิตามินบี จนทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณปลายประสาท ซึ่งหากปล่อยไว้ปลายประสาทส่วนนั้นอาจชาจนหมดความรู้สึกได้

3. อาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

บางครั้งอาการร้อนวูบวาบเกิดจากเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดขยาย และอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดความผิดปกติของหัวใจด้วย ซึ่งมักพบในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดต่ำลง

4. เกิดจากสาเหตุอื่นๆ

สาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้ ได้แก่

  • โรคมะเร็ง
  • การติดเชื้อ
  • ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด และยาต้านโรคซึมเศร้า เป็นต้น

การดูแลตัวเอง เมื่อมีอาการร้อนวูบวาบ

1. ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

หากเกิดอาการร้อนวูบวาบเนื่องจากวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ควรรับประทานอาหารที่เสริมฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น อาหารจำพวกถั่วเหลือง เต้าหู้ ซึ่งอุดมด้วยสาร Isoflavone ที่คล้ายกับเอสโตรเจน

ตัวอย่างอาหารที่ควรรับประทาน อาจมีดังนี้

  • ธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน ข้าวสาลี ถั่วขาว ถั่วแขก ซึ่งมีกรดไขมัน วิตามิน และใยอาหาร
  • ปลาทะเล อย่างปลาแซลมอน และปลาทูน่า ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยสร้างความชุ่มชื้นแก่ผิว

แต่หากสงสัยว่า อาการร้อนวูบวาบนั้นเกี่ยวข้องกับโรคปลายประสาท ก็ควรรับประทานผักใบเขียว ธัญพืช และเครื่องในสัตว์ ซึ่งอุดมด้วยวิตามินบี จะช่วยบรรเทาอาการได้

2. รับประทานอาหารเสริม

สารที่ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ ได้แก่ เอสโตรเจน ซึ่งบางครั้งแพทย์มักจ่ายให้สตรีวัยทองเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง รวมถึงวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินซี และอี ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินบี ซึ่งช่วยลดอาการปวดร้อนตามปลายประสาท อีกทั้งบรรเทาอาการเครียดและซึมเศร้าในสตรีวัยทองด้วย

3. รับประทานสมุนไพรคลายอาการร้อน

สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น และมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลอุณหภูมิร่างกายมีหลายชนิด เช่น สะระแหน่ โสม ซึ่งเราสามารถนำมาผ่านความร้อนด้วยการต้มหรือชงดื่มในรูปแบบชา หรือรับประทานสมุนไพรสดๆ หรือนำก็ได้

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายเบาๆ เช่น ว่ายน้ำ เล่นโยคะ การวิ่ง ปั่นจักรยาน จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดี และช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้

อีกทั้งยังเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ทำให้ผ่อนคลายความเครียด ร่างกายรู้สึกสดชื่น และยังช่วยลดระดับไขมันในร่างกายด้วย

5. ดับร้อนด้วยเย็น

วิธีง่ายๆ ในการลดอุณหภูมิร่างกายคือ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อากาศถ่ายเท ปลอดโปร่ง เย็นสบาย หรือสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ก็มีส่วนช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้เช่นกัน

6. งดเครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และชา กาแฟ จะทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดมากขึ้น และส่งผลให้ร่างกายร้อนขึ้นได้ ดังนั้นใครที่เกิดอาการร้อนวูบวาบบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้

7. พบแพทย์

อาการร้อนวูบวาบที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุปกติอย่างภาวะวัยทอง หรืออาจมาจากสาเหตุผิดปกติก็ได้ ดังนั้นหากเกิดอาการขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานควรไปพบแพทย์จะดีที่สุด

การป้องกันอาการร้อนวูบวาบ

อาการร้อนวูบวาบที่เกิดในวัยทองเป็นอาการปกติ ที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบรวมถึงลดความรุนแรงของอาการร้อนวูบวาบลงได้

โดยการหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ กาแฟและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงงดการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป และเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามิน และ Isoflavone สูง อย่างผักใบเขียวและถั่วเหลือง

รวมถึงพยายามผ่อนคลายความเครียดโดยการทำกิจกรรมต่างๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ

อาการร้อนวูบวาบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหาร ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการร้ายแรงขึ้น และทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top