หูอื้อ (Tinnitus) เป็นอาการอย่างหนึ่งที่คนส่วนมากไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าไรนัก เพราะบางคนคิดว่า เป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่นาน และสามารถหายไปเองได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรทำความรู้จักอาการดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น เราไปดูกันว่าอาการหูอื้อเกิดจากอะไร และมีวิธีแก้หูอื้ออย่างไรบ้าง
สารบัญ
หูอื้อคืออะไร
หูอื้อ คือ อาการหรือภาวะอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การได้ยินลดน้อยลงไป ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างไปอุดกั้นอยู่บริเวณรูหู ได้ยินเสียงอยู่ภายในหู เช่น เสียงแมลง เสียงอื้ออึง เสียงตุบๆ เสียงวี้ด หรือเสียงแหลม อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด และน่ารำคาญ บางรายมีอาการหูอื้อหนักมากจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทำให้นอนไม่หลับได้
ประเภทของอาการหูอื้อ
อาการหูอื้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. เสียงที่ผู้ป่วยได้ยินคนเดียว (Subjective tinnitus)
สำหรับอาการหูอื้อประเภทนี้ เป็นอาการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทภายในหู เช่น ระบบประสาทหูเสื่อม หรือมีความผิดปกติในหูชั้นใน และสมอง นอกจากนั้นยังอาจเกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหู เช่น ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ผิดปกติ เป็นต้น
2. เสียงที่คนอื่นได้ยินด้วย (Objective Tinnitus)
เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจริง โดยเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเช่นเดียวกัน เช่น หลอดเลือดแดงผิดปกติ เสียงดังที่เกิดพร้อมกับเสียงเต้นของหัวใจ หรือเสียงหายใจ เส้นเลือดวางอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ หรือมีภาวะเส้นเลือดโป่ง เป็นต้น
สาเหตุของอาการหูอื้อ
อาการหูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อมีดังต่อไปนี้
- อยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมากจนเกินไปเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต หรืองานต่างๆ ที่มีเครื่องเสียงดังๆ การฟังเสียงดังมากเกินไปจะทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้
- หูชั้นกลางติดเชื้อจากไข้หวัด เมื่อเป็นไข้หวัดแล้วไม่รีบรักษาให้หาย จะทำให้ท่อยูสเตเชียนที่เชื่อมระหว่างลำคอและหูชั้นกลางเกิดการติดเชื้อ ทำให้ความดันในหูผิดปกติ และเกิดอาการหูอื้อตามมา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหูชั้นกลางอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสร่วมด้วย ทำให้มีหนองในหู ซึ่งต้องให้แพทย์เจาะออก
- มีน้ำคั่งค้างอยู่ในหู ซึ่งเกิดจากการเล่นกีฬาทางน้ำ เช่น ว่ายน้ำ เล่นเจ็ทสกี หรืออาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าไปภายในรูหู จนขี้หูเกิดการกักเก็บน้ำ หรืออมน้ำเอาไว้จนพองตัวมากขึ้น ส่งผลให้ขี้หูเข้าไปอุดตันอยู่ในหูจนเกิดเป็นอาการหูอื้อขึ้นมา ดังนั้นเวลาที่น้ำเข้าไปในหูจะต้องพยายามนำน้ำออกมาให้ได้ทันที
- อยู่ในสถานที่ที่ส่งผลให้ความดันในหูมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การขึ้นเครื่องบิน หรือการดำน้ำ ส่งผลให้เกิดอาการหูอื้อ เนื่องจากประสาทหูชั้นกลางอักเสบแบบเฉียบพลัน แต่เป็นอาการที่ไม่อันตราย และมักจะหายไปเองได้อย่างรวดเร็ว
- หูอื้อจากผลข้างเคียงของยาที่มีต่อประสาทหู เช่น อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ควินิน (Quinine) แอสไพริน (Aspirin)
- หูอื้อจากประสาทหูเสื่อมไปตามอายุ เพราะเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ประสาทหูก็อาจจะเสื่อมสภาพลงไปตามวัย ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดอาการหูอื้อขึ้นได้
- การบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ ในตำแหน่งที่มีผลกระทบต่อการได้ยิน
- อารมณ์เครียด
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease)
ลักษณะของอาการหูอื้อ
อาการหูอื้อสามารถแบ่งออกไปได้จากรูปแบบลักษณะเสียง ดังนี้
- เสียงตามจังหวะหัวใจ อาการหูอื้อรูปแบบนี้จะได้ยินเสียงตุบๆ หรือฟู่ๆ ดังไปตามจังหวะชีพจร โดยสาเหตุส่วนมากมาจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) และความผิดปกติของหลอดเลือด
- เสียงความถี่ต่ำ อาการหูอื้อรูปแบบนี้จะได้ยินเสียงอื้อๆ ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำ เกิดจากภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน
- เสียงความถี่สูง รูปแบบเสียงที่ได้ยินนั้นจะเป็นเสียงคล้ายๆ กับมีแมลงอยู่ในหู โดยสาเหตุส่วนมากมาจากการที่ผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดังมากจนเกินไป
- เสียงก้อง โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงก้องอยู่ในหูอยู่ตลอดเวลา สาเหตุเป็นเพราะมีน้ำขังอยู่ในหู
- เสียงลม รูปแบบของอาการจะคล้ายกับเสียงรูปแบบอื่น ซึ่งอาการนี้มีสาเหตุมาจากท่อความดันในหูผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการหูอื้อ
อาการหูอื้อสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ ร่างกายอ่อนเพลียง่าย เกิดปัญหาความเครียด มีปัญหาด้านความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น และมีปัญหาด้านความจำ
การวินิจฉัยอาการหูอื้อ
ในการวินิจฉัยอาการเบื้องต้น แพทย์จะตรวจประวัติต่างๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะหู เพื่อหาสาเหตุของอาการ เช่น ที่มาของเสียงนั้นมาจากหูชั้นใด หรือมีความเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทหรือเปล่า
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถตรวจเจอสาเหตุของอาการหูอื้อได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจต้องตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพิ่ม เพื่อตรวจดูความถี่ที่ได้ยินร่วมด้วย และอาจจะต้องตรวจหาโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งในเรื่องของเนื้องอก และการแสกนสมองด้วยคลื่นไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีแก้หูอื้อ รักษาอาการหูอื้อ
วิธีรักษาอาการหูอื้อ สามารถแบ่งประเภทของการรักษาไปตามสาเหตุที่เกิดขึ้นตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีวิธีแก้หูอื้อ ดังนี้
รักษาอาการหูอื้อจากสาเหตุ
- หูอื้อจากการเป็นหวัด อาการหูอื้อจากการเป็นหวัด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยคิดว่าอาจจะหายได้เอง แต่หากพบว่าอาการหูอื้อไม่สามารถหายเองได้ ก็ควรไปพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคจมูกอักเสบตามมาได้
- หูอื้อจากขี้หูอุดตัน วิธีการรักษาที่ง่ายที่สุดคือ การแคะขี้หูออกมา แต่ควรที่จะต้องใช้ความระมัดระวังมากพอสมควร หากมีปริมาณขี้หูที่มากเกินไป แนะนำให้ใช้ยาละลายขี้หูหยดไปที่หู 2-3 ครั้งก่อน (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา)
- หูอื้อจากการได้ยินเสียงดัง ควรสังเกตอาการเพิ่มเติม เพราะหากมีการเวียนศีรษะร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
รักษาอาการหูอื้อจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเสียงดัง เพื่อทำให้อาการหูอื้อทุเลาลง
- ลดความเครียด เพราะความเครียดสามารถทำให้อาการหูอื้อรุนแรงมากกว่าเดิมได้
- หากิจกรรมใหม่ๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะหากมัวแต่ใส่ใจอาการหูอื้อเพียงอย่างเดียว ก็อาจทำให้รู้สึกเครียดมากขึ้นกว่าเดิมได้
รักษาอาการหูอื้อด้วยตัวช่วยอื่นๆ
- ใช้อุปกรณ์กลบเสียง ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ที่สามารถสร้างเสียงรูปแบบต่างๆ มาทดแทนเสียงที่ดังอยู่ในหูได้
- รักษาด้วยการใช้ยา โดยสามารถที่จะใช้ยาในการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน หรืออาจจะเป็นยาที่ใช้เพื่อการปรับความดันของท่อในหู เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics antidepressants: TCAs) และยาเบตาฮีสทีน (Betahistine)
- การใช้อุปกรณ์ช่วยการได้ยิน หากมีปัญหาเรื่องการได้ยินร่วมด้วย
วิธีป้องกันอาการหูอื้อ
วิธีป้องกันอาการหูอื้อสามารถทำได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงดัง หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปบริเวณนั้น ควรใช้ที่อุดหูเพื่อลดการได้ยินเสียงที่ดังมากจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจทำลายเซลล์ประสาทในส่วนของการรับเสียงได้
- พยายามดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคที่จะส่งผลต่อประสาทการรับเสียง
- หากมีโรคเกี่ยวกับจมูก ควรรีบรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหูอื้อตามมา
แม้หลายคนอาจคิดว่า หูอื้อเป็นเพียงอาการที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็หายไปเองได้ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจอย่างเด็ดขาด เพราะหากปล่อยให้เกิดอาการหูอื้อนานๆ ก็อาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย และสภาพจิตใจได้ ควรเข้าใจวิธีแก้หูอื้อเพื่อให้หายอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเอง
วิธีแก้หูอื้อเป็นทางการแก้เบื้องต้นเท่านั้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหูอื้อเป็นระยะเวลานาน 1-2 เดือนขึ้นไป หรือพบว่ามีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง เพื่อให้แพทย์หาสาเหตุ และรักษาอย่างถูกจุด
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย