โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทั่วโลกรวมทั้งผู้หญิงไทย เพราะระยะแรกๆ ของโรคจะไม่แสดงอาการใดๆ ทำให้กว่าจะตรวจพบมะเร็ง โรคก็มักเข้าสู่ระยะท้ายๆ แล้ว นั่นจึงทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งปากมดลูกก็เป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคหลายวิธี รวมทั้งมีวัคซีนป้องกันการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพนั่นก็คือ วัคซีนเอชพีวี (HPV) เนื่องจากสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อจากไวรัสชนิดเอชพีวี
หากคุณเป็นผู้หญิง หรือมีคนใกล้ตัวเป็นผู้หญิง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักโรคมะเร็งปากมดลูกแบบทุกซอกทุกมุมเพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้ ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักวัคซีนเอชพีวีซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
สารบัญ
- สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนเอชพีวี (HPV)
- ประเภทของวัคซีน HPV
- ข้อดีของการฉีดวัคซีน HPV
- วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้จริงหรือ ?
- วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากไวรัสเอชพีวีได้หรือไม่ ?
- ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอีกหรือไม่ ?
- ใครบ้างที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน ?
- ผู้หญิงที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ?
- หากตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 1-2 ครั้ง จะทำอย่างไร ?
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก
สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อจากไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus : HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่มีหลากหลายสายพันธุ์ทั้งชนิดที่รุนแรงเป็นอันตรายและชนิดที่ไม่เป็นอันตราย
สายพันธุ์ไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงสูงก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์ไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงต่ำในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11
การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย หรือผู้หญิงที่มีเชื้อ HPV นอกจากนี้เชื้อ HPV ยังสามารถก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ เช่น มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ซึ่งทั้งสองโรคนี้สามารถพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
วัคซีนเอชพีวี (HPV)
วัคซีน คือ สารทางชีววิทยาเฉพาะแต่ละโรค เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนของเชื้อชนิดใด (อาจเป็นเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย) วัคซีนนั้นๆ จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานการเกิดโรค หรือการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนั้นๆ ได้
ภายหลังจากได้รับวัคซีน ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคติดเชื้อเอชพีวี ดังนั้นเมื่อได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวี ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันต้าน ทาน ทำให้ไม่เกิดการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง
ประเภทของวัคซีน HPV
ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 2 ชนิด ได้แก่
- ชนิด 2 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18
- ชนิด 4 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18
วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ได้มากถึง 70% ส่วนวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้ด้วย
ปัจจุบันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกใช้การฉีดเข้ากล้ามเนื้อและต้องฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็มภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยมีวิธีการฉีดดังนี้ กล่าวคือ
วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์
- ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่อต้องการฉีด
- ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ภายหลังการฉีดเข็มแรก 2 เดือน (ในเด็ก หรือวัยรุ่นก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีดเพียง 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 6-12 เดือน (จากเข็มแรก))
- ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ภายหลังการฉีดเข็มแรก 6 เดือน จึงจะได้ประสิทธิภาพในการป้องกัน โรคมะเร็งปากมดลูกสูงสุด
วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์
- ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เมื่อต้องการฉีด
- ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ภายหลังการฉีดเข็มแรก 1 เดือน (ในเด็ก หรือวัยรุ่นก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีดเพียง 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 6-12 เดือน (จากเข็มแรก))
- ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ภายหลังการฉีดเข็มแรก 6 เดือน จึงจะได้ประสิทธิภาพในการป้องกัน โรคมะเร็งปากมดลูกสูงสุด
หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานสามารถป้องกันการติดเชื้อขึ้นภายใน 1 เดือน ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีน เชื่อว่า สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้นานอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 4-6 ปี แต่ยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
ข้อดีของการฉีดวัคซีน HPV
- มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัส HPV ได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
- ผลข้างเคียงน้อยมาก อาจมีอาการปวด บวม แดง คัน ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ อาการนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น ช็อก และอาจเสียชีวิต ได้ (โอกาสเกิดน้อยมาก) ในผู้มีประวัติภูมิแพ้รุนแรง หรือเคยแพ้วัคซีนครั้งแรก แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน
- สามารถฉีดร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้
วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้จริงหรือ ?
เนื่องจากเชื้อเอชพีวีมีหลากหลายสายพันธุ์ประมาณ 100 สายพันธุ์ย่อย แต่วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบัน ป้องกันได้เพียงโรคที่เกิดจาก 2 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก จึงสามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 70% เท่านั้น
ดังนั้นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนถูกต้องแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากสายพันธุ์เอชพีวีย่อยอื่นๆ ได้ประมาณ 30% จึงควรต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี
หนึ่งในสาเหตุที่อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกได้คือ การมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม
ดังนั้นเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ การตรวจ STD ทั้งตัวคุณเองและคู่นอนก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากไวรัสเอชพีวีได้หรือไม่ ?
คุณสมบัติของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในการป้องกันโรคมะเร็งอื่นๆ ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชพีวี เช่น โรคมะเร็งคอหอย ส่วนปาก (oropharynx) โรคมะเร็งช่องคลอด และโรคมะเร็งทวารหนักยังอยู่ในระหว่างการศึกษา
ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกอีกหรือไม่ ?
ดังที่กล่าวแล้วว่า วัคซีนในปัจจุบันสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 70% ดังนั้นผู้หญิงทุกคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV แล้ว ก็ยังคงต้องเข้ารับการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำตามแพทย์แนะนำ
ปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็ให้ความแม่นยำและประสิทธิผลแตกต่างกันไป เช่น การตรวจแป๊ป สเมียร์ (Pap smear) การตรวจแบบตินแพร็พ (ThinPrep) และการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA Test) อีกทั้งยังมีค่าบริการการตรวจที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้การตรวจแป๊ป สเมียร์ จัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและมีราคาถูกที่สุด
ใครบ้างที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน ?
วัคซีน HPV จะให้ผลป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้สูงสุดก็ต่อเมื่อ ได้รับวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในชีวิต
ดังนั้นในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนในเด็กผู้หญิงอายุ 9-12 ปี (การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กผู้หญิงในสหรัฐอเมริกามักเริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่อมีอายุประมาณ 13 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไทย)
สำหรับประเทศอื่นๆ มีคำแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนในเด็กผู้หญิงตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปเช่นกัน เพราะนอกจากจะเป็นวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว วัยนี้ยังเป็นวัยที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ดี โดยการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง จะได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ส่วนผู้หญิงในวัย 13-26 ปี ทั้งที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วและยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์สามารถรับวัคซีนได้ แต่ผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกอาจลด ลงหากเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว
ส่วนเด็กผู้ชายอายุ 9 – 26 ปี สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักได้ โดยเน้นให้ฉีดวัคซีนช่วงอายุ 11 – 12 ปี
ผู้หญิงที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนในผู้หญิงที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เพราะวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่วัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่วัคซีนอาจให้ผลในการป้องกันโรคได้ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษายืนยันในเรื่องนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เป็นรายๆ ไป
หากตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 1-2 ครั้ง จะทำอย่างไร ?
จะฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรได้หรือไม่? เนื่องจากวัคซีนผลิตจากสารบางส่วนของเชื้อไวรัส ไม่ใช่วัคซีนเชื้อเป็นจึงไม่น่าจะมีผลต่อทารกในครรภ์
อย่างไรก็ตาม กองควบคุมโรค ของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control Prevention : CDC) ได้แนะนำว่า ไม่ควรให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันชัดเจนถึงความปลอดภัยในกรณีนี้ ดังนั้นจึงควรรับวัคซีนครั้งต่อไปภายหลังคลอดแล้ว
เรื่องเหล่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา ดังนั้นในกรณีนี้จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การฉีดวัคซีนก่อน
แนะนำว่า ผู้ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี หรือในระยะเวลาตามคำแนะนำของแพทย์
นอกจากนี้หากมีเพศสัมพันธ์ ฝ่ายชายควรสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีก็จะสามารถลดโอกาสการติดเชื้อเอชพีวีลงได้บ้าง แม้จะน้อยกว่าการฉีดวัคซีนก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าการไม่ป้องกันใดๆ เลย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี