cancer screen 1 scaled

ตรวจมะเร็งทั่วไป ตรวจอะไรบ้าง?

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเวลาไอค่อกแค่ก ครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออาการเล็กๆ น้อยๆ แล้วค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็มักพบจะพบว่ามันเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคมะเร็งได้ทั้งนั้น

นั่นเป็นเพราะโรคมะเร็งเกือบทุกชนิดไม่มีสาเหตุตายตัวที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยในการทำให้เป็นได้หลายอย่าง อาการและสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ เพราะมันอาจนำไปสู่มะเร็งในที่สุด

ตรวจมะเร็งทั่วไปคืออะไร

การตรวจมะเร็งทั่วไป คือการตรวจร่างกายโดยแพทย์ เพื่อหาสัญญาณ ความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเป็นความเสี่ยงของโรคมะเร็งให้เจอก่อนที่จะมะเร็งจะลุกลาม

หากเริ่มทำการรักษามะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกๆ ก็จะมีโอกาสหายขาดได้มากกว่า เจ็บตัวน้อยกว่า และอัตรารอดชีวิตสูงกว่า

แต่แพทย์ไม่อาจตรวจความเสี่ยงมะเร็งของอวัยวะทุกส่วนได้ ส่วนใหญ่จึงมักตรวจได้เฉพาะมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ เป็นต้น

ตรวจมะเร็งทั่วไป ตรวจอะไรบ้าง?

การตรวจมะเร็งทั่วไปก็คือการตรวจคัดกรองกว้างๆ เพื่อสกรีนหาความผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับมะเร็ง

จากนั้นแพทย์จะค่อยๆ แนะนำให้ตรวจลึกขึ้น ทำให้การวินิจฉัยแคบลงจนกระทั่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยลิสการตรวจที่พบได้บ่อยในโปรแกรมตรวจมะเร็งทั่วไป มีดังต่อไหนนี้

1. ซักประวัติ

เป็นหนึ่งในวิธีคัดกรองแรกๆ ที่จะต้องตรวจ แพทย์จะสอบถามประวัติทั่วไปถึงวิถีชีวิต อาการ โรคประจำตัว ว่ามีโอกาสเสี่ยงมะเร็งชนิดไหนบ้าง

เช่น หากสูบบุหรี่เป็นประจำเสี่ยงมะเร็งปอด หากมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ก็อาจเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก รวมถึงอาจถามถึงประวัติคนในครอบครัวว่ามีใครเคยเป็นมะเร็งมาก่อนหรือไม่

2. ตรวจร่างกาย

เป็นการตรวจที่รวดเร็วและใช้เป็นข้อมูลประกอบคำวินิจฉัยได้ เช่น การคลำเต้านมเพื่อหาก้อนเนื้อ การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเก็บตัวอย่างเซลล์ไปตรวจ (ThinPrep pap test)

3. ตรวจเลือด หรือสารคัดหลั่ง

หากเซลล์ในร่างกายเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ จะมีสารแอนติเจน (Antigen) ที่ผิดปกติออกมาปะปนอยู่ในกระแสเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย เนื้อเยื่อบริเวณกระพุ้งแก้ม

ซึ่งแพทย์จะใช้คำเรียกแทนความผิดปกติที่พบเหล่านี้ว่า สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker)

ที่เรียกว่าสารบ่งชี้มะเร็งเป็นเพราะการพบสารเหล่านี้ในเลือดหรือสารคัดหลั่ง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเสมอไป แต่เป็นข้อมูลช่วยในการวินิจฉัยอาการเพิ่มเติมเท่านั้น

4. ตรวจด้วยอุปกรณ์เฉพาะทาง

หากแพทย์ตรวจเบื้องต้นแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีส่วนที่เป็นมะเร็งอยู่ในร่างกาย แพทย์ก็อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยอุปกรณ์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

เช่น การใช้อัลตราซาวน์หรือแมมโมแกรม (Mamogram) หามะเร็งเต้านม การใช้กล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) ส่องหามะเร็งปากมดลูก

หากตรวจเจอเชื้อมะเร็งในระยะแรกๆ ก็สามารถขอคำแนะนำในการรักษาได้ทันที และมีโอกาสหายขาดมากเพราะเชื้อยังไม่ได้ลุกลามหรือทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งทั่วไปจึงเป็นสิ่งที่ควรตรวจเป็นประจำทุกๆ 3-5 ปี และอาจตรวจอย่างน้อยปีละครั้งในผู้สูงอายุ

Scroll to Top