อาการปวดแสบปวดร้อนจากเส้นประสาท


อาการปวดแสบร้อนเป็นอาการปวดชนิดหนึ่ง ที่มักเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เส้นประสาท แต่ก็สามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อ โรคภูมิต้านตนเอง การบาดเจ็บ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีอาการปวดเส้นประสาทได้

ในบางกรณีอาจทำให้เส้นประสาทได้รับความเสียหายอีกด้วย

สาเหตุของอาการปวดแสบร้อน

หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดแสบร้อนคือ ความเสียหาย หรือการทำงานที่ผิดปกติในระบบประสาท ซึ่งเป็นระบบที่ประกอบด้วยระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System (CNS)) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System (PNS)) เช่น

  • กระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylosis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเนื่องจากอายุที่มากขึ้น การใช้งานและการฉีกขาดของกระดูกและกระดูกอ่อนบริเวณคอ ทำให้เกิดการกดทับของเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่คอเรื้อรังร่วมกับอาการแสบร้อน

  • หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated Disk) ภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งปกติ ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทและทำให้มีอาการปวดแสบร้อนเกิดขึ้น และอาจมีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย

  • กลุ่มอาการปวดที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง (Central pain syndrome) เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่สมอง เกิดจากเส้นประสาทในระบบประสาทส่วนกลางได้รับความเสียหาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด แสบร้อนเกิดขึ้น

  • ความเสียหายที่เกิดกับเส้นประสาท 1 เส้น (Mononeuropathy) กลุ่มของโรคที่สร้างความเสียหายกับเส้นประสาท 1 เส้น มักทำให้มีอาการแสบร้อนที่บริเวณที่มีอาการ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ยังแบ่งได้อีกหลายชนิด ได้แก่

    • โรคเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ (Carpal Tunnel)

    • ความผิดปกติที่เกิดกับเส้นประสาทอัลน่า (Ulnar Nerve Palsy)

    • อาการปวดหลังร้าวไปขา (Sciatica) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกดทับเส้นประสาท Sciatic Nerve

  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง นักวิจัยเชื่อว่า โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เข้าทำลายเยื่อไมอีลิน (Myelin) ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มเส้นประสาท ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนกลางจะถูกขัดขวาง บางส่วนของร่างกายไม่สามารถรับคำสั่งจากสมองได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหลากหลาย รวมถึงมีอาการปวดแสบร้อนและกล้ามเนื้อหดเกร็ง

  • ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) โรคที่เกิดขึ้นจากเส้นประสาทส่วนปลายได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของร่างกาย และอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดแสบร้อนได้ หากความเสียหายนั้นเกิดขึ้นกับเส้นประสาทอย่างน้อย 2 เส้น หรือเกิดกับ 2 ตำแหน่งขึ้นไป เช่น โรคเรื้อน (Leprosy) สภาวะนี้จะเรียกว่า Mononeuritis Multiplex

  • โรครากประสาท (Radiculopathy) เป็นโรคที่มีการกดเบียดของเส้นประสาทที่กระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก่ลงตามวัย สภาวะนี้จะเกิดขึ้นกระดูก กระดูกอ่อน และกล้ามเนื้อรอบๆ มีการเสื่อมลงตามกาลเวลา

  • อาการปวดตามเส้นประสาท (Neuralgia) อาการปวดเหมือนถูกอะไรทิ่มแทง ปวดแสบร้อน เกิดขึ้นจากเส้นประสาทได้รับความเสียหาย หรือมีการระคายเคือง อาจเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของร่างกาย แต่มักพบบ่อยที่บริเวณใบหน้าและลำคอ

อาการปวดแสบร้อนจากสาเหตุอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ

  • ถูกกัดและต่อย จากแมลง หรือสัตว์เป็นพิษ เช่น งูพิษกัดจะทำให้มีอาการปวดแสบร้อนที่บริเวณที่ถูกกัด

  • เนื้อเยื่อถูกทำลายเพราะความเย็นจัด (Frostbite) ก่อนที่จะเกิดอาการชา ความเย็นจัดจะทำให้มีอาการปวดแสบก่อน

  • อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือข้อต่อบริเวณคอ (Whiplash) คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวไปข้างหลังและมาข้างหน้าอย่างรวดเร็วด้วยแรงที่มาก มักเกิดภายหลังการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้มีอาการปวดแสบร้อนและอาการคอแข็งได้

อาการปวดแสบร้อนจากสภาวะขาดสารอาหารบางชนิด 

  • โรคเหน็บชา (Beriberi) โรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 (Thiamine)
  • โลหิตจางชนิด Megaloblastic Anemia เป็นโลหิตจางที่อาจสัมพันธ์กับการขาดวิตามินบี 12 หรือการขาดกรดโฟลิก
  • โรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia)
  • ต่อมพาราไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป (Hypoparathyroidism) ผู้ป่วยจะมีปริมาณฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมพาราไทรอยด์ที่บริเวณลำคอ ทำให้เกิดการขาดแคลเซียม

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดแสบร้อนที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย 

  • แผลร้อนใน (Canker Sores) คือ แผลร้อนในที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการเจ็บปวดมาก
  • โรคงูสวัด (Shingles) หรือเรียกอีกอย่างว่า Herpes Zoster จะเกิดขึ้นในผู้ที่เคยติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อน ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อน ปวด ที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease (GERD)) โรคที่มีการไหลย้อนของกรดอย่างเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นสู่หลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนยอดอก แสบที่หลอดอาหาร หรือที่กระเพาะอาหาร
  • โรคหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral Vascular Disease) โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงที่อยู่ภายนอกหัวใจและสมอง มักทำให้มีอาการปวดแสบร้อน
  • เริม (Herpes Simplex) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด แสบ ที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย มักเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ หรือที่ปาก
  • โรคโรซาเซีย (Rosacea) โรคผิวหนังที่มีอาการหน้าแดง มีตุ่มแดง อักเสบ มีหนอง ซึ่งเกิดขึ้นที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย ในบางกรณีจะรู้สึกร้อนร่วมด้วย

การวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดแสบร้อน

ถ้าคุณมีอาการปวดแสบร้อนเรื้อรังแล้วไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติอาการปวด ได้แก่ 

  • คุณมีอาการปวดบ่อยครั้งเพียงใด
  • อาการปวดกลับมาเป็นอีกครั้งเมื่อใด
  • มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่
  • ตำแหน่งของอาการปวด
  • ความรุนแรงของอาการปวด

การตรวจเพิ่มเติมเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ

  • การ X-Ray และ CT Scan เพื่อดูกระดูกและกล้ามเนื้อที่กระดูกสันหลัง
  • การตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อดูภาวะขาดสารอาหารและสภาวะโรคอื่นๆ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography (EMG)) เพื่อประเมินสุขภาพของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท 
  • การตรวจความเร็วในการนำสัญญาณประสาท (Nerve Conduction Velocity Test) การประเมินความเร็วในการส่งสัญญาณประสาท โดยเฉพาะที่เส้นประสาทส่วนปลาย
  • การส่งตรวจเนื้อเยื่อผิวหนัง เพื่อประเมินผิวหนังบริเวณที่เกิดโรคโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่
  • การส่งตรวจชิ้นเนื้อเส้นประสาท (Nerve Biopsy) คือการตรวจดูความเสียหายบริเวณที่สงสัยของร่างกาย

การรักษาอาการปวดแสบร้อน

การรักษาอาการปวดแสบร้อนจะขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ โดยการรักษาอาจได้แก่

  • การใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (Anti-Inflammatory Medications) หรือยาแก้ปวด 

  • การปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน

  • การทำกายภาพบำบัด

  • การผ่าตัด

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

อาการปวดแสบร้อนตามร่างกายไม่ใช่เรื่องปกติ หากมีอาการบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกต้องต่อไป ยิ่งหากอาการปวดแสบร้อนตามร่างกายเป็นสัญญาณของโรคร้ายจะได้รักษาและควบคุมโรคก่อนอาการจะรุนแรงมาก


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat