geriatric physical therapy scaled

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ การฟื้นฟูร่างกายสำหรับวัยเก๋า

อายุที่มากขึ้น มักมาพร้อมกับความทรุดโทรมของสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะดูแลสุขภาพอย่างดีแค่ไหน ก็มีโอกาสเกิดอาการปวดเมื่อยข้อเข่า หรือได้รับผลกระทบจากโรคเรื้อรังต่างๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคแต่ละโรคนั้นมีวิธีการรักษาแตกต่างกันออกไป และหนึ่งในอาการที่ผู้สูงอายุพบบ่อยที่สุดก็คือเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี รวมถึงการทำกายภาพบำบัดผู้อายุด้วย

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุคืออะไร?

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุ (Geriatric Physical Therapy) เป็นการกายภาพบำบัดที่เน้นพัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายสำหรับผู้สูงอายุด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อ ใช้อุปกรณ์ต่างๆ เสริมการรักษา

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเกิดความสึกหรอจนเกิดอาการปวดตามข้อ และตำแหน่งต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ การทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุจะสามารถเสริมความแข็งแรง และความคล่องตัวให้กับกล้ามเนื้อได้ ช่วยให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น ลดโอกาสลื่นล้มจนเกิดการบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุร่วมกับการรักษาด้วยเช่นกัน

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุเหมาะกับใคร?

ผู้สูงอายุที่อาจได้รับประโยชน์จากการทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุ อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ (Arthritis)
  • ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)
  • ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดสะโพก
  • ผู้ที่ต้องใส่ข้อเข่าเทียม
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านการทรงตัว (Balance disorders)
  • ผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ด (Incontinence)
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง

อย่างไรก็ตาม หากมีโรคร้ายแรงที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์ เช่น การผ่าตัดสะโพก หรือโรคหลอดเลือดในสมอง นักกายภาพบำบัดไม่สามารถทำการรักษาแทนแพทย์ได้ แต่จะทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการรักษาเท่านั้น

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุช่วยอะไร?

จุดประสงค์หลักในการทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุ มักเป็นการเพิ่มสมรรถภาพร่างกายให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ประกอบไปด้วยข้อต่อไปนี้

  • บรรเทาอาการปวด
  • เรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ไม้เท้า ไม้พยุง
  • ฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ฟื้นฟูความสมดุลของร่างกาย
  • เพิ่มขีดความสามารถในการเคลื่อนไหว
  • เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
  • ฟื้นฟูการประสานงานกันระหว่างกล้ามเนื้อ

โดยนักกายภาพบำบัดผู้สูงอายุ (Geriatric physical therapists) จะประเมินอาการ ความสามารถในการเคลื่อนไหว ซักประวัติ เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน

กายภาพบำบัดผู้สูงอายุมีกี่วิธี?

หลังจากกำหนดแผนการรักษาแล้ว วิธีการทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุที่พบได้หลักๆ อาจมีดังนี้

  1. กายภาพบำบัดทั่วไป (Manual Therapy) เป็นการกายภาพบำบัดด้วยมือของนักกายภาพบำบัด เช่น การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การบิดและดึงบริเวณข้อต่อ มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด นอกจากนี้อาจมีการให้คำแนะนำท่าทางที่สามารถนำไปปฎิบัติเองที่บ้านได้
  2. กายภาพบำบัดประคบเย็น (Cold Therapy) อาจใช้เวลาประคบประมาณ 15-20 นาทีต่อครั้ง ร่วมกับการนวดคลึง มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม และลดการอักเสบ
  3. กายภาพบำบัดประคบร้อน (Heat Therapy) สามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย มีส่วนช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น บรรเทาอาการสำหรับผู้ที่ข้อเสื่อม
  4. กายภาพวารีบำบัด (Hydrotherapy) เป็นการทำกายภาพบำบัดในบ่อน้ำ หรืออ่างน้ำ เพราะน้ำมีแรงต้านที่ไม่มากเกินไป เมื่อออกแรงขณะใต้น้ำจะช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกายได้
  5. กายภาพบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical stimulation) มีส่วนช่วยในการระงับสัญญาณความปวดที่ส่งไปยังสมอง ทำให้อาการปวดบรรเทาลง มักใช้กับผู้ที่ข้ออักเสบ รวมถึงสามารถใช้เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นด้วย
  6. กายภาพบำบัดด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการใช้คลื่นเสียงส่งเข้าไปในกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวด และกล้ามเนื้อกระตุก สามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย

นักกายภาพบำบัดจะประเมินร่างกายของผู้รับบริการทุกครั้งก่อนเริ่มการกายภาพบำบัด ดังนั้นจำนวนครั้งที่จะได้ทำการบำบัดแต่ละประเภท อาจแตกต่างกันออกไป

โดยสรุปแล้ว ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายแรงและผ่านการรักษาโดยแพทย์แล้ว สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายได้

รวมถึงผู้ที่มีอาการปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถทำกายภาพบำบัดผู้สูงอายุเพื่อฟื้นฟู และเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อได้เช่นกัน ลดโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้

Scroll to Top