why need a fibroscan screening when to get check

ใครเสี่ยงตับแข็ง ไขมันเกาะตับ ตรวจไฟโบรสแกน (Fibroscan) รู้ผลทันที ไม่เจ็บตัว

ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่หลายคนอาจลืมดูแลไป แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสุขภาพตับยังดีอยู่ไหม? ปัจจุบันมีเทคโนโลยีตรวจตับอย่างละเอียด ช่วยวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ และภาวะพังผืดในเนื้อตับ (ความแข็งของเนื้อตับ) ที่บ่งบอกถึงโรคตับแข็ง โดยไม่ต้องเจ็บตัวเหมือนวิธีอื่น

ไฟโบรสแกน (Fibroscan) คืออะไร ตรวจสุขภาพตับได้อย่างไร

ไฟโบรสแกน (Fibroscan) เป็นเทคโนโลยีค้นหาภาวะพังผืดในเนื้อตับและตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยไม่เกิดความเจ็บปวดใด ๆ กับร่างกาย และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะตับ (Liver biopsy) 

หลักการของเครื่องไฟโบรสแกนจะสร้างและปล่อยคลื่นความถี่ต่ำ 50 เฮิรตซ์ด้วยเทคนิค VCTETM (Vibration controlled transient elastography) เข้าไปในตับ แล้ววัดคลื่นความถี่ที่สะท้อนกลับมา จะได้เป็นค่าพังผืดในตับหรือค่าตับแข็ง

อีกส่วนจะวัดปริมาณไขมันสะสมในตับด้วยการทำงานของ CAP (Controlled attenuation parameter) โดยวัดการลดทอนของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เข้าและออกจากตับ จากนั้นเครื่องจะประมวลผลออกมาเป็นค่าปริมาณไขมันในตับ

ข้อดีของการตรวจไฟโบรสแกน (Fibroscan) 

  • ไม่เกิดความเจ็บปวด และไม่เป็นอันตรายใด ๆ กับร่างกาย
  • ง่าย สะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ทราบผลทันทีหลังตรวจ 
  • ตรวจซ้ำได้หลายครั้งอย่างปลอดภัย (กรณีที่ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด)
  • ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะตับ ซึ่งการตรวจไฟโบรสแกนสามารถทดแทนการเจาะชิ้นเนื้อได้ในบางกรณี

ประโยชน์ของตรวจไฟโบรสแกน (Fibroscan)

ปกติแล้ว การอักเสบของตับอาจไม่รู้จนกว่าจะตรวจเจอหรือมีอาการรุนแรง ซึ่งการอักเสบของตับเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เซลล์ของตับตายกลายเป็นพังผืดสะสมในตับ เมื่อพังผืดสะสมอยู่มากจะนำไปสู่โรคตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากขึ้น 

การตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนจะช่วยประเมินระยะพังผืดที่สะสมอยู่ในตับแม้ไม่มีอาการแสดง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว แพทย์สามารถวางแผนการรักษาและติดตามผลได้เหมาะสม 

ใครบ้างควรตรวจไฟโบรสแกน (Fibroscan) 

การตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนมีประโยชน์กับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง 
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ โรคอ้วนลงพุง หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • คนที่มีผลตรวจตับผิดปกติ หรือตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ค่าตับสูง ผลตรวจอัลตราซาวด์ตับ หรือผลตรวจซีทีสแกนของตับผิดปกติ 
  • ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง หรือคนที่เสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบบีและซี
  • คนที่ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน
  • คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
  • คนที่ต้องการตรวจสุขภาพตับอย่างละเอียด 
  • คนที่รับประทานยาและสมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานาน

ไฟโบรสแกน (Fibroscan) กับอัลตราซาวด์ เหมือนกันไหม

การตรวจตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนคล้ายกับการอัลตราซาวด์ดูตับ แต่การตรวจไฟโบรสแกนจะให้ภาพชัดเจนกว่า และบอกถึงสภาพของตับโดยละเอียด (การสะสมพังผืดและไขมันในตับ) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ

ไฟโบรสแกน (Fibroscan) ต้องเตรียมตัวก่อนไหม

ก่อนตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกนให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพราะอาหารจะทำให้มีเลือดไหลเวียนในตับมากขึ้น การแปลผลอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ 

ไฟโบรสแกน (Fibroscan) มีข้อจำกัดไหม

  • ไม่แนะนำให้ตรวจในผู้ป่วยอ้วนมาก (ค่าดัชนีมวลร่างกายหรือ BMI มากกว่าขึ้นไป) หรือคนที่มีน้ำในช่องท้อง เพราะสัญญาณที่ปล่อยจากเครื่องอาจไปไม่ถึงเนื้อตับ ทำให้ผลตรวจอาจผิดเพี้ยน
  • ไม่แนะนำให้ตรวจในคุณแม่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม
  • ไม่สามารถตรวจหาก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งในตับ

ไฟโบรสแกน (Fibroscan) เจ็บไหม อันตรายหรือเปล่า

การตรวจไฟโบรสแกนไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด บาดแผล ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หรืออันตรายใด ๆ กับร่างกาย ขณะตรวจอาจรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนผิวหนังบริเวณที่ตรวจบ้าง ใช้เวลาตรวจประมาณ 10 นาที และทราบผลทันทีเมื่อตรวจเสร็จ

ผลตรวจไฟโบรสแกนเป็นแบบไหน 

ผลตรวจไฟโบรสแกนแบ่งเป็น 2 ค่า คือ 

  • ค่าตับแข็งพังหรือผืดในตับ หน่วยเป็น กิโลพาสคาล (KPa) ยิ่งตับแข็งมาก ค่าความแข็งเนื้อตับก็ยิ่งสูง 
  • ค่าไขมันในตับ หน่วยเป็น เดซิเบล/เมตร (dB/m) ถ้าตับมีปริมาณไขมันสะสมมาก ค่าไขมันจะสูงขึ้น 

สรุปคือ ค่ายิ่งสูง พังผืดหรือไขมันก็ยิ่งมาก 

มาเช็กสุขภาพตับกันเถอะ ยังดีอยู่ไหม! โปรตรวจสุขภาพตับ จะตรวจไฟโบสแกน หรือตรวจคลุมทุกรายการ HDmall.co.th คัดโปรมาให้พร้อมเลือก จองพร้อมรับส่วนลดได้เลย เลือกตรวจได้สะดวก ทั้งคลินิกและรพ. ใกล้บ้านคุณ 

Scroll to Top