สุขภาพสตรี สำคัญอย่างไร ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม


สุขภาพสตรี สำคัญอย่างไร ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม

สรุปการรีวิว

ขยาย

ปิด

  • ระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงเกี่ยวข้องกับการทำงานโดยรวมของร่างกาย มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน ความเครียด อาหาร การนอน การออกกำลังกาย การตั้งครรภ์ และการมีเพศสัมพันธ์
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ช่องคลอดติดเชื้อหรือมีแผล ปากมดลูกมีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อ ภายในมดลูกมีก้อนเนื้อ ที่รังไข่มีเนื้องอก หรือมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ
  • มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 3 หากไม่รีบรักษาในระยะเริ่มต้นก็อาจทำให้แพทย์พิจารณาตัดมดลูกทิ้ง โดยปัจจัยที่พบได้บ่อยมากที่สุด ก็คือ การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus)
  • มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบได้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย หากอยู่ในระยะรุนแรง มีโอกาสจะต้องตัดเต้านมทิ้ง บางรายอาจต้องผ่านำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบเต้านมออกด้วย
  • บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จากโรงพยาบาลวิมุต แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือการซื้อขายแพ็กเกจ #HDinsight

เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ผู้หญิงหลายคนคงเคยตั้งคำถามว่า ทำไมแพทย์ถึงย้ำให้ผู้หญิงทุกคนระมัดระวังสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของตนเองให้ดี เวลามาตรวจสุขภาพก็อย่าละเลยการตรวจภายใน และต้องคอยเช็กสัญญาณความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์อย่างมดลูกรวมถึงเต้านมอยู่บ่อยๆ

นั่นเป็นเพราะ ระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมีความเกี่ยวข้องต่อระบบการทำงานโดยรวมของร่างกาย มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ระบบสืบพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน ความเครียด อาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย การตั้งครรภ์ และการมีเพศสัมพันธ์

เรียกได้ว่าแทบทุกกิจกรรมที่ผู้หญิงเรามักทำในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ ล้วนสามารถส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ได้ทั้งหมด

สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อเกิดความผิดปกติมักจะไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ตัว จนกระทั่งมีอาการแสดงรุนแรงจนกระทบต่อการทำงานของระบบอื่นๆ เนื่องด้วยอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์นั้นไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก หากไม่ตรวจโดยแพทย์ก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่า มันยังทำงานปกติหรือบกพร่องตรงไหนบ้าง

HDmall.co.th ร่วมกับ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต โดยแพทย์หญิง พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี ที่อยากเน้นย้ำให้คุณผู้หญิงทุกคนหมั่นตรวจสุขภาพระบบสืบพันธุ์เป็นประจำทุกปี พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในผู้หญิงที่พบได้บ่อยรวมถึงวิธีการป้องกัน

โรคระบบสืบพันธุ์ที่พบบ่อยในผู้หญิง

พญ.พรรณลดา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ 3 ความผิดปกติ ปัญหาสุขภาพในผู้หญิงที่พบได้บ่อยและเป็นที่พูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ ดังนี้

1. ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

หากมีเลือดออกทางช่องคลอดแต่ไม่ใช่ประจำเดือน จัดเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้หญิงหลายคน และไม่ได้เจาะจงเรียกเป็นโรค เพราะอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ช่องคลอดติดเชื้อ ช่องคลอดมีแผล ปากมดลูกมีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อ ภายในมดลูกมีก้อนเนื้อ ที่รังไข่มีเนื้องอก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ

เมื่อพบเลือดออกในช่องคลอด แพทย์จะตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออก เช่น การตรวจภายใน การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงหรือการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) แล้วจะดำเนินการรักษาไปตามต้นตอของภาวะนี้ที่ตรวจพบต่อไป

สาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

สาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือการแท้งบุตร
  • ความผิดปกติจากฮอร์โมน อาจเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ไม่สมดุล
  • การติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อาจก่อให้เกิดการอักเสบและมีเลือดออก โดยสาเหตุของการติดเชื้ออาจมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสวนล้างช่องคลอด การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • มดลูกมีความผิดปกติ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ การติดเชื้ออักเสบของปากมดลูก
  • เนื้องอกมดลูก เป็นกล้ามเนื้อมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติในมดลูก แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่กลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง และอาจมีอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย หรือปวดหลังบริเวณส่วนล่างเรื้อรัง หรือมีเลือดออกมากขณะมีประจำเดือน
  • โรคมะเร็งบางอวัยวะในร่างกาย อาจส่งผลให้เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่

สำหรับการรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ เช่น หากตรวจพบเลือดออกจากการมีก้อนเนื้องอก แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยยาหรือวิธีผ่าตัด

หรือตรวจพบเลือดออกจากความผิดปกติของฮอร์โมน แพทย์อาจจัดยาเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนให้กลับมาทำงานปกติก่อนติดตามผลต่อไป

2. โรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ และหากไม่รีบรักษาในระยะเริ่มต้นก็อาจทำให้แพทย์พิจารณาตัดมดลูกทิ้ง หรือมะเร็งอาจลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกได้หลายปัจจัย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การเกิดแผลบริเวณช่องคลอดหรือปากมดลูก การไม่ดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ แต่ปัจจัยที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัส HPV

โดยเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นเชื้อไวรัสตัวร้ายที่นอกจากจะส่งต่อถึงกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว ก็ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือรับเชื้อผ่านทางแผลบริเวณจุดซ้อนเร้น

การตรวจแปบสเมียร์ (Pap Smear)

การตรวจแปบสเมียร์ (Pap Smear) หรือ Conventional PAP smear เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกด้วยการเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากช่องคลอด แพทย์จะป้ายเซลล์เนื้อเยื่อกับแผ่นสไลด์ แล้วนำไปย้อมกับสารน้ำตรึง (Fixative) ก่อนจะนำไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การตรวจตินเพร็พ (ThinPrep)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว (Liqiud-based cytology) หรือที่นิยมเรียกตามยี่ห้อน้ำยาตรวจว่า ตินเพร็พ (ThinPrep) เป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกที่คล้ายกับการตรวจแปบสเมียร์

แต่จะใช้เทคนิคในการแยกเซลล์ปากมดลูกออกจากเลือดและมูกต่างๆ ทำให้ตรวจหาความผิดปกติได้ดีกว่า มีความแม่นยำในการตรวจมากกว่า

โดยการตรวจ ThinPrep จะใช้หัวแปรงพิเศษเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อ แช่ในน้ำยาเพื่อกำจัดเลือดและมูกที่ปนเปื้อนเซลล์ปากมดลูกออกไป ก่อนนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์ในขั้นตอนถัดมา

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยการตรวจ DNA หรือ mRNA จากสารคัดหลั่งบริเวณปากมดลูกเพียงอย่างเดียว ที่เรียกว่า Primary HPV testing หรือการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV แปลผลร่วมกับการตรวจ Liquid based cytology จะมีความไวในการตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งได้สูงสุดถึง 99 %

หากแพทย์พบความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ยังเริ่มต้น แนะนำให้ผู้ป่วยรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไปโดยเร็ว เพราะรอยโรคระยะก่อนมะเร็ง และโรคมะเร็งปากมดลูกหากยังอยู่ในระยะแรกเริ่มมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้

แต่หากรักษาช้าเกินไป ก้อนเนื้อที่ตรวจพบก็อาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ จนกระทบระบบขับถ่ายได้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกในช่วงบั้นปลายอาจไม่สามารถขับถ่ายได้ด้วยตนเอง หรือหากรุนแรงไปกว่านั้น ก็คือมีโอกาสเสียชีวิตได้

3. โรคมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบได้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ตามสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563

ความน่ากลัวของโรคมะเร็งเต้านมมีความคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งปากมดลูก นั่นคือ หากไม่รีบรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก หรือรีบตรวจคัดกรองให้เจอก่อนที่จะเห็นพยาธิสภาพของโรค ก้อนเนื้อที่เต้านมก็อาจขยายตัวลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงจนกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ได้

และอีกผลกระทบที่หลายคนอาจไม่ทันมองเห็น ก็คือ ด้านความสวยงามของสรีระ

ผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะรุนแรง อาจมีโอกาสจะต้องตัดเต้านมทิ้ง ทำให้ความสวยงามของรูปร่างเปลี่ยนไป บางรายก็อาจต้องผ่านำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบเต้านมออกด้วย และอาจไม่สามารถศัลยกรรมเสริมหน้าอกในภายหลังได้

โรคมะเร็งเต้านมมีสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายประการ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่น

  • พันธุกรรม กลุ่มผู้หญิงที่มีประวัติผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ก็มีความเสี่ยงที่ตนเองจะเป็นโรคมะเร็งเต้านมไปด้วยเช่นกัน
  • อายุที่มากขึ้น กลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แทบจะเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยพบก้อนมะเร็งเต้านมได้มากที่สุด
  • เคยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เคยผ่านการฉายรังสี ถึงแม้วิธีนี้จะช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ แต่ในอีกด้าน การฉายรังสีก็เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคมะเร็งหลังจากนั้นได้อีกด้วย
  • เคยตรวจพบรอยโรคที่คล้ายกับเป็นโรคมะเร็งเต้านม เช่น โรคมะเร็งในต่อมน้ำนม (Lobular Carcinoma In Situ: LCIS)
  • โรคประจำตัวบางชนิด โดยเฉพาะโรคอ้วน
  • ผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน รวมถึงการมีบุตรในช่วงอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
  • ประจำเดือน การมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย และหมดประจำเดือนช้า อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้

อย่างไรก็ตาม มี 3 วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ซึ่งจะช่วยให้รู้ทันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นดังนี้

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง สามารถตรวจได้เองตั้งแต่อายุ 20 ปี ควรตรวจในช่วงหลังหมดประจำเดือนในทุกๆ เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่จะไม่รู้สึกคัดหรือตึงเต้านม ทำให้ตรวจหาความผิดปกติได้ง่าย หรือตรวจทุกวันเดียวกันของเดือน เดือนละ 1ครั้งในผู้ที่ไม่มีประจำเดือนแล้ว

โดยวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองให้ใช้มือคลำเต้านมด้านตรงข้ามให้ทั่วไปจนถึงบริวเณรักแร้ และกระดูกไหปลาร้า แล้วสลับทำอีกข้างหนึ่ง

การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound)

ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) เป็นการตรวจดูภาพเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในเต้านมด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจที่ไม่มีการใช้คลื่นรังสี มีความปลอดภัยแม้ตรวจในระหว่างตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร

โดยสามารถเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 30-35 ปีขึ้นไป หรือหากอายุน้อยกว่านั้น แต่คลำพบก้อนที่เต้านม ก็สามารถเดินทางมาตรวจเพิ่มเติมได้เช่นกัน

วิธีการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมสามารถทำได้ไม่ยาก โดยแพทย์จะทาเจลบริเวณหน้าอกของผู้เข้ารับบริการ แล้วใช้หัวนำสื่อคลื่นอัลตราซาวด์กดลูบบริเวณหน้าอกจนทั่ว ภาพเซลล์เนื้อเยื่อภายในเต้านมจะปรากฎขึ้นบนจอภาพของเครื่องอัลตราซาวด์ จากนั้นแพทย์จะถ่ายภาพนั้นเก็บไว้เป็นข้อมูลการตรวจ

การตรวจแมมโมแกรมเต้านม (Mammogram)

ตรวจแมมโมแกรมเต้านม (Mammogram) เป็นอีกกระบวนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม ผ่านการใช้คลื่นรังสีเอกซเรย์ตรวจดูความเข้มทึบของเนื้อเยื่อในเต้านม ส่วนมากแพทย์แนะนำให้ตรวจเมื่ออายุ 35-40 ปีขึ้นไป

รูปแบบการตรวจแมมโมแกรมจะเป็นการยืนให้ส่วนของเครื่องตรวจแมมโมแกรมเป็นแท่นสี่เหลี่ยมเลื่อนลงมาบีบกดหน้าอกจนแบนที่สุด หลังจากนั้นตัวเครื่องจะถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมของผู้เข้าตรวจออกมา แล้วนำไปให้แพทย์อ่านวิเคราะห์ผลต่อไป

ผู้หญิงกลุ่มใดมักตรวจพบโรคในระบบสืบพันธุ์

ทุกความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์สามารถพบเจอได้ในผู้หญิงทุกคนตั้งแต่วัยรุ่นอายุยี่สิบต้นๆ ไปจนถึงหญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องด้วยสาเหตุที่ทำให้เกิดที่มีอยู่หลายปัจจัย และครอบคลุมไปในทุกช่วงวัยของผู้หญิงทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น

