ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) คืออะไร?


ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) คืออะไร? อันตรายไหม?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ภูมิแพ้อาหาร เป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่ออาหารบางชนิดมากผิดปกติ ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
  • ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหารบางราย อาจมีอาการแพ้เพียงเล็กน้อยในครั้งแรกที่รับประทาน และเพิ่มระดับรุนแรงในครั้งถัดๆ ไป
  • ตัวอย่างอาการภูมิแพ้อาหาร เช่น ชาหรือคันที่ปาก ใบหู ลำคอ มีผื่นคัน กลืนอาหารลำบาก บวมบริเวณใบหน้า วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย
  • อาการของภูมิแพ้อาหารจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีไปจนถึง 2, 4 และ 6 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร หากเกิดอาการแพ้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหาร

เคยไหม...เวลาที่รับประทานอาหารเข้าไปแล้วอยู่ดีๆ ก็มีอาการชา หรือคันที่ปาก มีผื่นคัน รู้สึกไม่สบายตัว หรือวิงเวียนศีรษะ นั่นเป็นสัญญาณของอาการภูมิแพ้อาหารที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรรีบไปหาหมอ เพราะหากแพ้อาหารอย่างรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้!


เลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับภูมิแพ้อาหารที่นี่

ขยาย

ปิด


ภูมิแพ้อาหาร หนึ่งในโรคภูมิแพ้ที่อันตรายมากกว่าที่คิด!

ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางชนิดมากผิดปกติ ตั้งแต่ในระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง

เมื่อคุณกินอาหารที่แพ้เข้าไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะคิดว่าเป็นสิ่งอันตราย จากนั้นก็กระตุ้นเซลล์แอนติบอดี้ (Antibody) หรือ Immunoglobulin E (IgE) ออกมาเพื่อจัดการกับสารอาหารนั้น

ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหารบางรายอาจมีอาการแพ้เพียงเล็กน้อยในครั้งแรกที่รับประทาน แต่จะเพิ่มระดับความรุนแรงในครั้งถัดๆ ไป โดย IgE จะตรวจจับและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ออกมาตามกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้ต่างๆ ที่รุนแรงขึ้น

จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมภูมิแพ้อาหารถึงอันตรายมากกว่าที่คิด และทำไมถึงควรรีบไปพบแพทย์เมื่อเกิดอาการแพ้ เพราะระดับความรุนแรงของอาการแพ้อาหารคาดการณ์เองได้ยาก

ราคาตรวจภูมิแพ้อาหาร

สาเหตุของภูมิแพ้อาหาร

สาเหตุของภูมิแพ้อาหารอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • คนในครอบครัวเป็นมาก่อน หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ หอบหืด กลาก และลมพิษ ก็มีโอกาสมากขึ้นที่คุณจะเป็นภูมิแพ้อาหารด้วยเช่นกัน
  • เป็นภูมิแพ้ประเภทอื่นมาก่อน หากคุณเป็นภูมิแพ้ประเภทอื่น หรือแม้แต่แพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็มีโอกาสที่คุณจะเป็นภูมิแพ้อาหารเพิ่มเติมในภายหลังได้
  • อายุ ภูมิแพ้อาหารนั้นมักพบได้บ่อยในเด็กโดยเฉพาะทารก เมื่อเด็กอายุเยอะขึ้น ระบบย่อยอาหารจะดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้น้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ถั่ว สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง และอาการแพ้แบบรุนแรง มีแนวโน้มจะเป็นไปตลอดชีวิต
  • หอบหืด ภูมิแพ้อาหารและหอบหืดมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นร่วมกัน ส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคหอบหืดจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ตัวอย่างอาหารที่หลายคนแพ้

อาหารต่อไปนี้เป็นอาหารที่มักทำให้เกิดอาการแพ้อาหาร แต่ไม่ใช่ทุกคนจะแพ้อาหารชนิดเดียวกันเสมอไป

  • สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ล็อบสเตอร์ ปู
  • ถั่วต่างๆ เช่น วอลนัท พีแคน
  • ปลา
  • ไข่ไก่
  • นมวัว
  • ข้าว
  • ถั่วเหลือง

แนะนำวิธีสังเกตอาการของภูมิแพ้อาหารเบื้องต้น

อาการของภูมิแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้หลายระบบในร่างกายตั้งแต่ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือหัวใจและหลอดเลือด โดยอาจเกิดเพียงแค่ระบบเดียว หรือเกิดขึ้นพร้อมกันหลายระบบก็ได้

อาการของภูมิแพ้อาหารจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีไปจนถึง 2, 4 และ 6 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร

การวัดระดับความรุนแรงของอาการแพ้ง่ายๆ คือ ยิ่งเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ หรือเกิดขึ้นพร้อมกันหลายระบบในร่างกาย นั่นแสดงว่า เป็นอาการแพ้อาหารรุนแรงที่ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้

อาการภูมิแพ้อาหารที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการของภูมิแพ้อาหารเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารไปไม่นาน ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที จะได้ให้แพทย์สังเกตอาการ และวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะหากมีอาการดังต่อไปนี้ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ทันที

  • ทางเดินหายใจหดตัว ทำให้หายใจลำบาก
  • ช็อก จากความดันโลหิตที่ลดลง
  • ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด

ตัวอย่างอาการภูมิแพ้อาหาร

  • ชา หรือคันที่ปาก ใบหู หรือในลำคอ
  • มีผื่นคันเหมือนเป็นลมพิษ หรือมีผิวหนังแดง รู้สึกคัน แต่ไม่มีผื่น
  • กลืนอาหารลำบาก
  • บวมบริเวณใบหน้า เช่น รอบดวงตาม ริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก หรือในลำคอ
  • วิงเวียนศีรษะ รู้สึกไม่สบาย และคลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการปวดท้องน้อย หรือท้องเสีย
  • มีอาการคล้ายเป็นไข้ละอองฟาง หรือที่นิยมเรียกกันว่า ภูมิแพ้อากาศ เช่น จาม คันรอบดวงตาและเยื่อบุตา

การดูแลตัวเองสำหรับคนเป็นภูมิแพ้อาหาร

เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นภูมิแพ้อาหาร วิธีป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น อาหารบางชนิดอาจหลีกเลี่ยงได้ง่าย แต่บางชนิดต้องระวังมากเป็นพิเศษเพราะเป็นส่วนผสมในเมนูอาหารต่างๆ ได้

  • อ่านฉลากสินค้าก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเลือกซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มก็ตาม ว่ามีส่วนผสมใดที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือไม่
  • ทำสัญลักษณ์บอกว่าแพ้อาหาร ในกรณีที่รู้ว่าตนเองมีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง อาจหาที่สวมสัญลักษณ์ทางการแพทย์บ่งบอกว่าตนเองแพ้อาหาร เช่น สร้อยข้อมือ สร้อยคอ เพราะหากเกิดอาการแพ้รุนแรงขึ้น คนอื่นจะได้ทราบสาเหตุในกรณีที่คุณไม่สามารถสื่อสารได้
  • ระวังการสั่งอาหารในร้าน หากเป็นไปได้ควรแจ้งกับผู้ประกอบอาหารหรือพนักงานในร้านอาหารทราบว่าคุณแพ้ส่วนประกอบอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบอาหารหลีกเลี่ยง และแน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหารนั้นไม่ปนเปื้อนสิ่งที่คุณแพ้
  • วางแผนการกินล่วงหน้า หากมีการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น อาจเตรียมอาหารที่มั่นใจแพ็กเย็นไปกินด้วยตัวเอง
  • ปรึกษาแพทย์ ผู้ที่มีอาการแพ้ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อควรปฏิบัติในกรณีที่เกิดอาการแพ้ขึ้น

อาการของภูมิแพ้อาหารยังมีอีกมากมาย หากคุณมีอาการดังกล่าว หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ หลังรับประทานอาหาร ให้จดบันทึกลักษณะอาการ ระยะเวลาที่เกิด และชนิดของอาหารที่รับประทานเข้าไป แล้วนำไปให้แพทย์ตอนที่เข้ารับการตรวจภูมิแพ้อาหาร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ สามารถตรวจยืนยันชนิดของอาหารที่แพ้ ระดับความรุนแรง ไปจนถึงให้คำแนะนำในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตของคุณ

สนใจตรวจภูมิแพ้อาหาร ลอง เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหาร จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณได้เลย

ตรวจภูมิแพ้อาหารราคาถูก

บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Mayo Clinic, Food allergy, (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/food-allergy/symptoms-causes/syc-20355095), 31 December 2021.
  • American College of Allergy, Food allergy ( http://acaai.org/allergies/types/food-allergies).
  • Michael Kerr, Common Food Allergies (https://www.healthline.com/health/allergies/common-food-allergies#milk), 11 July 2017.
  • ผศ.พญ.ปัญจมา ปาจารย์, “หนูน้อยแพ้อาหาร” รักษาได้จริงหรือ? (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1356), 24 ธันวาคม 2561.
@‌hdcoth line chat