HDcare สรุปให้
ปิด
ปิด
- โรคนิ้วล็อก คือ อาการผิดปกติของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือที่เกิดการอักเสบและบวม จนทำให้ข้อนิ้วบวมแดง รู้สึกปวดหรือกดเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และทำให้เกิดปัญหากำและแบมือได้ยาก
- ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนิ้วล็อก คือ ผู้ที่ใช้นิ้วในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหนักและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ คนขับรถ คนสวน ผู้ที่พิมพ์ข้อความบนจอมือถือเป็นประจำ ผู้ที่ออกกำลังกายในท่าที่ต้องใช้ข้อนิ้วหนักๆ เป็นระยะเวลานาน
- การผ่าตัดโรคนิ้วล็อกแบ่งออกได้ 2 เทคนิค คือ การผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนัง
- ระยะเวลาผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อกจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นสามารถเดินทางกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ทันที
- บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จาก HDcare ศูนย์รวมการผ่าตัดโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ จาก HDmall.co.th แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณา
- ดูรายละเอียด ผ่าตัดนิ้วล็อก บริการจาก HDcare
- สอบถามรายละเอียด ปรึกษาเรื่องการผ่าตัดนิ้วล็อก ที่ไลน์ @HDcare
ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการนิ้วล็อก ปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน พร้อมแนวทางการรักษา ต้องผ่าตัดเท่านั้นใช่ไหม ผ่าตัดนิ้วล็อกได้กี่แบบ?
ผ่านบทสัมภาษณ์พ.ต.ต. นพ. วรพล เจริญพร หรือ “หมอพั้นช์” ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ และมีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดแผลเล็กโดยเฉพาะ หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอพั้นช์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอพั้นช์” คุณหมอกระดูกกับประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องและผ่าตัดแผลเล็ก]
เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่
- นิ้วล็อกคืออะไร
- นิ้วล็อกเกิดจากอะไร
- ระหว่างนิ้วล็อกกับอาการปวดนิ้วต่างกันอย่างไร
- หากมีอาการนิ้วล็อก ควรประคบร้อนหรือประคบเย็น
- ใครคือกลุ่มเสี่ยงเป็นนิ้วล็อกบ้าง
- วิธีรักษาโรคนิ้วล็อกมีอะไรบ้าง
- การผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อก
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนิ้วล็อก
- ผ่าตัดนิ้วล็อกใช้เวลานานแค่ไหน
- การดูแลตัวเองและการพักฟื้นหลังผ่าตัดนิ้วล็อก
- ผลข้างเคียงที่พบได้หลังการผ่าตัด
- โรคนิ้วล็อกกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่
- การป้องกันโรคนิ้วล็อกทำได้อย่างไร
- ผ่าตัดนิ้วล็อกกับ พ.ต.ต. นพ. วรพล ด้วยบริการจาก HDcare
- บทความที่แนะนำ
นิ้วล็อกคืออะไร?
โรคนิ้วล็อก คือ อาการผิดปกติของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วมือที่เกิดการอักเสบและบวม จนทำให้ข้อนิ้วของผู้ป่วยมีลักษณะบวมแดง ร่วมกับรู้สึกปวดหรือกดเจ็บบริเวณโคนนิ้วที่เกิดการอักเสบ และหากอาการรุนแรงมากขึ้น ก็จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการกำและแบมือได้ยากขึ้น
นิ้วล็อกเกิดจากอะไร?
โรคนิ้วล็อกมีปัญหามาจากการใช้งานนิ้วมือที่หนักและต่อเนื่องมากเกินไป ไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินอย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยแบ่งระดับอาการของโรคออกได้ทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่หนึ่ง: เจ็บบริเวณโคนนิ้ว รวมถึงเมื่อกำและแบมือ หรือเอานิ้วกดลงที่โคนนิ้วก็จะรู้สึกเจ็บ
- ระยะที่สอง: รู้สึกติดขัดเวลาขยับงอนิ้วหรือกำแบมือ
- ระยะที่สาม: เวลากำมือและต้องการแบออก จะไม่สามารถแบยืดนิ้วออกได้เอง แต่ต้องใช้นิ้วมืออีกนิ้วดันให้ข้อนิ้วกลับมาแบออกได้ตามปกติ
- ระยะที่สี่: ไม่สามารถกำนิ้วลงเองได้อีก ข้อนิ้วจะค้างอยู่ในท่าเดิม
ระหว่างนิ้วล็อกกับอาการปวดนิ้วต่างกันอย่างไร?
