ฝากครรภ์ คือการดูแลการตั้งครรภ์ของคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม การฝากครรภ์มีความจำเป็นอย่างมากในการติดตาม เฝ้าระวังความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
สารบัญ
ข้อดีของการฝากครรภ์
- สามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติ และโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เพื่อหาสาเหตุ แนวทางการแก้ไข และป้องกันได้อย่างทันท่วงที ลดอัตราการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ตกเลือด และการติดเชื้อต่างๆ
- ตรวจคัดกรองโรค เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคทางพันธุกรรม
- เป็นการติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
- ทำให้คุณแม่ได้รับคำแนะนำฝากครรภ์ ในการปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี เกี่ยวกับการดูแลตนเองและทารกในครรภ์ การรับมือกับารเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อารมณ์ การรับประทานยา อาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร ซึ่งจะทำให้คุณแม่คลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย สุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูก
ถ้าไม่ฝากครรภ์จะอันตรายหรือไม่?
หากไม่ฝากครรภ์ ก็จะไม่ทราบถึงพัฒนาการของทารก ไม่ทราบว่าทารกในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่ หรือความผิดปกติบางอย่างอาจจะไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็เป็นหนัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ถ้าเป็นอะไรรุนแรงอาจถึงขั้นสูญเสียได้
ควรฝากครรภ์ที่ไหนดี?
คุณสามารถฝากครรภ์ได้ที่สถานพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์อนามัย คลินิก เป็นต้น คำแนะนำคือควรฝากครรภ์กับสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อจะได้เดินทางสะดวก รวดเร็ว ถ้ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หรือภายใน 12 สัปดาห์แรก เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
เอกสารที่ต้องเตรียมไปฝากครรภ์มีอะไรบ้าง?
การไปฝากครรภ์ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย เพียงแค่เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นที่สถานพยาบาล รอพบแพทย์ จากนั้นจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วรับสมุดฝากครรภ์ได้เลย
ขั้นตอนการฝากครรภ์มีอะไรบ้าง?
เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการซักประวัติ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
- วันที่ประจำเดือนครั้งสุดท้าย ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การแท้งบุตร ตกเลือด
- ประวัติการแพ้ยา และยากที่กำลังรับประทานอยู่
- โรคประจำตัว รวมถึงอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย
หลังจากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย ได้แก่ - ชั่งน้ำหนัก เพื่อดูความเหมาะสมของน้ำหนัก แพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารและการดูแลสุขภาพเพื่อให้นำหนักของคุณแม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
- วัดส่วนสูง คุณแม่ที่ส่วนสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตรมักจะมีอุ้งเชิงกรานแคบ ไม่เหมาะกับการคลอดปกติ แพทย์อาจประเมินผ่าคลอดเพื่อป้องกันอันตรายจากการคลอด เช่น ภาวะไหล่ติด คลอดยาก เป็นต้น
- วัดความดันโลหิต เพื่อคัดกรองภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ในภาวะปกติความดันโลหิตจะอยู่ในช่วง 120/80-139/89 ซึ่งหากค่าความดันโลหิต 140/90 ขึ้นไป ถือว่าความดันโลหิตสูง อาจเป็นอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
- ตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองโรค เช่น เบาหวานหากตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ และหากพบโปรตีนในปัสสาวะ ก็แสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์อาจมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย แต่หากโตมากต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยอาการไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะครรภ์เป็นพิษต่อไป
- ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรคติดต่อและโรคทางพันธุกรรม เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
- ตรวจหน้าท้อง เพื่อดูความสัมพันธ์ของขนาดมดลูกกับอายุครรภ์ หรือตรวจก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติบริเวณหน้าท้อง
เวลาฝากครรภ์แล้วแพทย์จะนัดตรวจบ่อยหรือไม่?
- อายุครรภ์ 28 สัปดาห์แรก แพทย์มักจะนัดทุกๆ 1 เดือน
- อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ นัดทุกๆ 2-3 สัปดาห์
- จนเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไปจะนัดทุกๆ 1 สัปดาห์
คุณแม่ควรมาตามนัด และที่สำคัญ อย่าลืมนำสมุดฝากครรภ์ไปด้วยทุกครั้ง
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์
ในการฝากครรภ์ครั้งแรก ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,500 บาท กรณีสิทธิประกันสังคมหรือบัตรทองจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนโดยมากจะเป็นแพ็กเกจเหมาจ่าย ตั้งแต่ฝากครรภ์ จนถึงคลอด ราคาประมาณ 10,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล รูปแบบการคลอด และรายการตรวจในแต่ละครั้ง
สำหรับคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ การฝากครรภ์นั้นสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้คุณแม่ทราบถึงความเสี่ยง ภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ทราบวิธีการปฏิบัติตน การดูแลตนเองที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดเจ้าตัวเล็กให้ปลอดภัยและแข็งแรงสมบูรณ์