อาการคันตามผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากโรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ ผื่นลมพิษ รวมถึง “โรคเชื้อราที่ผิวหนัง” ด้วย
โรคเชื้อราที่ผิวหนังมักเกิดตามบริเวณที่อับชื้นในร่มผ้า เช่น ง่ามนิ้วมือ ง่ามนิ้วเท้า แบ่งออกเป็น
- โรคเชื้อราที่ผิวหนังชั้นตื้น หรือชั้นขี้ไคลบนผิวหนัง พบได้บ่อยที่สุด
- โรคเชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึกลงมา เรียกว่าชั้นหนังแท้ และส่วนที่ติดในชั้นไขมัน
โรคเชื้อราที่ผิวหนังแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป โดยเชื้อราที่พบได้บ่อย คือ โรคกลาก โรคเกลื้อน และยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา (Candida)
ถ้ารู้สึกคันตามผิวหนังแล้วสงสัยว่าเป็นเชื้อราหรือเปล่า บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยให้ พร้อมบอกวิธีสังเกต สาเหตุ อาการ รวมถึงการรักษาและแนวทางป้องกันด้วย
สารบัญ
ความหมายของเชื้อรา
เชื้อรา คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งพืช สัตว์ แบคทีเรียโปรโตซัว เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ปกติ เชื้อราจะอยู่ปะปนในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่น อาหาร น้ำ อากาศ ดิน ต้นไม้ หรือ แม้กระทั่งในร่างกายของคนและสัตว์
เชื้อราไม่สามารถสังเคราะห์แสงหรือสร้างอาหารเองไม่ได้เหมือนพืช เลยต้องอาศัยการกินอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น โดยดูดซึมสารอาหารจากการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต แล้วพร้อมจะแพร่จำนวนได้มากมาย
เชื้อราบางชนิดมีลักษณะเป็นเส้นใย พอแบ่งตัวแล้วนำมาเรียงต่อกันสามารถวัดความยาวได้มากถึง 1 กิโลเมตรต่อวัน
เชื้อรา มักเป็นสาเหตุสำคัญของอาการเจ็บป่วยที่คอยสร้างปัญหาให้กับทุก ๆ ที่ในร่างกายของคนเราได้ จนกลายเป็นความน่ารำคาญใจ
- โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ หรือที่เรียกกันว่า “รังแค”
- เชื้อราในผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า (หรือฮ่องกงฟุต) กลาก เกลื้อน
- เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้
- เชื้อราที่สร้างสารพิษทำอันตรายรุนแรงต่อร่างกายได้ เช่น อะฟลาทอกซิน (Aflatoxins)
เชื้อราอาศัยอยู่ได้ในทุกส่วนของร่างกาย ทั้งภายในและภายนอก โดยแพร่กระจายแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดในสภาวะที่เหมาะสม จึงเป็นจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ ยิ่งถ้าสะสมแหล่งอาหารของเชื้อราไว้มาก ก็จะยิ่งก่อให้เกิดโรคมากมายตามมาได้
ดังนั้น เราจึงต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลความสะอาดของร่างกายและสภาพแวดล้อมรอบตัว เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายจากการติดเชื้อรา
การติดเชื้อราที่ผิวหนัง เกิดจากอะไร
การติดเชื้อราที่ผิวหนังมาจากการที่เชื้อราในสิ่งแวดล้อมลุกลามเข้าไปในเซลล์ผิวหนัง โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนังตายแล้วที่มักจะเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อรา เช่น เล็บ หนังกำพร้า หนังศีรษะ ผม หรือผิวหนังในที่อับชื้น
โดยส่วนมาก การติดเชื้อราจะเกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่มีเชื้อรา การสัมผัสเชื้อราจากสิ่งแวดล้อม
อาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
เชื้อราที่ผิวหนังเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า ลำคอ ลำตัว ขาหนีบ รักแร้ เท้า เล็บ ซอกนิ้ว โดยอาการที่พบบ่อย มีดังนี้
- ผิวหนังอักเสบ มีขุยของเศษผิว ถ้าอักเสบมาก ๆ จะมีน้ำเหลืองซึมรอบขอบแผล
- เป็นผื่นนูนแดง เป็นวง หรือมีขอบนูนแดง พร้อมกับผิวมีขุยชัดเจน ผื่นจะค่อย ๆ ลามออกช้า ๆ และมีอาการคันร่วมด้วย
- กรณีเกิดการติดเชื้อที่เล็บ เล็บจะขาวซีดหรือเหลืองเป็นบางส่วน มีการแยกของแผ่นเล็บจากเนื้อเล็บ และถ้าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ก็จะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบ บวมแดง หรือมีหนองเพิ่ม
- กรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะมีการอักเสบรุนแรงขึ้น ผิวบวมแดง ผิวหนังหลุดลอกจนเห็นผิวหนังชั้นในแดง ๆ มีอาการเจ็บปวด
วิธีรักษาอาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
โรคที่เกิดจากเชื้อรานั้นหายเองไม่ได้ ต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกวิธี
ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเชื้อที่ทำให้เกิดโรคคือเชื้อราชนิดใด แพทย์อาจใช้วิธีขูดขุยที่ผิวหนังไปตรวจหาเชื้อด้วยการดูกล้องจุลทรรศน์ หรือเพาะเชื้อในอุปกรณ์เพาะเชื้อ
วิธีรักษาเชื้อราที่ผิวหนังมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือการใช้ยาทาและยารับประทาน
สำหรับยารับประทาน จะใช้ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อรุนแรงและลุกลาม โดยยารักษาเชื้อรา จะช่วยบรรเทาอาการคัน ส่วนยาฆ่าเชื้อรา จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบนั่นเอง
โดยส่วนมาก การรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังนั้นรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาแค่อย่างเดียว แต่ถ้าติดเชื้อราที่ศีรษะ เส้นผม หรือเล็บ จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อราร่วมด้วย จึงจะหายขาด
อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญที่สุดในการใช้ยารักษาเชื้อรา คือการใช้ยาให้ถูกกับชนิดของการติดเชื้อ ซึ่งต้องไปพบแพทย์ก่อนเสมอ จะได้วินิจฉัยอย่างถูกต้อง เพราะการซื้อยาเองโดยไม่รู้สาเหตุที่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อดื้อยา และยิ่งทำให้เชื้อราที่ผิวหนังเรื้อรังยิ่งกว่าเดิม รักษาไม่หาย
แนวทางป้องกันการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
การป้องกันเชื้อราที่ผิวหนังทำได้ง่าย ๆ ด้วยแนวทางเหล่านี้
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และรักษาความสะอาดของร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น ทำความสะอาดซอกเล็บและผิวหนังที่เสี่ยงต่อการอับชื้น รวมถึงจุดซ่อนเร้นต่าง ๆ ให้แห้ง ไม่อับชื้น
- รักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว เช่น หวี หมวก ชุดชั้นใน เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า ผึ่งแดดให้แห้งหลังทำความสะอาด ไม่ควรใช้สิ่งของปะปนกับคนอื่น
- ดูแลความสะอาดของใช้ในบ้าน ทั้งเครื่องนอน ที่พักอาศัย ห้องน้ำ และอุปกรณ์ในครัวเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่อยู่ในที่อับชื้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของ สถานที่ที่สกปรก
- จำกัดบริเวณสัตว์เลี้ยง พยายามไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน ห้องน้ำ ส่วนที่ชื้นหรือมีไรฝุ่นมาก เพราะสัตว์เลี้ยงมักมีเชื้อราอยู่ตามผิวและขน
- ไม่คลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับเชื้อรา
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อราและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ
- ควบคุมอาการของโรคประจำตัวให้ดี ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรรักษาสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ และรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
- รับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน เพราะผักผลไม้จะช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ เช่น ผักผลไม้ที่ให้วิตามินซี เบตาแคโรทีน ไลโคปีน อย่างสับปะรด มะละกอ มะม่วง
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้องครบถ้วน และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
ถ้าปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้ได้ รับรองว่าปัญหาเชื้อราที่ผิวหนังจะไม่มากวนใจแน่นอน