ผ่าตัดเต้านม อีกแนวทางการกำจัดเนื้อร้ายจากโรคมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคอันดับต้นๆ ที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ตามสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2563 โรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับแรกของผู้หญิงไทยก็คือ โรคมะเร็งเต้านม

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อถึงวัยอันควร ผู้หญิงทุกคนจะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งด้วยวิธีการคลำหาก้อนเนื้อที่เต้านมด้วยตนเอง วิธีการอัลตราซาวด์เต้านม และวิธีการตรวจแมมโมแกรมเต้านม เพื่อที่หากพบรอยโรคมะเร็งเต้านมจากการตรวจ ก็จะได้หาวิธีการรักษาที่เหมาะสมทันเวลา

วิธีรักษามะเร็งเต้านมนั้นมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาฮอร์โมนบำบัด ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรืออาจเป็นการผ่าตัดเต้านม ในกรณีที่แพทย์เล็งเห็นว่า วิธีนี้จะสามารถช่วยกำจัดชิ้นเนื้อร้ายออกไปจากเต้านมได้เร็วขึ้น

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมคืออะไร?

ผ่าตัดมะเร็งเต้านม (Breast Cancer Surgery) คือ วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมอีกรูปแบบหนึ่ง ผ่านการผ่าตัดเพื่อกำจัดชิ้นเนื้อมะเร็งออกจากเต้านม อาจรวมถึงต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อเต้านมส่วนที่เสียหายจากการลุกลามของเชื้อมะเร็งด้วย

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมช่วยอะไรได้บ้าง?

การผ่าตัดเต้านมมีประโยชน์สำคัญในด้านการรักษาโรคมะเร็งเต้านม เพื่อให้ผู้ป่วยยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยปราศจากชิ้นเนื้อมะเร็งซึ่งอาจลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับร่างกายจนทำให้สุขภาพทรุดโทรมถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมเต้านมมีกี่แบบ?

วงการแพทย์ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมที่หลากหลายมาก เพื่อให้สามารถรับมือกับทุกระยะของโรคนี้ได้ และยังช่วยให้ผู้ป่วยยังมีโอกาสคงเหลือเนื้อเต้านมส่วนเดิมเอาไว้ด้วย เช่น

  • การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy) เป็นการผ่าตัดนำเอาเนื้อเต้านมข้างใดข้างหนึ่งทั้งหมดออกไป แต่ยังเหลือในส่วนของกล้ามเนื้อหน้าอกและต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้เอาไว้
  • การผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 เต้า (Double Mastectomy) เป็นการผ่าตัดนำเนื้อเต้านมทั้ง 2 ข้าง ซ้ายและขวาออกไป นิยมใช้ในกรณีที่เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่เต้านมทั้ง 2 ข้างแล้ว แต่ยังไม่ลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อและต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้
  • การผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ (Modified Radical Mastectomy) เป็นการผ่าตัดเต้านมในกรณีที่เชื้อมะเร็งลุกลามจากเต้านมไปถึงต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้แล้ว แพทย์จึงจำเป็นต้องตัดทั้งเนื้อเต้านม รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่เชื้อมะเร็งลุกลามไปถึงออกไปให้หมด
  • การผ่าตัดเต้านมและผนังหน้าอก (Radical Mastectomy) เป็นการผ่าตัดที่พบได้ยาก หรือพบในกรณีที่ระยะของโรคมะเร็งเต้านมรุนแรงมากแล้ว โดยเชื้อได้แพร่กระจายลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของหน้าอก จนต้องตัดนำเนื้อเต้านมทั้งหมด รวมถึงกล้ามเนื้อหน้าอก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกไป เพื่อหยุดการลุกลามของเชื้อมะเร็ง
  • การผ่าตัดสงวนหัวนม (Nipple-sparing Mastectomy) อีกรูปแบบการผ่าตัดเพื่อสงวนทรงของเต้านมเอาไว้ โดยการผ่านำชิ้นเนื้อมะเร็งและเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงที่เสียหายออกไป แต่ยังคงเหลือตำแหน่งหัวนมเอาไว้ ส่วนมากนิยมผ่าตัดในกรณีที่ระยะของโรคมะเร็งเต้านมยังไม่รุนแรงมากนัก
  • การผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งและเนื้อเยื่อรอบๆ ก้อนมะเร็ง (Lumpectomy) เป็นอีกตัวเลือกการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ โดยแพทย์จะผ่าตัดนำก้อนเนื้อมะเร็งออกพร้อมเนื้อเยื่อส่วนที่อยู่รอบๆ เพื่อหยุดการลุกลามของเชื้อมะเร็ง และยังสามารถรักษาทรวดทรงของเต้านมเอาไว้ได้อีก
  • การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก (Lymph Node Dissection) เป็นอีกรูปแบบการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านม และยังเป็นการผ่าตัดเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมด้วย เพียงแต่ตำแหน่งในการทำหัตถการจะเป็นต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ซึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหลายท่านจะตรวจพบเชื้อมะเร็งที่ตำแหน่งนี้เป็นที่แรก
  • การผ่าตัดเต้านมและเสริมเต้านมใหม่ด้วยเนื้อเยื่อตนเอง (Autogenous Breast Reconstruction) เป็นอีกการผ่าตัดเต้านมรูปแบบใหม่ที่มีการทำหัตถการเพื่อความงามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยหลังจากผ่าตัดนำชิ้นเนื้อมะเร็งและเนื้อเยื่อที่เสียหายจากตัวโรคออกจากเต้านมแล้ว แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อ ชั้นไขมัน และชั้นกล้ามเนื้อจากตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกายผู้ป่วย เช่น แผ่นหลัง หน้าท้อง มาผ่าตัดเสริมเป็นเต้านมใหม่ แทนที่เต้านมเดิมที่เสียหายหรือผิดรูปจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม
  • การผ่าตัดเต้านมและเสริมเต้านมใหม่ด้วยวัสดุซิลิโคน (Implant Reconstruction) เป็นการผ่าตัดเต้านมร่วมกับการเสริมเต้านมใหม่เช่นกัน แต่เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการเสริมเต้านมเป็นซิลิโคนที่ปลอดภัยต่อร่างกายแทน คล้ายกับศัลยกรรมเสริมหน้าอกเพื่อความงาม ส่วนผิวเต้านมที่เสียหายจากเชื้อมะเร็งนั้น หากผิวเต้านมเดิมมีไม่เพียงพอต่อการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่ แพทย์ก็อาจพิจารณาผ่าตัดนำผิวหนังจากร่างกายส่วนอื่นๆ มาใช้เพิ่มเติมในการผ่าตัดด้วย

