ผักกระเฉด Water mimosa

ผักกระเฉด (Water mimosa)

ผักกระเฉด เป็นผักที่สามารถขึ้นในน้ำ นิยมนำมาผัดไฟแดง ลำต้นกระเฉดมีเนื้อเยื่อสีขาวเป็นปล้องคล้ายฟองน้ำ (นมผักกระเฉด) ห่อหุ้ม จึงสามารถลอยน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีขยายพันธุ์ได้ง่าย เพียงแค่หักกิ่งก้านก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ ด้วยลักษณะพิเศษดังกล่าว ผักกระเฉดเจริญเติบโตได้รวดเร็ว จนกลายเป็นวัชพืชที่แพร่กระจายไปในบางพื้นที่ ลักษณะใบกระเฉดคล้ายกับใบกระถิน จะหุบใบในเวลากลางคืน เป็นที่มาของชื่อ “ผักรู้นอน”

สรรพคุณของผักกระเฉด

ส่วนนมผักกระเฉด มีรสเย็น มีฤทธิ์แก้ร้อนใน ช่วยถอนพิษจากตับอักเสบ สามารถนำมาตำพอกช่วยถอนพิษจากแมลงกัดต่อยได้ ส่วนใบ ช่วยดับพิษ แก้ไข้

การแพทย์พื้นบ้านในประเทศอินเดียพบว่า เมื่อใช้เมทานอลสกัดรากผักกระเฉด จะมีฤทธิ์ป้องกันการเป็นหมัน ทั้งยังสามารถช่วยสมานแผลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้น้ำคั้นจากกระเฉดยังช่วยรักษาโรคไซนัส อาการเจ็บคอ และฝีได้ด้วย ส่วนของรากเมื่อนำมาทำเป็นยาต้ม จะช่วยแก้อาการในระบบทางเดินปัสสาวะโรคบิด หนองใน และแก้อาการนอนไม่หลับได้

ในประเทศเม็กซิโกได้ทำการทดลองโดยใช้สารสกัดจากใบแห้งของผักกระเฉด พบว่ามีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าในหนูทดลองได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างไดอะซีแพม (Diazepam)

คุณค่าทางโภชนาการของผักกระเฉด

ผักกระเฉด 100 กรัมประกอบไปด้วยแคลเซียมสูงถึง 123 มิลลิกรัม จึงช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันโรคกระดุกพรุน และช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีกากใย (Fiber) ช่วยในการขับถ่าย ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว ลดการสะสมของไขมัน มีธาตุเหล็ก ที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ มีฟอสฟอรัส วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา วิตามินซี เพิ่มภูมิต้านทานและช่วยในการดุดซึมธาตุเหล็ก วิตามินบี 3 และเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย และช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวอีกด้วย

ผักกระเฉดชะลูดน้ำคืออะไร?

ผักกระเฉดที่เราเห็นกันทั่วไปมักอยู่ในแม่น้ำลำคลอง สามารถขยายพันธุ์ได้เอง มักจะมีฟองน้ำสีขาวหุ้ม มีปล้องสั้น และก้านใบเหนียว ดูไม่ค่อยน่ารับประทาน แต่มีการปลูกผักกระเฉดอีกวิธี เรียกว่า ชะลูดน้ำ คือการนำผักกระเฉดมาปลูกในแปลง โดยนำต้นผักกระเฉดมาผูกกันให้เป็นฟ่อน จากนั้นนำไปผูกกับหลักไม้และกดให้ยอดผัดจมลงในน้ำ เพื่อให้กระเฉดแตกยอดอ่อนขึ้นมาใหม่

การปลูกผักกระเฉดแบบนี้ได้แนวคิดมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี พ.ศ. 2526 พบว่าเมื่อผักจมอยูใต้น้ำเป็นเวลานาน จะมีปล้องทอดยาวกว่าปกติ (คำว่าชะลูด หมายถึง เรียวสูง ยาวขึ้นไป) และนมที่ติดอยู่ตามปล้องของผักกระเฉดก็หลุดล่อนไป นอกจากนี้จะช่วยให้ยอดอ่อนที่ขึ้นมาใหม่นั้นมีความนุ่มและกรอบ  เป็นที่นิยมในรับประทาน ราคาก็จะสูงกว่าผักกระเฉดทั่วไปด้วย

ผักกระเฉดกับผักกระฉูด ต่างกันอย่างไร?

ผักกระฉูด คือ ผักกระเฉดบก มีลักษณะภายนอกคล้ายผักกระเฉดมาก แตกต่างกันตรงที่ผักกระฉูดจะไม่มีส่วนที่เป็นฟองน้ำสีขาว สามารถนำไปประกอบอาหารได้เหมือนกัน แต่จะมีความเหนียวและแข็งกว่า ปัจจุบันมียาแคปซูลผักกระฉูด ช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ บำรุงกำลัง และช่วยกระชับหูรูดต่างๆ ทั้งร่างกาย

เมนูแนะนำจากผักกระเฉด

ผักกระเฉดนิยมทำมาผัดกับเส้นหมี่ ยำวุ้นเส้นใส่ผักกระเฉด นำมาต้มแกงส้ม ทำผัดผักกระเฉดไฟแดง หรือนำมาลวกจิ้มน้ำพริกก็ได้ เคล็ดลับลวกผักกระเฉดให้น่ารับประทานคือ ตั้งน้ำให้เดือด ใส่เกลือเล็กน้อย จากนั้นลวกผักกระเฉดพอประมาณไม่นานจนเกินไป หากนานเกินไปจะทำให้เหนียว เมื่อลวกเสร็จแล้วให้นำมาแช่ในน้ำเย็นจัดหรือในน้ำแข็งทันที จะทำให้ผักกระเฉดกรอบอร่อย น่ารับประทาน

การนำผักกระเฉดมารับประทานควรล้างให้สะอาด โดยควรคลี่ใบให้น้ำชะล้างได้ทั่ว และปรุงสุกก่อนทุกครั้ง เนื่องจากอาจมีสิ่งสกปรกติดอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีพยาธิตัวอ่อนปะปน รวมไปถึงอาจจะมีไข่ปลิงติดอยู่ได้

กินผักกระเฉดมากไปอันตรายหรือเปล่า?

ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับประทานผักกระเฉดมากเกินไป เนื่องจากเป็นผักที่มีโพแทสเซียมสูง จนอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักในการขับโพแทสเซียมส่วนเกินออก ส่งผลให้เสี่ยงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและเฉียบพลันได้


เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD


ที่มาของข้อมูล

  • มิ่งขวัญ แดงสุวรรณ, รายงานผลการวิจัยความรู้เกี่ยวกับผักพื้นบ้านในเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่(http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/research/2556/mingkhun_dangsuwan_2555/fulltext.pdf), 2554.
  • Hafsa Ahmad, Sakshi Sehgal and Anurag Mishra, Department of Pharmacognosy, Faculty of Pharmacy, India, Mimosa pudica L. (Laajvanti): An overview (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3459453/), 2012.
  • นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผักผลไม้…ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0141.pdf), 2556.
Scroll to Top