ท้องเสียกินอะไรได้บ้าง กินอะไรหาย ห้ามกินอะไร ?

เมื่อมีอาการท้องเสีย ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปมาก การเลือกอาหารที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญในการช่วยฟื้นฟูร่างกายและลดอาการลง การรับประทานอาหารที่ถูกต้องสามารถช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ในขณะที่อาหารบางชนิดอาจทำให้อาการแย่ลง บทความนี้จะอธิบายว่าเมื่อมีอาการท้องเสีย ควรกินอะไรเพื่อบรรเทาอาการ ห้ามกินอะไรที่อาจทำให้ท้องเสียมากขึ้น และอาหารชนิดใดที่ควรกินเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย

ท้องเสียกินอะไรได้บ้าง

ระหว่างท้องเสีย ควรระวังเรื่องการเลือกอาหารที่ทานได้ โดยเลือกอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยฟื้นฟูสมดุลของร่างกาย

อาหารแนะนำ

  • อาหารอ่อนๆ อาหารย่อยง่าย รสอ่อน ทำให้การหดรัดตัวของลำไส้ใหญ่ลดลง จึงช่วยให้การขับถ่ายลดลงไปด้วย ตัวอย่างอาหารที่เคี้ยวง่าย เช่น ข้าวสวย ข้าวต้ม โจ๊ก ขนมปังปิ้ง หากทานเนื้อสัตว์ควรสับและบริโภคในปริมาณที่น้อย ผลไม้ทานได้บ้างในปริมาณที่จำกัด
  • กล้วย เป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ช่วยชดเชยแร่ธาตุที่สูญเสียไปจากการท้องเสีย และยังช่วยเพิ่มกากใยที่อ่อนโยนต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้อาการท้องเสียดีขึ้น
  • ซุปใส ช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำและเกลือแร่คืนมา ช่วยป้องกันการขาดน้ำและฟื้นฟูพลังงานให้ร่างกาย ควรเลือกซุปที่ไม่มีเครื่องปรุงรสจัดหรือมันเกินไป
  • โยเกิร์ต เลือกที่มีโปรไบโอติกส์ช่วยฟื้นฟูแบคทีเรียดีในลำไส้ ซึ่งช่วยปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ได้ดี ควรเลือกโยเกิร์ตที่ไม่มีน้ำตาลเพื่อไม่ให้ระคายเคืองระบบย่อยอาหาร

เครื่องดื่ม

  • ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ อาการอ่อนเพลียต่างๆ โดยผสมผงเกลือแร่ตามสัดส่วนที่ระบุไว้ จิบครั้งละน้อยจนหมดแก้ว หลังผสมแล้วสามารถเก็บไว้ได้แต่ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง หากไม่มีผงเกลือแร่ ก็สามารถเตรียมเองง่ายๆ ด้วยการผสม น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่น 1 ช้อนชา ผสมในน้ำต้มสุก 1 ขวด (750 ซีซี) คนให้เข้ากัน แต่ห้ามผู้ป่วยดื่มเกลือแร่สำหรับออกกำลังกายทดแทนเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
  • ดื่มน้ำมะพร้าว เพราะมีเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณสูง สามารถลดอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติขับสารพิษออกจากร่างกายได้อีกด้วย หากกังวลว่าจะกระตุ้นการขับถ่าย อาจเลี่ยงไปดื่มน้ำชนิดอื่นแทน
  • ดื่มน้ำสะอาด ที่ไม่มีสารเจือปน เช่น น้ำต้มสุก หรือ น้ำดื่มบรรจุขวดที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค
ท้องเสียกินอะไรดี

ท้องเสียห้ามกินอะไร

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงท้องเสียหรือไม่ควรกินเลย มีดังนี้

  • อาหารประเภทนมแลผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ไอศกรีม เพราะประกอบด้วยน้ำตาลแลคโตสซึ่งร่างกายย่อยและดูดซึมได้ยาก
  • หลีกเลี่ยง ผลไม้ละน้ำผลไม้ ที่มีน้ำตาลฟรุ๊กโตสมาก หากร่างกายดูดซึมน้ำตาลชนิดนี้เข้าไปมากๆ จะทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น
  • อาหารประเภทหมักดอง
  • อาหารสุกๆ ดิบๆ
  • อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ
  • อาหารที่มีกลูเตน เช่น แป้งสาลี ข้าวไรน์ ข้าวบาร์เลย์ เบียร์ น้ำสลัดบางชนิด เพราะย่อย ดูดซึมยาก และมีโอกาสท้องเสียสูง
  • อาหารทอด อาหารมัน อาหารที่ไขมันสูง เพราะย่อยยาก ร่างกายดูดซึมยาก หรืออาจไม่ดูดซึมเลย บางรายลำไส้ใหญ่อาจเร่งขับออกทำให้ท้องเสียมากขึ้น
  • อาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปี้ยวจัด เค็มจัด เพราะทำให้ระคายเคืองส่วนปลายของลำไส้ (ติดทวารหนัก)
  • คาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อคโกแลต โซดา เร่งกระบวนการย่อยและกระบวนการขับถ่าย

ผู้มีอาการท้องเสียบางราย ควรงดการรับประทานอาหารชั่วคราว เพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้ ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลงระหว่างที่มีอาการ เพื่อลดการทำงานของลำไส้ลงและสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น

ผู้มีอาการท้องเสียควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเพื่อช่วยให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ดี ลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารได้ง่าย