การจะคัดเลือกว่าผู้ป่วยแต่ละท่านควรใช้รูปแบบการผ่าตัดแบบไหน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับรูปแบบการผ่าตัดเต้านมให้กับผู้ป่วยแต่ละท่านเอง โดยจะประเมินจากระยะของโรค ขนาดและการลุกลามของก้อนเนื้อมะเร็ง รวมถึงความแข็งแรงของสุขภาพผู้ป่วย

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมเหมาะกับใคร?

การผ่าตัดเต้านมเป็นการทำหัตถการเพื่อการรักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยท่านใดที่ควรรับการรักษาผ่านวิธีการผ่าตัด หรือควรรักษาผ่านวิธีอื่นๆ แทน เช่น การใช้ยา การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดมะเร็งเต้านม

  • แจ้งประวัติสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวทุกชนิด วิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับแพทย์ล่วงหน้า
  • แจ้งประวัติการแพ้ยาอย่างละเอียดกับแพทย์ล่วงหน้า
  • ตรวจสุขภาพอย่างละเอียดกับแพทย์ล่วงหน้า ซึ่งโดยทั่วไปทางสถานพยาบาลจะมีการแจ้งรายการตรวจมาให้ก่อนเริ่มการผ่าตัด เช่น ตรวจเลือด ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจไต ตรวจตับ
  • การผ่าตัดเต้านมจะต้องมีการนอนพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาล จึงควรลางานล่วงหน้า และพาญาติเดินทางมาเฝ้าไข้ด้วย
  • เตรียมเสื้อชั้นในที่ใส่สบาย ไม่มีโครง และไม่รัดหน้าอกจนเกินไป
  • เตรียมเสื้อแบบกระดุมผ่าหน้าและไม่รัดรูปเพื่อใช้สำหรับสวมใส่กลับบ้านหลังผ่าตัด
  • พักผ่อนให้เพียงก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • งดสูบบุหรี่และงดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ขึ้นไป
  • หากใส่ฟันปลอม ให้แจ้งกับทางแพทย์ล่วงหน้าด้วย
  • งดการทาสีเล็บทุกชนิด และควรตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น
  • ฝึกท่ากายบริหารสำหรับการหายใจและไออย่างถูกวิธี เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะปอดแฟบจากการดมยาสลบก่อนผ่าตัด ในส่วนนี้ทางสถานพยาบาลอาจจัดเตรียมเจ้าหน้าที่มาฝึกสอนให้กับผู้ป่วย

ขั้นตอนการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

กระบวนการผ่าตัดเต้านมจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้ โดยทั่วไป อาจมีดังนี้

  1. เริ่มจากการวางยาสลบผู้รับบริการ
  2. จากนั้นแพทย์จะเริ่มกรีดเปิดแผลเพื่อตัดชิ้นเนื้อมะเร็งออก รวมถึงเนื้อเต้านมบริเวณโดยรอบหรือเหนือก้อนมะเร็งที่เสียหายจากรอยโรค
  3. เมื่อผ่าตัดเสร็จ อาจมีการใส่ท่อระบายน้ำเหลืองออกจากแผลด้วย
  4. ในกรณีที่มีการเสริมเต้านมใหม่หลังผ่าตัดเต้านม แพทย์อาจแยกการผ่าตัดทั้ง 2 ส่วนออกจากกัน หรือผ่าตัดร่วมกันในครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับการประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม

  • เมื่อเริ่มรู้สึกตัวหลังยาสลบหมดฤทธิ์ ให้ค่อยๆ พลิกตะแคงตัวและฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ ร่วมกับนอนศีรษะสูง เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้จากยาสลบ
  • งดน้ำและอาหารต่อจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้เริ่มกินอาหารและดื่มน้ำได้
  • หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมงแรก หากไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ผู้ป่วยสามารถกลุกขึ้นยืน นั่ง และเดินรอบเตียงพักฟื้นได้ เพื่อลดอาการท้องอืด ท้องผูก และช่วยเร่งให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงเร็วขึ้น หากเดินรอบเตียงแล้วยังรู้สึกไหว สามารถเดินในระยะที่ไกลขึ้นอีกได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • หากรู้สึกอยากไอ ให้ใช้หมอน สิ่งของที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม หรือมือประคองแผลไว้ เพื่อการกระทบกระเทือนจนปวดแผล
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่อยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารเพียงพอในการกระตุ้นการฟื้นตัวของร่างกาย
  • แจ้งพยาบาลหรือแพทย์หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจนทนไม่ไหว
  • แพทย์จะใส่สายระบายของเหลวที่แผลเอาไว้ ให้ระมัดระวังอย่าให้สายหลุด หัก พับ หรืองอ
  • งดการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก งดออกกำลังกาย งดยกของหนักจนกว่าแพทย์จะประเมินให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติอีกครั้ง
  • อย่าให้แผล รวมถึงไหล่ และแขนข้างเดียวกับเต้านมที่ผ่าตัดสัมผัสความร้อนหรือแดดจัดๆ
  • ในกรณีที่ผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออก และต้องมีการตรวจสุขภาพ หรือตรวจคัดกรองโรคอื่นๆ หลังผ่าตัด ให้หลีกเลี่ยงการเจาะเลือด การวัดความดันโลหิต การฉีดยา หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำที่แขนข้างเดียวกับเต้านมที่ผ่าตัด
  • งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดกินอาหารแปรรูป อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีเนื้อแดง เพื่อให้แผลฟื้นตัวเร็วขึ้น และไม่เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งซ้ำอีกในอนาคต
  • หากแพทย์ถอดท่อระบายที่แผลออกแล้ว ให้งดแกะ แคะ กด หรือเกาแผลเป็นอันขาด
  • แต่ในกรณีที่แพทย์ยังไม่ถอดท่อระบาย และให้ใส่ท่อระบายกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ให้ผู้ป่วยเดินทางมาทำแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกวัน หรือทางสถานพยาบาลที่ทำการผ่าตัดอาจนัดให้ผู้ป่วยเดินทางกลับมาทำแผลทุกวัน
  • ในระหว่างใส่ท่อระบาย ควรใส่เสื้อในที่ไม่มีโครง หรือแบบสปอร์ตบรา เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลแผลและท่อระบาย
  • หากยังใส่ท่อระบายและต้องการออกไปทำกิจวัตรประจำวันข้างนอก ให้เตรียมถุงหรือกระเป๋าใส่ขวดบรรจุของเหลวที่ระบายจากท่อด้วย และให้เดินทางอย่างระมัดระวัง อย่าให้ท่อระบายหลุดจากแผล
  • หมั่นตรวจเช็กขวดระบายของเหลวจากท่อระบายอยู่เสมอ หากขวดมีการคืนรูป ให้บีบเพื่อปรับให้การทำงานของขวดกลับไปเป็นสูญญากาศอีกครั้ง
  • เดินทางมาตรวจแผลตามนัดหมายกับแพทย์ทุกครั้ง

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

ผู้ป่วยอาจเผชิญกับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์บางประการหลังฟื้นตัวจากการผ่าตัดเต้านม เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้จากการใช้ยาสลบในการผ่าตัด
  • เส้นประสาทได้รับความเสียหาย เป็นอีกผลข้างเคียงที่พบได้จากการผ่าตัด โดยเครื่องมือผ่าตัดอาจไปสร้างความกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท ผู้ป่วยอาจรู้สึกชาบริเวณแผลหรือที่เต้านมบ้าง แต่โดยทั่วไปหลังผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ อาการก็จะดีขึ้นเอง หรือในผู้ป่วยที่อาการค่อนข้างรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาหรือให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการเพิ่มเติม
  • อาการปวดระบมแผล ซึ่งอาจลุกลามไปถึงบริเวณไหล่หรือแขนได้ ในบางสถานพยาบาลอาจมีการเตรียมนักกายภาพบำบัดมาฝึกสอนทำท่ากายบริหาร เพื่อป้องกันภาวะข้อไหล่ติดที่เกิดจากอาการปวดระบมแผลสะสม จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับยกไหล่และแขนได้อย่างสะดวก

ความเสี่ยงของการผ่าตัดมะเร็งเต้านม

การผ่าตัดเต้านมยังจัดเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนเกี่ยวเนื่องกับหลายระบบของร่างกาย จึงมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการได้ หากผู้ป่วยไม่ดูแลแผลอย่างเหมาะสมและอย่างระมัดระวัง โดยกรณีที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

  • ภาวะติดเชื้อที่แผลผ่าตัด แบ่งออกได้หลายระดับ โดยอาจติดเชื้อเพียงที่ผิวหนังตรงส่วนแผลที่แพทย์กรีดเปิด หรืออาจติดเชื้อรุนแรงลึกลงไปถึงชั้นไขมัน และกล้ามเนื้อใต้แผล โดยส่วนมากมักจะทำให้เกิดอาการไข้สูง หนาวสั่น แผลผ่าตัดบวมแดงและอาจปริแตกออกมา ร่วมกับมีอาการปวดระบมแผลอย่างรุนแรง ในผู้ป่วยบางท่านอาจมีน้ำหนองไหลออกมาจากแผลด้วย
  • ภาวะข้อไหล่ติด เป็นอีกภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยหลายท่าน โดยมีสาเหตุมาจากอาการปวดตึงแผล ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกลัวไม่กล้าขยับแขนมาก เพราะอาจจะทำให้แผลฉีกขาดได้ จึงทำให้เกิดพังผืดที่ตัวแผล ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้มากนัก จนส่งผลทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น
  • ภาวะแขนบวม เกิดจากน้ำเหลืองใต้ผิวหนังไม่สามารถไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ จนทำให้แขนข้างเดียวกับเต้านมที่ผ่าตัดบวมขึ้นมา อาการบวมที่เกิดขึ้นอาจเกิดกับทั้งแขนและลามไปจนถึงข้อมือ หรือในผู้ป่วยบางรายก็อาจบวมแค่ในส่วนของมือ ต้นแขน หรือโคนแขนส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น
  • ภาวะน้ำเหลืองคั่งบริเวณแผลผ่าตัด เกิดจากแผลผ่าตัดมีน้ำเหลืองไปคั่งสะสมอยู่จนทำให้แผลบวมคล้ายกับถุงน้ำ และผู้ป่วยจะรู้สึกว่าแผลมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมพักฟื้นนานไหม?

ระยะเวลาของการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัดเต้านม ผู้ป่วยบางท่านอาจเดินทางกลับบ้านได้หลังผ่าตัดไปแล้ว 1-2 วัน หรือบางท่านก็อาจต้องนอนโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ เพื่อให้แพทย์สามารถเฝ้าสังเกตอาการหลังผ่าตัดได้อย่างใกล้ชิด

ในส่วนของการพักฟื้นต่อที่บ้าน ส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยยังคงพักฟื้นร่างกายต่ออีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และขอให้มีการใช้ชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างเบาและไม่หนักหน่วงเกินไป จนกว่าแพทย์จะประเมินว่า ร่างกายผู้ป่วยมีการฟื้นตัวดีเพียงพอแล้ว หลังจากนั้นจึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติอีกครั้ง

ผ่าตัดเต้านมแล้วมีโอกาสเป็นมะเร็งอีกไหม?

หลังจากผ่าตัดเต้านมไปแล้ว ยังมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นโรคมะเร็งได้อีกครั้ง แต่อาจเป็นตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งเดิมซึ่งเคยผ่าตัดนำก้อนเนื้อมะเร็งออกไปแล้ว ดังนั้นถึงแม้การผ่าตัดเต้านมจะเสร็จสิ้นไปอย่างปลอดภัย ไร้ภาวะแทรกซ้อน แต่ผู้ป่วยก็ยังต้องมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม และต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทุกปีอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาดด้วย

โรคมะเร็งเต้านมอาจเป็นโรคที่ดูน่ากลัว แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และยังไม่ลุกลามไปถึงพื้นที่ใกล้เคียง การเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนจะพลาดไม่ได้เด็ดขาด

โดยในปัจจุบัน แทบทุกสถานพยาบาลจะมีการเปิดให้บริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งโดยส่วนมากยังไม่ได้มีแค่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่ยังมีรายการตรวจสำคัญอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง

Scroll to Top