PRK กับ LASIK ต่างกันอย่างไร?

เมื่อพูดถึงการใช้เลเซอร์ผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง หลายคนมักคุ้นเคยกับชื่อ LASIK (Laser-assisted in situ keratomileusis) แต่ความจริงแล้วเทคนิคการผ่าตัดแก้ปัญหาสายตายังมีแบบอื่นด้วย

PRK (Photorefractive keratectomy) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีซึ่งแม้จะหลักการจะคล้ายกัน คือการใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาจนสามารถหักเหแสงได้เป็นปกติ แต่ 2 วิธีนี้ก็ยังมีส่วนที่แตกต่างกันหลายข้อ

ในบทความนี้ HDmall จะมาเปรียบเทียบให้เห็นทั้งความเหมือน และความต่างของทั้ง PRK และ LASIK ให้เห็นกันชัดๆ

LASIK กับ PRK เหมือนกันอย่างไร

1.LASIK และ PRK ใช้รักษาสายตาที่ผิดปกติได้เหมือนกัน

ทั้ง LASIK และ PRK มีจุดประสงค์ในการใช้รักษาปัญหาสายตา 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • สายตาสั้น (Myopia) หรือคนที่มองเห็นวัตถุระยะไกลไม่ชัด
  • สายตายาว (Hyperopia) หรือคนที่มองเห็นวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด รวมทั้งผู้ที่มีสายตายาวเมื่ออายุมากขึ้น
  • สายตาเอียง (Astigmatism) หรือคนที่มองเห็นภาพเบลอ

2.LASIK และ PRK ให้ผลการรักษาดีระดับเดียวกัน

หากทำโดยผู้ชำนาญการที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ทั้ง LASIK และ PRK ก็จะให้ผลการรักษาสายตาได้ดีในระดับเดียวกัน และผลจะคงอยู่ถาวรเหมือนกัน โดยหลังจากทำเสร็จจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งทันที

ความแตกต่างในภายหลังที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพและดวงตาของแต่ละคน

3.LASIK และ PRK มีความเสี่ยงต้องพิจารณาเหมือนกัน

ทั้ง LASIK และ PRK มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลายข้อ ดังนี้

  • อาจเกิดอาการตาแห้ง หลังจากผ่าตัดแก้ไขสายตาแล้ว อาจทำให้ดวงตาสามารถผลิตน้ำตาได้น้อยลง และเกิดอาการตาแห้งได้ อาการอาจคงอยู่ประมาณ 1-6 เดือน แต่มีโอกาสเป็นตลอดไปได้เช่นกัน มักพบในการทำ LASIK มากกว่า ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมีปัญหาตาแห้งอยู่แล้ว ควรรักษาอาการให้ดีขึ้นก่อนเริ่มการรักษาสายตา
  • ตาอาจสู้แสงได้น้อยลง เมื่อเจอแสงจ้า แสงสะท้อน เห็นวงแสงรอบแหล่งกำเนิดแสง หรืออาจเห็นภาพซ้อนได้ในบางครั้ง นอกจากนี้อาจเห็นภาพได้ไม่ชัดในตอนกลางคืน แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองในไม่กี่สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นควรรีบกลับไปพบแพทย์
  • อาจยังคงเห็นภาพไม่ชัดอยู่ หากแพทย์นำเนื้อเยื่อกระจกตาออกน้อยเกินไป โดยเฉพาะการแก้ไขในผู้ที่สายตาสั้น อาจทำให้เห็นภาพไม่ชัดอยู่
  • อาจเกิดอาการกระจกตาโก่ง (Ectasia) จากแรงดันด้านในดวงตา มีโอกาสเกิดกับการรักษาผู้ที่สายตาสั้นมากๆ กรณีนี้ถือเป็นอาการที่จำเป็นต้องรับการรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
  • อาจสายตาเอียง มีโอกาสเกิดขึ้นกรณีที่แพทย์นำเนื้อเยื่อกระจกตาออกไปไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะกับการทำ LASIK แบบ Microkeratome แต่ปัจจุบันนี้การทำ LASIK แบบ Femtosecond laser ช่วยลดโอกาสเกิดปัญหานี้ลงได้มาก
  • อาจสูญเสียการมองเห็น ทุกการผ่าตัดดวงตามีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ โดยเฉพาะวิธี PRK ที่มีแผลอยู่บนกระจกตากระมาณ 3-7 วัน หากดูแลรักษาผิดวิธีอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น เห็นภาพเบลอได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ แต่ปัจจุบันนี้เทคโนโลยี เครื่องมือและความรู้ทางการแพทย์พัฒนาขึ้นมาก ทำให้โอกาสเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ลดลงมากแล้วเช่นกัน

LASIK กับ PRK ต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างกันระหว่าง LASIK และ PRK มีด้วยกัน 5 ข้อ หลักๆ ที่ควรใช้ในการปรึกษาแพทย์ ดังนี้

1.LASIK และ PRK ใช้เทคนิคการทำแตกต่างกัน

LASIK จะใช้เลเซอร์ หรือใบมีดขนาดเล็กพิเศษในการเปิดกระจกตาออกเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นจะใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาด้านในให้มีค่าสายตากลับมาเป็นปกติ

เมื่อปรับแล้วจึงนำแผ่นกระจกตาที่เปิดไว้ปิดกลับเข้ามาเหมือนเดิม โดยไม่มีการเย็บปิดปากแผลแต่อย่างใด เพราะกระจกตาจะซ่อมแซมตัวเองในไม่กี่เดือนต่อมา

ส่วน PRK เป็นการลอกเนื้อเยื่อบุผิวตาชั้นบนสุด (Epithelium) ออกไปเลย จากนั้นแพทย์จะใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาด้านในเพื่อให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติ โดยไม่ได้เอาเยื่อบุผิวตานั้นกลับมาปิดคืน

2.LASIK และ PRK ขั้นตอนการทำแตกต่างกัน

การทำ LASIK มีด้วยกัน 4 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

  1. จักษุแพทย์จะเริ่มด้วยการหยอดยาระงับความรู้สึกที่เนื้อเยื่อตา
  2. จากนั้นจะใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา ไมโครเคราโทม (Microkeratome) แต่ส่วนที่แยกชั้นกระจกตานั้นเพียงแค่เปิดออกลักษณะคล้ายหน้าต่างเท่านั้น ไม่ได้หลุดออกอย่างสิ้นเชิง อีกหนึ่งเทคนิคของการทำ LASIK คือการใช้เครื่องแยกชั้นกระจกตาแบบเฟมโต เลเซอร์ เลสิก (Femtosecond laser assisted LASIK) ซึ่งช่วยให้แพทย์กำหนดความกว้าง ความลึก ของการแยกชั้นกระจกตาได้ทำให้สามารถแก้ไขสายตาได้มากขึ้น
  3. จากนั้นจะใช้เลเซอร์ Excimer laser ซึ่งเป็นเลเซอร์พลังงานต่ำ ความร้อนสะสมที่กระจกตาน้อยในการปรับค่ากระจกตาด้านในเพื่อให้มองเห็นภาพชัดขึ้น
  4. จากนั้นจะปิดชั้นกระจกตาที่เปิดคาไว้กลับมาที่เดิมโดยไม่ต้องเย็บปิด เพราะเนื้อเยื่อกระจกตาจะสมานกันได้เอง
  5. แพทย์จะปิดฝาครอบตาเพื่อป้องกันการขยี้ตาและสัมผัสดวงตา 1 คืนก่อนจะถอดออก

เนื่องจากการทำ PRK นั้นเป็นวิธีที่มีมาก่อน LASIK จึงทำให้มีขั้นตอนมากกว่าเล็กน้อย หลักๆ มี 6 ขั้นตอนดังนี้

