ยาขับปัสสาวะคืออะไร วิธีใช้ มีผลข้างเคียงหรือไม่ scaled

ยาขับปัสสาวะคืออะไร วิธีใช้ มีผลข้างเคียงหรือไม่

ยาแต่ละชนิดต้องอาศัยการใช้ที่ถูกวิธี และการปฏิบัติตัวที่ดีของผู้ป่วย เพื่อให้ยาได้ผลดีที่สุด หรือเกิดผลข้างเคียงน้อยสุด 

เช่นเดียวกันกับ “ยาขับปัสสาวะ” ยาที่ช่วยกระตุ้นการขับปัสสาวะเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ บทความนี้จะพามารู้จักกับยาขับปัสสาวะ วิธีใช้ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้   

ยาขับปัสสาวะ คืออะไร

ยาขับปัสสาวะ (Diuretic)  เป็นยาที่ช่วยกระตุ้นการขับปัสสาวะ โดยตัวยาจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของไต เพื่อขับโซเดียมและน้ำออกมา ร่วมกับการขับปัสสาวะส่วนเกินออกจากร่างกาย

ยาขับปัสสาวะมักใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ หัวใจวาย ตับวาย และนิ่วในไต โดยแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide diuretics) เป็นยาขับปัสสาวะกลุ่มที่แพทย์ใช้มากที่สุด ออกฤทธิ์โดยตรงกับไต ช่วยยับยั้งการส่งโซเดียมและคลอไรด์ภายในหลอดไตส่วนปลาย  เช่น Microzide (Hydrochlorothiazide) Chlorthalidone และ Zaroxolyn (Metolazone)
  2. กลุ่มลูปไดยูเรติก (Loop diuretics) มักใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย โรคตับ โรคไต และภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อช่วยลดโพแทสเซียม และขับออกมาทางปัสสาวะ เช่น Lasix (furosemide) Bumetanide Demadex (Torsemide) และ Edecrin (Ethacrynic acid)
  3. กลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics) ใช้ลดปริมาณน้ำในร่างกาย แต่ไม่ลดปริมาณโพแทสเซียม มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินและมีอาการแพ้ความสูง เช่น Aldactone (Spironolactone) Inspra (Eplerenone) Dyrenium (Triamterene) และ Midamor (Amiloride)
  4. กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์คาร์บอนิกแอนไฮเดรส (Carbonic anhydrase inhibitor) เคยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยยับยั้งเอนไซม์คาร์บอนิกแอนไฮเดรส ทำให้ช่วยขับกรดและโซเดียม ปัจจุบันนำมาใช้รักษาต้อหินและโรคกลัวความสูง เช่น Diamox  (Acetazolamide)
  5. กลุ่มออสโมติกไดยูเรติก (Osmotic diuretics) ยากลุ่มนี้อาศัยกลไกเกี่ยวกับแรงดันออสโมติก ทำให้น้ำที่หน่วยไตเกิดการออสโมซิสน้อยลง และส่งผลให้ขับแร่ธาตุได้เกือบทุกชนิด ปัจจุบันใช้ลดความดันในกะโหลกศีรษะ และลดความดันลูกตา

วิธีใช้และการปฏิบัติตัวขณะใช้ยาขับปัสสาวะ

  • ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ และต้องใช้ตามฉลากยาระบุไว้อย่างเคร่งครัด เพราะยาขับปัสสาวะมักจะต้องใช้ร่วมกับยาประเภทอื่น ๆ ถ้าใช้น้อยหรือมากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้
  • แพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจร่างกายระหว่างใช้ยาขับปัสสาวะ เช่น วัดความดันเลือด ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจดูไตและแร่ธาตุต่าง ๆ ถ้ามีค่าใดผิดปกติ แพทย์จะได้ช่วยปรับการใช้ยาได้ทัน
  • ยาขับปัสสาวะบางกลุ่มอาจทำให้ปริมาณของโพแทสเซียมลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารเสริม เพื่อเพิ่มโพแทสเซียม หรือเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมมาก ๆ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามที่คำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ถ้ากินแค่วันละ 1 ครั้ง ควรกินยาในช่วงเช้า ถ้ากินวันละ 2 ครั้ง ควรกินในช่วงเช้าและบ่าย เพราะถ้ากินช่วงเย็นหรือก่อนนอน อาจต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอจนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรหยุดยาเอง ต้องกินตามการดูแลของแพทย์เท่านั้น 

ผลข้างเคียงของยาขับปัสสาวะ

ยาขับปัสสาวะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น

  • มึนงง วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ
  • ปวดกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจได้ยินเสียงแปลก ๆ 
  • ปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง
  • ระบบสืบพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ และสำหรับเพศชาย อาจพบเต้านมขยายใหญ่ผิดปกติ (พบในยากลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่ง  Spironolactone)
  • ถ้าสูญเสียโพแทสเซียมต่ำ อาจทำให้ปัสสาวะมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว กระหายน้ำ
  • ผิวไวต่อแสง มีผื่นขึ้น หรือมีอาการคัน
  • เกิดการกดไขกระดูก
  • ระคายเคืองทางเดินอาหาร
  • มีอาการแพ้ยา เช่น คัน มีผื่นขึ้น เจ็บคอ ตาพร่า ปวดศีรษะ เป็นจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาขับปัสสาวะ

ยาขับปัสสาวะอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ เช่น ยาซัลฟา ยาเกี่ยวกับโรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ยาแก้ข้ออักเสบ ยานอนหลับ หรือยาลดความดัน

ก่อนใช้ยาขับปัสสาวะ ต้องแจ้งให้ครบว่ากำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่มีด้วย 

ถ้ามีปัญหาด้านการขับถ่ายปัสสาวะ หรือแพ้ส่วนผสมที่อยู่ในยา ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะโดยเด็ดขาด หรือถ้ามีภาวะเหล่านี้ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง 

  • มีปัญหาโรคไตหรือโรคตับรุนแรง
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • กำลังตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือมีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์
  • อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • เป็นโรคเกาต์
  • มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มซัลฟา เช่น Septra และ Bactrim (Sulfamethoxazole และ Trimethoprim)
  • มีประวัติการใช้ยาที่ส่งผลต่อการได้ยิน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง

โดยปกติยาขับปัสสาวะจะไม่มีผลข้างเคียงถ้าอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ และไม่ละเลยการปฏิบัติตามคำสั่ง 

ถ้าแพ้ยาหรือเกิดอาการผิดปกติใด ๆ ระหว่างใช้ยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที แพทย์จะได้พิจารณาเรื่องปรับการใช้ยาได้ และห้ามหยุดยาด้วยตัวเองนอกจากแพทย์จะอนุญาต เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่ทรุดลงกว่าเดิม ไม่หายขาด 


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล / พญ. ปิยาภรณ์ กิตติสุรัตน์พงศ์

Scroll to Top