สารบัญ
สาเหตุของการเกิดถุงใต้ตา
ปัญหาถุงใต้ตามักพบใน 2 ลักษณะคือ ถุงใต้ตาเทียม และถุงใต้ตาแท้
1. ถุงใต้ตาเทียม
ลักษณะเป็นเนื้อเยื่อใต้ตาบวมขึ้นมาเหมือนถุง สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ เช่น พักผ่อนน้อย มีความเครียดสูง ใช้สายตามาก ร้องไห้ คันตาจนต้องขยี้ตาแรงบ่อยๆ เช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางรอบตาแรงเกินไป รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ และสูบบุหรี่จัด
ถุงใต้ตาเทียมสามารถยุบหายได้หากดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้ความเย็นประคบ
- ลดการดื่มน้ำปริมาณมากเกินไปก่อนเข้านอน ลดการกินเค็ม ลดเกลือ โดยเฉพาะผงชูรส เพราะจะทำให้ร่างกายเก็บกักน้ำไว้มาก
- งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พยายามนอนให้หัวสูงกว่าปกติเล็กน้อย
- รักษาอาการภูมิแพ้ขึ้นตาอย่างต่อเนื่อ
2. ถุงใต้ตาแท้
ในเบ้าตาของเรามีไขมันมาตั้งแต่เกิด เมื่อเราอายุมากขึ้นไขมันก็จะใหญ่ขึ้น แต่เอ็นยึดใต้เปลือกตาล่างกลับอ่อนแอลง ทำให้ไขมันที่อยู่ในบริเวณเปลือกตายื่นนูนออกมา เกิดเป็นถุง บางรายมีร่องโค้งใต้ตาเห็นได้ชัดเมื่อมีไขมันหย่อนนูนออกมา
การรักษาด้วยการดูแลตนเองด้วยวิธีต่างๆ ที่บ้าน มักไม่สามารถช่วยให้อาการลดลงได้ การรักษาที่พอช่วยได้ในรายที่ถุงใต้ตายังเป็นไม่มาก ได้แก่
- การทำทรีตเมนต์ผิวหนังใต้ตา โดยใช้ laser Erbium:YAG resurfacing ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังกระชับแน่นและเรียบขึ้น
- Chemical peels ช่วยลดริ้วรอย
- การฉีด fillers ช่วยเติมเต็มร่องใต้ตา
การรักษาเหล่านี้สามารถช่วยลดการบวมห้อยของถุงใต้ตาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น การรักษาถุงใต้ตาแท้ส่วนใหญ่ต้องผ่าตัดเพื่อนำไขมันและผิวหนังส่วนเกินออกจึงจะเห็นผลชัดเจน
วิธีการผ่าตัดตกแต่งหนังตา
การผ่าตัดตกแต่งหนังตา หรือที่เรียกว่า Blepharoplasty เป็นทางเลือกสำหรับผู้มีปัญหาเปลือกตาบนหรือล่าง หรือทั้งสองอย่าง
ปัญหาเปลือกตาบนอาจเกิดจากมีหนังตาชั้นเดียว หรือชั้นตาไม่เท่ากัน หรือหนังตาบนหย่อนคล้อยลงมา ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องความสวยงาม หากหนังตาหย่อนลงมามากจนบังการมองเห็นจึงถือเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ต้องทำการรักษา
ปัญหาเปลือกตาล่าง ได้แก่ การมีหนังตาหย่อนมาก หรือมีถุงใต้ตา ส่วนใหญ่ปัญหาถุงใต้ตาเป็นปัญหาเรื่องความสวยงามเท่านั้น นอกจากในผู้สูงอายุบางรายที่ถุงใต้ตาขนาดใหญ่มากจริงๆ อาจจะมีปัญหากับการสวมแว่นสายตาเพราะขอบเลนส์ด้านล่างไปกดบริเวณนั้นพอดี
การปรึกษาแพทย์ก่อนทำผ่าตัด
การผ่าตัดหนังตา โดยเฉพาะการผ่าตัดถุงใต้ตาหรือเปลือกตาล่าง เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบ่อยกว่าการทำเปลือกตาบน
ควรปรึกษาจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งเสริมสร้าง หรือศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านศัลยกรรมตกแต่งบริเวณดวงตา เพราะการประเมินคนไข้ว่าจะทำผ่าตัดด้วยวิธีใด ต้องอาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์
