การตรวจ Antidiuretic hormone (ADH) หาภาวะขาดและเกิน

การตรวจ Antidiuretic hormone (ADH) จากการเจาะเลือดไปตรวจ ทำเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของภาวะขาดฮอร์โมน ADH หรือการมีฮอร์โมน ADH มากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะทางการแพทย์บางชนิด บุคคลทั่วไปที่ไม่มีอาการจำเพาะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจฮอร์โมนชนิดนี้

จุดประสงค์การตรวจ Antidiuretic hormone

การตรวจ Antidiuretic hormone (ADH) ทำเพื่อวินิจฉัย และหาสาเหตุของภาวะขาดฮอร์โมน ADH หรือการมีฮอร์โมน ADH มากกว่าปกติ ฮอร์โมนชนิดนี้เรียกอีกอย่างได้ว่า Arginine vasopressin (AVP) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส และถูกเก็บอยู่ในฐานของต่อมใต้สมองส่วนหลัง ซึ่งมี ADH ช่วยควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย

แพทย์มักพบภาวะขาดฮอร์โมน ADH พร้อมกับโรคเบาจืด (Diabetes insipidus) ชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่

  • Central diabetes insipidus ภาวะที่ไฮโปทาลามัสผลิตฮอร์โมน ADH ลดลง หรือต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน ADH น้อยลง
  • Nephrogenic diabetes insipidus ภาวะที่ไตตอบสนองต่อฮอร์โมน ADH น้อยลง

นอกจากนี้แพทย์ยังพบฮอร์โมน ADH มากขึ้นในผู้ที่มีภาวะหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndromes of inappropriate ADH: SIADH) จึงต้องมีการตรวจ SIADH ที่ประกอบไปด้วย

  • การตรวจออสโมแลลิตีในเลือดและปัสสาวะ
  • การตรวจโซเดียม
  • การตรวจโพแทสเซียม
  • การตรวจคลอไรด์
  • การวัดฮอร์โมน ADH

เมื่อไรที่ต้องตรวจ Antidiuretic hormone?

แพทย์จะตรวจ ADH เพียงอย่างเดียว ตรวจควบคู่ไปกับการตรวจอื่นๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจ Water deprivation หรือ Water loading procedure เมื่อสงสัยว่าร่างกายของผู้ป่วยผลิต และหลั่งฮอร์โมน ADH มากหรือน้อยเกินไป รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคเบาจืด ซึ่งมีอาการกระหายน้ำมาก และปัสสาวะบ่อย

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจ ADH เมื่อผู้ป่วยมีโซเดียมในเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการที่สัมพันธ์กับภาวะหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • สับสน
  • โคม่า และชักในกรณีที่ร้ายแรง

วิธีเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ Antidiuretic hormone

แพทย์จะตรวจ Antidiuretic hormone จากเลือดโดยการแทงเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำที่แขน ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า

รายละเอียดการตรวจ Antidiuretic hormone

Antidiuretic hormone (ADH) หรือที่เรียกว่า Arginine vasopressin (AVP) เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย โดยควบคุมปริมาณของน้ำที่ไตดูดกลับในขณะที่ไตกรองของเสียออกจากเลือด

ฮอร์โมน ADH จะถูกผลิตขึ้นจากสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปทาลามัส และจะถูกนำไปเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง โดยปกติแล้วต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมน ADH เพื่อตอบสนองต่ออวัยวะรับความรู้สึกที่ตรวจพบว่าออสโมแลลิตี (Osmolality) ในเลือดเพิ่มขึ้น หรือปริมาตรของเลือดลดลง ซึ่งไตจะตอบสนองต่อฮอร์โมน ADH โดยการรักษาน้ำ และผลิตปัสสาวะให้เข้มข้นมากขึ้น

มีภาวะทางการแพทย์ และยามากมาย ที่ส่งผลต่อปริมาณฮอร์โมน ADH หรือการตอบสนองของไต ซึ่งภาวะขาดฮอร์โมน ADH และการมีฮอร์โมน ADH มากกว่าปกติสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ในกรณีที่มีมีฮอร์โมน ADH น้อยเกินไป หรือไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน ADH ไตจะขับน้ำปริมาณมากออกมา ทำให้ปัสสาวะเจือจางกว่าปกติ และทำให้เลือดมีความเข้มข้นสูง ส่งผลให้เกิดการกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย และมีภาวะขาดน้ำ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูง

ถ้าร่างกายมีฮอร์โมน ADH มากเกินไป จะมีน้ำคั่งในร่างกายจนทำให้ปริมาตรเลือดเพิ่มขึ้น และอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ งุนงง สับสน เฉื่อยชา โซเดียมในเลือดต่ำ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า ภาวะหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndromes of inappropriate ADH: SIADH)

ความหมายของผลตรวจ Antidiuretic hormone

ผลตรวจฮอร์โมน ADH เพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาใช้วินิจฉัยภาวะขาดฮอร์โมน ADH ที่จำเพาะได้ แพทย์จึงต้องนำผลตรวจมาประเมินควบคู่กับประวัติเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย และผลตรวจอื่นๆ ด้วย

การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน ADH มักสัมพันธ์กับภาวะหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจากมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งสมอง

การมีฮอร์โมน ADH เพิ่มขึ้นระดับปานกลางมักพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท ดังนี้

  • กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré syndrome)
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
  • โรคลมชัก (Epilepsy)
  • โรคพอร์ไฟเรียเฉียบพลัน (Acute intermittent porphyria)
  • โรคโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis)
  • โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
  • โรควัณโรค (Tuberculosis)
  • โรค HIV หรือ AIDS

ส่วนผู้ที่มีระดับฮอร์โมน ADH ต่ำ อาจเกิดจากโรคเบาจืดชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central diabetes insipidus) การดื่มน้ำมากกว่าปกติ และการมีออสโมแลลิตีในซีรั่มต่ำ

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Antidiuretic hormone

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน ADH มากกว่าปกติ เช่น

  • ปัจจัยทางกายภาพ ประกอบไปด้วย การยืน ช่วงเวลากลางคืน ความรู้สึกปวด ความเครียด และการออกกำลังกาย
  • ยา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    • ยาที่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน ADH ได้แก่ Barbiturates Desipramine Morphine Nicotine Amitriptyline Carbamazepine
    • ยาที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน ADH ได้แก่ Acetaminophen Metformin Tolbutamide Aspirin Theophylline ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ส่วนยาที่ทำให้ฮอร์โมน ADH ลดลง หรือทำให้เสื่อมฤทธิ์ ได้แก่ Ethanol Lithium และ Phenytoin


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจระดับฮอร์โมน


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top