วิธีป้องกันโรคในระบบสืบพันธุ์

วิธีป้องกันโรคในระบบสืบพันธุ์ที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองตั้งแต่ไม่มีอาการ เป็นการป้องกันที่ครอบคลุม เห็นผล และทำได้ง่ายที่สุดในผู้หญิงทุกคนที่อยากลดความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติที่ระบบสืบพันธุ์ โดยรายการตรวจที่ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเป็นประจำ ได้แก่

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทั้งการคลำเต้านมด้วยตนเองที่เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 20-35 ปีการตรวจอัลตราซาวด์ที่สามารถทำได้ทั้งตำแหน่งมดลูกและเต้านม โดยผู้หญิงทุกคนควรรับการตรวจทั้ง 2 อย่างควบคู่กัน หรือการตรวจแมมโมแกรมเต้านม ถือเป็นรายการตรวจสำคัญของผู้ใหญ่วัยผู้ใหญ่ที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป
  • การตรวจภายใน เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ รวมถึงเนื้อเยื่อโดยรอบบริเวณจุดซ่อนเร้น โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25-30 ปีขึ้นไป

นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพสตรี อีกสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนควรทำและควรทำก่อนเข้าสู่วัยมีเพศสัมพันธ์ ก็คือ “การฉีดวัคซีน HPV” ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยการรับวัคซีนครบ 3 เข็มจะสามารถมีภูมิตลอดชีวิตโดยไม่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอีก และดีที่สุดควรเลือกวัคซีนชนิดป้องกันเชื้อไวรัสได้ 9 สายพันธุ์

โดยวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้สูงถึง 90% และยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคหูดหงอนไก่ โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งในทวารหนัก โรคมะเร็งที่ช่องปากและลำคอ

ตรวจสุขภาพสตรี ที่ โรงพยาบาลวิมุต

หากคุณยังไม่รู้ว่าจะตรวจสุขภาพที่ไหนดี ตรวจภายในที่ไหนได้บ้าง หรือตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลไหนดี HDmall.co.th ขอแนะนำ โรงพยาบาลวิมุต ที่มาพร้อมกับโปรโมชั่นตรวจสุขภาพสตรีมากมาย ด้วยมาตรฐานคือ "อีกระดับของการรักษาด้วยความใส่ใจ"

ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุตยังมีการออกแบบโปรแกรมการตรวจคัดกรองโรงมะเร็งเฉพาะในผู้หญิง เพื่อมอบความมั่นใจและความละเอียดในกระบวนการตรวจเฉพาะด้านให้กับผู้เข้ารับบริการ รวมถึงมีโปรแกรมฉีดวัคซีน HPV ที่ครอบคลุมเปิดให้บริการสำหรับผู้ที่สนใจและยังไม่เคยรับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน

ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุตเปิดให้บริการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย และรักษาความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับระะบสืบพันธุ์เพศหญิงอย่างครบครัน พร้อมทั้งมีบริการฝากครรภ์ คลอดบุตร บริการดูแลสุขภาพหลังคลอดบุตรให้กับคุณแม่ทุกท่าน

แพทย์ภายในศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุตมีความเอาใจใส่และเข้าใจถึงความเขินอายในคุณผู้หญิงบางท่านที่อาจรู้สึกอึดอัดและเป็นกังวลในการตรวจสุขภาพสตรีที่โรงพยาบาล จึงเน้นรูปแบบการให้บริการที่เหมือนกับการตรวจสุขภาพกับเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด เพื่อให้สามารถสอบถามและพูดคุยเกี่ยวกับความกังวลในสุขภาพของตนเองได้ทุกเรื่อง

เพราะทุกภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเราทุกคนมักไม่เคยมีสัญญาณบอกก่อนล่วงหน้า กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินที่รักษาให้หายขาดได้ ทางศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุตจึงมุ่งมั่นพัฒนาบริการภายในให้เต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญจากแพทย์ และครบครันไปด้วยเทคโนโลยีการรักษาใหม่ รวมถึงมีการเอาใจใส่และเข้าใจในสุขภาพของคุณผู้หญิงทุกคนอย่างถ่องแท้

สอบถามแพ็กเกจการตรวจสุขภาพสตรี หรือแพ็กเกจการฉีดวัคซีน HPV ที่โรงพยาบาลวิมุตผ่านทางไลน์ @HDcoth อย่ามัวแต่เขินอายจนละเลยการดูแลตนเอง และเดินทางมาตรวจสุขภาพกับสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการกับศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต


บทความที่ HDmall.co.th แนะนำ

@‌hdcoth line chat