กล้วย มีกี่ชนิด ให้พลังงานเท่าไหร่? มีประโยชน์อะไรบ้าง?


ประโยชน์ของกล้วย

กล้วยที่คนไทยนิยมรับประทานมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ บางคนรับประทานเพื่อความอิ่ม บางคนรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก แต่บางคนก็รับประทานเป็นของว่าง เพราะนอกจากกล้วยจะมีรสชาติที่อร่อยแล้ว กล้วยยังเป็นผลไม้ที่ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหาร และมีประโยชน์หลากหลายด้าน

ทำความรู้จักกับกล้วย

กล้วยเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน และเป็นพืชที่มีอายุยาวนานหลายปี ไม่ชอบพื้นที่ที่มีน้ำขัง และสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ หรือการใช้เมล็ด

กล้วยอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารและโภชนาการ โดยใน 1 ผล จะให้พลังงานประมาณ 105 แคลอรี่ มีวิตามินบี 6 วิตามินซี โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส และใยอาหารสูง 

ความแตกต่างระหว่างกล้วยดิบกับกล้วยสุกคือ กล้วยดิบ หรือกล้วยที่ยังไม่สุกดีจะมีแป้งอยู่เป็นจำนวนมาก ช่วยให้รู้สึกอิ่ม และลดความอยากอาหาร แต่เมื่อเริ่มสุกงอมแป้งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลแทน ทำให้กล้วยสุกมีรสชาติหวานหอมนั่นเอง

ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของต้นกล้วย

กล้วยเป็นพืชที่มีประโยชน์ทุกส่วนตั้งแต่ใบยันราก ในบทความนี้จะจำแนกประโยชน์ของกล้วยออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์

ประโยชน์ของรากและลำต้น

  1. ลำต้นนำมาทำเป็นสมุนไพรแผนโบราณ ช่วยรักษาปัญหาผิวหนัง ผื่นแดง แผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวก
  2. รากและลำต้นนำมาต้มแก้กระหายน้ำได้
  3. ลำต้นสามารถนำมาทำเป็นเชือก หรือทำเส้นใยทอผ้า
  4. ลำต้นอ่อน (หยวกกล้วย) สามารถนำมาทำเป็นอาหารสัตว์

ประโยชน์ของก้านกล้วย

  1. นำมาทำเป็นของเล่นให้เด็กๆ เช่น ม้าก้านกล้วย ปืนก้านกล้วย เป็นต้น
  2. นำมาฝานเป็นเส้นเล็กๆ สำหรับใช้มัดของ

ประโยชน์ของใบกล้วย (ใบตอง)

  1. ใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ เช่น กระทง หรือบายศรี
  2. เป็นวัสดุธรรมชาติสำหรับรองอาหารร้อนๆ
  3. ใช้ห่ออาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ขนม ผักสด ห่อหมก และดอกไม้ เพราะใบตองสามารถทนความร้อนได้ดี จึงนิยมนำมาใช้กับอาหารประเภทต้มและนึ่งทั้งหลาย แถมยังมีกลิ่นหอมด้วย

ประโยชน์ของหัวปลี

  1. ใช้เป็นเครื่องเคียงประกอบอาหารบางชนิด เช่น ผัดไทย น้ำพริกกะปิ
  2. นำมาประกอบเมนูอาหารได้หลากหลายอย่าง เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี หัวปลีทอด ขนมจีน ต้มยำ

ประโยชน์ของกล้วยแต่ละชนิด

กล้วยแต่ละชนิด นอกจากนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนูแล้ว ยังมีคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป กล้วยแต่ละชนิดมีประโยชน์อะไรบ้าง ไปติดตามกัน

กล้วยหอม

กล้วยหอม

รู้ไหมว่า กล้วยหอมสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ด้วย เพราะวิตามินบี 6 บี 12 โพแทสเซียม และแมกนีเซียมที่มีอยู่มากในกล้วยหอม มีคุณสมบัติช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการขาดสารนิโคตินได้อย่างรวดเร็ว หรือพูดง่ายๆ คือ ช่วยลดอาการเหวี่ยง อารมณ์หงุดหงิด และฉุนเฉียว จากการขาดบุหรี่ได้ดีนั่นเอง 

นอกจากนี้สาวๆ ที่ต้องเผชิญกับอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ปวดท้อง ปวดหัว ก็สามารถรับประทานกล้วยหอมเพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) ที่รุนแรง ควรไปพบสูตินารีแพทย์เพื่อตรวจภายใน หรือตรวจสุขภาพร่างกายสำหรับผู้หญิงโดยละเอียด เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างในร่างกายได้  

แต่ถ้าหากไม่กล้าไปพบแพทย์โดยตรง สามารถเลือกปรึกษาสูตินารีแพทย์ออนไลน์ เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นก่อนได้

กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะกล้วยแบบห่ามๆ และสุกๆ ที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง ทั้งยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี แคโรทีน ไนอาซีน และใยอาหารที่ช่วยในเรื่องการขับถ่าย

กล้วยไข่

กล้วยไข่


กล้วยไข่มีคุณสมบัติโดดเด่นในการช่วยลดริ้วรอย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเบต้าแคโรทีน ซึ่งจะช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิวและริ้วรอยต่างๆ รวมไปถึงความเสื่อมของเซลล์ ที่สำคัญยังมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้ายได้ 

ไม่ใช่เฉพาะส่วนของผลเท่านั้น แต่ในหัวปลีก็ยังมีแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระดูก และเนื้อเยื่อในร่างกายของเราด้วย

กล้วยหักมุก

กล้วยหักมุก

กล้วยชนิดนี้คุณสมบัติโดดเด่นคือ มีสารที่ชื่อว่าไซโตอินโดไซด์ 1, 2, 3, 4 และ 5 ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหารได้ดี และยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเอสเคอริเคียโคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและระบบย่อยอาหารบ่อยๆ ก็สามารถลองหามารับประทานกันดูได้ 

สารอาหารสำคัญในกล้วย

  1. เบนโซไพรีน (Benzopyrene) 
  2. โดพามีน (Dopamine)
  3. เอพิเนฟรีน (Epinephrine)
  4. ทริปตามีน (Tryptamine)
  5. เซโรโทนิน (Serotonin)

นอกจากนี้ยังพบว่า ภายในกล้วยดิบมีสารแทนนินจำนวนมาก ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและโรคบิด รวมถึงช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยไม่พบสารต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารในกล้วยสุก แต่จะมีสรรพคุณช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือผู้ที่มีอาการท้องผูกแทน

คำแนะนำในการรับประทานกล้วย

กล้วยสุกนั้นรับประทานง่าย ลื่นคอ และย่อยง่ายกว่าแบบดิบๆ ทำให้บางคนไม่เคี้ยว หรือเคี้ยวไม่ละเอียดก่อนกลืน ซึ่งถือเป็นวิธีการรับประทานที่ผิด เพราะกล้วยประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตมากถึง 25% หากเคี้ยวไม่ละเอียดจะส่งผลให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักในการย่อยมากขึ้น ทำให้ท้องอืดได้ 

ร่างกายสามารถย่อยกล้วยได้ง่าย และใช้เวลาย่อยเร็วกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ จึงนิยมนำกล้วย (เฉพาะเนื้อ นำไส้ออก) มาบดให้กับเด็ก หรือทารกรับประทาน 

นอกจากนี้กล้วยยังจัดเป็นอาหารช่วยลดความอ้วนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเมื่อรับประทานอย่างพอดีจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับความดันโลหิต รวมทั้งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ ช่วยควบคุมน้ำหนัก บำรุงหัวใจ บำรุงไต ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเกิดตะคริวขณะออกกำลังกาย และช่วยเพิ่มความอึด ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การรับประทานกล้วยมากเกินไปก็อาจเป็นโทษได้เช่นกัน โดยจะทำให้ได้รับโพแทสเซียมสูงเกินไปจนขับออกทางไตไม่ทัน และเป็นอันตรายต่อไตได้ ปริมาณที่แนะนำในการรับประทานคือ 2 ผลต่อวัน

นอกจากข้อมูลทางโภชนาการของกล้วยชนิดต่างๆ ที่เรานำมาแบ่งปันแล้ว ยังมีกล้วยอีกหลายสายพันธุ์ในประเทศไทยที่มีประโยชน์อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง เรียกได้ว่า ผลไม้ชนิดนี้ไม่ได้มีแค่ความอร่อย แต่ยังขึ้นชื่อว่าเป็น "อาหารสมุนไพร" อีกด้วย

คำถามจากผู้อ่าน

ผมกินกล้วยหอม แล้วปวดหัวเข่า เกี่ยวกันหรือเปล่าครับ

คำตอบ: ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันนะคะ อาจจะเป็นเพราะมีโรคข้อเข่าเสื่อมอยู่ แล้วใช้งานเข่าหนักมากขึ้น หรือยกของหนักโดยไม่ถูกวิธี เลยทำให้มีอาการปวดเข่าค่ะ ถ้ายังไงลองพักการใช้งานเข่า หรือรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเเซตามอล หรือพวกยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) 

แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ลองไปตรวจดูเพื่อความแน่ใจก็ได้ค่ะ 

ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)

ทำไมกินกล้วยสุกแล้วเกิดอาการแพ้ คันคอ คันหู คันตาคะ ปกติแต่ก่อนกินแล้วไม่เป็นอะไร

คำตอบ: อาการที่คนไข้เป็นอาจจะเกิดจากการแพ้สารที่ผิวหรือเปลือกผลไม้ค่ะ ซึ่งอาจเป็นการแพ้ยางพาราธรรมชาติ หรือเรียกว่า “ภูมิแพ้ลาเท็กซ์” 

แต่ในปัจจุบันก็มีการศึกษาที่พบสารก่อภูมิแพ้หลายชนิดในกล้วย โดยที่พบเป็นส่วนใหญ่ คือ โปรตีนที่มีมวลโมเลกุลใหญ่ เมื่อทำการทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนังด้วยโปรตีนทั้ง 2 ชนิดนี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้กล้วย พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งให้ผลบวกต่อโปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือทั้งสองชนิด ซึ่งหมายความว่า เกิดจากการแพ้โปรตีนดังกล่าวจริงค่ะ

ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าแพ้ยางธรรมชาติหรือไม่นั้น สามารถไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจภูมิแพ้โดยการทดสอบทางผิวหนัง 

ทำโดยการหยดน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง หลังจากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กสะกิดบริเวณผิวหนังที่หยดน้ำยา แล้วทิ้งไว้ 15-20 นาที ก่อนจะอ่านผล หากมีอาการแพ้ ผิวหนังบริเวณที่ทดสอบจะนูนแดงขึ้น 

นอกจากนี้อาจใช้การทดสอบอีกวิธีหนึ่ง คือการตรวจเลือดหาแอนติบอดีจำเพาะ (Serum specific IgE) ที่มีปฏิกริยาต่อยางธรรมชาติ 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่แพ้รุนแรงจะมีอาการหลายระบบ ซึ่งทุกรายจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ผลไม้บางชนิด อาจแพ้ยางธรรมชาติร่วมด้วย หมายความว่าคนที่แพ้ยางธรรมชาติจากผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง จะต้องเฝ้าระวังการแพ้ข้ามกลุ่มต่อผลไม้บางชนิดด้วยเช่นกัน

โดยแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากยางพาราธรรมชาติด้วย เช่น หนังยางรัดผม รองเท้าแตะ สายนาฬิกา ถุงยางอนามัย เป็นต้น 

นอกจากนั้น หากผู้ป่วยที่แพ้ยางธรรมชาติมีเหตุจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จะต้องแจ้งแก่แพทย์และพยาบาลให้ทราบถึงอาการแพ้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุในการรักษาที่ทำมาจากยางธรรมชาติ เนื่องจากในโรงพยาบาลมักจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มียางเป็นส่วนประกอบ เช่น ถุงมือตรวจโรค จุกปิดขวดยาฉีด สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น 

ตอบโดย ชมชนัท ทับเจริญ (พญ.)


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat