ความกังวลใจอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่หากเริ่มมีอาการที่แปลกไปจากความกังวลทั่วไป วิตกกังวลเกินเหตุ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรหันมาเช็กตัวเองว่า มีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ เพราะโรควิตกกังวลนอกจากจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตแล้ว หากปล่อยไว้นานจนถึงขั้นรุนแรง ก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
HDmall.co.th ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับโรควิตกกังวล ทั้งสาเหตุ อาการ การตรวจ การรักษา และการดูแลตนเอง มาฝากกัน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและสามารถแยกได้ระหว่างความวิตกกังวลกับโรควิตกกังวล เพราะเมื่อรู้ตัวแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถพบจิตแพทย์ได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ลุกลามจนอาจเป็นอันตรายร้ายแรงดังที่กล่าวมาได้
สารบัญ
- โรควิตกกังวลคืออะไร?
- อาการของโรควิตกกังวล
- โรควิตกกังวลมีกี่ประเภท?
- สาเหตุของโรควิตกกังวล
- ใครที่ควรรับการตรวจโรควิตกกังวล?
- ทำไมจึงต้องตรวจโรควิตกกังวล?
- การตรวจโรควิตกกังวล
- ขั้นตอนการตรวจโรควิตกกังวล
- การรักษาโรควิตกกังวล
- การเตรียมตัวก่อนตรวจโรควิตกกังวล
- การดูแลตัวเองหลังตรวจโรควิตกกังวล
- โรควิตกกังวลรักษาหายหรือไม่?
- การป้องกันโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลคืออะไร?
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความวิตกกังวลสูงในหลายๆ สถานการณ์ ทั้งยังรู้สึกว่าควบคุมตัวเองได้ยาก และไม่สามารถจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม จึงส่งผลให้ความวิตกกังวลนั้นกลายเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นนานกว่า 6 เดือน และเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน หรือการเข้าสังคม และที่รุนแรงที่สุดคืออาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าและคิดสั้นจนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้
อาการของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลมักไม่สามารถควบคุมอาการต่างๆ ที่แสดงออกมาได้ หรือควบคุมได้ยาก และมีอาการในระยะยาว อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยทั่วไปอาจพบลักษณะอาการได้หลายแบบ ดังนี้
- คิดมากเกินกว่าเหตุ ไม่สบายใจเกินความจำเป็น
- กังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด
- กระสับกระส่าย ตื่นตระหนก ว้าวุ่น
- ประหม่า เขินอายมาก
- รู้สึกกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย
- หงุดหงิดง่าย และควบคุมได้ยาก
- ใจลอยบ่อย ขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ
- มีปัญหาการนอน นอนไม่หลับ หรือหลับยาก
- มีปัญหาในการตัดสินใจ ตัดสินใจยาก ไม่กล้าตัดสินใจ
- เครียดจนเกิดอาการกล้ามเนื้อตึงหรือปวดกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้ ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน
- อ่อนเพลีย อ่อนล้า เหนื่อยง่าย
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- มือเท้าเย็น มือเท้าชา
- ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น
- ความดันขึ้น
- เจ็บหน้าอก
- ปากแห้ง
นอกจากนี้ โรควิตกกังวลยังมีลักษณะและอาการเฉพาะตามประเภท ดังที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไปนี้
โรควิตกกังวลมีกี่ประเภท?
โรควิตกกังวลที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ดังนี้
1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD)
ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป หรือ GAD มักมีความกังวลเกินเหตุ และมักระแวงตลอดเวลาว่าจะเกิดอันตรายต่างๆ โดยไม่สามารถหยุดคิดได้ เช่น เรื่องงาน การเรียน สุขภาพ การเงิน ความปลอดภัย ตลอดจนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แม้ว่าผู้ที่มีอาการจะรู้ตัว แต่ก็ไม่สามารถหยุดคิดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
ความแตกต่างระหว่าง GAD กับโรควิตกกังวลประเภทอื่นคือ ผู้ที่เป็น GAD จะกังวลหมดไปทุกเรื่อง ในขณะที่โรควิตกกังวลประเภทอื่น จะมีความกังวลเฉพาะเรื่อง และบ่อยครั้งที่ผู้เป็น GAD มักมีปัญหาด้านอารมณ์อย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือ โรคกลัวสังคม
2. โรคแพนิค (Panic Disorder: PD)
ผู้ที่เป็นโรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) ทำงานผิดปกติ ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวไปหมดทุกอย่าง หรือมีความวิตกกังวลอย่างไม่มีสาเหตุเป็นระยะๆ และอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ใจเต้นเร็ว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นต้น
โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน นี้มักทำให้ผู้มีอาการคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ หรืออาจนำไปสู่ภาวะอื่นๆ ได้ เช่น การติดสารเสพติด หรือเกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
3. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD)
ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ จะมีความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมาในบางเรื่อง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมตอบสนองต่อความคิดนั้นซ้ำๆ
กล่าวคือ ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีอะไรผิดพลาด เช่น กังวลว่าลืมล็อคประตูบ้านหรือไม่ ก็จะเดินกลับไปดูว่าล็อคหรือยังซ้ำๆ จนมั่นใจ ซึ่งอาการเช่นนี้มักพบบ่อยในวัยทำงาน ส่งผลให้เสียเวลาไปกับพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ โดยไม่จำเป็น และอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น ไปทำงานสาย หรือผิดนัด เป็นต้น
4. โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)
ผู้ที่เป็นโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง หรือที่เรามักเรียกทับศัพท์กันว่าโฟเบีย จะมีอาการกลัวอย่างมากเกี่ยวกับของบางสิ่ง สถานการณ์ หรือกิจกรรมบางอย่าง และอาจกลัวมากกว่า 1 อย่างก็เป็นได้ โดยสามารถแบ่งประเภทของโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงออกได้อีกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ
- โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) ผู้ที่เป็นโรคนี้ จะมีความกลัวที่พบได้ทั่วไป และมักพบได้บ่อย เช่น กลัวเลือด กลัวงู กลัวของมีคม กลัวความสูง กลัวความมืด เป็นต้น
- โรคกลัวที่ชุมชน หรือ โรคอะโกราโฟเบีย (Agoraphobia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะกลัวการตกอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่คิดว่าจะทำให้ตนเองลำบาก เป็นที่ที่หนีไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถหาความช่วยเหลือได้ หรือเป็นที่ที่ทำให้อับอาย หรือหวาดกลัวได้ เช่น กลัวที่แคบ กลัวลิฟท์ กลัวห้องที่ไม่มีหน้าต่าง กลัวที่ชุมชนที่มีคนเบียดเสียดแออัด กลัวการขึ้นเครื่องบิน กลัวการนั่งรถตู้ด้านใน เป็นต้น
- โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรู้สึกกลัวเมื่อคิดว่าตัวเองกำลังตกเป็นเป้าสายตา หรือยู่ในความสนใจของผู้อื่น เช่น การทำกิจกรรมในที่สาธารณะ การพูดรายงานหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม การพูดผ่านไมโครโฟน เป็นต้น
5. โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)
ผู้ที่เป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง มักมีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น สงคราม การฆาตกรรม การเผชิญกับภาวะเฉียดตาย หรือการสูญเสียคนในครอบครัว เป็นต้น และอาจเกิดความกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นอีก หรือมักคิดถึงเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง
ส่งผลให้เกิดความเครียดทางจิตใจที่รุนแรง ซึ่งมักส่งผลให้เกิดความบกพร่องเสียหายในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ผู้ที่เป็น PTSD ยังอาจพยายามหาทางออกโดยการพึ่งสารเสพติด หรืออาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายอีกด้วย จึงจำเป็นต้องพบแพทย์หากมีอาการดังที่กล่าวมา
สาเหตุของโรควิตกกังวล
สาเหตุของโรควิตกกังวลนั้น แบ่งตามสาเหตุหลักๆ ได้ดังนี้
1 สาเหตุด้านชีวภาพ
- กรรมพันธุ์ เนื่องจากความกลัวหรือความวิตกกังวลถูกควบคุมโดยยีนส์ จึงสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม โดยคนที่มีบิดาหรือมารดาเป็นโรควิตกกังวล จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคนทั่วไป
- สารเคมีในสมองไม่สมดุล สารสื่อประสาทในสมองทั้งเซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ไม่สมดุล
- การเกิดความเครียดที่มีระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง ส่งผลให้การทำงานของสมองส่วนหน้าบกพร่องและส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม
2 สาเหตุด้านสภาวะแวดล้อม
- สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู
- การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด
- การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล
ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุด้านสภาวะแวดล้อม ร่วมกับสาเหตุทางพันธุกรรมด้วยนั้น จะมีปฏิกิริยาที่ไวต่อการถูกกระตุ้นให้เกิดโรควิตกกังวลยิ่งขึ้นไปอีก และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น
3 สาเหตุอื่นๆ
นอกจากนี้ โรควิตกกังวล ยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่นๆ อีก และอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน หรืออาจเกิดจากสาเหตุเฉพาะอื่นๆ ตัวอย่างเช่น
- ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย
- นิสัยส่วนตัวบางอย่าง เช่น ขี้อาย คิดลบ มองโลกในแง่ร้าย
- การเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ทำให้วิตกกังวลจนเป็นความเครียดสะสม
- เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น ย้ายที่ทำงานใหม่ ย้ายบ้าน
- มีปัญหาสุขภาพ บาดเจ็บหนัก หรือป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือเรื้อรัง
- ชีวิตครอบครัวไม่สมบูรณ์ เช่น หย่าร้าง หรือเป็นหม้าย
- มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช
- ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือติดสารเสพติด
- ผลข้างเคียงของยาที่ได้รับในการรักษาโรคบางประเภท
- ภาวะขาดออกซิเจนบนพื้นที่สูง
ใครที่ควรรับการตรวจโรควิตกกังวล?
โดยทั่วไป คนทุกคนมีความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น เรื่องงาน ครอบครัว สุขภาพ ซึ่งในบางสถานการณ์ยังเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้เราตื่นตัว คิดหาทางออก เพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ
แต่หากความรู้สึกกังวลนั้นเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น และควบคุมไม่ได้ ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ความไม่ปกติที่นำไปสู่โรควิตกกังวลได้ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ โดยอาจสังเกตอาการได้ดังนี้
- ผู้ที่วิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุที่เหมาะสม และหยุดคิดไม่ได้
- ผู้ที่มีความกังวลมากขึ้นบ่อยขึ้นจนรบกวนสมาธิในการทำงาน
- ผู้ที่รู้สึกว่าความกังวลสร้างปัญหาในความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- ผู้ที่หงุดหงิดง่าย และควบคุมได้ยาก หรือควบคุมไม่ได้
- ผู้ที่นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ เพราะคอยคิดกังวลอยู่ตลอดเวลา
- ผู้ที่มีอาการทางร่างกายแปลกๆ อย่างไม่มีสาเหตุ เช่น ความดันขึ้น ใจสั่น แน่นหน้าอก เหงื่อออก วิงเวียน วูบวาบคล้ายจะเป็นลม โดยแพทย์มักตรวจร่างกายเพื่อหาโรคทางอายุเวชก่อน ในกรณีที่กล่าวมานี้
ทั้งนี้ แม้ว่าหนึ่งในลักษณะของโรควิตกกังวล คือการที่มีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องเป็นเวลาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แต่หากมีอาการมาก และสงสัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ก็ควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคทางจิตเวชอื่นๆ ตามมาได้ ซึ่งอาจส่งผลให้อาการร้ายแรงขึ้น และรักษาได้ยากขึ้น
ทำไมจึงต้องตรวจโรควิตกกังวล?
ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรควิตกกังวลจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา เนื่องจากโรควิตกกังวลเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้ว ยังอาจส่งผลให้มีอันตรายร้ายแรงดังนี้
- ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจลดต่ำลง ส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยหรือติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย และเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น
- หากไม่ได้รับการรักษา และไม่สามารถหาทางออกให้กับตนเองได้ ก็อาจหันไปพึ่งสารเสพติดเพื่อคลายความเครียด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติด ซึ่งแน่นอนว่าล้วนแต่ให้โทษต่อร่างกาย
- มีโอกาสเป็นภาวะซีมเศร้าได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการที่ส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ
- อาจคิดสั้นจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลพร้อมกับมีภาวะซึมเศร้า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อเริ่มรู้ตัวว่าเป็นโรควิตกกังวล ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและหาทางรักษา ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
การตรวจโรควิตกกังวล
การตรวจวินิจฉัยโรควิตกกังวลสามารถทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือจิตแพทย์ ผู้ที่ต้องการรับการตรวจโรควิตกกังวล สามารถไปติดต่อได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่สะดวก ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ สอบถามถึงอาการที่เกิดขึ้น ประวัติความเจ็บป่วยต่างๆ ประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่กระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้เข้ารับการตรวจ ทั้งนี้อาจมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินในส่วนของร่างกายว่าเป็นโรคทางอายุรเวชอื่นที่มีอาการคล้ายกับโรควิตกกังวลหรือไม่
ขั้นตอนการตรวจโรควิตกกังวล
ในการตรวจวินิจฉัยโรควิตกกังวลและโรคทางจิตเวชอื่นๆ จะต้องทำโดยแพทย์และจิตแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไป จะมีขั้นตอนดังนี้
- เริ่มจากการถามประวัติทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น อาการที่เกิดขึ้น ประวัติความเจ็บป่วย และ โรคประจำตัว พร้อมทั้งประเมินเบื้องต้นว่าอาจเป็นอาการที่มาจากสาเหตุอื่นหรือไม่
- ในกรณีที่มีอาการทางร่างกายร่วมด้วย จะมีการตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อประเมินว่าอาการของผู้รับการตรวจนั้น มาจากโรคอายุเวชใดๆ หรือมีอาการจากแอลกอฮอล์และยาหรือไม่
- ดังนั้นหากไม่พบโรคทางกายใดๆ แพทย์จะส่งตัวผู้รับการตรวจไปพบจิตแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการสัมภาษณ์ หรือใช้เครื่องมือช่วยในการประเมินโรคทางจิตเวชต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการตรวจนั้น ป่วยเป็นโรควิตกกังวลหรือไม่ และเป็นประเภทใด เพื่อประเมินการรักษาต่อไป
- จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการประเมินและวางแผนการรักษา ซึ่งการรักษาโรควิตกกังวลจะมีความแตกต่างกันไปมากน้อยตามประเภทของโรคและดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาโรควิตกกังวล
การรักษาโรควิตกกังวลทั่วไปสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่แผนกจิตเวชของโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความพึ่งพอใจของผู้เข้ารับการรักษา
โดยการรักษาโรควิตกกังวลจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรคที่เป็น ประกอบกับสาเหตุของความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแพทย์จะให้การรักษาดังนี้
1. การรักษาด้วยยา
มียาหลายกลุ่มที่สามารถช่วยควบคุมและบรรเทาอาการวิตกกังวลได้ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้รับการรักษาและดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งยาที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่
- ยาระงับอาการวิตกกังวล เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine: BZD) เช่น ยาอัลปราโซแลม และยาโคลนาซีแพม ซึ่งเป็นยาช่วยลดความวิตกกังวล มักจะใช้ในโรควิตกกังวลทั่วไป หรือผู้ที่มีปัญหาการนอน ร่วมด้วย
- ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวลได้ เช่นเดียวกับการรักษาอาการซึมเศร้า
- ยาช่วยควบคุมอาการทางร่างกาย คือ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น ยาโพรพราโนลอล จะใช้เมื่อมีความวิตกกังวลและเกิดอาการทางกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น
- ยาอื่นๆ ตามแพทย์สั่ง เช่น ยาระงับอาการทางจิต ยารักษาโรคลมชัก ฯลฯ
2. จิตบำบัด (Psychotherapy)
การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดมีหลายประเภท เป็นการเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด โดยรูปแบบอาจแตกต่างกันไปตามอาการของผู้เข้ารับการรักษาแต่ละคน โดยมีเป้าหมายให้ผู้รับการรักษาเข้าใจความคิดและอารมณ์ของตัวเอง จนสามารถควบคุม รับมือ และจัดการความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมได้ในที่สุด
โดยหนึ่งในวิธีจิตบำบัดที่นิยมใช้กับผู้เป็นโรควิตกกังวลคือ การบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy: CBT) เป็นการบำบัดระยะสั้น มีทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม เป็นการบำบัดที่จะช่วยให้ผู้รับการบำบัดเข้าใจตนเอง และสามารถระบุความคิดเชิงลบหรือความคิดที่ไม่ถูกต้องต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกกังวล
ซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับการบำบัดสามารถปรับความคิดที่ส่งผลอารมณ์และพฤติกรรม และสามารถจัดการกับความคิด ความรู้สึก หรือแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นได้มากขึ้น ใช้เวลาเฉลี่ยครั้งละ 1 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 10-15 สัปดาห์ ทั้งนี้ ระยะเวลาอาจมากหรือน้อยกว่านี้ตามระดับความรุนแรงของอาการของผู้รับการบำบัด
การเตรียมตัวก่อนตรวจโรควิตกกังวล
ในการไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจโรควิตกกังวล ผู้รับการตรวจควรมีการเตรียมตัวดังนี้
- ค้นหาข้อมูลของสถานพยาบาลและแพทย์ที่ต้องการพบ โดยควรเลือกสถานพยาบาลที่ผู้รับการตรวจรู้สึกมั่นใจและมีความสะดวกในการเดินทาง พร้อมทั้งเลือกพบจิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับอาการของผู้รับการตรวจ
- สอบถามเกี่ยวกับค่าตรวจรักษา และเตรียมค่าใช้จ่ายให้พร้อม
- เตรียมพร้อมด้านจิตใจ ทำใจให้สบาย และทำความเข้าใจในสถานการณ์ว่าไปเพื่อประโยชน์ในการรักษา
- เตรียมเอกสารสำคัญต่างๆ ที่ต้องใช้ เช่น บัตรประชาชน บัตรประกันสังคม บัตรสวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาลต่างๆ
- เตรียมเอกสารและข้อมูลประวัติการรักษาที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี เช่น ประวัติการรักษาทางจิตเวชหรือทางสมอง ข้อมูลการแพ้ยา ข้อมูลยาที่รับประทานเป็นประจำ เป็นต้น
- ก่อนวันที่จะไปพบแพทย์ควรสำรวจเส้นทางและเตรียมวิธีการเดินทางให้พร้อม
- อาจพาคนใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ไปด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการให้ข้อมูลกับแพทย์
- แต่งตัวสุภาพ สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายและเหมาะสมกับสภาพอากาศ อาจเตรียมเสื้อหนาวติดไปด้วย
การดูแลตัวเองหลังตรวจโรควิตกกังวล
หลังจากเข้ารับการตรวจแล้ว หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดตามแนวทางการบำบัดรักษา
- ทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนและตรงเวลา
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ
- พูดคุยกับครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
- หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด
- ฝึกทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย ปล่อยวาง คิดบวก
- หลีกเลี่ยงกิจกรรม สถานที่ บุคคล ที่อาจทำให้เกิดความเครียดหรือวิตกกังวลได้
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นอาการได้
- ยาหรือสมุนไพรบางชนิดอาจมีส่วนประกอบที่อาจกระตุ้นอาการวิตกกังวลได้ หากต้องการซื้อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
โรควิตกกังวลรักษาหายหรือไม่?
โรควิตกกังวลแม้จะเป็นโรคที่อาจมีอาการต่อเนื่องนานเป็นปีหรือหลายปี แต่ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การป้องกันโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล เป็นโรคที่ป้องกันได้ยาก เพราะอาจมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน แต่เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลลงได้โดยการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เช่นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญ
ต้องมีสติรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง เพื่อสามารถจัดการกับสภาวะจิตใจได้ และรู้จักปล่อยวาง โดยหากเกิดความเครียดหรือความวิตกกังวล ควรหาทางผ่อนคลาย เช่น พูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ หรือทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง
หากเริ่มรู้สึกว่ามีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันด้านใดด้านหนึ่ง และรู้สึกไม่มีความสุข ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและประเมินวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป