แพ้ฝุ่น สิ่งที่กระตุ้น วิธีตรวจ รักษา บรรเทาอาการ


แพ้ฝุ่น สิ่งที่กระตุ้น วิธีตรวจ รักษา บรรเทาอาการ

โรคแพ้ฝุ่น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก จามบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น บางรายก็อาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล หรือมีอาการคันที่ตา ตาแดง มีน้ำตาไหลร่วมด้วยได้

อาการแพ้ฝุ่นอาจเป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคหอบหืดได้ เช่น หายใจมีเสียงวี๊ด ไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจไม่อิ่ม

นอกจากนี้ฝุ่นยังสามารถทำให้บางคนมีอาการคัน หรือเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้อีกด้วย

อาการแพ้ฝุ่นเกิดขึ้นได้ที่ใดบ้าง?

อาการแพ้ฝุ่นสามารถเกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในบ้านของตนเอง หรือในบ้านของคนอื่น

ผู้ป่วยมักจะมีอาการแย่ลงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ฝุ่นเยอะๆ หรือช่วงที่ทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับฝุ่น เช่น เวลาทำความสะอาดบ้าน ซึ่งเป็นเวลาที่ฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อผู้ป่วยสูดหายใจเอาฝุ่นเข้าไปก็จะเกิดอาการแพ้ตามมานั่นเอง

อาการของโรคแพ้ฝุ่น

  • จาม
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ตาแดง คันตา มีน้ำตาไหล
  • หายใจมีเสียงวี๊ด ไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม
  • คัน

ปัจจัยกระตุ้นอาการแพ้ฝุ่น

องค์ประกอบที่พบบ่อยในฝุ่นภายในบ้านอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการแพ้ฝุ่น มีดังนี้

1. ไรฝุ่น (Dust mites)

  • ไรฝุ่นเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของการแพ้ฝุ่นภายในบ้าน และยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหอบหืดในเด็ก

  • ไรฝุ่นจะมีชีวิต และเพิ่มจำนวนได้ง่ายในสภาพอากาศอบอุ่น และชื้น

  • อุณหภูมิที่ไรฝุ่นชอบ คือ ตั้งแต่ 21.1 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับความชื้น 75-80% และจะตายเมื่อความชื้นลดลงต่ำกว่า 50% เราจึงไม่ค่อยพบไรฝุ่นในสภาพอากาศแห้ง

  • ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินเซลล์ผิวหนังของคน และสัตว์เลี้ยงที่หลุดลอกออกมาทุกๆ วัน

  • ไรฝุ่นมักพบได้ในหมอน ที่นอน พรม และเฟอร์นิเจอร์หุ้มเบาะ โดยไรฝุ่นจะลอยขึ้นสู่อากาศเมื่อเราใช้เครื่องดูดฝุ่น เดินบนพรม หรือนอนลงบนเตียง

  • ไรฝุ่นมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และไม่อาจกำจัดด้วยวิธีการทำความสะอาดตามปกติ

ข้อควรระวังในการกำจัดไรฝุ่น

การทำความสะอาดบ้านบ่อยครั้ง หรือทำมากเกินไปจะยิ่งทำให้อาการแพ้ฝุ่นของผู้ป่วยแย่ลงได้ เนื่องจากจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายเป็นจำนวนมาก จึงควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น และสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดเพื่อป้องกันการสัมผัสฝุ่นด้วย

2. แมลงสาบ

  • แมลงสาบเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในอาคารบ้านเรือนทุกประเภท รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ

  • บางคนจะมีอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อมีแมลงสาบอยู่ใกล้ๆ

  • อนุภาคขนาดเล็กๆ จากแมลงสาบเป็นองค์ประกอบที่พบบ่อยในฝุ่นภายในบ้าน และอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการแพ้ฝุ่นได้

3. เชื้อรา (Mold)

  • เชื้อราสามารถสร้างสปอร์ให้ลอยอยู่ในอากาศได้ เมื่อผู้ป่วยที่แพ้เชื้อราสูดดมสปอร์เหล่านี้เข้าไป จะทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้น

  • เชื้อราที่เป็นสาเหตุนั้นมีจำนวนหลากหลายชนิด บางชนิดก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในขณะที่บางชนิดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

  • เชื้อรามีอยู่ทุกที่ โดยอยู่บนไม้แปรรูปต่างๆ ใบไม้ที่ร่วงกองอยู่บนพื้นดิน และในสถานที่ที่มีความชื้น เช่น ในห้องน้ำ หรือห้องครัว

4. เกสร/ละอองเกสร

  • เกสรต่างๆ มาจากต้นไม้ หญ้า ดอกไม้ และวัชพืช

  • เราสามารถแพ้เกสรดอกไม้ได้หลายชนิด บางคนอาจแพ้เฉพาะเกสรดอกไม้จากต้นไม้ชนิดหนึ่งเท่านั้น หรือบางคนอาจแพ้เฉพาะเกสรจากหญ้าบางชนิด

5. ขนสัตว์ เสื้อขนสัตว์

  • สัตว์เลี้ยงสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้หลายช่องทาง เช่น สะเก็ดจากผิวหนัง รังแค น้ำลาย หรือปัสสาวะของสัตว์

  • เมื่อสิ่งเหล่านี้สัมผัสรวมกับฝุ่นภายในบ้าน เช่น ในบ้านที่มีการเลี้ยงนก ขนนกและขี้นกอาจรวมตัวกันกลายเป็นฝุ่นภายในบ้าน และทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้นตามมา

การตรวจหาสาเหตุของการแพ้ฝุ่น

การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้อาจทำให้คุณสามารถหาสาเหตุของอาการแพ้ได้ โดยแพทย์จะมีขั้นตอนการคัดกรองภูมิแพ้ ดังนี้

  • ซักประวัติ แพทย์สามารถประเมินคร่าวๆ ได้ว่า คุณมีโอกาสแพ้สิ่งใดได้บ้าง

  • ทดลองเลี่ยงสารที่คาดว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ แพทย์อาจให้คุณลองเลี่ยงสารที่คาดว่า เป็นสารก่อภูมิแพ้ในระยะเวลา 1-3 เดือน หากมีอาการดีขึ้นก็แสดงว่า คุณแพ้สารนั้นๆ

  • ตรวจภูมิแพ้ เป็นวิธีที่สามารถบอกได้ว่า คุณแพ้สิ่งใดบ้าง และแพ้ในระดับใด โดยวิธีตรวจภูมิแพ้ที่นิยม มี 2 วิธี คือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin Prick Test: SPT) และการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG)

โรคแพ้ฝุ่นหลีกเลี่ยงได้อย่างไร?

ในการจัดการป้องกันอาการแพ้ฝุ่นเบื้องต้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมภายในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งนับเป็นวิธีที่ดีที่สุด

วิธีการต่อไปนี้เป็นวิธีง่ายๆ ในการลดการสัมผัสกับฝุ่นภายในบ้านที่สามารถปฏิบัติตามได้

  • ควรเลือกใช้พื้นไม้แทนพื้นพรม โดยเฉพาะภายในห้องนอน

  • ทำความสะอาดบ้านและห้องนอนเป็นประจำ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่นสุญญากาศ หรือเครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูง (HEPA Filter)

  • หากมีอาการแพ้ขณะทำความสะอาดบ้าน แนะนำให้สวมหน้ากากกรองอากาศคุณภาพสูงที่เรียกว่า “หน้ากาก N95” และอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงภายหลังการทำความสะอาด กว่าที่ฝุ่นในอากาศจะตกลงสู่พื้น

  • เลือกใช้ที่นอน ผ้าปูที่นอน และหมอนกันไรฝุ่น รวมทั้งทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำร้อน

  • ทำความสะอาดพื้นผิวภายในบ้านด้วยผ้าเปียก เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ฟุ้งขึ้นไปในอากาศ

  • ไม่ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในห้องนอนของผู้ที่แพ้ฝุ่น หรือหากจะให้ดีควรเลี้ยงไว้นอกบ้าน

  • เก็บอาหารที่ไม่แช่เย็นในภาชนะปิด และทิ้งเศษอาหารในถังขยะที่มีฝาปิดสนิท

  • หากแมลงสาบเป็นปัญหาของอาการแพ้ ให้ใช้ที่ดักแมลงสาบ หรือใช้บริการจากบริษัทกำจัดแมลงภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ

  • ใช้แผ่นกรองอากาศคุณภาพสูงที่มีการจัดอันดับ MERV ระดับ 11 หรือ 12 ภายในเครื่องปรับอากาศที่อยู่ในบ้าน ควรเปิดเครื่องไว้เพื่อกรองอากาศภายในบ้าน และกำจัดฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ

  • แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นกรองอากาศนี้ทุก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือทุกครั้งก่อนการเปลี่ยนฤดูกาล เพื่อช่วยให้อากาศภายในบ้านสะอาดตลอดทั้งปี และอย่าลืมรับบริการตรวจเช็กเครื่องปรับอากาศจากศูนย์บริการทุกๆ 6 เดือน

  • หาซื้อเครื่องวัดความชื้น (Hydrometer) มาวัดความชื้นภายในบ้านของคุณ และพยายามรักษาระดับความชื้นภายในบ้านให้ต่ำกว่า 55% เนื่องจากไรฝุ่นสามารถเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นมาก

มียารักษาโรคแพ้ฝุ่นหรือไม่?

หากคุณพยายามลดการสัมผัสฝุ่นภายในบ้านแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้มากนัก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาแก้คัดจมูก ยาต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการคัดแน่นจมูก น้ำมูกไหล จาม และคัน

นอกจากนี้อาจใช้ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ชนิดพ่นจมูก ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการจมูกอักเสบ เนื่องจากออกฤทธิ์โดยป้องกันไม่ให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้

โดยแพทย์จะประเมิน และติดตามอาการ เพื่อหาว่า ยาใดที่ดีที่สุดสำหรับคุณ ควรใช้ยาวันละกี่ครั้ง และควรใช้ในปริมาณเท่าใด

ถึงแม้ว่าอาการแพ้ฝุ่นจะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การหมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ และใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่ออยู่ในที่ที่มีฝุ่นคลุ้งกระจาย จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแพ้ที่เกิดขึ้นได้


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat