ความสามารถของมนุษย์มีหลายแบบหลายมิติ หลายอย่างเป็นความสามารถอันเป็นนามธรรม วัดผลออกมาเป็นปริมาณได้ยาก นักวิจัยจึงได้มีการคิดค้นระบบคะแนนขึ้นมาเพื่อให้ชี้วัดได้ชัดเจนขึ้น
ความสามารถทางปัญญา หรือที่เรียกว่า ไอคิว ก็เป็นหนึ่งในการทดสอบที่สามารถวัดผลออกมาได้
ความฉลาดของมนุษย์เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าคืออะไร และจะสามารถวัดออกมาและเปรียบเทียบในแต่ละคนได้หรือไม่
ในอดีตมีการศึกษาวิจัยมากมายเพื่อวัดผลความฉลาดของมนุษย์ โดยระบบคะแนนแรกได้พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1912 โดย วิลเลียม สเติร์น (William Stern) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนี
โดยเขาจะเปรียบเทียบความสามารถตามอายุจริงเทียบกับอายุของสมอง แต่ระบบการทดสอบนี้ไม่ละเอียดพอและมีความแปรปรวนสูง
หลังจากนั้น ระบบคะแนนที่จะใช้ทดสอบความฉลาดได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน แบบทดสองที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานสากลคือ การวัดไอคิวตามหน่วยวัดของเวชสเลอร์ (Wechsler Intelligence Scale)
สารบัญ
การวัดความฉลาดหรือ ไอคิว วัดผลที่ตรงไหน?
การวัดไอคิว เป็นการวัดความสามารถในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ให้มา ทั้งแบบที่ใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็นฟัง พูด อ่าน หรือเขียน และแบบที่ไม่ต้องใช้ภาษา คือรูปภาพแสดงความเข้าใจอันเป็นรูปสากล และเป็นการทดสอบรวมในด้านมิติสัมพันธ์ต่างๆ
ตัวอย่างแบบทดสอบไอคิวสำหรับเด็ก ซึ่งแยกย่อยเป็นด้านต่างๆ ตามหน่วยวัดของเวชสเลอร์ (Wechsler Intelligence Scale for Children – IV)
- ภาษา จัดกลุ่มศัพท์ที่เหมือนหรือต่างกันในรูปแบบต่างๆ และความหมายของคำ
- การรับรู้และเหตุผล การเติมรูปภาพให้สมบูรณ์ และการจัดกลุ่มและคาดเดาการเรียงลำดับรูปภาพ
- การจดจำและคำนวณเพื่อการใช้งาน พีชคณิต และลำดับทางคณิตศาสตร์
- ความเร็วในการแก้ปัญหา การหาสัญลักษณ์ต่าง ๆ
โดยรวมจะเป็นการทดสอบความสามารถของสมองอันเป็นพื้นฐานต่างๆ อันเป็นหน้าที่พื้นฐานของสมองในการเรียนรู้และรับรู้เรื่องราวต่างๆ ไม่ได้เป็นการทดสอบด้านลึกเชิงลึก
ใช้เพื่อวัดว่าสามารถเรียนรู้ต่อเนื่องไปในอนาคตมากน้อยเพียงใด
อายุที่ต่างกัน จะมีระดับไอคิวต่างกันหรือไม่?
เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น การเรียนรู้มากขึ้น
แต่ปัจจัยต่างๆ นี้ส่งผลไม่มากนักต่อระดับไอคิว เพราะการเรียนรู้ตามประสบการณ์หรือการรับรู้ข้อมูลที่มากขึ้นนั้นเป็นการต่อยอดต่อจากกระบวนการเรียนรู้พื้นฐาน
ในขณะที่แบบทดสอบไอคิวออกแบบมาวัดผลโดยตรงที่กระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของสมอง
ดังนั้น อายุและประสบการณ์เพิ่มขึ้นอาจทำให้ความฉลาดเพิ่มขึ้น หรือตัวเลขไอคิวเพิ่มขึ้นได้ แต่เป็นตัวเลขที่ไม่มากและแทบไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
อย่างไรก็ตาม ค่าอ้างอิงมาตรฐานไอคิวจะอ้างอิงตามช่วงอายุ ต้องใช้แบบทดสอบและตัวเลขอ้างอิงให้เหมาะสมกับอายุด้วย
เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ที่แตกต่างกัน มีผลต่อระดับไอคิวหรือไม่?
เชื้อชาติ ภาษา มีผลต่อความเข้าใจแบบทดสอบ แต่ไม่มีผลต่อระดับไอคิว
แบบทดสอบไอคิวเกือบทั้งหมดเป็นการทดสอบที่ไม่ต้องใช้ภาษา ในส่วนที่เป็นภาษาหรือคำสั่ง จะเป็นภาษาง่ายๆ ที่ได้รับการรับรองการแปลตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ
ดังนั้นการทำแบบทดสอบวัดระดับไอคิวให้ถูกต้องตามช่วงอายุ จะสามารถเปรียบเทียบความสามารถทางสติปัญญาได้ ภาษา ศาสนา หรือเชื้อชาติ ไม่ได้ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบมากนัก
อย่างไรก็ตาม หากความสามารถทางภาษามีข้อจำกัดมากจนไม่เข้าใจแบบทดสอบ ก็จะทำให้ผลการประเมินไอคิวหรือความสามารถทางสติปัญญาผิดเพี้ยนไปได้
ระดับคะแนนของไอคิวเป็นอย่างไร?
ระดับคะแนนของไอคิวนั้น เมื่อแต่ละคนทำแบบทดสอบเรียบร้อยจะต้องนำมาเฉลี่ยและเทียบผลกับค่าปกติ
โดยใช้สถิติมาคำนวณค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อเทียบกับค่ามาตรฐานของแต่ละชาติและโดยรวมได้
ปัจจุบันเราได้ข้อมูลจำนวนมากของทั้งโลก และได้กำหนดค่ามาตรฐานกึ่งกลางของไอคิวที่ 100 และได้กำหนดส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานออกไปด้านละ 15
ยกตัวอย่างเช่น หากคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่เป็นจำนวน 1 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนไอคิวจะเท่ากับ 85 (100-15) หรือหากคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่เป็นจำนวน 2 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนไอคิวจะเท่ากับ 115 (100+15)
คะแนนของคนส่วนมากจะตกอยู่ในบริเวณส่วนกลางของการกระจายมาตรฐาน หรืออยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยนั่นเอง
หากมีการเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยไปเป็นจำนวนมากเท่าไร จะพบคนกลุ่มนี้น้อยลงเช่น เป็นคนกลุ่มที่ฉลาดที่สุด หรือเป็นคนกลุ่มที่มีปัญหาการเรียนรู้
ตัวอย่างงานวิจัยวัดไอคิวของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของสถาบันราชานุกูลในปี พ.ศ. 2559 โดยสุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศมาวัดไอคิวด้วยวิธี Standard Progressive Matrices ที่สามารถไปเทียบกับวิธีมาตรฐานของ Wechsler
ได้กลุ่มตัวอย่าง 23,641 ราย ค่าไอคิวเฉลี่ยคือ 98.2 ถือว่าเท่ากับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนไอคิวที่ต่ำกว่า 70 คือน้อยกว่า 1 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ที่ถือว่าเป็นการเรียนรู้บกพร่องนั้น พบเพียง 5.8% ในขณะที่กลุ่มทีมีระดับไอคิวสูงกว่า 130 คือ เกิน 2 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พบเพียง 7.9% เท่านั้น
นอกเหนือจาก Wechsler test ที่ถือเป็นสากลแล้ว ยังมีการทดสอบไอคิวแบบอื่นที่ให้ความละเอียดของการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ อีก เช่น Stanford-Binet test, Woodcock-Johnson test
ระดับไอคิวต่ำหรือสูงมีความสำคัญไหม และต้องตรวจทุกคนหรือไม่?
ระดับไอคิว เป็นเพียงผลรวมคะแนนจากการวัดมิติต่างๆ เท่านั้น
หากพบว่าค่าไอคิวต่ำกว่าปกติ จะต้องเข้าสู่การวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนนออกมาต่ำ และไม่ได้หมายความว่าจะไร้ความสามารถ หรือขาดศักยภาพในการทำงาน
เพียงแต่จะต้องจัดลักษณะงานหรือรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมเท่านั้น
โดยทั่วไป การทดสอบไอคิวจะทำเมื่ออยู่ในช่วงวัยเรียน หรือสงสัยมีความผิดปกติด้านการเรียนรู้ ไม่ว่าบกพร่องหรือเลอเลิศเกินปกติ ไม่ได้แนะนำให้ตรวจเป็นปกติวิสัย
ข้อสำคัญคือ หากเลือกใช้การทดสอบที่ไม่เหมาะสม ระดับไอคิวจะออกมาผิดพลาด ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ เช่น ใช้แบบทดสอบ WISC III ที่ออกแบบมาสำหรับคนที่อายุมากกว่า 16 ปี หากนำไปทำการทดสอบคนที่อายุน้อยกว่า 16 ปี ค่าที่ได้จะคลาดเคลื่อนมาก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับไอคิว มีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยที่แม่นยำที่จะมาทำนายผลหรือมีผลต่อการทดสอบวัดระดับไอคิว ที่พบในปัจจุบันเป็นเพียงปัจจัยความสัมพันธ์กัน และเป็นความสัมพันธ์ร่วมกัน
บางปัจจัยสามารถสร้างก่อนจะทดสอบไอคิวเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เต็มที่ บางปัจจัยสามารถปรับหลังวัดไอคิวเพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้ที่ทำการทดสอบ (แต่อาจไม่ได้เปลี่ยนระดับไอคิวมากนัก) อีกหลายปัจจัยก็ไม่สามารถปรับแก้ได้
ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับระดับไอคิว ได้แก่
- พันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมบางชนิดที่ทำให้พัฒนาการของสมองช้า หรือการเรียนรู้ไม่ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัด
- ผู้เลี้ยงดู นอกจากการถ่ายทอดความสามารถทางพันธุกรรมแล้ว ผู้เลี้ยงดูถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยต่อระดับไอคิว เช่น หากพ่อแม่ที่ไอคิวสูง มีแนวโน้มที่ลูกจะมีไอคิวสูงตามไปด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาของพ่อแม่ รวมถึงสภาวะแวดล้อมที่บ้าน
- การศึกษา ได้แก่ การเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะ มีคุณภาพ มีผู้สอนที่ดี ทั้งหมดช่วยให้มีโอกาสพัฒนาไอคิวหรือความสามารถด้านอื่นๆ มากขึ้น
- สภาพแวดล้อม เช่น การเข้าถึงห้องสมุดและแหล่งข้อมูล ภาวะโภชนาการที่ดี การมีส่วนร่วมและสนับสนุนการเรียนรู้ของสังคม
- ภาษา วัฒนธรรม ส่งผลต่อระดับไอคิว เนื่องจากบางภาษาไม่สามารถสื่อสารแบบทดสอบไอคิวได้ดีเท่าแบบทดสอบต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษ หรือความเข้าใจภาษาอังกฤษที่ไม่ดีนักจะส่งผลต่อระดับไอคิวที่ไม่ค่อยดีด้วย ส่วนวัฒนธรรมเป็นเรื่องของมุมมองเชิงนามธรรมต่อแบบทดสอบ ที่บางครั้งบางวัฒนธรรม ไม่ได้สอนเรื่องเชิงนามธรรม ทำให้ความเข้าใจแบบทดสอบลดลง คะแนนจะลดลง
ปัจจัยทางการศึกษา ครอบครัว ภาวะโภชนาการ การเข้าถึงการศึกษาและแหล่งข้อมูล จะช่วยทำให้การเรียนรู้และแก้ไขปัญหาดีขึ้น แต่ระดับไอคิวอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยอันหนึ่งอันเดียวที่จะมีผลเพิ่มหรือลดระดับไอคิวได้อย่างชัดเจน
เขียนบทความโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช