ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรดี?


ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรดี?

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • 3 โรคหลักที่มักทำให้สุขภาพทรุดลงและเสียชีวิตได้มากที่สุดคือ โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อ
  • โปรแกรมตรวจสุขภาพสำคัญที่คนทุกช่วงวัยควรตรวจ จึงเน้นตรวจ 3 กลุ่มโรคนี้ ได้แก่ การตรวจเกี่ยวกับโรคกลุ่มหลอดเลือดและหัวใจ การตรวจคัดกรองมะเร็ง และการตรวจโรคติดเชื้อ เพื่อให้รู้แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างครบถ้วน
  • จำนวนของรายการตรวจแต่ละช่วงวัย แต่ละช่วงอายุอาจไม่เท่ากัน เช่น เพศหญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุยังน้อย ในขณะที่การเกิดมะเร็งในเพศชายที่อายุน้อยนั้นพบได้ไม่มาก จึงควรตรวจมะเร็งในช่วงวัยที่อายุมากขึ้นแทน ยกเว้นผู้ที่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว
  • นอกเหนือจากรายการตรวจ 3 ส่วนนี้ ผู้เข้ารับบริการที่สนใจอยากตรวจสุขภาพ สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ซักประวัติด้านสุขภาพก่อน เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมต่อไป
  • บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จากโรงพยาบาลวิมุต แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือการซื้อขายแพ็กเกจ #HDinsight

เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่


ในแต่ละช่วงวัยของคนเราย่อมมีโอกาสเกิดความเสื่อมของสุขภาพได้แตกต่างกัน ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิต ความเครียด อาหาร มลพิษ บุหรี่ สุรา และการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีเงื่อนไขชีวิตอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา เช่น การมีบุตร กรรมพันธุ์ที่ติดตัวมาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

คนแต่ละช่วงวัยโดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยใกล้สูงอายุ เป็นช่วงวัยที่มักเต็มไปด้วยภาระและหน้าที่มากมาย จึงควรดูแลสุขภาพตนเองเป็นพิเศษ แต่มีหลักการดูแลสุขภาพอย่างไร? จะมีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตได้อย่างยืนยาวที่สุด? หาคำตอบได้ในบทความนี้

HDmall.co.th ร่วมกับ ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลวิมุต โดยแพทย์หญิงมนฑรัตม์ เจนทวีพรกุล แพทย์ผู้เชียวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) จะมาไขทุกข้อสงสัย เจาะลึกวิธีการดูแลสุขภาพให้กับทุกช่วงวัยพร้อมแนะนำโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีที่เหมาะสม

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ เจนทวีพรกุล แพทย์ผู้เชียวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) โรงพยาบาลวิมุต

วิธีดูแลตนเองของคน 3 ช่วงวัย

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ ได้แบ่งกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่พร้อมคำแนะนำในการดูแลสุขภาพออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่

  • กลุ่มวัย Sandwich Generation วัย 30-50 ปี ที่เต็มไปด้วยสีสัน แต่ก็มากไปด้วยภาระหน้าที่
  • กลุ่มวัย Silver Mobile Generation วัยที่เริ่มเข้าใกล้ช่วงบั้นปลายของชีวิต
  • กลุ่มวัย Working Mom & Child เหล่าคุณแม่ผู้อดทน และอยากอยู่ดูแลลูกไปจนเขาเติบใหญ่

Sandwich Generation คือใคร?

Sandwich Generation เป็นช่วงวัยของกลุ่มคนอายุระหว่าง 30-50 ปี ซึ่งจัดเป็นช่วงวัยกลางคน ส่วนมากคนกลุ่มนี้มักเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นพนักงานองค์กรที่มีประสบการณ์ทำงานและใช้ชีวิตมาแล้วระดับหนึ่ง

เรียกได้ว่า Sandwich Generation ที่อายุ 30-50 ปี เป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยภาระงานที่หนัก มักต้องเผชิญความเครียดจากหลายทิศทาง และมักมีการดื่มสังสรรค์ หรือเข้าสังคมบ่อยครั้ง

ภาพกลุ่ม Sandwich Generation

แพทย์หญิงมนฑรัตม์กล่าวว่า กลุ่ม Sandwich Generation ช่วงอายุ 30-50 ปี มีปัจจัยแรกที่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมลงมาจาก “พันธุกรรม” โดยหลายคนเริ่มป่วยด้วยโรคต่างๆ จากการที่มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยเจ็บป่วยเป็นโรคนั้นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง

ส่วนปัจจัยที่สอง คือ “พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด” ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สุขภาพของกลุ่มคนช่วงอายุนี้ย่ำแย่ลง โดยพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ชัดของคนวัยนี้ ได้แก่

  • การปล่อยให้น้ำหนักตัวเยอะเกินเกณฑ์
  • ดื่มน้ำน้อย
  • สูบบุหรี่
  • บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • นอนดึก หรือพักผ่อนน้อย
  • ไม่ออกกำลังกาย

การดูแลตนเองของวัย 30-50 ปี (Sandwich Generation)

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ได้มุ่งเน้นแนวทางการดูแลสุขภาพของคนกลุ่ม Sandwich Generation ไปที่ปัญหา “การสูบบุหรี่” เป็นอันดับแรก โดยไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ที่เป็นยาสูบหรือบุหรี่ไฟฟ้าก็ควรงดสูบทุกรูปแบบ เพราะปัจจัยที่ทำให้ปอดทำงานแย่ลงกว่าเดิม ลำดับต่อมาคือ การดื่มสุรา

การดื่มสุราอย่างเหมาะสมไม่จำเป็นต้องงดดื่มโดยเด็ดขาด แต่ควรดื่มในปริมาณที่จำกัดและไม่มากเกินไปตามเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มที่แต่ละคนเลือกดื่ม เนื่องจากแอลกอออล์เป็นบ่อเกิดของการสะสมไขมันในตับ เป็นสาเหตุของตับแข็ง มะเร็งตับ และการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

พฤติกรรมการกินและออกกำลังกายก็สำคัญ เนื่องด้วยคนกลุ่มวัย 30-50 ปี Sandwich Generation มักต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบและเวลาที่จำกัด ทำให้ไม่มีเวลาเลือกชนิดอาหารมากนัก ส่งผลให้ปริมาณสัดส่วนสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอต่อร่างกาย

การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่แคลอรีและไขมันไม่สูงเกินไป มีสัดส่วนวิตามินและเกลือแร่ที่เพียงพอต่อร่างกายสลับกันแต่ละมื้อเป็นอีกตัวช่วยทำให้สุขภาพยืนยาวขึ้นได้ และควรดื่มน้ำให้พอทุกวันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังควรแบ่งเวลาออกกำลังกายบ้าง และควรนอนหลับให้เพียงพอในทุกคืน

ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ โอกาสที่อายุจะยืนยาวมากขึ้นก็มีเพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนไปเช่นกัน


Silver Mobile Generation คือใคร?

Silver Mobile Generation เป็นกลุ่มผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ หรืออายุ 55 ปีขึ้นไป หรือในอีกนัยยะหนึ่งก็คือ ช่วงอายุในอนาคตที่กำลังจะมาถึงของกลุ่มคน Sandwich Generation นั่นเอง

โดยคนกลุ่ม Silver Mobile Generation อายุ 55 ปีขึ้นไป มักมีสุขภาพย่ำแย่ลงจากพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ผิดๆ ในช่วงที่อายุยังน้อย โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะต่อสุขภาพ การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ยังกล่าวด้วยว่า มีสาเหตุที่เป็นตัวการที่บั่นทอนทำให้คนกลุ่ม Silver Mobile Generation อายุ 55 ปีขึ้นไป มีสุขภาพย่ำแย่ลงก็คือ “สุขภาพใจ”

เนื่องจากช่วงอายุของคนกลุ่มนี้อยู่ในวัยหมดประจำเดือน หรือเริ่มมีความผิดปกติของฮอร์โมน ทำให้ร่างกายไม่ได้แข็งแรงมีพละกำลังมากเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่ต้องเกษียณตัวเองออกจากงาน ต้องอยู่บ้านคนเดียวแยกตัวออกมาจากลูกหลาน จึงทำให้เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ มีภาวะความเครียดสะสม ภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า

จากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพใจเหล่านี้จึงทำให้ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุหลายคนไม่ยอมดูแลตนเองเหมือนแต่ก่อน เช่น ไม่ยอมนอน ไม่ยอมกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดูแลสุขอนามัยร่างกายให้สะอาด บางท่านดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจากพฤติกรรมเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคได้หลายอย่างตามมา เช่น

  • โรคนอนไม่หลับ
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคมะเร็งปอด
  • โรคกระดูกพรุน

การดูแลตนเองของคนอายุ 55 ปีขึ้นไป (Silver Mobile Generation)

กลุ่มคน Silver Mobile Generation อายุ 55 ปีขึ้นไปควรมุ่งเน้นไปที่การกินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยควรเลี่ยงการกินอาหารรสจัด หวาน มัน เค็มให้น้อยลง ร่วมกับพักผ่อนให้เพียงพอ

ภาพกลุ่มคน Silver Mobile Generation

ส่วนของผู้หญิงควรเน้นการกินแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ยังได้เน้นย้ำถึงการไปตรวจสุขภาพประจำทุกปีในกลุ่มคนที่เข้าสู่วัยสูงอายุ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังมักมีพฤติกรรมไม่ยอมเดินทางไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยเป็นผลมาจากความกลัวในผลตรวจที่ออกมาซึ่งอาจตรวจพบความผิดปกติบางอย่าง

ทั้งที่ความจริงแล้ว ในทางกลับกัน การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้แพทย์มองเห็นวิธีการรักษาความผิดปกติที่ตรวจเจอตั้งแต่ระยะแรกได้

ไม่ว่าจะเป็นโรคทั่วไปที่รักษาได้ไม่ยาก ไปจนถึงโรคที่รุนแรงอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งก็สามารถรักษาให้หายได้หากตรวจเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค


Working Mom & Child คือใคร?

กลุ่ม Working Mom & Child หรือกลุ่มคนแม่ที่มีลูกน้อย เป็นอีกกลุ่มคนที่ต้องอึดถึกทนต่อการใช้ชีวิตและมักมีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ให้นิยามคุณผู้หญิงกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มผู้ที่มักต้องใช้เวลาเพื่อดูแลคนอื่นมากกว่าตนเอง ทำให้ต้องใช้ชีวิตด้วยหลัก “อะไรก็ได้” ในแทบทุกกิจวัตรของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนอนตอนไหนก็ได้ กินอะไรก็ได้ ขอแค่อิ่มและมีแรงดูแลครอบครัวก็พอ

ภาพกลุ่ม Working Mom & Child หรือกลุ่มคนแม่ที่มีลูกน้อย

ซึ่งผลกระทบจากการใช้ชีวิตโดยไม่เลือก และไม่ได้ดูแลตนเองดีพอ จึงทำให้คนกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตามมาหลายอย่าง

  • โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งมาจากการทำงานบ้านที่หนักอย่างต่อเนื่อง การยืนทำกับข้าวเลี้ยงคนหลายๆ คนในบ้าน รวมถึงการอุ้มลูก
  • โรคมะเร็งบางชนิดที่พบได้บ่อยในเพศหญิงอย่างโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม
  • โรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินที่มักเน้นไปที่อาหารกินง่าย ให้พลังงานเยอะ มีไขมันและน้ำตาลสูง

การดูแลตนเองของกลุ่มคนแม่ที่มีลูกน้อย

เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นเพศหญิง สิ่งแรกที่ทุกคนไม่ควรพลาด คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งปากมดลูก ตรวจคัดกรองโดยการตรวจภายใน เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไปในผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และอายุ 30 ปีขึ้นไปถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ โดยตรวจเซลล์มะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า Pap Smear หรือ การตรวจที่ละเอียดขึ้นเรียกว่า ThinPrep ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกผ่านการเก็บตัวอย่างเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูก ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

โรคมะเร็งปากมดลูกยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ โดยควรฉีดให้ครบทั้ง 3 เข็ม

สำหรับโรคมะเร็งเต้านม สามารถตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ผ่านการคลำหาก้อนที่เต้านมตั้งแต่อายุ 30 ปี

นอกเหนือจากนั้นก็มีโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีที่จำเป็นอยู่ 2 รายการ คือ ในช่วงอายุ 30-35 ปี หากตรวจพบก้อนผิดปกติที่เต้านม แนะนำตรวจอัลตราซาวด์เต้านม และการตรวจแมมโมแกรมเต้านม เริ่มตรวจในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ถึงแม้ว่าตรวจร่างกายจะไม่พบก้อนผิดปกติก็ตาม

นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองโรค ผู้หญิงกลุ่ม Working Mom & Child ควรแบ่งเวลาในการออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที เพื่อเพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้ดียิ่งขึ้น ช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจ โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนักมากมาย อาจใช้เป็นวิธีเดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิกก็ได้

และควรกินอาหารประเภทผักและผลไม้ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะผักที่ควรเลือกกินให้ครบ 3 สี ทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ในส่วนของผลไม้ก็ควรระวังอย่ากินผลไม้ที่มีรสชาติหวานบ่อยๆ เพราะก็จัดเป็นอาหารที่มีน้ำตาลสูงมากเช่นกัน


การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย

แนวทางการเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี เลือกอย่างไรให้ตรวจได้ตรงจุด เน้นความเสี่ยง และไม่สิ้นเปลือง โดยแพทย์หญิงมนฑรัตม์กล่าวว่า มีอยู่ 3 กลุ่มโรคที่เป็นตัวการคร่าชีวิตผู้คนแทบทุกช่วงวัยได้มากที่สุด และ 3 อวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดและหัวใจ ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตที่หลายคนรู้จักเท่านั้น แต่โรคหลอดเลือดและหัวใจยังหมายรวมถึงการตรวจภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเหล่านี้ทั้งหมดด้วย
  • โรคมะเร็ง โรคร้ายที่ส่งต่อได้ผ่านทางพันธุกรรม และมีปัจจัยมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น การสูบบุหรี่และดื่มเหล้า
  • โรคติดเชื้อ อีกโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ ซึ่งจัดเป็นอีกโรคที่คร่าชีวิตใครหลายคนไปเช่นกัน เห็นได้จากในยุคปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่าหลายล้านคน
  • ส่วน 3 อวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ ตา กระดูกและฟัน

ดังนั้นรายการตรวจพื้นฐานที่แนะนำให้ผู้เข้ารับบริการทุกช่วงวัยควรเข้าตรวจในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีคือ การตรวจ 3 กลุ่มโรค และ 3 อวัยวะ ได้แก่

1. โปรแกรมตรวจหลอดเลือดหัวใจ

สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นบ่อเกิดของการเกิดโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรง

แพทย์หญิงมนฑรัตม์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของรายการตรวจนี้ว่า หากอยากสุขภาพดี ก็ต้องทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกายดีอย่างสม่ำเสมอด้วย ถ้าหลอดเลือดดี อวัยวะต่างๆจะดีตามมาด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่การตรวจหลอดเลือดหัวใจจำเป็นอย่างมาก

ในผู้เข้าตรวจที่อายุยังไม่มาก แพทย์อาจพิจารณาระดับไขมันอย่างเดียว เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีไขมันสะสมในหลอดเลือดในเลือดได้ แต่ในอายุที่มากขึ้น หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ควรเพิ่มรายการตรวจระดับน้ำตาลไปด้วย

2. โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็ง

ผู้หญิงเป็นเพศที่สามารถตรวจเจอเชื้อมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย โดยในช่วงอายุ 25 ปีควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกก่อน

จากนั้นในช่วงเข้าสู่วัยกลางคน หรือประมาณ 40-50 ปี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มเติม

ในส่วนของผู้ชายแม้ไม่มีความเสี่ยงในช่วงอายุน้อย แต่ในช่วงสูงวัยมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้หลายชนิด และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเช่นกัน ได้แก่ โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้

3. โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อ

รายการตรวจที่เน้นให้ผู้เข้ารับบริการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออย่างครบถ้วน เนื่องจากหลายโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ สามารถลุกลามกลายเป็นผลกระทบที่รุนแรงต่อชีวิตได้ เช่น

  • โรคไวรัสตับอักเสบบี ควรตรวจเลือดว่าเคยติดเชื้อ และมีภูมิไวรัสตับอักเสบบีแล้วหรือไม่ หากไม่ได้รับวัคซีนจนมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสและได้รับเชื้อมา ไวรัสนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับในภายหลังได้
  • โรคปอดอักเสบ เชื้อสามารถลงปอดถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • โรคไข้หวัดใหญ่ อีกโรคที่ดูเหมือนเป็นโรคติดเชื้อธรรมดาทั่วไป แต่หากผู้ป่วยไม่มีภูมิคุ้มักันมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย

3 อวัยวะที่ควรตรวจเช็ก

3 อวัยวะที่สำคัญต่อร่างกายและควรตรวจเช็กได้แก่

  1. ตา เป็นอวัยวะที่หากมองไม่เห็นแล้ว ยากที่จะแก้ไขกลับมาเพื่อให้เห็นชัดดังเดิม ดังนั้นในอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ควรเริ่มตรวจตากับจักษุแพทย์ เช่น คัดกรองต้อหิน เป็นต้น
  2. กระดูก หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แคลเซียมจะเริ่มสลายออกจากกระดูก มีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนในอนาคต แนะนำกินแคลเซียมและวิตามิน ดีเสริม การตรวจมวลกระดูก ควรตรวจในหญิงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และในชายอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ยกเว้นในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุน เช่น มีประวัติกระดูกสะโพกหักในครอบครัว พบว่าตัวเตี้ยลง มีประวัติหมดประจำเดือนเร็ว ผ่าตัดรังไข่ กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือสูบบุหรี่ ผู้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลอื่นๆ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจภาวะกระดูกพรุนได้
  3. ฟัน แนะนำตรวจฟันทุก 6 เดือน

นอกเหนือจากรายการตรวจทั้ง 3 กลุ่มโรค และ 3 อวัยวะนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รายการตรวจสุขภาพของคุณสมบูรณ์ขึ้นก็คือ การเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้ซักประวัติด้านสุขภาพอย่างละเอียด และดูความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยต่างๆ เพื่อให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพได้

โปรแกรมตรวจสุขภาพเฉพาะบุคคล

ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลวิมุตเปิดให้บริการออกแบบรายการตรวจสุขภาพเฉพาะบุคคลผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้เข้ารับบริการสามารถรับแบบฟอร์มเพื่อกรอกข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น น้ำหนัก ส่วนสูง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการตรวจสุขภาพในอดีต รวมถึงโรคทางกรรมพันธุ์ที่พบในครอบครัวของตนเอง

โรงพยาบาลวิมุตจะออกแบบรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะและจำเป็นกับผู้เข้ารับบริการแต่ละท่าน แล้วส่งข้อมูลกลับทางอีเมลที่ได้แจ้งไว้ โดยเน้นไปที่รายการตรวจส่วนที่สำคัญ เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพประจำปี

หรือหากผู้เข้ารับบริการยังไม่แน่ใจในข้อมูลการตรวจสุขภาพหรือมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพประจำปีที่เหมาะต่อตนเองก่อนได้ที่ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลวิมุต หรือนัดหมายวิดีโอคอลกับแพทย์หรือทำ Telemedicine กับทางศูนย์สุขภาพได้เช่นกัน

ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลวิมุต เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างละเอียดและตรงประเด็นปัญหาสุขภาพของแต่ละบุคคล จึงมุ่งมั่นออกแบบกระบวนการตรวจส่วนนี้ให้ตอบโจทย์ต่อผู้เข้ารับบริการแต่ละท่านให้มากที่สุด โดยภายในศูนย์ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ตรวจสุขภาพที่ครบครัน เช่น

  • ห้องเจาะเลือด
  • ห้องตรวจเอกซเรย์
  • ห้องตรวจอัลตราซาวด์
  • ห้องตรวจแมมโมแกรม
  • ห้องตรวจมวลกระดูก
  • เครื่องทดสอบสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

ทั้งนี้โปรแกรมดังกล่าวเพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยความเสี่ยงเฉพาะบุคคลโดยจะวิเคราะห์ จากความเหมาะสมตาม เพศ อายุ พฤติกรรมเสี่ยง ไลฟ์สไตล์ ความเสี่ยงที่สืบทอดทางพันธุกรรม ของผู้รับบริการ

ออกแบบโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะกับตัวเองและคนที่คุณรัก ผ่านการดูแลและใส่ใจโดยแพทย์จากศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลวิมุต เพื่อให้คุณได้ตรวจเช็กความเสี่ยงและสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายได้อย่างครบครัน ภายในค่าใช้จ่ายที่ประหยัดและคุ้มค่า


บทความที่ HDmall.co.th แนะนำ

@‌hdcoth line chat