ท้องเสียห้ามกินอะไร

ท้องเสียกินอะไรหาย

การใช้ยาหยุดถ่ายอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี หากอาการไม่หนักจะใช้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการมากกว่าและทานอาหารตามความเหมาะสม ซึ่งไม่มีอาหารที่ทำให้หายท้องเสียได้ทันที แต่มีอาหารบางประเภทที่ช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น

  • รับประทานยาที่ทำหน้าที่เป็นสารดูดซับ ได้แก่ ยาคาโอลินหรือเพกติน ผงถ่าน และยาไดออกทาฮีดรอลสเมกไทต์ ควรใช้ร่วมกับผงน้ำตาลเกลือแร่ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ปรึกษาเภสัชกรได้ที่ร้านขายยา
  • รับประทานผลไม้และสมุนไพร โดยเฉพาะที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย เช่น รับประทานกล้วยน้ำว้าผลดิบสด แต่ข้อควรระวังคือ อาจเกิดอาการท้องอืดหลังรับประทาน หรือใช้ใบฝรั่งแก่ต้มดื่มแทนน้ำก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้

ยารักษาท้องเสีย

ที่สำคัญควรรับประทานยา ผลไม้ และสมุนไพรตามความจำเป็นและพิจารณาตามความเหมาะสม โดยเฉพาะผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งเมื่อต้องใช้ยา

หากรักษาด้วยตนเองด้วยวิธีเหล่านี้ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ผู้ป่วยยังคงถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นน้ำ อุจจาระมีลักษณะเป็นมูกมีกลิ่นคล้ายกุ้งเน่า ปวดท้อง อาเจียน มีไข้ อ่อนเพลีย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว

รักษาท้องเสีย โดยไม่ใช้ยา

การดูแลตนเองหลังหาย ป้องกันท้องเสีย

  • หลังจากหายท้องเสียควรรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ชนิดดี เช่น น้ำเปรี้ยว โยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เพื่อเพิ่มสมดุลของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยและดูดซึมอาหาร
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ สุก และย่อยง่าย
  • ดื่มน้ำสะอาด
  • ดูแลสุขอนามัยให้ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับอาการท้องเสีย

หากแบ่งชนิดโรคท้องเสีย โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ชนิด

ชนิดของอาการท้องเสีย

1. ท้องเสียชนิดเฉียบพลัน

ท้องเสียชนิดเฉียบพลันมักมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อน เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส การแพ้อาหารหรือความเครียด ผู้ป่วยท้องเสียชนิดเฉียบพลันอาจมีอาการดังนี้

  • ถ่ายเป็นน้ำบ่อยๆ
  • มีอาการปวดท้อง
  • หากอาการรุนแรงก็อาจมีไข้ และอาเจียน

อาการท้องเสียเฉียบพลัน จะมีอาการที่ประมาณ 1-2 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์

2. ท้องเสียชนิดต่อเนื่องและเรื้อรัง

ท้องเสียชนิดเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากความแปรปรวนในระบบทางเดินอาหาร หรือลำไส้ ที่มีความไวต่อสิ่งเร้า การแพ้อาหาร ส่วนประกอบในอาหาร หรือสารอาหารบางชนิดอันเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน อาจเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) หรือการติดเชื้อที่ไม่หายขาด

ท้องเสียต่อเนื่อง อาจมีอาการนานประมาณ 2-4 สัปดาห์

ท้องเสียเรื้อรัง อาจมีอาการต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

สาเหตุและเชื้อโรคต้นเหตุของอาการท้องเสีย

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการท้องเสีย ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียจากอาหาร การแพ้อาหาร รวมทั้งความเครียด

อาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อไวรัสและการติดเชื้อแบคทีเรีย

เชื้อไวรัสที่พบบ่อย

  • ไวรัสโคโรนา (Corona virus)
  • ไวรัสอะดีโน (Adeno virus)
  • อหิวาต์ (Cholera)
  • ลิสทีเรีย (Listeria)
  • ชิเกลลา (Shigella)
  • ไวรัสโรตา (Rota virus)
  • ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)

เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย

  • แบคทีเรียอีโคไล (Escherichia coli: E. coli)
  • แบคทีเรียสแตฟีโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus)
  • แบคทีเรียวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio Parahaemolyticus)
  • แบคทีเรียแคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter Jejuni)
  • แบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus)
  • แบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella)
  • แบคทีเรียคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium Perfringens)
  • แบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum)

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการท้องเสีย

สิ่งที่ควรทำในกรณีที่อาการท้องเสียไม่รุนแรง คือ ถ่ายอุจจาระออกให้หมดเพื่อกำจัดของเสีย หรือเชื้อโรคในลำไส้ให้หมดไป

สิ่งที่หลายคนอาจเข้าใจผิด คือ กินยาหยุดถ่ายทั้งที่ท้องเสียไม่มาก เพราะยาหยุดถ่ายเป็นตัวยาที่มีกลไกทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลงจึงลดการขับอุจจาระลง เพิ่มมวลของอุจจาระ ลดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ มักใช้กับอาการท้องเสียชนิดถ่ายเหลวมาก เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ แต่อาจทำให้มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกายนานขึ้น

นอกจากนี้เรายังสามารถดูแลตนเองระหว่างท้องเสียได้เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ร่างกายกลับมาเป็นปกติโดยไว ดังนั้น การรู้ว่าท้องเสียกินอะไรหาย ท้องเสียห้ามกินอะไร ทานอะไรได้บ้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากอาหารบางประเภทยิ่งรับประทานยิ่งทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น เสียน้ำ และเกลือแร่มากขึ้น อีกทั้งร่างกายยังแทบไม่ได้รับประโยชน์จากอาหารมื้อนั้นๆ ด้วย


คำถามสุขภาพที่พบบ่อย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top