ในระหว่างการปรึกษาต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า มีโรคทางตาหรือปัญหาทางตาด้วยหรือไม่ เช่น ตาแห้ง ผิวกระจกตาถลอกง่าย ต้อหิน หรือเพิ่งผ่าตัดตา เช่น เลเซอร์รักษาสายตา ผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดต้อหินมา
มีโรคทางกายหรือใช้ยาอะไรเป็นประจำบ้าง เช่นยาแก้ปวดประเภท NSAID ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยาสมุนไพรต่างๆ
การผ่าตัดเปลือกตาล่าง
การผ่าตัดเปลือกตาล่าง และการเข้าแผลผ่าตัดมี 2 วิธี ได้แก่
1. การผ่าตัดเข้าทางเยื่อบุตา ด้านในของเปลือกตา (Transconjunctival lower blepharoplasty)
เรียกว่า การผ่าตัดแบบซ่อนแผลให้อยู่ด้านในเปลือกตา ไม่สามารถมองเห็นจากด้านนอก มักใช้ในรายที่มีปัญหาถุงไขมันยื่นโดยหนังตาไม่หย่อนมาก
ทำโดยการย้ายไขมันในส่วนตาออกมารองร่องลึกรูปโค้งใต้ตา โดยตัดพังผืดระหว่างผิวหนังและกระบอกตาออก เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นรอยลึกใหม่
ผู้สูงอายุที่มีหนังตาหย่อนมาก อาจต้องตัดเนื้อส่วนเกินบ้างบางส่วน โดยรอยแผลจะอยู่บริเวณหางตา ยาว 5-6 มิลลิเมตร
การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ช่วยลดการเกิดปัญหาแผลเป็นดึงรั้งจนเห็นตาขาวและลดผลข้างเคียงจากการตัดผิวหนังมากเกินไป
2. การผ่าตัดผ่านผิวหนัง (Subcutaneous blepharoplasty)
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้มีถุงไขมันใต้ตาและมีผิวใต้ตาหย่อนคล้อยมาก การตัดถุงใต้ตาและหนังส่วนเกินใต้ตาให้เต่งตึงสามารถแก้ไขปัญหาผู้ที่มีถุงใต้ตาและผิวหนังส่วนเกินได้ดี
รอยแผลจากการผ่าตัดผ่านผิวหนังจะซ่อนบริเวณแนวขนตา แพทย์อาจใช้ใบมีดหรือเลเซอร์ในการตัดเลาะผิวหนังส่วนเกินชั้นนอก รวมทั้งไขมันออกไปในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ใต้ตาเรียบเป็นธรรมชาติ การผ่าตัดถุงใต้ตาและหนังส่วนเกินให้ตึง อาจทำได้พร้อมกับการผ่าตัดตกแต่งหนังตาส่วนเกินด้านบนด้วย
ในคนไข้รายที่อยู่ในวัยที่เริ่มมีหนังตาตกแล้ว ก่อนการผ่าตัดถุงใต้ตา แพทย์จะประเมินความแข็งแรงของเอ็นที่ยึดเปลือกตาด้านล่างก่อน หากเอ็นยึดใต้เปลือกตาล่างไม่แข็งแรง แพทย์จะแนะนำให้ทำผ่าตัดเย็บเอ็นตาล่างให้แข็งแรงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เปลือกตาล่างปลิ้นหรือแบะออก
การดูแลหลังการผ่าตัด
แผลผ่าตัดในช่วงเดือนแรกจะเห็นได้ชัด หลังจากนั้นประมาณ 2-3 เดือน จะค่อยๆ จางลงจนไม่เห็น ซึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาที่จะเห็นผลการผ่าตัดตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม การดูแลแผลผ่าตัดในช่วงแรกมีวิธีการดังนี้
- ห้ามแผลโดนน้ำ แนะนำให้ใช้น้ำเกลือสะอาดเช็ดแผล ทำความสะอาดเปลือกตาอย่างเบามือ จนกว่าจะตัดไหม
- แพทย์มักแนะนำให้ประคบน้ำแข็งหรือเจลเย็นจัดในช่วง 48-72 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด เพื่อลดปวดและช่วยให้ยุบบวม ช่วยให้อาการอาการเขียวช้ำหายได้เร็วขึ้น เมื่อเกิน 72 ชั่วโมงค่อยเปลี่ยนเป็นประคบอุ่น เพื่อช่วยลดบวมต่อไป รอยเขียวช้ำมักจะหายไปได้ใน 10 ถึง 14 วัน
- หลีกเลี่ยงการโดนแดดจัด ควรใส่แว่นกันแดดกัน UV
- งดการออกกำลังหนัก หรือการออกกำลังที่มีเหงื่อ เป็นเวลา 1 สัปดาห์
- ไม่ควรขยี้ตาและงดการสูบบุหรี่
- งดใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์
- นอนหัวสูงกว่าระดับหน้าอก 2-3 วัน
- พบแพทย์เพื่อดูแผลและตัดไหมตามนัด
อาการชั่วคราวหลังผ่าตัด
การผ่าตัดถุงใต้ตา ใช้เพียงการฉีดยาชาเฉพาะที่ อาจรู้สึกเจ็บตอนฉีดยาชาบ้าง แต่ในระหว่างทำจะไม่รู้สึกเจ็บ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 45-60 นาทีแล้วแต่ความยากง่าย หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ และกลับมาตัดไหมประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด แต่หลังผ่าตัดอาจมีอาการชั่วคราวดังนี้
- ตามัวมองไม่ชัด เป็นผลจากกระจกตาบวมเล็กน้อยหลังผ่าตัด และอาจมัวจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือน้ำตาเทียมในรูปแบบขี้ผึ้งป้ายตา
- ระคายเคืองตา น้ำตาไหลมาก
- แสบตา ลืมตาไม่ขึ้น มีอาการแพ้แสง
- เห็นภาพซ้อน
- เปลือกตาชาไม่ค่อยมีความรู้สึก
- หนังตาเขียวช้ำ และบวม
- เจ็บระบมที่แผล
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดถุงใต้ตา
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการผ่าตัดเปลือกตาล่างในรายที่มีร่องใต้ตาลึก แพทย์มักใช้วิธีการย้ายไขมันไปรองไว้ที่ร่องใต้ตา เพื่อเติมเต็มให้ร่องนี้ตื้นดูสวยงามขึ้นและมีผลดีคือช่วยยืดอายุผลการรักษาให้อยู่นานขึ้นประมาณ 5-10 ปี
คนไข้บางรายมีร่องแก้ม ซึ่งอยู่ใต้ลงไปจากร่องใต้ตา เกิดจากใบหน้าหย่อนคล้อย การผ่าตัดถุงใต้ตาจะไม่ช่วยให้ร่องแก้มนี้หายไป ถ้าต้องการรักษาจะต้องใช้การผ่าตัดดึงหน้า (Midface lift) หรือ ฉีดไขมัน (Fat Grafting)
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดถุงใต้ตา มีดังนี้
- แผลติดเชื้อ
- มีเลือดออกมากจากการฉีดยาชา
- ตาแห้ง มีอาการระคายเคืองตา บางรายที่ผิวกระจกตาบอบบางหรือแห้งมากอยู่แล้ว อาจมีผิวกระจกตาถลอก ทำให้เกิดอาการแสบตาเคืองตา ลืมตาไม่ขึ้น
- เปลือกตาล่างเปิดมากเกินไป ปิดตาไม่สนิท หลังตัดไหมใหม่ๆแผลอาจจะยังตึง แพทย์อาจจะต้องให้นวดเปลือกตาให้นิ่มและยืด
- เปลือกตาอักเสบเรื้อรัง
- เห็นแผลเป็นชัดเจนใต้ตาดูไม่สวยงาม
- สีเปลือกตาผิดปกติ
- มีความผิดปกติจากการฉีดยาชาบริเวณตาอาจเกิดอันตรายต่อลูกตาเป็นการถาวร (เกิดน้อยมาก)
- ความเสี่ยงจากการได้รับยาชาหรือยาสลบ
- หากหลังผ่าตัดผลไม่เป็นไปตามความคาดหมายหลังพ้น 3 เดือนไปแล้ว อาจต้องมีการผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไข
การผ่าตัดถุงใต้ตา ส่วนใหญ่ผลออกมาดีเป็นที่น่าพอใจ แต่ถือเป็นการผ่าตัดเพื่อความสวยงาม เพื่อให้ดูเยาว์วัย แพทย์มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องโอกาสสำเร็จและความเสี่ยงตามความเป็นจริง เพื่อให้คนไข้ตั้งความคาดหวังได้อย่างถูกต้อง
อย่าลืมว่าแม้หลังผ่าตัดจะดูเด็กลงตามต้องการ แต่วันเวลาก็ไม่หยุดเดิน หลายปีต่อมา อาจจะต้องมีการผ่าตัดซ้ำอีกก็ได้
เขียนบทความโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี