หากคุณกำลังรู้สึกอ่อนแรงและไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เป็นไปได้ว่า คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome)
กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นความเจ็บป่วยที่ทำให้มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน โดยภาวะนี้อาจเป็นผลมาจากปัญหาทางกายต่างๆ ได้ เช่น การติดเชื้อ พันธุกรรม หรืออุบัติเหตุ เป็นต้น
สารบัญ
สาเหตุของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
แม้ว่าในปัจจุบันนักวิจัยจะพยายามศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถระบุถึงสาเหตุชัดเจนที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งในปัจจุบันเชื่อว่า มีอย่างน้อย 1 สาเหตุดังต่อไปนี้ที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ได้แก่
- การติดเชื้อ มีไวรัสหลายชนิด เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus: EBV) ไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus: HSV) หรือไวรัสเฉพาะกลุ่มที่เป็นอันตราย (Retroviruses) เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) เป็นต้น ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
- พันธุกรรม บางคนมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะนี้ได้มากขึ้นเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่น ได้รับการถ่ายทอดความผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท และฮอร์โมนที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เป็นต้น
- อุบัติเหตุ ความเครียดทางกายที่เกิดจากการเผชิญอุบัติเหตุรุนแรงอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
- ต่อมหมวกไตล้า เนื่องจากมีฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนความเครียดสะสมอยู่ในร่างกายเยอะ สามารถทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้
อาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังอาจแสดงอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน แต่ผู้ป่วยมักมีอาการอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หรือเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน โดยอาจมีอาการปวดตามร่างกาย รู้สึกมึนงง คิดไม่ออก ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจำเหตุการณ์ หรือรายละเอียดที่เพิ่งผ่านไปได้
หากคุณมีอาการอ่อนเพลียมาหลายเดือน จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ และไม่มีอะไรที่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ แม้กระทั่งการนอนหลับ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
มีงานวิจัยกล่าวว่าผู้ป่วยโรคอ่อนเพลียเรื้อรังเกือบ 80% ไม่เคยมารับการวินิจฉัยอย่างจริงจังมาก่อน จึงไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโรค หรือน้อยกว่า 2 ปีหลังเริ่มมีอาการ ก็จะทำให้โอกาสที่การรักษาจะประสบความสำเร็จสูง และสามารถช่วยลดอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้
การวินิจฉัยกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหรือไม่ ผู้ป่วยจะต้องมีอาการอ่อนเพลียรุนแรงอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป และแพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุทางกายอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการนี้ได้ เช่น ปัญหาด้านการนอนหลับ ซีด หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และโรคอ่อนเพลียเรื้อรังพร้อมกัน แต่แพทย์ก็จะตัดอาการอ่อนเพลียที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าออกไปก่อน และดูว่ามีสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคอ่อนเพลียเรื้อรังหรือไม่ โดยผู้ป่วยจะต้องมีอาการอย่างน้อย 4 ข้อจากอาการต่อไปนี้
- เจ็บคอ
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อ หรือความจำสั้น
- กดเจ็บที่ต่อมน้ำเหลือง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- มีอาการปวดที่ข้อมากกว่า 1 ข้อ โดยไม่มีอาการบวมแดง
- มีอาการปวดหัวที่ไม่ปกติ (สำหรับตัวผู้ป่วย)
- ไม่รู้สึกสดชื่นขึ้นหลังได้นอนหลับพักผ่อน
- รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติหลังจากออกกำลังกายไปแล้ว 24 ชั่วโมง
ปกติแล้ว อาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรงมักเกิดขึ้นก่อนอาการอื่น และมีผู้ป่วยหลายคนที่มีอาการคล้ายกับไข้หวัดเมื่อเป็นโรคนี้ในระยะยาว นอกจากนั้น กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับโรควิตกกังวล โรคลำไส้แปรปรวน และโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) อีกด้วย
การรักษากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
ในเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าร่วมกับอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง แพทย์จะรักษาภาวะซึมเศร้าก่อน โดยการทำจิตบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น รวมถึงแนะนำวิธีจัดการชีวิตให้มีคุณภาพ และจ่ายยาต้านซึมเศร้าเพื่อให้สามารถนอนหลับและคลายอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพเกี่ยวกับวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้รู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้นทีละนิดๆ และรู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียน้อยลงเรื่อยๆ จนกลับมาเป็นปกติ
ส่วนผู้ป่วยบางที่มีสาเหตุมาจากภาวะต่อมหมวกไตล้า แพทย์ก็จะทำการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการจัดการความเครียดให้เหมาะสม โดยเฉพาะการรับประทานอาหาร เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักชอบรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือติดคาเฟอีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะนี้
แพทย์จะแนะนำให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดสี เพื่อให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงเกินไป และอาจเสริมวิตามินที่ช่วยให้รู้สึดสดชื่นขึ้น เช่น วิตามินซี หรือวิตามินบีรวม เป็นต้น
โรคอ่อนเพลียเรื้อรังไม่ใช่โรคที่น่ากลัว และสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยจะต้องรู้สึกสังเกตร่างกายของตัวเองเสมอ หากรู้สึกผิดปกติ เช่น อ่อนเพลียเรื้อรังนานเกินกว่า 6 เดือน ก็ไม่ควรเพิกเฉย ให้รีบไปตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้คุณมีคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีห่างไกลโรคอย่างแน่นอน