เรื่องควรรู้ก่อนไปตรวจเบาหวาน


ตรวจเบาหวานตรวจอะไรบ้าง? ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจเลือด? ใครควรตรวจบ้าง?

HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • การตรวจเบาหวาน คือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเกินไปหรือไม่ หากพบว่าค่าน้ำตาลเสี่ยงเป็นเบาหวาน แพทย์จะกำหนดแนวทางการปรับพฤติกรรมต่างๆ ให้
  • ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจเบาหวานได้แก่ คนที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน ความดันสูง เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ มีประวัติเคยเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • สิ่งที่จะเจอในโปรแกรมตรวจเบาหวาน ได้แก่ การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาทั้งช่วงอดอาหาร และช่วงปกติ การตรวจน้ำตาลสะสมในเลือดฮีโมโกลบิน การทดสอบความทนต่อกลูโคส และตรวจปัสสาวะ
  • เปรียบเทียบราคาโปรแกรมตรวจเบาหวานได้ที่ HDmall.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับแอดมินได้ที่ไลน์ @hdcoth

เบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลของอินซูลิน (Insulin) ในร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน

เมื่อระบบนี้เกิดความผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือด ระบบประสาท และอาจนำไปสู่การเสียการมองเห็น มือบวม เท้าบวม หัวใจวาย


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด


ตรวจเบาหวานคืออะไร?

การตรวจเบาหวาน คือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งมีการตรวจหลายประเภทที่ใช้ในการวินิจฉัย

หากพบว่าค่าน้ำตาลเสี่ยงเป็นเบาหวาน แพทย์จะกำหนดแนวทางการปรับพฤติกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหาร และยาช่วยควบคุมระดับน้ำตาลเพื่อป้องกันอาการที่ร้ายแรงในอนาคต

หากผลตรวจพบว่าไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นเบาหวาน คุณก็ยังควรมาตรวจเบาหวานเป็นระยะอย่างน้อยทุก 3 ปี หรือตามที่แพทย์แนะนำ

ตรวจเบาหวาน ราคา

ใครควรตรวจเบาหวาน?

โรคเบาหวานในระยะแรกๆ อาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น หรือมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นเดียวกับหลายๆ โรคที่หลายคนมักจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นก็ต่อเมื่ออาการลุกลามและเริ่มแสดงออกมาให้เห็นแล้ว

เมื่อมีทั้งคนที่แสดงอาการ และคนที่ไม่แสดงอาการ ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจเบาหวานจึงอาจแบ่งได้ 2 แบบ คือตามอาการ และตามปัจจัยเสี่ยง

ต่อไปนี้คืออาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน

  • หิวน้ำบ่อย
  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • รู้สึกหิวบ่อย หิวหลังจากกินอาหารไม่นาน
  • เห็นภาพไม่ชัด
  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • แผลหายช้ากว่าปกติ

สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการข้างต้น หากมีเงื่อนไขข้อใดตรงกับข้อต่อไปนี้ ก็ควรเข้ารับการตรวจเบาหวานเช่นกัน

  • มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) เกินเกณฑ์ปกติ คำนวณค่าดัชนีมวลกายของคุณได้ ที่นี่
  • มีค่าความดันเลือดหรือไขมันในเลือดสูง
  • มีค่าน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • มีประวัติเคยเป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome)
  • มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
  • ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ

ถ้าไม่มีเงื่อนไขหรืออาการใดๆ ตรงกับข้อดังกล่าวเลย อาจบ่งบอกว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานน้อย แต่เมื่ออายุถึงประมาณ 45 ปีก็ควรรับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดดู เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานก็มากขึ้นเช่นกัน

ตรวจเบาหวานตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจเบาหวานที่นิยมมากที่สุดมักใช้วิธีเจาะเลือดแล้วนำไปตรวจในห้องปฎิบัติการ เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และราคาไม่แพง มีเพียงบางกรณีที่ตรวจจากปัสสาวะ รายละเอียดการตรวจ อาจมีดังนี้

1. การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาช่วงอดอาหาร

การเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose test: FPG) เป็นการตรวจอันดับแรกๆ สำหรับการตรวจเบาหวาน

  • ค่าระดับน้ำตาลที่ปกติจะอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
  • ค่าระดับน้ำตาลที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจะอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ค่าระดับน้ำตาลที่อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานคือ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป

บางกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงถึง 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจเบาหวานรายการอื่นๆ เพิ่มเติม

เช็กราคาตรวจเบาหวาน

2. การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาช่วงเวลาปกติ

การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาช่วงเวลาปกติ (Casual plasma glucose) เป็นการตรวจเบาหวานโดยวัดระดับน้ำตาลในเลือดตอนไหนก็ได้โดยไม่ต้องอดอาหาร หรือรอเวลาหลังจากอาหารมื้อสุดท้าย 8 ชั่วโมงเหมือนการตรวจแบบแรก

ระดับน้ำตาลกลูโคสในการตรวจประเภทนี้ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากมากกว่านี้คุณอาจมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

3. การตรวจน้ำตาลสะสมในเลือดฮีโมโกลบิน

การตรวจฮีโมโกลบิน (Hemoglobin A1c: HbA1c) เป็นหนึ่งในการตรวจเลือดที่สำคัญสำหรับติดตามและวินิจัยโรคเบาหวาน

การตรวจเบาหวานแบบนี้เป็นการวัดค่าเฉลี่ยของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 6-12 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ายา อาหาร และพฤติกรรมของคุณสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้หรือไม่ เนื่องจากอายุขัยเฉลี่ยของเซลล์เม็ดเลือดจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน

หากระดับน้ำตาลยังไม่ลดลงหรือคุมไม่อยู่ แพทย์อาจทำการปรับยาให้ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ผลลัพธ์ของการตรวจฮีโมโกลบินจะถูกตีค่าออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้

  • ผลออกมาน้อยกว่า 5.7% ถือว่าปกติ
  • ผลออกมาอยู่ระหว่าง 5.7-6.4% ถือว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน
  • ผลออกมามากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% อาจถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

แต่การทดสอบนี้อาจให้ผลคลาดเคลื่อนได้ในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ จึงอาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล

4. การทดสอบความทนต่อกลูโคส

การทดสอบความทนต่อกลูโคส (The oral glucose tolerance test: OGTT) เป็นวิธีตรวจที่มักใช้กับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ในการวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

นอกจากนี้อาจใช้เพื่อตรวจยืนยันผลสำหรับผู้ที่ตรวจด้วยวิธีข้างต้นแล้วระดับน้ำตาลปกติ แต่แพทย์ยังลงความเห็นว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 อยู่

วิธีนี้จะแตกต่างจากวิธีข้างต้นเล็กน้อย โดยแพทย์จะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน จากนั้นจะให้คุณดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลประมาณ 100 กรัม เมื่อผ่านไป 2 ชั่วโมงจะทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งเพื่อดูว่าน้ำตาลในเลือดสูงมากแค่ไหน

เกณฑ์การวัดผลอาจมีดังนี้

  • ผลออกมาน้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าปกติ
  • ผลออกมาอยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
  • ผลออกมามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

5. ตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะ มักไม่ใช่วิธีการหลักในการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน แต่แพทย์อาจขอให้ตรวจได้หากสงสัยว่าคุณอาจเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1

โดยปกติร่างกายจะใช้กลูโคสเป็นพลังงานให้กับกล้ามเนื้อ แต่ในผู้ที่เป็นเบาหวานจะขาดอินซูลินในการดึงเอากลูโคสในเลือดเข้าสู่กล้ามเนื้อเพื่อเป็นพลังงาน เมื่อกล้ามเนื้อไม่มีพลังงานจากกลูโคสก็จะเริ่มสลายไขมันสะสมเพื่อใช้เป็นพลังงานแทน

กระบวนการสลายไขมันนี้ทำให้เกิด คีโตน (Ketones) ขึ้น และสามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ แม้คีโตนจะสามารถพบได้บ้างในภาวะปกติ แต่ส่วนมากจะพบได้น้อยหรืออาจไม่พบเลย

ตรวจเบาหวานต้องเตรียมตัวอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การตรวจเบาหวานส่วนมากมักใช้การเจาะเลือดเข้าไปตรวจในห้องปฎิบัติการ ดังนั้นหากทราบวันและเวลาตรวจล่วงหน้าแล้ว แพทย์อาจให้งดอาหารและน้ำเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนถึงเวลานัดตรวจ

ตรวจเบาหวาน ราคาเท่าไร

ตรวจเบาหวานคนท้อง ทำยังไง?

ผู้ที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้การเผาผลาญน้ำตาลเสียสมดุลจนเป็นเบาหวาน

ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนอันตรายกับทั้งบุตรและตัวผู้ป่วยเอง เช่น อาจมีภาวะน้ำคร่ำมากไป บุตรตัวใหญ่กว่าเกณฑ์มาตรฐานทำให้คลอดได้ยากเสี่ยงต่อการตกเลือด

เกณฑ์ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองของผู้ที่ตั้งครรภ์อาจเพิ่มเติมจากที่กล่าวไว้ด้านบนเล็กน้อย ดังนี้

  • มีค่าดัชนีมวลกายเกินกว่า 27 kg/m2
  • มีประวัติคลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัมขึ้นไป
  • มีประวัติคลอดบุตรพิการหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีประวัติเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
  • มีประวัติเคยถูกวินิจฉัยว่าความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มาก่อน

หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าว แพทย์อาจให้เริ่มจากการตรวจด้วยวิธีทดสอบความทนต่อกลูโคส (OGTT) โดยงดอาหารและน้ำก่อนเวลาตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

หากมีโอกาสเสี่ยงหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์อาจให้เจาะเลือดตรวจทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ตามนัดด้วย

ดูแพ็กเกจ เช็กราคาโปรแกรมตรวจเบาหวานก่อนตัดสินใจได้ที่ HDmall.co.th ศูนย์รวมบริการสุขภาพ ทำฟัน และความงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ไลน์ @hdcoth เรามีแอดมินคอยให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงตี 1 ทุกวัน


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • WebMD, Type 2 Diabetes Screening, (https://www.webmd.com/diabetes/type-2-diabetes-screening), 11 August 2019.
  • Rachel Nall, MSN, CRNA, Checking Ketone Levels, (https://www.healthline.com/health/type-2-diabetes/facts-ketones), 3 December 2018.
  • Rachel Nall, MSN, CRNA, Diabetes Tests, (https://www.healthline.com/health/diabetes-tests), 20 August 2018.
  • WebMD, Diabetes Testing, (https://www.webmd.com/diabetes/diagnosing-type-2-diabetes), 17 February 2019.
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ลุยคัดกรองลดภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน ปี 60-61 เกินเป้านับล้านราย, (https://www.nhso.go.th/frontend/NewsInformationDetail.aspx?newsid=MjQxNw==), 14 ตุลาคม 2561.
  • อ.พญ. ชนัญญา ศรีหะวรรณ, ORAL GLUCOSE TOLERANCE TEST (OGTT), (https://www.si.mahidol.ac.th/department/biochemistry/home/md/lecture/OGTT%2052.pdf).
  • พว. สุจิตตรา พงศ์ประสบชัย, พว. อาภรณ์ พิชิตการค้า, พว. นุจรี ชื่นยงค์, ขั้นตอนการตรวจคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์, (https://www.si.mahidol.ac.th/th/research-academics/research/Research_Network/Download/Poster_DM/12.%20ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา.pdf), 2557.
@‌hdcoth line chat