มือเท้าชา เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากและคนส่วนใหญ่เคยประสบปัญหานี้มาก่อน บ่อยครั้งมาจากการขาดวิตามินบี แต่บางครั้งอาการชาตามปลายมือปลายเท้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเบาหวาน หรือภาวะขาดไทรอยด์ได้ ขึ้นกับสาเหตุของการชา
เมื่อมีอาการมือเท้าชา จึงไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาด เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ที่ไม่ใช่การขาดวิตามินบี อาจมีอันตรายกว่าที่คิด
สารบัญ
สาเหตุที่ทำให้มือเท้าชา
มือเท้าชา เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น นอนทับแขนตัวเอง ขาดวิตามินบี โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง ติดเชื้อ ยาบางชนิด ภาวะเครียด หรือภาวะวิตกกังวล
- นอนทับแขนตัวเอง หรืออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป ทำให้เกิดการกดทับเส้นเลือด เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และเกิดอาการชา
- ขาดวิตามินบี เพราะวิตามินบีช่วยบำรุง และซ่อมแซมระบบประสาทให้ทำงานได้ปกติ หากได้รับวิตามินบีน้อยเกินไป จะทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ และมีอาการมือเท้าชาได้
- ป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง
- ได้รับสารเคมี หรือยาบางชนิด เช่น ได้รับยากันชัก พิษจากโลหะหนักบางชนิด
- อาการการถอนยา เช่น อาการถอนยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ภาวะเครียด หรือวิตกกังกวล
มือเท้าชาเกิดจากโรคอะไรได้บ้าง
ลักษณะของอาการชาบ่งบอกถึงความผิดปกติได้ เช่น หากชาปลายเท้าปลายมือ อาจเกิดจากปลายประสาทเสื่อม หรือมีอาการอักเสบ หากชาทั้งแถบ อาจเกิดจากกระดูกต้นคอทับเส้นประสาท
- โรครูมาตอยด์ และโรคเกาต์ เนื่องจากโรคนี้เกี่ยวข้องกับกรดยูริก และกระดูก จึงอาจทำให้เกิดอาการมือเท้าชาได้
- โรคเบาหวาน อาการมือเท้าชา เป็นอาการหนึ่งของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เริ่มมีอาการรุนแรง
- ภาวะขาดไทรอยด์ มีอาการตะคริวบ่อยๆ ปวดกล้ามเนื้อ และเหนื่อยง่าย ร่วมด้วย
- พิษสุราเรื้อรัง แอลกอฮอล์จะเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน และสารอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการชา
- ภาวะติดเชื้อ ทำให้ภูมิคุ้มกันแย่ลง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียวิตามินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการชาตามปลายมือปลายเท้า
- โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือด โรคไต โรคอักเสบเรื้อรัง หรือวัยหมดประจำเดือน อาจเป็นสาเหตุของอาการมือเท้าชาได้เหมือนกัน
อย่างที่เห็นว่า นอกจากขาดวิตามินบีแล้ว อาการมือเท้าชาก็สามารถเกิดจากโรคใกล้ตัวได้หลายโรคเช่นกัน ดังนั้นหากเกิดอาการมือเท้าชาขึ้นบ่อยๆ อาจเป็นเพราะมีโรคแอบแฝงอยู่ก็เป็นได้ ควรดูแลสุขภาพด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหาเวลาตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละครั้ง
อาการมือเท้าชาแบบต่างๆ
อาการมือเท้าชามีหลายรูปแบบ แต่ละแบบมีสาเหตุที่ต่างกัน ดังนี้
- ชาเฉพาะนิ้วโป้ง ชี้ กลาง และนิ้วนางครึ่งซีก เกิดจากเส้นประสาทมือถูกบีบรัด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก และไม่สามารถนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เพียงพอ หรือพังผืดเสื่อมสภาพ และหนาขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทมือ ส่งผลให้มีอาการชา
- ชานิ้วโป้ง ชี้ กลาง และมีอาการปวดมือ เกิดจากการเกร็งมืออยู่ท่าเดิมนานๆ ทำให้เส้นประสาทกดทับที่ฝ่ามือ
- ชานิ้วก้อย เกิดจากเส้นประสาทบริเวณรักแร้อักเสบ เนื่องจากงอ และเกร็งข้อศอกเป็นเวลานาน
- ชาปลายเท้าและปลายมือ เกิดจากปลายประสาทเสื่อม หรืออักเสบจากการขาดวิตามินบี หรือป่วยด้วยโรคบางโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคไต หรือการได้รับสารพิษ
- ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว เกิดจากการใช้มือทำงานหนักมากเกินไป ทำให้เอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ มักมีอาการชาช่วงกลางคืน
- ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และสันมือ เกิดจากเส้นประสาทบริเวณข้อศอกถูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงบริเวณแขนท่อนล่างได้ไม่สะดวก
- ชาง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณต้นแขน
- ชาทั้งแถบ เกิดจากกระดูกต้นคอกดทับเส้นประสาท หรือกระดูกต้นคอเสื่อม เป็นอาการที่อันตรายมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที
- ชาหลังเท้าไปถึงหน้าแข้ง เกิดจากการนั่งไขว่ห้างนานๆ หรือนั่งพับเพียบ ทำให้เส้นประสาทบริเวณใต้เข่าด้านนอกถูกกดทับ ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดติดขัดจนเกิดอาการชา
- ชาทั้งเท้าไปถึงสะโพก เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ควรรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอาจเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้
- ชาปลายเท้า ฝ่าเท้า ปลายนิ้ว เกิดจากเส้นประสาทถูกทำลายเสียหายหลายเส้น ส่วนมากจะเกิดกับผู้ที่ดื่มแอกอฮอล์เป็นประจำ เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายเส้นประสาท
วิธีรักษาอาการมือเท้าชา
อาการชาที่ไม่รุนแรงเพียงแค่ปรับเปลี่ยนท่าทาง หรือสะบัดข้อมือก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากอาการรุนแรงจะต้องไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาต้านการอักเสบ และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการชา วิธีรักษาอาการมือเท้าชาแบ่งออกตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
1. การรักษาเมื่ออาการไม่รุนแรง
กรณีที่อาการมือเท้าชาไม่รุนแรง เช่น มีอาการชาแปล็บๆ ซ่าๆ เป็นระยะ สามารถรักษาได้ด้วยการเปลี่ยนท่าทาง หรือสะบัดข้อมือสักพัก ก็จะช่วยให้อาการชาทุเลาลง และหายไปในที่สุด
แต่หากมีอาการชาแบบนี้บ่อยๆ อาจรักษาด้วยการรับประทานวิตามินบีเสริม และให้ยาต้านการอักเสบเส้นประสาท และเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยบำรุง และซ่อมแซมเส้นประสาทให้กลับมาทำงานได้ปกติ
2. การรักษาเมื่ออาการรุนแรงและต่อเนื่อง
สำหรับผู้ที่มีอาการมือเท้าชาแบบบรุนแรง และต่อเนื่อง แม้จะสะบัดมือ หรือเปลี่ยนท่าทางแล้ว อาการชาก็ยังไม่ทุเลาลง การรักษาเริ่มแรก แพทย์จะให้ยาต้านการอักเสบเส้นประสาทก่อน และเฝ้าดูผลการรักษา
หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็จะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะผ่าตัดเอ็นที่กดรัดเส้นประสาทนั้นออก
3. การรักษาตามอาการ
หากอาการมือเท้าชา มีสาเหตุมาจากโรคร้ายบางโรค การรักษาจะต้องรักษาตามอาการที่เป็นอยู่ พร้อมกับรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุไปด้วย เพื่อบรรเทาอาการให้ค่อยๆ ทุเลาลง และไม่รุนแรงกว่าเดิม
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้วิตามินเสริม โดยเฉพาะวิตามินบีที่จะช่วยบำรุงระบบประสาท และลดอาการชาตามมือตามเท้าได้ดี
การป้องกันมือเท้าชา
อาการมื้อเท้าชาสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานวิตามินบีให้เพียงพอ ไม่นอนทับแขน หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคที่เป็นสาเหตุ และไม่เพิกเฉยเมื่อเกิดอาการชา
- รับประทานวิตามินบีอย่างเพียงพอ เพราะวิตามินบีมีส่วนช่วยในการทำงานของปลายประสาท ป้องกันการเกิดอาการมือเท้าชา
- อย่านอนทับแขน หรืออยู่ท่าเดิมนานๆ เพราะจะทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนก่อให้เกิดอาการชาในที่สุด
- รับประทานผักผลไม้ที่มีประโยชน์ เพราะผักผลไม้อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายเป็นจำนวนมาก นอกจากจะช่วยลดการเกิดอาการมือเท้าชาแล้ว ยังช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย
- ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคที่เป็นสาเหตุโดยเฉพาะโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการมือเท้าชา เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์
อาการมือเท้าชาเกิดได้ทั้งจากสาเหตุที่ไม่เป็นอันตราย และอันตราย จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายบางโรค หรือเป็นสัญญาณของภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งอาจเสี่ยงต่ออาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้