อาการจากโรคนิ้วล็อกมีลักษณะพิเศษและเฉพาะเจาะจงกว่าอาการปวดนิ้วอยู่ 3 อย่าง คือ
- ปวดหรือเจ็บที่โคนนิ้วเป็นตำแหน่งหลัก พอกดลงไปที่โคนนิ้วที่ล็อกจะเจ็บมากขึ้น แต่อาการเจ็บจะไม่ลุกลามไปยังตำแหน่งอื่นของฝ่ามือ
- หากกำมือ ลองกดลงบริเวณโคนนิ้ว หรือลองขยับงอนิ้วเข้าออก จะรู้สึกเหมือนมีก้อนบางอย่างวิ่งผ่านข้อนิ้วไปเป็นลูกๆ และเป็นจังหวะ
- เมื่อต้องการกำมือ จะสัมผัสได้เองว่าข้อนิ้วจะติดและขยับงอได้ยาก และเมื่อแบนิ้วออกก็จะรู้สึกเหมือนข้อนิ้วมีแรงดันหลุดออกไป หลังจากนั้นก็จะกลับมาขยับนิ้วได้ตามปกติอีกครั้ง
หากมีอาการนิ้วล็อก ควรประคบร้อนหรือประคบเย็น?
โรคนิ้วล็อกมีสาเหตุหลักมาจากการอักเสบ ดังนั้นวิธีบรรเทาอาการที่ดีที่สุดจะเป็นการประคบเย็น
ใครคือกลุ่มเสี่ยงเป็นนิ้วล็อกบ้าง?
กลุ่มเสี่ยงเกิดโรคนิ้วล็อก คือ ผู้ที่ใช้นิ้วในการทำงานหรือการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหนักและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ คนขับรถ คนสวน ผู้ที่พิมพ์ข้อความบนจอมือถือเป็นประจำ ผู้ที่ออกกำลังกายในท่าที่ต้องใช้ข้อนิ้วหนักๆ เป็นระยะเวลานาน
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคนิ้วล็อกได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า รวมถึงผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย
วิธีรักษาโรคนิ้วล็อกมีอะไรบ้าง?
การรักษาโรคนิ้วล็อกแบ่งออกได้ 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ การรักษาด้วยตนเอง และรักษากับแพทย์
- การรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยตนเอง เช่น การหมั่นพักการใช้งานนิ้ว การยืดและดัดนิ้วเพื่อยืดเส้นเอ็น การแช่น้ำอุ่นเมื่อเกิดอาการนิ้วล็อกขึ้น แต่หากมีอาการอักเสบและบวมแดงให้เปลี่ยนเป็นแช่น้ำเย็น
- การรักษาโรคนิ้วล็อกกับแพทย์ หากรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถมาพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนวิธีรักษาที่ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นได้ โดยแพทย์มักเริ่มต้นการรักษาด้วยการจ่ายยากินก่อน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะเปลี่ยนเป็นการฉีดยาที่นิ้วส่วนที่ล็อก ซึ่งหากฉีดยาแล้วอาการยังไม่ทุเลาอีก หรืออาการนิ้วล็อกรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แพทย์ก็จะแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดต่อไป
การผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อก
การผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อกเป็นวิธีรักษาตั้งแต่ต้นตอที่ทำให้เกิดอาการของโรค โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อเข้าไปตัดแต่งปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วให้หยุดการอักเสบ ทำให้ข้อนิ้วที่ขยับได้อย่างลำบากกลับมาเคลื่อนไหว กำ แบ หรืองอได้อย่างคล่องตัวอีกครั้ง โดยแบ่งเทคนิคการผ่าตัดออกได้ 2 แบบ คือ
การผ่าตัดแบบเปิด โดยแพทย์จะผ่าเปิดแผลบริเวณโคนนิ้วที่ล็อก ขนาดของแผลจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 มิลลิเมตร มีจุดเด่นในการผ่าตัดอยู่ที่การมองเห็นจุดที่เส้นเอ็นอักเสบได้อย่างชัดเจน และทำให้แพทย์ผ่าตัดแก้ไขอาการได้อย่างแม่นยำ แต่ก็มีข้อจำกัดคือ สามารถทำให้เกิดรอยแผลผ่าตัดที่ใหญ่ได้ และผู้ป่วยจะต้องดูแลแผลหลังผ่าตัดมากเป็นพิเศษ
ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดแบบเปิดคือ ผู้ที่ไม่สามารถอธิบายหรือระบุตำแหน่งของอาการนิ้วล็อกหรืออาการบวมจากโรคนิ้วล็อกได้อย่างชัดเจน รวมถึงผู้ที่มีอาการบวมแดงหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นมีการอักเสบอย่างหนัก จนไม่สามารถผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังได้
การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนัง เป็นการผ่าตัดที่มีขั้นตอนคล้ายกับการผ่าตัดแบบเปิด แต่มีการใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่ต่างกัน โดยแพทย์จะใช้มีดผ่าตัดที่มีรูปร่างคล้ายกับเข็มเจาะผ่านโคนนิ้วที่ล็อกเข้าไปแก้ไขอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น
ดังนั้นการผ่าตัดรูปแบบนี้จึงมีจุดเด่นตรงที่ขนาดแผลซึ่งเล็กเท่ารูเข็มเท่านั้น ทำให้มีโอกาสเจ็บแผลหลังผ่าตัดได้น้อย และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น
การผ่าตัดแบบเจาะผิวหนังก็มีข้อจำกัด คือ สามารถผ่าตัดได้ในผู้ป่วยที่สามารถระบุตำแหน่งของอาการนิ้วล็อกได้อย่างชัดเจน ถ้านิ้วมีอาการบวมแดงหรืออักเสบอย่างรุนแรง แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดแบบเปิดแทน
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนิ้วล็อก
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดนิ้วล็อกไม่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องงดน้ำหรืองดอาหาร ไม่มีการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล เพียงแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา และแจ้งรายการยาประจำตัวให้แพทย์ทราบก็พอ
ผ่าตัดนิ้วล็อกใช้เวลานานแค่ไหน?
ระยะเวลาผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อกจะใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้น และหลังจากการผ่าตัดสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ทันที
การดูแลตัวเองและการพักฟื้นหลังผ่าตัดนิ้วล็อก
หลังการผ่าตัดนิ้วล็อก ระยะเวลาพักฟื้นจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 วัน แต่ในระหว่างนั้นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักฟื้นอยู่เฉยๆ เพียงแต่ให้หมั่นยกแขนสูงประมาณ 1-3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้
นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องระวังอย่าให้แผลเปียกชื้นและระวังอย่าให้แผลสัมผัสโดนสิ่งสกปรก โดยในผู้ที่เลือกเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิด ให้หลีกเลี่ยงอย่างให้แผลโดนน้ำและสัมผัสสิ่งสกปรกประมาณ 7-10 วัน ส่วนผู้ที่เลือกเทคนิคการผ่าตัดแบบเจาะรูผิวหนัง ให้ระวังอย่าให้แผลโดนน้ำและสัมผัสสิ่งสกปรกประมาณ 3 วัน
หลังจากนั้นเมื่อครบ 2 สัปดาห์ แพทย์จะนัดหมายให้กลับมาตรวจดูความเรียบร้อยของแผล และโอกาสเกิดผลข้างเคียงอื่นๆ หลังผ่าตัด
ผลข้างเคียงที่พบได้หลังการผ่าตัด
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังผ่าตัดนิ้วล็อก คือ เส้นประสาทข้างนิ้วที่ล็อกเกิดการบาดเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณข้างๆ นิ้วที่ผ่าตัดได้บ้าง แต่โดยส่วนมากอาการนี้จะดีขึ้นและหายได้เองโดยไม่ต้องกลับมารักษากับแพทย์ซ้ำอีก
โรคนิ้วล็อกกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?
โรคนิ้วล็อกมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก แต่ส่วนมากมีโอกาสค่อนข้างต่ำ พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่าตัดนิ้วล็อกแล้วไม่ยอมขยับนิ้วเลย ซึ่งอาจทำให้เกิดพังผืดเกาะที่ปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วและทำให้อาการของโรคกลับมาอีก
การป้องกันโรคนิ้วล็อก ทำได้อย่างไร?
วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อกสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านการแบ่งเวลาพักการใช้งานนิ้วมือบ้าง และมีการใช้งานนิ้วอย่างเหมาะสม งดการใช้นิ้วรับน้ำหนัก กดน้ำหนัก สัมผัสแรงสั่นที่หนักหน่วง หรือสัมผัสวัสดุที่แข็งจนเกินไป เช่น ด้ามไม้กอล์ฟ อุปกรณ์การช่างหรือทำสวนที่ทำจากเหล็ก หากจำเป็นต้องใช้ ควรสวมถุงมือป้องกันหรือใช้ด้ามจับที่มีเนื้อนุ่มขึ้น
ผ่าตัดนิ้วล็อก กับ พ.ต.ต. นพ. วรพล ด้วยบริการจาก HDcare
ใครที่กำลังเผชิญปัญหาโรคนิ้วล็อก และรักษาด้วยตนเองแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงกินยาหรือฉีดยาแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลา และกำลังมองหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยผ่าตัดแก้ไขอาการนิ้วล็อกได้อย่างแม่นยำ พร้อมมีพยาบาลผู้ช่วยคอยอยู่เป็นเพื่อนตลอดทุกขั้นตอนการรักษา
HDcare สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ของคุณได้ และยังมีทีมงานแอดมินพร้อมช่วยประสานนัดหมายกับแพทย์ รวมถึงช่วยให้ข้อมูลและตอบทุกข้อสงสัยให้กับคุณ
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย