หลายคนคงเคยสงสัยว่า เส้นเสียงคืออะไร อยู่บริเวณไหน ทำงานอย่างไรถึงทำให้เกิดเสียงขึ้นมาได้ และมีอาการผิดปกติใดของเส้นเสี้ยงบ้างที่หากเกิดขึ้นแล้วต้องไปพบแพทย์ คำถามเหล่านี้คงสงสัยกันมากขึ้นโดยเฉพาะเวลาตอนที่มีเสียงแหบหลังจากเป็นไข้หวัด หรือตอนที่ใช้เสียงมากๆ ไปร้องคาราโอเกะ ไปสถานบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้บางอาชีพที่ต้องใช้เสียงมาก เช่น คุณครู, นักร้อง, ผู้ประกาศข่าว จะมีวิธีการรักษาเส้นเสียงอย่างไรให้ใช้ได้ดีเสมอ ไม่กระทบกับงานของตน
มีคำถามเกี่ยวกับ เส้นเสียง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ
สารบัญ [show]
เส้นเสียงคืออะไร อยู่ตรงไหนของร่างกาย?
เส้นเสียง (Vocal cords หรือ Vocal folds) อยู่ภายในกล่องเสียง (Larynx) และอยู่เหนือสุดต่อจากหลอดลม (Trachea) เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหลายชนิดรวมกันขึ้นมาเป็นเส้นเสียง มีจำนวนสองเส้น สีขาวมุก วางทำมุมกันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว โดยยอดสามเหลี่ยมชี้ออกมาทางด้านหน้า
เส้นเสียงถูกควบคุมจากมัดกล้ามเนื้อเรียบหลายมัดทำงานสอดคล้องกัน ทำให้เปิดปิดได้อย่างสมมาตร เส้นประสาทที่มีความสำคัญต่อการควบคุมมัดกล้ามเนื้อเรียบ คือแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Recurrent laryngeal nerve) หากเส้นประสาทนี้ได้รับการกระทบกระเทือนหรือเสียหาย จะมีผลกระทบต่อเส้นเสียงโดยตรง
เส้นเสียงสำคัญต่อร่างกายเราแค่ไหน ทำหน้าที่อะไร?
เมื่อเราหายใจเข้า อากาศจะผ่านโพรงจมูก คอหอย กล่องเสียง เส้นเสียง หลอดลม ลงไปในปอดเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซ จากนั้นช่วงที่เราหายใจออก หากเราต้องการเปล่งเสียงออกมา อากาศจะเดินทางกลับออกมาทางเดิม ผ่านเส้นเสียงที่ปิดแคบลงตามการควบคุมของมัดกล้ามเนื้อ แล้วเกิดการสั่นสะเทือน ได้ยินออกมาเป็นเสียงนั่นเอง ดังนั้นเส้นเสียงจึงทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีขนาดและลักษณะของเส้นเสียงที่ต่างกันออกไป รวมถึงขนาดและลักษณะของทางเดินหายใจ เช่น ภายในลำคอ โพรงจมูก ช่องปาก ลิ้น ที่ต่างกันออกไป ทำให้เสียงแต่ละคนแตกต่างกัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล
นอกจากนี้ ในผู้ชายยังมีขนาดเส้นเสียงที่หนาและยาวกว่าผู้หญิง เสียงของผู้ชายจึงมีลักษณะที่ทุ้มกว่าผู้หญิง และในเด็ก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แล้วจะประกอบด้วยชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่น้อยกว่า บางกว่า และจะค่อยๆ พัฒนาในช่วงอายุ 6-12 ปีจนเจริญเต็มที่ในช่วงปลายวัยรุ่น จึงเป็นสาเหตุว่าเสียงเด็กนั้นแหลมเล็กกว่าผู้ใหญ่ และมีเสียงแตกหนุ่ม-แตกสาว ในช่วงวัยรุ่นนั่นเอง
มีคำถามเกี่ยวกับ เส้นเสียง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ
มีอันตรายหรือโรคอะไร ที่เกิดกับเส้นเสียงได้บ้าง?
โรคของเส้นเสียงและกล่องเสียงมีจำนวนมาก มีทั้งที่ไม่เป็นอันตรายสามารถหายได้เอง และที่เป็นอันตรายควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ การใช้เสียงที่มากจนเกินไป การหายใจเอาสิ่งระคายเคืองเข้าไป มีกรดไหลย้อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบของกล่องเสียงได้ ทำให้เสียงแหบและมีอาการเจ็บคอ อาการเหล่านี้อาจบรรเทาได้จากการลดสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่กล่าวไป พักการใช้เสียง ดื่มน้ำอุ่นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาอื่นๆ ต่อไป ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินไปเพราะจะทำให้เส้นเสียงอักเสบติดเชื้อรุนแรงตามมาได้
ตุ่มเนื้อที่เส้นเสียง (Vocal nodule)
เป็นตุ่มเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งลักษณะกลมๆ ขนาดเล็ก อยู่บนเส้นเสียง โดยส่วนใหญ่จะเกิดบนเส้นเสียงทั้งสองเส้น เกิดจากการใช้เสียงมาก พบได้บ่อยในอาชีพที่ต้องใช้เสียงมากๆ เช่น คุณครู นักร้อง ผู้ประกาศข่าว เป็นต้น อาการของโรคนี้คือจะมีเสียงแหบบ่อยเป็นๆ หายๆ อาการเสียงแหบมักจะสัมพันธ์กับการใช้เสียง การวินิจฉัยโรคนี้ต้องอาศัยเครื่องมือในการส่องลงไปตรวจบริเวณเส้นเสียง และควรได้รับการรักษาจากแพทย์
เส้นเสียงเป็นอัมพาต (Vocal cord paralysis)
เส้นเสียงเป็นอัมพาต คือ อาการที่เส้นเสียงหนึ่งหรือทั้งสองเส้นไม่ขยับเปิดหรือปิดอย่างเหมาะสม โรคนี้มีระดับความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากการไอหรือจามไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่อยู่ภายในปอดออกมาได้อย่างปกติ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้ อาการที่พบในโรคนี้ ได้แก่ เสียงเปลี่ยน เสียงหาย เสียงแหบแห้ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด มีก้อนกดเบียดเส้นประสาทที่มาควบคุมเส้นเสียง การได้รับบาดเจ็บในระหว่างใส่ท่อช่วยหายใจ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ เป็นต้น การวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการรักษาเส้นเสียงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?
วิธีการป้องกันเส้นเสียงก่อนที่จะมีการอักเสบหรือเป็นโรคต่างๆ คือ การฝึกพูดอย่างถูกวิธี ไม่ตะโกนหรือใช้เสียงดังจนเกินไป ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการหายใจในที่มีมลพิษหรือสิ่งระคายเคือง หลีกเลี่ยง ไม่คลุกคลีกับผู้ที่มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ แต่ถ้ามีอาการเสียงแหบ เสียงหาย หรือมีเสียงที่เปลี่ยนไปแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล
มีคำถามเกี่ยวกับ เส้นเสียง? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