ways talking with depressed person treatment how to scaled

เรียนรู้ 5 วิธีพูดคุยกับคนเป็นซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

เมื่อคนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า หลายคนอาจไม่รู้ว่าควรพูดอย่างไรดี เพราะการเลือกใช้คำผิดก็อาจเผลอไปทำร้ายจิตใจผู้ป่วย ทำให้รู้สึกไม่ดี อ่อนไหว โดดเดี่ยว จนเว้นระยะห่างจากคนรอบตัวมากยิ่งขึ้น 

มาเรียนรู้วิธีพูดคุยกับคนเป็นซึมเศร้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้คนป่วยรู้ว่ายังมีคนคอยเคียงข้างและไม่ได้อยู่คนเดียวกันดีกว่า   

โรคซึมเศร้าคืออะไร

โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นภาวะทางอารมณ์ที่และจิตใจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง พันธุกรรม เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ โรคประจำตัว หรือการใช้ยาบางชนิด 

ส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไป เช่น รู้สึกเศร้า เสียใจ ว่างเปล่า สิ้นหวังต่อเนื่องเป็นเวลานาน หมดความสนใจในสิ่งที่เคยชื่นชอบ มีปัญหาในการกินและการนอน บางคนอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตลง 

แม้สังคมในปัจจุบันจะตื่นตัวและให้ความสนใจกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเหลืออยู่ เช่นว่าโรคนี้เป็นความเศร้าที่แค่หากิจกรรมผ่อนคลาย ไปเข้าวัด ฟังธรรมก็หาย 

วิธีเหล่านี้นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้คนป่วยหลายคนรู้สึกแย่กว่าเดิมด้วย การรู้วิธีพูดคุยกับคนเป็นซึมเศร้าอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด จะช่วยให้คนป่วยสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้ 

วิธีพูดคุยกับคนเป็นซึมเศร้า พูดแบบไหนได้บ้าง

การสื่อสารกับคนเป็นซึมเศร้าควรจะเป็นไปในทางบวก โดยเลือกใช้คำที่แสดงความเป็นผู้ฟังที่ดี และส่งเสริมให้คนป่วยรู้สึกรักตัวเอง ตัวเองมีคุณค่า มีกำลังใจ ผ่อนคลายจิตใจ และอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปมากขึ้น ดังนี้

1. คอยรับฟัง คอยช่วยเหลือ

คนใกล้ชิดควรสื่อให้คนป่วยรู้ว่ายังมีคนคอยอยู่เคียงข้าง และพร้อมรับฟังอย่างตั้งใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะช่วงเวลาปกติหรือช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

โดยให้ตั้งใจฟังสิ่งที่คนป่วยต้องการพูดให้จบ ไม่กดดัน ไม่รีบให้คำแนะนำหรือแก้ไขปัญหา เพราะบางครั้งพวกเขาอาจแค่ต้องการคนรับฟังเฉย ๆ และแม้คนป่วยจะกลัวตัวเองเป็นภาระให้คนรอบข้าง เราก็ควรจะทำให้ชัดเจนและหนักแน่นว่าเต็มใจ ไม่รังเกียจ 

หากผู้ป่วยขอความช่วยเหลือมา ก็พร้อมจะทำสิ่งเหล่านี้ให้จากใจจริง ทั้งเรื่องเล็กและใหญ่ โดยอาจเริ่มด้วยคำถามง่าย ๆ เพื่อให้คนป่วยแน่ใจว่า หันหลังมาเมื่อใดก็จะมีคนคอยซัพพอร์ตอยู่ไม่ห่าง เช่น

  • ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง อยากออกไปเดินคุยเล่นกันไหม
  • ให้ไปซื้อของหรือช่วยทำงานบ้านหรือเปล่า
  • อยากกินอาหารร้านโปรดไหม เดี๋ยวแวะซื้อไปให้
  • อยากให้เราไปพบจิตแพทย์เป็นเพื่อนไหม
  • ชีวิตเธอสำคัญกับฉันมาก ๆ นะ

นอกจากนี้ ควรระวังคำพูดให้กำลังใจที่กลับให้ผลตรงกันข้าม โดยเฉพาะคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความคิดเปรียบเทียบว่าทำไมถึงซึมเศร้า กดดันหรือคาดหวังให้อาการป่วยหายไว  เช่น

  • ลองมองโลกในแง่ดีบ้าง 
  • เธอคิดไปเองหรือเปล่า
  • หยุดคิดเรื่องเครียด ๆ ดูสิ
  • ต้องสู้สิ 
  • รู้หรือเปล่า มีคนแย่กว่าเราอีกตั้งเยอะนะ

2. บอกให้คนป่วยรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า

โรคซึมเศร้ามักทำให้คนป่วยมีความคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ ไม่มีค่า และสิ้นหวังกับการเป็นตัวเองหรือการมีชีวิตอยู่ ดังนั้น อย่าลืมที่จะแสดงออกผ่านคำพูดหรือการกระทำว่า คนป่วยสำคัญกับเรามากแค่ไหน ชื่นชอบสิ่งใดที่คนป่วยทำ 

หรือรักอะไรในตัวคนป่วยเป็นพิเศษ ก็สื่อออกมาให้คนป่วยเห็นได้เลยในทุก ๆ วัน เพราะการเป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ หรือมีคุณค่ากับใครสักคนนั้นเป็นเรื่องดีต่อใจ เสริมความมั่นใจ และทำให้คนป่วยรู้สึกสบายใจได้มากขึ้น    

3. ใจเย็นและไม่ตอบโต้กันด้วยอารมณ์

อาจมีบางครั้งที่คนเป็นซึมเศร้ารู้สึกไม่ดี ไม่พอใจ โวยวาย หรือโกรธกับคำพูดของเรา เนื่องจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน บวกกับอาการที่มาจากโรคซึมเศร้า อย่างหงุดหงิดหรืออารมณ์เสียง่ายเป็นทุนเดิม 

สถานการณ์นี้ไม่ควรโต้ตอบด้วยอารมณ์รุนแรงหรือใช้คำพูดตำหนิ ดุด่า หรือด้อยค่า แต่ให้พยายามทำใจเย็น หรือรอให้คนป่วยใจเย็นลงก่อน แล้วค่อย ๆ พูดคุยประนีประนอมกันในภายหลัง  

4. แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์  

การอยู่เคียงข้างคอยให้กำลังใจเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คนป่วยหายจากโรคซึมเศร้า แต่หนทางที่จะช่วยให้หายจากโรคคือ การพาคนป่วยโรคซึมเศร้า หรือคนที่เสี่ยงจะเป็นซึมเศร้าไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

โดยอาจพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงทางคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมของคนป่วยที่เราพบเจอ และอธิบายในแง่ดีว่า การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือหมายความว่าเป็นคนอ่อนแอ 

แต่จะช่วยบรรเทาอาการที่กำลังเผชิญอยู่ได้ดีขึ้นด้วยการบำบัดหรือการใช้ยารักษาชนิดต่าง ๆ ซึ่งเราจะเป็นคนอยู่ข้าง ๆ ตอนไปพบจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้คนป่วยอุ่นใจ  

5. สังเกตสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตาย 

โรคซึมเศร้าก่อให้เกิดอาการที่ต่างกันไปในแต่ละคน คนป่วยจะมีอาการของโรคแทบตลอดเวลา ต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป 

สิ่งที่ควรเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดคือ การทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตาย เพราะหากช้าไปแค่นิดเดียวอาจเกิดการสูญเสียได้แล้ว 

โดยตัวอย่างสัญญาณความผิดปกติที่ควรเฝ้าระวังจะมีดังนี้

  • ซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย หงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  • หมดความสนใจหรือไม่อยากทำในสิ่งที่เคยชื่นชอบมาก ๆ ไม่สนใจคนรอบข้าง 
  • เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารมากผิดปกติ 
  • น้ำหนักตัวลดลง หรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ หลับยาก นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเฉื่อยชา เชื่องช้าลงอย่างชัดเจน
  • ไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย ไม่มีพลังในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต
  • รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ชอบโทษตัวเอง
  • มีปัญหาในการคิด วิเคราะห์ หรือตัดสินใจ ไม่มีสมาธิ ใจลอย 
  • คิดถึงการฆ่าตัวตาย หรือวางแผนจะฆ่าตัวตาย เขียนจดหมายลาตาย 

คนใกล้ตัวที่แสดงอาการตรงกับข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมา ควรพาไปพบจิตแพทย์โดยเร็ว เพื่อประเมินอาการ และเข้าสู่การบำบัดรักษาที่เหมาะสม 

กรณีคนป่วยทำร้ายตัวเองหรือพยายามจะฆ่าตัวตาย อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ให้ออกห่างจากของมีคมหรืออาวุธมากที่สุด และพยายามเกลี้ยกล่อมให้ใจเย็นลง 

นอกจากนี้ สามารถโทรปรึกษาหน่วยงานที่ให้บริการทางด้านสุขภาพจิต เช่น สายด่วนกลุ่มสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยที่เบอร์ 02-113-6789 ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น. 

โดยหน่วยงานเหล่านี้จะช่วยรับฟังปัญหาในใจ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และสอนวิธีรับมือกับความรู้สึกแง่ลบเบื้องต้น เพื่อให้คนป่วยไปถึงมือจิตแพทย์ได้อย่างปลอดภัย ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ   

คนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า หรือตัวเราเสี่ยง ไม่แน่ใจ สามารถปรึกษาพูดคุยกับคุณหมอได้ หรือจะหาแพ็กเกจดูแลสภาพจิตใจอื่น ๆ จากสถานพยาบาลใกล้บ้านคุณ คลิกเลย HDmall.co.th คัดโปรดีพร้อมส่วนลดทุกการจองมาให้ครบ 

หรือให้แอดมินช่วยแนะนำแพ็กเกจสุขภาพอื่น ๆ ทักที่นี่เลย 

Scroll to Top