กรดยูริก คืออะไร อันตรายแค่ไหน เกี่ยวกับโรคเกาต์อย่างไร

กรดยูริก คืออะไร อันตรายแค่ไหน เกี่ยวกับโรคเกาต์อย่างไร?

หลายคนคงเคยได้ยินหรือรู้จักโรคเกาต์หรือนิ่วในไต ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระดับ กรดยูริก ในร่างกาย กรดยูริกคืออะไร มีมากหรือน้อยถึงจะดี จะสามารถลดหรือเพิ่มกรดนี้อย่างไร HD มีคำตอบ

สารบัญ

กรดยูริก (Uric acid) คืออะไร เกิดจากอะไร?

กรดยูริก (Uric acid) คือของเสียในร่างกาย เกิดจากการย่อยสลายเบสพิวรีน (Purine) ที่เป็นส่วนประกอบของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ โดยใช้เอนไซม์ยูริเคส (Uricase) ในกระบวนการเปลี่ยนพิวรีนเป็นกรดยูริก

กรดยูริกสร้างจากอวัยวะในร่างกาย หลักๆ คือ ตับและลำไส้เล็ก อยู่ในเลือดในรูปของ โมโนโซเดียมยูเรต (Monosodium urate: MSU) เพื่อให้สามารถละลายน้ำและขับออกจากร่างกายได้

อวัยวะหลักที่ขับกรดยูริกออกจากร่างกายคือ ไต ในรูปของน้ำปัสสาวะ ดังนั้นหากไตมีปัญหา ก็จะส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้

กรดยูริกมีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายหรือไม่?

กรดยูริกไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเป็นของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายเซลล์ จึงเป็นสารที่ต้องกำจัดออกจ

หากการสร้างและการกำจัดกรดยูริกเป็นไปตามปกติ ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ แต่ถ้าหากมีความผิดปกติใน 2 กลไก ได้แก่ การสร้างกรดยูริกมากเกินไป (Over production ) เช่น การรับประทานอาหารที่มีเบสพิวรีนสูง หรือการกำจัดกรดยูริกในร่างกายน้อยลง (Decrease excretion) ก็จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น

ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อระดับกรดยูริกในเลือด

5 ปัจจัยที่มีผลต่อระดับกรดยูริก มีดังนี้

  1. อายุ เด็กจะมีระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่าผู้ใหญ่
  2. เพศ เพศชายจะมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าเพศหญิง
  3. โรคร่วมต่างๆ เช่น โรคเลือด โรคมะเร็ง จะทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้ เนื่องจากการสร้างที่จะมีมากกว่าปกติ และโรคไต เช่น ไตวาย หรือความดันโลหิตสูงที่จะลดการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
  4. การรับยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน สามารถทำให้กรดยูริกเพิ่มขึ้นได้
  5. การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่มีพิวรีน (Purine) สูง และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้ระดับกรดยูริกสูงขึ้นได้

อาหารชนิดไหนบ้างที่จะทำให้กรดยูริกสูง?

อาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่

1. ยอดผักชนิดต่างๆ

เช่น กระถิน ชะอม ยอดผักบุ้ง เพราะส่วนยอดที่มีการงอกเหล่านี้จะแบ่งตัวเร็ว จึงต้องใช้สารชีวโมเลกุลคือพิวรีนสูง ในการสร้างดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้

2. เครื่องในสัตว์

เช่น ไส้ หัวใจ กึ๋น สมอง เพราะอวัยวะเหล่านี้เป็นอวัยวะที่ทำงานหนัก จึงมีปริมาณของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอสูง

เมื่อรับประทานแล้วย่อย เกิดการสลายตัว จะทำให้เกิดพิวรีนและเกิดเป็นกรดยูริกได้ในปริมาณสูง

3. สัตว์ปีก

มีความเชื่อในอดีตว่าสัตว์ปีก เช่น ไก่ จะทำให้ทำให้ระดับกรดยูริกสูงขึ้น

แต่ความจริงนั้นสัตว์ปีกมีระดับกรดยูริกสูงปานกลาง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์สามารถรับประทานสัตว์ปีกได้ หากไม่ใช่ช่วงที่มีอาการกำเริบ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบชัดเจนหลังรับประทานก็ควรหลีกเลี่ยง

4. ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ปลาไส้ตัน

ปลาเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของอาหารที่มีสารพิวรีนสูงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการรับประทานหากมีความเสี่ยงที่จะเป็นหรือเป็นโรคเกาต์

5. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขัดขวางการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย และเร่งปฏิกิริยาการสร้างกรดยูริก

ดังนั้นผู้ป่วยโรคเกาต์จะมีอาการข้ออักเสบหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทันที

ผู้ที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวเหล่านี้

กรดยูริกเกี่ยวข้องกับโรคเก๊า หรือเกาต์ อย่างไร?

โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคทางกระดูกและข้อที่สำคัญ มักพบในผู้สูงอายุ และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุหลักคือมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จนเกิดผลึกสะสมที่ข้อ ทำให้เกิดอาการอักเสบและปวดบวมอย่างรุนแรง

ลักษณะการดำเนินไปของโรคเกาต์แบ่งออกเป็น 4 ระยะ แต่ละระยะมีอาการและแนวทางการรักษาดังนี้

1. ระยะที่ไม่มีอาการ แต่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง (Asymptomatic hyperuricemia)

ในระยะนี้ผู้ป่วยยังไม่ต้องรักษา เพียงแค่ควบคุมอาหารและระดับกรดยูริกในเลือดก็เพียงพอ

2. ระยะที่มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน (Acute gout flares or inflammation)

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้ออย่างรุนแรง บวม และอักเสบ มักเกิดในช่วงที่อากาศเย็น เวลากลางคืน และหลังรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง

ตำแหน่งที่มักเกิดอาการคือข้อนิ้วโป้งเท้า เพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุดและกรดยูริกสามารถตกตะกอนได้ง่ายที่สุด รองลงมาคือข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อศอก

มักมีอาการ 1-2 วัน และหายได้เองภายใน 5 วันหลังจากข้ออักเสบ

3. ระยะที่ไม่มีอาการหลังจากมีอาการข้ออักเสบ (Intercritical gout or period)

เป็นระยะหลังจากที่ข้ออักเสบเฉียบพลัน จะมีการให้ยาเพื่อควบคุมอาการหากมีข้ออักเสบมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป

4. ระยะที่เป็นมาก (Chronic gouty arthritis and tophi)

มักเกิดในผู้ป่วยที่มีกรดยูริกในเลือดสูงมาเป็นระยะเวลานาน ในระยะนี้จะพบผลึกยูเรตในข้อ (Tophus) และจะพบการกร่อนของกระดูก เนื่องจากผลึกยูริกทำลายข้อ รวมถึงอาจพบความผิดปกติของไตได้

การวินิจฉัยโรคเกาต์ จะดูจากอาการปวดข้อ ข้อที่ปวด และระดับกรดยูริกในเลือดเป็นหลัก

โดยผู้ที่มีระดับกรดยูริก (Uric acid level) สูงเกินกว่า 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในเพศชาย และมากกว่า 6 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในเพศหญิง อาจจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ ต้องได้รับการรักษาด้วยยา และต้องควบคุมอาหาร

โทษของกรดยูริก มีอะไรบ้าง?

กรดยูริกซึ่งเป็นของเสียดังกล่าวไปแล้ว มีโทษต่อร่างกายในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ด้านการได้ยินและการทรงตัว

กรดยูริกในเลือดที่สูงอาจส่งผลให้เส้นเลือดในหูหดตัว เลือดไปเลี้ยงประสาทและอวัยวะทรงตัวได้น้อย ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาหูอื้อ มีเสียงดังในหู และทรงตัวได้น้อย

2. การเป็นโรคเกาต์

กรดยูริกที่ตกผลึกตามข้อทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ ตามรายละเอียดดังที่กล่าวไปในหัวข้อ “กรดยูริกเกี่ยวข้องกับโรคเก๊า หรือเกาต์ อย่างไร?” ข้างต้น

3. ความผิดปกติของไต

หากปล่อยให้มีกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อความผิดปกติของไตได้ เช่น

  • นิ่วในท่อปัสสาวะ (Urolithiasis)
  • การตกผลึกของยูเรตที่ไต (Urate nephropathy)
  • ไตวายเฉียบพลันจากผลึกยูเรต (Acute uric acid nephropathy)

ปริมาณกรดยูริกในเลือดส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หลายอวัยวะ

ดังนั้นหากพบว่ามีการกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกายได้น้อย เช่น มีความผิดปกติของไต เป็นโรคร่วมต่างๆ หรือรับยาที่อาจทำให้กรดยูริกสูง มีอาการปวดบริเวณข้อต่างๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาทันที

ในส่วนของการรับประทานยาและการเลือกรับประทานอาหารจะช่วยควบคุมโรคให้ไม่กำเริบ การออกกำลังกายเบาๆ ต่อเนื่องเป็นประจำ และใช้ข้อให้น้อยลง จะช่วยลดอันตรายที่เกิดจากอาการแทรกซ้อนได้


เขียนบทความโดย ทีมเภสัชกร HD

Scroll to Top