ตะไคร้ นอกจากเป็นพืชผักสวนครัวแล้ว ยังถือเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวบ้านคนไทยมาอย่างยาวนาน กลิ่นของตะไคร้ที่หอมเป็นเอกลักษณ์ ยังเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีประโยชน์
อีกทั้งตะไคร้ยังมีดีต่อสุขภาพมากมาย นำมาประกอบเมนูอาหารได้อีกหลากหลาย เราไปดูกันว่าประโยชน์ของตะไคร้มีดีอย่างไรบ้าง
สารบัญ
รู้จักตะไคร้
ตะไคร้ (lemon grass) เป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในประเภทหญ้า มักได้รับความนิยมในการนำมาปลูกเป็นพืชผักสวนครัวไว้ใช้บริเวณบ้าน เพราะปลูกง่าย สะดวกแก่การนำมาใช้
ลักษณะของตะไคร้คือ ลำต้น จะขึ้นเกาะกลุ่มเป็นกอแน่นเป็นพุ่มสูงประมาณ 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นเป็นทรงกระบอก ใบเป็นกาบเรียวยาว ซ้อนกันแน่นหนา โดยโคนต้นจะอวบและค่อยๆ เรียวเล็ก โคนต้นมีสีม่วงหรือขาว มีขนอ่อน ผิวใบสาก เรียวยาว ปลายใบแหลม ขอบใบบางและคม มีเส้นกลางยาวไปตามใบ ดอกจะเป็นช่อมีก้านยาว เป็นพืชที่มักไม่ค่อยออกดอก ทุกส่วนของตะไคร้มีกลิ่นหอมซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันหอมระเหยทั้งสิ้น
ตะไคร้ยังแบ่งได้อีกถึง 6 ชนิด คือ ตะไคร้กอ ตะไคร้หางสิงห์ ตะไคร้หอม ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค และตะไคร้ต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา พม่า อินเดีย คองโก ทวีปอเมริกาใต้และไทย
คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้
ตะไคร้ 100 กรัม ประกอบไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ดังต่อไปนี้
- พลังงาน 143 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 29.7 กรัม
- โปรตีน 1.2กรัม
- ไขมัน 2.1 กรัม
- ใยอาหาร 4.2 กรัม
- แคลเซียม 35 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 2.6 มิลลิกรัม
- น้ำ 65.6 กรัม
- วิตามินเอ 43ไมโครกรัม
- วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 1 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 2.2 มิลลิกรัม และเถ้า 1.4 กรัม
ประโยชน์ของตะไคร้
ตะไคร้เป็นพืชอันทรงคุณค่า เพราะนอกจากนำมาเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้อีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของตะไคร้ก็มีด้วยกันดังนี้
1. ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น
สารเคมีที่อยู่ในตะไคร้จะช่วยขับปัสสาวะ ขับสารพิษและกรดยูริกที่มีอยู่ในปัสสาวะให้ออกมาจากร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยล้างระบบย่อยอาหาร ตับ ตับอ่อน และไตทำให้ระบบย่อยอาหารสะอาดขึ้น สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
2. ลดแก๊สในลำไส้
ตะไคร้หากนำมาเป็นชาใช้ดื่มระหว่างวันจะช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร ลดอาการท้องอืด ช่วยย่อยอาหารได้ดี ด้วยน้ำมันหอมจากในตะไคร้ มีสารออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยลดการจุกเสียด ช่วยขับลม และยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสียได้อีกด้วย
3. ช่วยลดคอเลสเตอรอล
ตะไคร้สามารถที่จะนำมาใช้ในการรักษาระดับคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการสะสมไขมันในเส้นเลือด และทำให้เลือดสามารถที่จะไหลเวียนได้สะดวกง่ายขึ้น
4. ล้างพิษในร่างกาย
ตะไคร้มีคุณสมบัติช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกายได้ ซึ่งสามารถที่จะล้างพิษได้ทั้งตับและไต นอกจากนี้ ยังสามารถที่จะช่วยลดระดับกรดยูริก เนื่องจากจะทำให้ปัสสาวะได้บ่อย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบกำจัดสารพิษในร่างกายได้อีกด้วย
5. ป้องกันโรคมะเร็ง
ตะไคร้เป็นตัวช่วยสำคัญในเรื่องการช่วยรักษาเซลล์มะเร็ง แต่ในการรักษาจะไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติ โดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนัง แต่ก็ยังมีการทำวิจัยพบว่า ตะไคร้ยังสามารถป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้ด้วยนั่นเอง
6. รักษาความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ
ปัญหาในระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติ สามารถบรรเทาลงได้ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ซึ่งจะมีกลิ่นไอเย็นๆ ออกมา โดยในน้ำมันหอมระเหยจะมีส่วนประกอบของวิตามินซี ที่จะช่วยลดการอุดตันในทางเดินหายใจได้ดีนั่นเอง
7. ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ตะไคร้จะช่วยในเรื่องของการดูแลระบบภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญยังสามารถทำให้ลำไส้สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้กลไกการสร้างภูมิต้านทานแข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
8. ต่อต้านเชื้อรา กลาก และเกลื้อน
เพราะตะไคร้มีสาร Central และ myrcene ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้ จึงสามารถนำตะไคร้ไปสกัดเป็นครีมรักษาอาการผิวหนังดังกล่าว
ไอเดียการใช้ตะไคร้เพื่อสุขภาพ
ประโยชน์ของตะไคร้เราสามารถนำมาใช้เพื่อบำบัดอาการทางร่างกายได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้บำบัดอาการต่างๆ ได้ดังนี้
- ซ่อมแซมระบบประสาท หากนำตะไคร้มาทำเป็นน้ำมันหอมระเหยโดยผสมกับน้ำมัน Carrier oil แล้วนำมาใช้ทาลงบนผิวจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลาย หายจากการเป็นตะคริว เป็นการซ่อมแซมและบำรุงระบบประสาทได้เป็นอย่างดี
- ช่วยรักษาอาการอักเสบ หากมีอาการอักเสบเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้นำน้ำมันหอมระเหยตะไคร้มาทาบริเวณที่เกิดอาการปวด คุณสมบัติของตะไคร้จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาอาการอักเสบจากอาการปวดต่างๆ ได้ เช่น ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ นับเป็นประโยชน์ของตะไคร้อีกข้อที่ไม่ควรมองข้าม
- แก้อาเจียน วิธีทำให้นำตะไคร้มาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาดื่ม น้ำตะไคร้จะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ลดอาการเมาและช่วยแก้อาการอาเจียนลงได้ นอกจากนี้ ยังเป็นน้ำสมุนไพรที่ช่วยดับร้อน แก้กระหายน้ำได้ดี โดยอาจแปรรูปให้น่ารับประทานหรือทานง่ายมากขึ้น เช่น การนำไปอบแห้ง เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องดื่มดื่มต่างน้ำชา
- ไล่ยุงและแมลง ตะไคร้เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมไปทั้งต้น อีกทั้งเป็นกลิ่นที่ยุงและแมลงอย่างเช่นตัวริ้นไม่ชอบ ดังนั้น จึงสามารถนำมาไล่ยุงและแมลงได้อย่างเห็นผล นอกจากนี้ ตะไคร้ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดลูกน้ำได้ดี หากนำไปปลูกรวมกับพืชชนิดอื่นจะสามารถไล่แมลงได้ ไม่เพียงเท่านั้น การนำน้ำตะไคร้มาผสมกับน้ำสะเดา แล้วนำไปฉีดพ่นพืชผักก็จะสามารถไล่แมลงที่จะมาทำลายพืชพรรณหรือต้นไม้ได้เช่นเดียวกัน
ไอเดียการกินตะไคร้เพื่อสุขภาพ
ตะไคร้เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้นตั้งแต่ราก ใบ ต้น ดอก มีประโยชน์ในด้านสรรพคุณทางยาหลายด้าน ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นทั้งเมนูรับประทานก็ได้ครบทั้งอรรถรสความหอมอร่อยมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกัน กลิ่นของตะไคร้ยังทำให้สดชื่นขึ้นอีกด้วย ไปดูไอเดียการกินการใช้ของตะไคร้เพื่อสุขภาพดังนี้เลย
- ชาตะไคร้ สามารถดื่มเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็ง เริ่มจากนำตะไคร้และใบเตยมาล้างให้สะอาด หลังจากนั้นนำทั้งหมดลงใส่หม้อต้มจนเดือดซึ่งก็สามารถที่จะเติมน้ำตาลลงไปได้ หลังจากนั้นก็ลดไฟลงและต้มอีก 15 นาที แล้วจึงทิ้งเอาไว้ให้เย็น ก็สามารถนำมาดื่มเป็นชาตะไคร้เพื่อสุขภาพได้
- น้ำตะไคร้แอปเปิ้ลเขียว เป็นเครื่องดื่มแก้อาการปวดตามข้อต่างๆ อย่างแรกต้มน้ำเปล่าพร้อมผสมเกลือ จากนั้นล้างตะไคร้และแอปเปิ้ลเขียว เมื่อล้างเสร็จแล้วต้องทุบบริเวณปลายโคนให้แตก และหั่นแอปเปิ้ลเป็นซีก เมื่อน้ำเดือดจึงใส่ลงไปพร้อมกันต้มจนเดือดอีกรอบ แต่สามารถที่จะปรุงน้ำผึ้งเพื่อเพิ่มรสชาติได้
- เมี่ยงข่า เครื่องเคียงที่คล้ายคลึงกับน้ำพริก โดยโขลกข่า ตะไคร้ พริกแห้ง ใบมะกรูด หอมแดง เมื่อโขลกจนเข้ากัน ก็ปรุงรสโดยใส่น้ำปลาร้า น้ำมะขามเปียก น้ำตาล ผงชูรส คลุกจนเข้ากัน ก็สามารถนำมากินกับข้าวสวยหรือข้าวเหนียวได้เลย
- ไก่คั่วตะไคร้ เมนูง่ายๆ กินได้ทั้งครอบครัว อย่างแรกเริ่มจากการโขลกรากผักชี พริกไทย ตะไคร้ กระเทียม หลังจากนั้นตั้งกระทะใส่น้ำมัน เมื่อร้อนแล้ว จึงใส่ตะไคร้ซอยลงไปคั่วจนมีสีเหลืองกรอบแล้วจึงตักขึ้น นำไก่ลงไปผัด ปรุงรสโดยใส่น้ำตาลทราย และสมุนไพรที่โขลกเตรียมเอาไว้ หลังจากนั้นผัดจนมีกลิ่น ตักใส่จานเสิร์ฟโรยด้วยตะไคร้ที่นำลงไปทอดครั้งแรก
- ยำตะไคร้กุ้งสด เมนูสุดแซ่บที่ทำได้ง่ายๆ อย่างแรกเริ่มจากการลวกกุ้ง เสร็จแล้วเตรียมน้ำยำ โดยละลายน้ำตาลปี๊บด้วยไฟอ่อน หลังจากนั้นเติมน้ำปลา หอมแดง และกุ้งแห้ง เคี่ยวจนเข้ากันยกขึ้นใส่ถ้วย เสร็จแล้วนำพริก หอมแดง มะนาว และน้ำปลาหวานที่ปรุงไว้ เมื่อคนจนเข้ากันใส่ตะไคร้ซอย กุ้งแห้งทอด และกุ้งลวกลงไปคลุกให้เข้ากันค่อยตักเสิร์ฟ
- ดับกลิ่นคาวปลาและเนื้อสัตว์ ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อนำไปประกอบอาหารจำพวกเนื้อปลาก็จะช่วยลดกลิ่นคาวปลาได้เป็นอย่างดี เช่น เมนูปลานึ่ง ปลาต้ม ดับกลิ่นคาวในเนื้อสัตว์อื่นๆ เพิ่มความหอมให้เมนูจานนั้น และยังช่วยกระตุ้นร่างกายให้เจริญอาหารมากขึ้น จัดว่าเป็นยาบำรุงธาตุอีกตัวหนึ่งที่ดีเลยทีเดียว
ข้อควรระวังของตะไคร้
ถึงแม้ประโยชน์ของตะไคร้จะมีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลเสียเช่นกัน ดังนั้นก่อนกินตะไคร้จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังของตะไคร้ให้ดีก่อน โดยมีข้อควรระวังของการนำตะไคร้มากินและใช้ประโยชน์ดังนี้
1. ทำให้เสี่ยงแท้งได้
เพราะตะไคร้มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบตัว ดังนั้นคนที่กำลังตั้งครรภ์จึงไม่ควรกินตะไคร้เด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวอย่างรุนแรงจนเสี่ยงต่อการแท้งได้ในที่สุด โดยเฉพาะในคนที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ และท้องแก่ใกล้คลอด นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน หากต้องทานควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
2. อันตรายกับผู้ป่วยโรคบางชนิด
ในผู้ที่ป่วยโรคประจำตัวบางชนิด ก็อาจเป็นอันตรายจากการกินตะไคร้ได้เช่นกัน
ดังนั้นสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วย ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนว่าสามารถกินตะไคร้ได้หรือไม่ จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการกินตะไคร้โดยไม่รู้นั่นเอง
3. หญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน
ความจริงแล้วยังไม่มีการวิจัยที่แน่ชัด ว่าการกินตะไคร้ในหญิงที่ให้นมบุตร จะก่อให้เกิดผลเสียใดๆ หรือไม่ ดังนั้นแพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินตะไคร้ในระหว่างที่กำลังให้นมบุตร
ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวคุณแม่เองและทารกที่จะได้รับสารอาหารต่างๆ ผ่านทางน้ำนมแม่ด้วย
ตะไคร้เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใส่คู่กับเมนูอาหารจานไหนก็ทำให้เมนูนั้นๆ ยิ่งทวีรสชาติและมีกลิ่นหอมเย้ายวนชวนน่าทาน นอกจากนี้ประโยชน์ของตะไคร้ยังมีดีต่อสุขภาพอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการกินตะไคร้ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน โดยเฉพาะในคนท้องที่อาจเป็นอันตรายจากการกินตะไคร้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการกินตะไคร้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นคนท้อง แม่ให้นมลูก หรือผู้ป่วยด้วยโรคบางชนิด เป็นต้น