หมวดหมู่ของโรคทางจิตเวช มีแบบไหนบ้างที่ควรระวังเป็นพิเศษ


หมวดหมู่ของโรคทางจิตเวช มีแบบไหนบ้างที่ควรระวังเป็นพิเศษ

โรคที่ถูกจัดเป็นโรคทางจิตเวชนั้นมีหลากหลายโรค และแต่ละโรคก็มีลักษณะอาการแตกต่างกันไป วันนี้เราจะมาดูกันว่าโรคจิตเวชแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะอย่างไรกันบ้าง 

โรคจิตเวชสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามระบบการวินิจฉัยโรค ดังนี้

1. F00-F09 ความผิดปกติที่เป็นผลจากโรคทางกาย

Organic mental disorderOrganic mental disorder เป็นกลุ่มอาการเนื่องจากโรคของสมอง ซึ่งมักเป็นสภาวะที่มีการเสื่อมเรื้อรัง มีผลต่อการทำงานที่ซับซ้อนของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ความคิด ความเข้าใจ การรับรู้สถานที่ เวลา บุคคล การคำนวณ การเรียนรู้ ภาษา การตัดสินใจ และการรู้สึกตัว

โรคในหมวดนี้แบ่งย่อยได้อีกหลายโรคตามลักษณะอาการทางคลินิก เช่น

  • โรคหลงลืม (Dementia)  
  • โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer) 
  • โรคพฤติกรรมและอารมณ์เปลี่ยนเนื่องจากการบาดเจ็บทางสมอง (Organic brain syndrome)

2. F10-F19 ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมจากการใช้สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 

เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรม การรับรู้ อันเนื่องมาจากการได้รับสารกระตุ้นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทจำพวกยาเสพติดต่างๆ

ตัวอย่างโรคในหมวดนี้ ได้แก่ โรคติดสุรา ติดบุหรี่ ติดคาเฟอีน ติดยานอนหลับ และติดสารเสพติดทุกชนิด

3. F20-F29 ความผิดปกติทางจิต (Psychotic disorder)

เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลให้มีความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้เป็นหลัก อาการเด่นของโรคในหมวดหมู่นี้ คือ หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวงหรือกลัวในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หลงผิด คิดในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

ตัวอย่างโรคในหมวดนี้ ได้แก่  โรคจิตเภท (Schizophrenia)  โรคจิตหวาดระแวง (Paranoid Schizophrenia)  โรคหลงผิด (Delusion) เป็นต้น

4. F30-F39 ความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood disorder)

เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์เป็นหลัก อาการเด่น คือ อารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เศร้าหรือครึกครื้นมากเกินปกติ

ตัวอย่างโรคในหมวดนี้ ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Depressive)  โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) โรคอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) เป็นต้น 

5. F40-F49 โรคประสาท

เป็นกลุ่มโรคทางระบบประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดเป็นหลัก 

ตัวอย่างโรคในหมวดนี้ ได้แก่ โรควิตกกังวล (Anxiety)  โรคเครียด (Stress)  โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive)  โรคที่เจ็บปวดตามร่างกายอันเนื่องมาจากสาเหตุทางจิตใจ (Somatoform) เป็นต้น

6. F50-F59 ความผิดปกติทางพฤติกรรม

เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลให้มีพฤติกรรมผิดปกติ ได้แก่ โรคการกินผิดปกติ (Eating disorder) โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) โรคพฤติกรรมเปลี่ยน (Behavior changes)

7. F60-F69 ความผิดปกติทางพฤติกรรมและบุคลิก

เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมเด่นชัด ได้แก่ โรคพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง (Aggressive personal disorder) โรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline personal disorder) โรคบุคลิกภาพแบบพึ่งพิง (Dependent personal disorder) โรคติดการพนัน (Pathological gambling) เป็นต้น

8. F70-F79 ความบกพร่องทางสติปัญญา

เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องทางระดับสติปัญญา ส่งผลให้เรียนรู้ได้น้อย ได้แก่ โรคปัญญาอ่อน

9. F80-F89 ความผิดปกติในด้านพัฒนาการ

เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติหรือพัฒนาการบกพร่อง ได้แก่ 

  • โรคผิดปกติทางการพูดออกเสียง (Speech Develop disorder)  
  • ความผิดปกติในการใช้ภาษา (Expressive language disorder) 
  • ความผิดปกติในการเข้าใจภาษา (Receptive language disorder)  
  • โรคผิดปกติทางด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ (Motor function development disorder) 
  • โรคผิดปกติทางการเรียนรู้ (LD)  
  • โรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder)

10. F90-F98 ความผิดปกติทางพฤติกรรมอารมณ์ในเด็กและวัยรุ่น

เป็นกลุ่มโรคผิดปกติทางพฤติกรรมอารมณ์ที่เริ่มแสดงอาการในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ได้แก่ โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคดื้อ (ODD : Oppositional defiant disorder)  

โรคก้าวร้าวต่อต้าน (Conduct disorder) ปัญหาปัสสาวะรดที่นอน ติดอ่าง และปัญหาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม

11. G00-G99 ความผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท

เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท มีอาการคาบเกี่ยวระหว่างระบบประสาทสมองและร่างกาย ได้แก่ โรคลมชัก (Epilepsy) โรคปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache)  โรคปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) โรคพาร์กินสัน (Parkinson) เป็นต้น

เปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นแพ็กเกจตรวจสุขภาพจิต


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat