
มะเร็งลำไส้หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมากเป็นอันดับต้นๆ และพบมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติโรงพยาบาลรามาธิปดีพบว่าปัจจุบันประเทศไทยพบอัตราผู้ป่วยรายใหม่ 11,496 รายต่อปี และอัตราเสียชีวิต 6,845 รายต่อปี การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ได้
วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมสิ่งสำคัญและข้อควรรู้เรื่องการตรวจมะเร็งลำไส้มาฝากกัน
เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่
ปิด
ปิด
ตรวจมะเร็งลําไส้คืออะไร?
ตรวจมะเร็งลำไส้ (Bowel Cancer Screening) คือการตรวจร่างกายบริเวณลำไส้เพื่อหาสิ่งผิดปกติ เช่น ลำไส้อักเสบ ติ่งเนื้อ หรือถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ และรักษาก่อนที่อาการผิดปกตินั้นจะพัฒนาเป็นมะเร็ง
ใครควรตรวจมะเร็งลำไส้?
โรคมะเร็งลำไส้พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้อายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ อาจพิจารณาจากเงื่อนไขดังนี้
โรคมะเร็งลำไส้พบได้ในทุกเพศทุกวัย ทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ อาจพิจารณาจากเงื่อนไขดังนี้
- ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง ควรเข้าตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ ผู้ที่ทานเนื้อสัตว์มาก ทานผักน้อย ควรเข้าตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเข้าตรวจได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
- ชายหญิงทุกคนเมื่ออายุครบ 50 ปีควรตรวจมะเร็งลำไส้แบบเบื้องต้นทุกปีเพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติที่อาจนำไปสู่มะเร็งลำไส้หรือโรคอื่นๆ

อาการบ่งชี้มะเร็งลำไส้
อาการที่อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งลำไส้ อาจมีดังต่อไปนี้
- ถ่ายอุจจาระมีมูกปน หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
- ปวดบิดท้องบริเวณท้องน้อย
- ลักษณะอุจจาระลีบลง เพราะก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่จนไปอุดทางเดินของลำไส้ใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง
- มีอาการท้องผูกหรือท้องเสียที่รักษาไม่หาย หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ตัวซีด จากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะเกิดความผิดปกติที่ลำไส้ใหญ่ส่วนบน
- คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยด้านขวา
- มีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระหรือผายลมลดลง อาจเกิดจากลำไส้อุดตัน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งสัญญาณของมะเร็งลำไส้คือมีติ่งหรือก้อนเนื้อในลำไส้ ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจคัดกรองโดยแพทย์เท่านั้น ดังนั้นหากมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น จึงควรไปรับการตรวจทันที
วิธีการตรวจมะเร็งลำไส้
วิธีการตรวจมะเร็งลำไส้มี 4 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. ตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test)
วิธีนี้เป็นการตรวจหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีอยู่ในอุจจาระแต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายเป็นประจำจะไม่มีเลือดปนอยู่เลย หากพบเม็ดเลือดแดงแฝงอยู่ก็อาจบ่งชี้ถึงอาการผิดปกติในลำไส้ได้ วิธีนี้จัดเป็นการตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้น เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น โดยปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายทุกวันไม่มีเลือดปน สามารถตรวจด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การเตรียมตัวก่อนตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
- ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ต้องหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะโดยเฉพาะอาหารสุกๆ ดิบๆ
- ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เลือดหมู เลือดเป็ด เลือดไก่ บรอกโคลี กะหล่ำดอก หัวไชเท้าแดง แคนตาลูป มะรุม น้ำองุ่น
- ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ผู้ที่รับประทานวิตามินซี มากกว่า 250 มก. ต่อวัน ต้องลดปริมาณหรืองดไว้ก่อน
- ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน ผู้หญิงไม่ควรตรวจช่วงที่มีประจำเดือน
- ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร ไม่ควรตรวจช่วงที่มีเลือดออกจากริดสีดวงทวาร
- ผู้ที่กำลังป่วยโรคต่อไปนี้ต้องงดเข้ารับการตรวจ ลำไส้ใหญ่บวมอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคติ่งเนื้ออักเสบในลำไส้ใหญ่ ท้องเสีย ท้องผูก
ขั้นตอนการเก็บอุจจาระส่งตรวจมะเร็งลำไส้ (Stool Occult Blood)
หลังจากเตรียมตัวตามข้อปฏิบัติที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ผู้เข้ารับการตรวจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระนำส่งห้องปฏิบัติการ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ก่อนการเก็บตัวอย่างอุจจาระ ต้องปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะปนเปื้อน
- ล้างมือให้สะอาด และใส่ถุงมือขณะเก็บตัวอย่าง
- ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกปากกว้าง โดยระวังไม่ให้อุจจาระตกน้ำ จากนั้นใช้ก้านเก็บตัวอย่างจากทุกส่วนของอุจจาระโดยเลือกบริเวณที่อ่อนนุ่ม หากมีสีที่แตกต่างกันให้เก็บมาด้วย รวมกันขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ จากนั้นใส่ในภาชนะที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้แล้วปิดฝา แต่ห้ามเก็บตัวอย่างจากอุจจาระที่ปนเปื้อนเด็ดขาด เช่น น้ำ กระดาษชำระ สบู่ เพราะอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อน
- นำตัวอย่างส่งให้กับเจ้าหน้าที่ ในกรณีเก็บตัวอย่างอุจจาระที่บ้าน ก่อนนำส่งโรงพยาบาลไม่ควรเก็บตัวอย่างในช่องแช่แข็งของตู้เย็นเพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนของผลตรวจได้
- เจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ และแจ้งผลให้ทราบต่อไป
ตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระรอผลตรวจนานไหม?
โดยปกติจะทราบผลภายใน 2 ชั่วโมงหลังส่งตัวอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการของสถานที่ให้บริการ
ข้อดีของการตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
- เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก
- ไม่มีผลข้างเคียง
ข้อเสียของการตรวจมะเร็งลำไส้จากเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
- ความแม่นยำน้อย เพราะแม้จะตรวจไม่พบเลือดในอุจจาระ ก็ไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่าไม่เป็นมะเร็งลำไส้ วิธีนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น สำหรับผู้มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น
- บางกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีอาการสอดคล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ตรวจไม่พบเลือดหรือสิ่งปกติในอุจจาระ แพทย์จะส่งตรวจโดยวิธีส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
2. ตรวจมะเร็งลำไส้แบบส่องกล้อง (Colonoscopy)
การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าทางทวารหนักเพื่อหาสิ่งผิดปกติในลำไส้ ให้ผลแม่นยำ จึงเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่เสี่ยงสูง หรือเคยมีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อน และควรตรวจทุก 5 ปี
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
ก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้รับบริการควรเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้
- แจ้งประวัติสุขภาพให้แพทย์ทราบ ได้แก่ โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ประวัติการใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์
- ก่อนวันตรวจ 7 วัน ต้องงดยาป้องกันการสร้างลิ่มเลือด เช่น Orfarin, Warfarin ยาต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน, ฟลาวิก เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่าย เพราะหากพบก้อนเนื้อผิดปกติแพทย์สามารถตัดออกได้ทันที โดยไม่เสี่ยงกับภาวะเลือดไหลไม่หยุด
- ก่อนวันตรวจ 7 วัน ต้องงดยาบำรุงเลือดหรือยาที่มีธาตุเหล็กประกอบ เพราะตัวยาจะไปเคลือบในลำไส้เป็นสีดำทำให้มองไม่เห็นสภาพพยาธิ
- ก่อนวันตรวจ 2 วัน ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย และมีกากน้อย ได้แก่ ข้าวต้ม โจ๊ก เนื้อปลา หรือไข่ ให้งดอาหารกากมาก เช่น ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้
- ก่อนวันตรวจ 1 วัน ให้รับประทานอาหารเหลวที่ไม่มีกาก เช่น น้ำผลไม้ชนิดใส น้ำผึ้ง น้ำซุปใส น้ำหวานไม่มีสี โจ๊กเหลว เป็นต้น และรับประทานยาระบายตามแพทย์สั่งเพื่อระบายให้ลำไส้ใหญ่สะอาด และงดอาหารหลังกินยาระบาย สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ตามเวลาที่แพทย์สั่ง
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้
- ผู้เข้ารับการตรวจอยู่ในท่านอนบนเตียงท่าตะแคงซ้าย ก้นชิดริมเตียง งอเข่าชิดอก คลุมร่างกายด้วยผ้าสะอาด มีช่องเปิดที่ก้น
- สำหรับผู้เข้ารับการตรวจบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาระงับความรู้สึก ผู้เข้ารับการตรวจจึงไม่รู้สึกเจ็บขณะตรวจ
- แพทย์ใส่กล้องส่องตรวจเข้าทางทวารหนัก ทำการขยับ และปรับกล้องส่องอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงเคลื่อนไหวกล้องส่องให้ไปในทิศทางที่ต้องการ
- ขณะส่องกล้องแพทย์จะเป่าลมด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติ ให้ลำไส้ขยาย เพื่อดูพยาธิสภาพภายในได้ชัดเจนขึ้น ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ แน่น หรืออึดอัดท้อง อาการเหล่านี้บรรเทาได้โดยการหายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง ถ้าแน่น อึดอัดท้องมากจนทนไม่ไหว ให้แจ้งแพทย์ แพทย์จะดูดลมออกให้ โดยระหว่างการส่องกล้องห้ามดิ้นโดยเด็ดขาด
- ภาพที่บันทึกได้จะปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ สามารถเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด ทำให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะใช้เวลาตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเลย
ส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่รอผลตรวจนานไหม?
หลังตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง จะทราบผลการตรวจและสามารถกลับบ้านได้
ข้อดีของการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีความแม่นยำใสูงถึง 95-98%
- นอกจากตรวจแล้วยังสามารถรักษาระหว่างส่องกล้องไปด้วยกันได้ เช่น การตัดติ่งเนื้องอกผิดปกติที่พบได้ทันทีในขั้นเดียวกับการส่องกล้อง เป็นการป้องกันการกลายเป็นมะเร็ง
ข้อเสียของการส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่
- เป็นการตรวจที่ต้องทำโดยแพทย์ที่ความชำนาญและมีประสบการณ์เท่านั้น
- อาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ เช่น เลือดออกที่ลำไส้ใหญ่จากการส่องกล้องหรือลำไส้ใหญ่ทะลุ ขึ้นกับความชำนาญของแพทย์
- เป็นการตรวจที่มีราคาแพง เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีอื่น
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เจ็บไหม?
แพทย์จะใช้ยาระงับความรู้สึกก่อนส่องกล้อง ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ

3. การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม (Barium Enema)
การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม (Barium Enema) เป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่างหรือลำไส้ใหญ่ โดยการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนัก ไปเคลือบผนังลำไส้ใหญ่ จากนั้นถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ เช่น เนื้องอก มะเร็ง หรือการอุดตันในลำไส้ใหญ่
การเตรียมตัวเข้าก่อนการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม
แจ้งข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรือสารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัดให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ
- ก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 2-3 วัน ผู้เข้ารับการตรวจควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ซุปใส ขนมปัง หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน
- ก่อนเข้ารับการตรวจแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจทานยาระบายเพื่อทำให้ลำไส้สะอาดมากที่สุด ช่วยให้เห็นผนังลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน ไม่มีอุจจาระบดบังผนังลำไส้ใหญ่
- ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปในระหว่างการระบายลำไส้
- ก่อนเข้ารับการตรวจ 6-8 ชั่วโมง ต้องงดน้ำและอาหาร
- ควรนำฟิล์มเอกซเรย์เก่ามาให้แพทย์ด้วยวันตรวจ
ขั้นตอนการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม
- ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
- ผู้เข้ารับการตรวจขึ้นนอนบนเตียงในท่านอนตะแคงจนเกือบคว่ำไปข้างใดข้างหนึ่ง
- แพทย์สอดท่ออ่อนขนาดเล็กที่มีความยาวเล็กน้อยเข้าทางทวารหนัก และฉีดแป้งแบเรียมผ่านท่อนี้ ผู้เข้ารับการตรวจต้องเกร็งและขมิบกล้ามเนื้อหูรูดไว้ เพื่อไม่ให้สารที่ฉีดไปไหลออกมา
- แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจพลิกตัวไปมาเพื่อให้แป้งแบเรียมเคลือบผนังลำไส้ทั่วถึง
- แพทย์เป่าลมเข้าทางท่ออ่อนด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติให้ลำไส้พองตัวเพื่อให้การตรวจเห็นภาพชัดขึ้น
- ระหว่างการตรวจอาจรู้สึกแน่นท้อง คล้ายๆ ปวดอุจจาระ ให้กลั้นเอาไว้ก่อน
- แพทย์ถ่ายภาพเอกซเรย์ ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
- หลังจากทำการตรวจเอกซเรย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์ดึงท่ออ่อนออกจากทวารหนัก
- หลังตรวจผู้เข้ารับการตรวจอาจปวดอุจจาระ
- เมื่อเสร็จแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางกลับบ้านได้
หลังการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และควรรับประทานอาหารประเภทกากใยมากๆ และดื่มน้ำเยอะๆ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งแบเรียมตกค้างซึ่งอาจทำให้ท้องผูก
ตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมรอผลตรวจนานไหม?
สามารถทราบผลตรวจภายใน 2-3 วัน
ข้อดีของการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม
- มีความแม่นยำในการตรวจจับสิ่งผิดปกติสูงมาก
- มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยมาก
ข้อเสียของการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยม
- อาจตรวจไม่พบติ่งเนื้อที่เล็กกว่า 1 เซนติเมตร
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้ทะลุ แต่เกิดได้น้อย ทำให้แป้งแบเรียมไหลออกจากลำไส้ใหญ่เข้าสู่ช่องท้อง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยอื่น
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ห้ามทำการตรวจด้วยเทคนิคการสวนแป้ง เพราะสารทึบแสงและการเอกซเรย์มีผลต่อทารกในครรภ์
การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมเจ็บไหม?
การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่อาจรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยระหว่างที่แพทย์สูบลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ หรือรู้สึกท้องอืดหรือปวดท้องเพียงแค่ชั่วขณะเท่านั้น
การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยการสวนแป้งแบเรี่ยมเหมาะกับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อน หรือผู้ที่ลำไส้ผิดปกติแต่ไม่สามารถตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้ เช่น มีอาการลำไส้อุดตัน โดยควรตรวจทุก 5 ปี

4. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง (Virtual Colonoscopy: VC)
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง (Virtual Colonoscopy: VC) คือการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อสร้างภาพสองและสามมิติของลำไส้ใหญ่จากส่วนล่างสุดคือจากทวารหนักถึงด้านล่างสุดของลำไส้เล็ก โดยแสดงภาพบนจอคอมพิวเตอร์
ปัจจุบันการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงสามารถตรวจพบเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 9 มม. ได้มากกว่า90%
การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง
- แจ้งข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรือสารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัดให้แพทย์ทราบ
- ก่อนวันตรวจ 1 วัน รับต้องประทานเฉพาะอาหารประภทเหลวและใส เช่น ซุปใส เป็นต้น และงดรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มต่างๆ หลังเที่ยงคืนก่อนวันตรวจ
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง
เมื่อผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนชุดที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้แล้ว ผู้เข้ารับการตรวจนอนบนเครื่องสแกนที่ลักษณะคล้ายอุโมงค์สั้นๆ โดยผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายและแพทย์จะทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
- แพทย์ฉีดสารชื่อว่าไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ (Butylscopolamine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งในช่องท้องเข้าเส้นเลือดดำเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- แพทย์เป่าลมผ่านท่อขนาดเล็กบางเข้าไปขยายลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติ เพื่อให้มองเห็นภายในลำไส้ดีขึ้น
- ระหว่างเครื่องสแกนทำงานผู้เข้ารับการตรวจต้องกลั้นหายใจเพื่อไม่ให้ภาพผิดเพี้ยน
- สแกนซ้ำอีกในท่านอนคว่ำ
- เครื่องสแกนสร้างชุดภาพตัดขวางสองมิติตามความยาวของลำไส้ใหญ่ และคอมพิวเตอร์แต่งภาพสองมิติให้เป็นภาพสามมิติโดยสามารถดูได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์
- หลังตรวจผู้เข้ารับการตรวจเข้าห้องน้ำเพื่อไล่ลม (ผายลม) และสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงรอผลตรวจนานไหม?
การรายงานผลใช้เวลาถึง 1 ถึง 2 สัปดาห์
ข้อดีของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง
- มีความเสี่ยงน้อยกว่าการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- สามารถช่วยตรวจดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่างๆ ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน และไม่สามารถส่องกล้องเข้าไปตรวจได้
- สามารถดูผนังด้านนอกลำไส้ใหญ่และอวัยวะอื่นภายในช่องท้องซึ่งไม่สามารถตรวจด้วยการส่องกล้องได้
- ไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึกเพื่อลดความเจ็บปวดทำให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติหรือกลับบ้านได้หลังจากทำหัตถการโดยไม่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือ
ข้อเสียของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริง
- ต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญละมีประสบการณ์สูงมากในการตรวจหาผลลัพธ์ เพราะแพทย์ที่ขาดความชำนาญการการตรวจหาผลลัพธ์จะพลาดได้ง่าย ทำให้ได้ผลการตรวจไม่ตรงและต้องตรวจซ้ำใหม่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงเจ็บไหม?
ผู้เข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่รู้สึกเจ็บ เพราะไม่ใช่การผ่าตัด แต่เป็นเพียงการสแกนตรวจหาเท่านั้น แต่อาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้องขณะตรวจเพราะต้องสูบอากาศเข้าลำไส้เพื่อขยายลำไส้ให้พอง
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เสมือนจริงควรตรวจทุก 5 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่ลำไส้มีความผิดปกติอยู่แล้ว หรือเพื่อตรวจยืนยันสาเหตุโรคที่แน่นอนกรณีที่ตรวจด้วยวิธีอื่นได้ผลลัพธ์ไม่ชัดเจน
โดยสรุปแล้ว การตรวจมะเร็งลำไส้อาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ทำให้การรักษาไม่ซับซ้อน และมีโอกาสหายมากขึ้น ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เป็นระยะ เพื่อจะได้จัดการกับโรคได้ทันเวลา โดยสามารถเช็กราคาตรวจมะเร็งลำไส้ได้ที่ HDmall.co.th พร้อมสอบถามแอดมินได้ตลอดทั้งวัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็งร้ายของชายไทย ไม่ต้องรอให้เป็นก็ตรวจได้ ปลอดภัยกว่าด้วย
- ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก พบก่อน รักษาได้ หายขาด
- ตรวจมะเร็งเต้านม แนวทางป้องกันปัญหาสุขภาพสำหรับผู้หญิงทุกคน
ที่มาของข้อมูล
ปิด
ปิด
- Fecal Immunochemical Test (FIT), (https://www.nci.go.th/th/File_download/D_index/ptu/update1761/4.%20%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0_Update%20V.7%2017-01-61.pdf).
- The National Health Service (NHS), Bowel cancer, (https://www.nhs.uk/conditions/bowel-cancer/), 8 November 2021.
- ชัยวัฒน์ เชิดเกียรติกุล วท.บ.(รังสีเทคนิค), การตรวจพิเศษรังสีลำไส้ใหญ่, ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, (https://sirirajradiology.com/wp-content/uploads/2019/10/ch3.pdf), 1 มกราคม 2558.
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ, (http://mkho.moph.go.th/mko/frontend/web/uploads/aa3bc8ca8ecf0131281d73194b666202.pdf).
- นายแพทย์บัญชร ศิริพงศ์ปรีดา, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์, สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์, มะเร็งลำไส้ วายร้ายที่ไม่ควรมองข้าม, (https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=1269).
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่,(https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=41).