  1. จักษุแพทย์จะหยอดยาระงับความรู้สึกให้
  2. จากนั้นแพทย์จะทำการเอาชั้นเยื่อบุตาออก (Epithelium) ซึ่งอาจใช้แอลกอฮอล์ร้อยละ 20 หยดลงกระจกตา เมื่อเยื่อบุผิวลอก จึงใช้มีดแบบไร้คม (Blunt spatula) นำเยื่อบุนั้นออกไป หรืออีกวิธีหนึ่งคือการใช้เลเซอร์ยิงนำเยื่อบุตาออกโดยตรง โดยไม่เหลือส่วนที่ติดกับดวงตาเหมือนการทำ LASIK ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 20-30 วินาที
  3. เมื่อนำเยื่อบุตาออกเสร็จแล้ว จะใช้ Excimer laser ปรับความผิดปกติในเนื้อเยื่อด้านในกระจกตา อาจใช้เวลา 30-60 วินาที
  4. เมื่อปรับสายตาเสร็จ แพทย์จะให้น้ำเย็นบริเวณที่ผ่าตัดเพื่อป้องกันอาการอักเสบและป้องกันกระจกตาขุ่น
  5. เมื่อเสร็จแล้วแพทย์จะใช้เลนส์สัมผัสแบบอ่อนที่ทำหน้าที่คล้ายกับคอนแทคเลนส์ ปิดบริเวณที่นำเยื่อบุตาออกไว้เพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อด้านใต้สมานกัน
  6. หลังจากแผลสมานกันเรียบร้อย แพทย์จะนัดให้กลับมาถอดเลนส์สัมผัสแบบอ่อนออก ซึ่งอาจใช้เวลา 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

3.LASIK และ PRK มีระยะการพักฟื้นแตกต่างกัน

ในบางกรณีหลังจากทำ LASIK เสร็จอาจเห็นภาพชัดขึ้นมากกว่าก่อนทำได้ทันที แม้จะไม่ได้ใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เลยก็ตาม แต่แพทย์ยังคงต้องใช้ฝาครอบตาเพื่อป้องกันการสัมผัส ในบางกรณีอาจรู้สึกแสบตาได้แต่อาการควรจะค่อยๆ หายไปในไม่กี่ชั่วโมง

หลังทำ LASIK แล้วจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ห้ามโดนน้ำและแต่งหน้าบริเวณขอบตาอย่างน้อย 7 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ในระหว่างพักฟื้นจากการทำ LASIK แพทย์จะให้ยาหยอดตาสำหรับเพิ่มความหล่อลื่นลดความระคายเคืองมาใช้ในช่วงแรก อาการทั้งหมดจะหายดีในไม่กี่วัน และมักไม่รู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองมากนัก

ส่วนการทำ PRK ดวงตาของคุณจะมองเห็นภาพชัดขึ้นทันทีเช่นกันหลัง PRK เสร็จ แต่อาจยังมีบางส่วนเบลออยู่บ้าง แต่ภาพที่เห็นจะค่อยๆ ชัดขึ้นทุกวัน ผู้ที่ทำ PRK จะต้องใส่เลนส์สัมผัสแบบอ่อนบนดวงตาเพื่อปกปิดเยื่อบุตาที่นำออกไป ช่วงนี้อาจเกิดความระคายเคืองและไวต่อแสงไปอีกหลายวันจนกว่าเยื่อบุตาจะสมานกันจนเป็นปกติ

คุณอาจยังมองเห็นภาพเบลออยู่เล็กน้อยจนกว่าเลนส์สัมผัสแบบอ่อนจะถูกนำออกหลังจากผ่านเป็น 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าเยื่อบุตาจะสมานกัน

แพทย์อาจให้ยาหยอดตาเพิ่มความหล่อลื่นลดการระคายเคือง และอาจให้ยาแก้ปวดมาใช้ร่วมด้วย และต้องรอจนกว่าจะหายดีจึงจะเริ่มขับรถได้

การพักฟื้นจาก PRK อาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะหายดี แต่ระหว่างนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และอาจต้องพบแพทย์อีกครั้งเมื่อดวงตารักษาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แพทย์เช็กความเรียบร้อย

4.LASIK กับ PRK อาจส่งผลเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างกันเล็กน้อย

แม้การมองเห็นและความชัดเจนจากการปรับค่าสายตาจะคงอยู่อย่างถาวรเหมือนกัน แต่ในระยะยาว PRK ถือว่าปลอดภัยกว่า เพราะได้นำเนื้อเยื่อบุด้านบนออกไปเลย และเยื่อบุตาใหม่ค่อยๆ สมานกันในระหว่างพักฟื้น

ในขณะที่ LASIK ยังคงใช้ชั้นบนของกระจกตาอันเดิมไว้บนดวงตา ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้หากดวงตาได้รับความบาดเจ็บขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของแต่ละคน

5.LASIK กับ PRK เหมาะสำหรับรักษาระยะสายตาที่แตกต่างกัน

LASIK และ PRK มีความเหมาะกับผู้ที่มีค่าสายตา ไดออปเตอร์ (Diopters) ซึ่งเป็นหน่วยที่แพทย์ใช้ในการเรียกค่าสายตาต่างกัน ดังนี้

  • PRK เหมาะกับผู้ที่มีค่าสายตาอยู่ระหว่าง -10.00 ถึง +6.00 Diopters
  • LASIK เหมาะกับผู้ที่มีมีค่าสายตาอยู่ระหว่าง -14.00 ถึง +6.00 Diopters

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมในการเลือกวิธีที่เหมาะกับเรามากที่สุด

การทำ LASIK และ PRK เหมาะกับใคร?

หากคุณมีเงื่อนไขตรงกับข้อดังต่อไปนี้ ทั้ง LASIK และ PRK อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะกับคุณ

  • มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ต้องการรักษาสายตาสั้น
  • ผู้ที่ต้องการรักษาสายตายาว
  • ผู้ที่ต้องการรักษาสายตาเอียง
  • ไม่ได้มีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงกระทันหันในรอบปีที่ผ่านมา
  • ไม่ได้อยู่ในการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • รูม่านตาของคุณมีขนาดประมาณ 6 มิลลิเมตรเมื่ออยู่ในห้องมืด

การทำ LASIK และ PRK ไม่เหมาะกับใคร?

หากคุณมีเงื่อนไขใดตรงกับข้อดังต่อไปนี้ อาจต้องพิจารณาทางรักษาอื่นๆ

  • มีอาการแพ้เรื้อรังที่อาจส่งผลต่อการรักษาดวงตา
  • มีกระจกตาบาง ซึ่งยากต่อการผ่าตัดด้วยทั้ง 2 วิธีนี้
  • มีรูม่านตาใหญ่เกินไป (Large pupils) ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเห็นภาพผิดปกติ
  • มีภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ต้องพิจารณาร่วมกับแพทย์ในการตัดสินใจทำ เพราะบางรายอาจมีสายตาที่ดีขึ้นหลังทำการผ่าตัด แต่การผ่าตัดด้วย LASIK และ PRK ไม่ใช่วิธีรักษาภาวะตาขี้เกียจ
  • เป็นโรคหรืออาการใดๆ ที่อาจส่งผลต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวาน ความดันลูกตาสูง ต้อหิน
  • เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่อาจส่งผลต่อการรักษา เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์
  • เคยผ่านการทำ LASIK หรือ PRK มาแล้ว หากทำอีกครั้งอาจเพิ่งความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน

โดยสรุปแล้ว การผ่าตัดแก้ไขสายตาทั้ง LASIK และ PRK เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างถาวรสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสวมแว่นและคอนแทคเลนส์ในระยะยาว

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการผ่าตัดทั้ง 2 วิธีมีการพัฒนาขึ้นมาก ทำให้มีความปลอดภัยสูง และความเจ็บปวดน้อยลงมาก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน แต่ควรเลือกทำกับสถานที่ให้บริการที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

ดูแพ็กเกจทำเลสิกได้ที่ HDmall.co.th ศูนย์รวมบริการสุขภาพ ทำฟัน และความงามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมรับส่วนลดหรือแคชแบ็กหลังใช้บริการ


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจทำเลสิก

Scroll to Top