บาดแผลมีกี่แบบ มีวิธีปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อเกิดแผล

บาดแผลมีกี่แบบ ปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อเกิดแผล

คนเราต้องเคยมีแผลกันมาบ้าง เช่น แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง แต่จริง ๆ แล้ว บาดแผลมีหลากหลายแบบมาก ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีวิธีดูแลรักษาที่แตกต่างกันออกไป 

บทความนี้จะพามารู้จักกับบาดแผลประเภทต่าง ๆ รวมถึงการรักษาให้ถูกต้องปลอดภัย ได้ผลดีที่สุด 

บาดแผล คืออะไร 

บาดแผล (Wound) คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อของร่างกายฉีกขาดหรือบาดเจ็บจากหลายสาเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด ถูกของแข็งหรือของหนักเสียดสี ถูกกระแทก ถูกของร้อนหรือของเย็นจัด เนื้อเยื่อไปสัมผัสสารเคมีหรือรังสีที่เป็นอันตราย

ประเภทของบาดแผล

บาดแผลจะจำแนกได้จากทั้งสาเหตุที่เกิด การตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ และลักษณะบาดแผลต่าง ๆ ดังนี้ 

  • แผลฟกช้ำ (Bruise or Contused wound) เรียกได้อีกแบบว่า “แผลปิด (Closed wound)” เพราะเนื้อเยื่อไม่ได้ฉีกขาดหรือเปิดออก แผลฟกช้ำเกิดจากการกระแทก หกล้ม หรือถูกชกต่อยอย่างแรง จนเส้นเลือดใต้ผิวหนังฉีกขาด
    ผิวหนังจะกลายเป็นสีช้ำหรือห้อเลือด ไม่มีรอยกรีด รอยฉีกขาด แต่จะมีอาการเจ็บหรือปวดอยู่ใต้ผิวหนัง
    นอกจากนี้ แผลปิดยังรวมไปถึงกระดูกหัก หรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บด้วย เพราะเป็นการบาดเจ็บภายใน ไม่ได้เห็นชัดเจนจากภายนอกผิวหนัง
  • แผลจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป (Strain) เกิดจากการบิด ยืด หรือใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป รักษาได้จากการนวด ทำกายภาพบำบัด หรือประคบร้อน
  • แผลฉีกขาดของกล้ามเนื้อ (Sprain) อาจมีอาการบวม ช้ำ แต่จะไม่มีเลือดไหลออกมาภายนอก เพราะไม่มีการฉีกขาดของชั้นเนื้อเยื่อ แต่เป็นที่ชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ
    มักเกิดจากอุบัติเหตุจากการออกกำลังกาย หรือถูกกระแทกจนชั้นกล้ามเนื้อและข้อต่อหมุนหรือบิดผิดรูป
  • แผลถลอก (Abrasion wound) เกิดจากการที่หนังกำพร้าหลุดลอกออกไปจนเป็นแผล อาจมาจากถูกของมีคมหรือของแหลมมากระทบ ข่วน หรือผิวหนังไปกระแทก เสียดสีกับพื้นผิวหยาบ ๆ
  • แผลเปิด (Open wound) เกิดจากเนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มร่างกายฉีกขาดจนเห็นชั้นเนื้อเยื่อด้านใน เป็นแผลที่มีเลือดออก ส่วนความลึกของจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น ถูกแทง ถูกของมีคมตัดบาดอย่างแรง
    บางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้อวัยวะใต้ผิวหนังส่วนนั้น ๆ เสียหายได้ด้วย
  • แผลถูกตัด หรือแผลขอบเรียบ (Cut or Incised wound) มักเกิดจากของมีคมบาดผิวหนัง เช่น มีด กรรไกร เศษแก้ว กระจก
    บาดแผลจะมีขอบเรียบ ไม่มีรอยช้ำ แต่จะทำให้รู้สึกเจ็บจากเนื้อเยื่อที่ฉีกขาด ความลึกของแผลจะขึ้นอยู่กับความคมและความรุนแรงตอนโดนบาด
  • แผลถูกแทง (Stab wound) เกิดจากการที่ของมีคมทิ่มแทงลงไปใต้ผิวหนัง เช่น มีด ไม้ปลายแหลม เหล็กแหลม หรือเข็ม
    เป็นแผลที่ควรได้รับการปฐมพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจส่งผลให้อวัยวะภายในบริเวณแผลได้รับบาดเจ็บไปด้วย อาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
    นอกจากนี้ ยังอาจมีเลือดออกจำนวนมากด้วย ซึ่งจะรักษาด้วยการใช้เข็มเจาะตรวจหรือเข็มฉีดยาก็ได้
  • แผลอวัยวะถูกตัดขาด (Amputation wound) เป็นแผลที่ร่างกายถูกของมีคมตัด ถูกบิด กระชาก ดึงอย่างแรงจนอวัยวะหลุด หรือถูกตัดขาดออกไป ทำให้มีเลือดออกจำนวนมาก
  • แผลจากการถูกระเบิด (Blast injury) สาเหตุหลัก ๆ มาจากการถูกแรงระเบิด ประทัด หรือดินระเบิด ทำให้เนื่อเยื่อฉีกขาดและช้ำจนเป็นแผลขนาดใหญ่ หรืออาจเป็นแผลลึกไปถึงชั้นกระดูก มีเลือดออกจำนวนมาก
  •  แผลกระดูกหัก (Fracture) เกิดได้กับกระดูกทุกส่วนของร่างกาย แต่มักเกิดบริเวณกระดูกแขน กระดูกขา มักเกิดจากอุบัติเหตุ การตกจากที่สูง การถูกกระแทกอย่างแรง และการถูกทำร้ายร่างกาย
  •  แผลจากความเย็น หรือความร้อนจัด (Burn or Frostbite) เช่น น้ำร้อนลวก การสัมผัสถ้วยหรือหม้อใส่น้ำแกงร้อน ๆ เตาแก๊ส รวมไปถึงสารเคมี พลังงานรังสี กระแสไฟฟ้า

เกิดบาดแผล ปฐมพยาบาลอย่างไรได้บ้าง  

เมื่อมีแผล เราต้องรีบรักษา เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตนเอง และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาทีหลัง ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้  

  • ห้ามเลือด (Hemostasis) เพื่อไม่ให้ร่างกายเสียเลือดไปมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกับบาดแผลขนาดใหญ่ ปากแผลลึก หรือเส้นเลือดและอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย
    เพราะถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือเสียเลือดมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการตกเลือด ช็อก และเสียชีวิตได้ในที่สุด
  • ทำความสะอาดแผล (Cleansing) เพื่อป้องกันการอักเสบ การติดเชื้อ และยังช่วยลดอาการเจ็บปวดได้อีกด้วย
    หลังจากทำความสะอาดแผลแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทารอบแผลประมาณ 2 นิ้วเป็นวงกว้าง แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซเพื่อป้องกันเชื้อโรค
    หากแผลอยู่บริเวณศีรษะ หรือบริเวณที่มีขน อาจต้องโกนเส้นผม หรือเส้นขนรอบ ๆ ออก เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดแผล และลดโอกาสการสะสมของเชื้อแบคทีเรียรอบ ๆ แผล
  • สำรวจภายในบาดแผล (Wound exploration) ตรวจดูแผลด้วยตาเปล่าว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ เช่น เศษไม้ เศษกระจก เศษโลหะ หรือเศษดิน ถ้าไม่มั่นใจ ให้นำตัวคนที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูทางรังสีอย่างละเอียด
    ห้ามแคะ แกะ หรือเอานิ้วล้วงเข้าไปในแผลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ยิ่งได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดการติดเชื้อได้
  • การตัดเนื้อตาย และนำสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล (Debridement) สิ่งแปลกปลอมภายในแผลจะทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น และแผลอักเสบรุนแรงกว่าเดิม ปกติแล้ว แพทย์จะหลีกเลี่ยงการตัดเนื้อชิ้นที่ดีออก เพื่อป้องกันไม่ให้แผลมีขนาดใหญ่กว่าเดิม
    นอกจากนี้ ถ้าพบว่าขอบบาดแผลมีอาการช้ำมาก ๆ แพทย์อาจต้องตัดขอบบาดแผลเข้ามาประมาณ 1–2 มิลลิเมตรก่อนเย็บแผล จะได้ไม่เกิดเนื้อเยื่อตายภายหลังอาการฟกช้ำ
  • เย็บปิดแผล (Wound closed) ควรเย็บปิดแผลภายใน 6 ชั่วโมงตั้งแต่ได้รับบาดเจ็บ แต่ถ้าแผลสกปรกมาก ๆ ควรทำความสะอาดและเย็บปิดภายใน 3 ชั่วโมง ส่วนเป็นแผลขนาดเล็ก หรือไม่ได้ลึกจนต้องเย็บ แค่แปะปลาสเตอร์ปิดแผลก็เพียงพอแล้ว 

นอกจากนี้ ถ้ามีบาดแผลเปิด และยังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน ให้ไปหาหมอเพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน 

หรือใครที่เคยฉีดมาครบ 3 เข็มแล้ว แต่ฉีดมานานกว่า 3 ปี ก็ควรไปหาหมอเหมือนกัน จะได้พิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้น 

ส่วนคนที่แผลลุกลามจนบาดเจ็บที่กระดูก ต้องรีบหาหมอทันที เพื่อขอรับการรักษากระดูกหรือไขข้อ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือการอักเสบที่ลุกลามไปจนถึงกระดูกด้าน และอาจทำให้เสียอวัยวะได้

แผลหายช้า เกิดจากอะไร 

ในบางกรณี แม้จะปฐมพยาบาลหรือรักษาแล้ว แผลก็อาจหายช้าลง อักเสบ หรือติดเชื้อได้ ถ้าดูแลรักษาได้ไม่ดีพอ เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น 

  • มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในแผล เช่น เศษไม้ เศษดิน เศษกระจก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ อาจทำให้แผลติดเชื้อหรืออักเสบ และยังทำให้คอลลาเจน ซึ่งมีหน้าที่ฟื้นฟูผิวไม่ให้เป็นแผล ทำงานได้ไม่ดีด้วย 
  • การเย็บแผลที่แน่นหรือหลวมเกินไป ส่งผลให้แผลติดแน่นเกิน หรือหลวมเกิน จนขอบแผลแยกออกจากกัน ทำให้เลือดต้องไปเลี้ยงแผลใหม่อีกครั้ง
  • เลือดไปเลี้ยงแผลไม่ดีพอ ทำให้กระบวนการสมานบาดแผลไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ โดยสาเหตุที่เลือดไปเลี้ยงแผลได้ไม่ดีพอนั้น อาจมาจากการเย็บแผลแน่นเกินไป หรือแผลถูกกดทับ 
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus) ที่มีส่วนทำให้เม็ดเลือดขาวใช้เวลาฆ่าเชื้อโรคนาน และสมานแผลช้ากว่าปกติ
  • เนื้อตาย จะทำให้แผลอักเสบนานกว่าเดิม เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวต้องคอยกำจัดเนื้อตายออก กลายเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตมากกว่าเดิม
  • มีอาการห้อเลือดบริเวณพังผืดกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อใต้แผล เป็นแหล่งอาหารชั้นดีต่อเชื้อแบคทีเรีย และทำให้แผลติดเชื้อ ระยะเวลาของการสมานแผลจึงยืดยาวออกไปอีก

วิธีดูแลแผลติดเชื้อ

ถ้าดูแลทำความสะอาดแผลได้ไม่ดีพอ จะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเติบโตในเนื้อเยื่อของแผล จนกระบวนการสมานแผลทำงานช้าลง และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงก็ถูกทำลายไปด้วย

ลักษณะแผลที่ติดเชื้อ มีดังนี้ 

  • รู้สึกอุ่นหรือร้อนรอบ ๆ ตัวแผล
  • มีกลิ่น หนอง หรือของเหลวสีเขียวไหลออกมาจากแผล
  • มีรอยแดงเกิดขึ้นที่ขอบรอบ ๆ แผล
  • รู้สึกเจ็บและปวดแผลมาก
  • บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย

ดังนั้น ถ้าแผลเกิดการติดเชื้อ ควรดูแลแผลตามคำแนะนำต่อไปนี้

  1. ล้างมือก่อนเริ่มทำความสะอาดแผล และฟอกสบู่ฆ่าเชื้อก่อนด้วย
  2. เช็ดมือให้แห้งก่อนเสมอ 
  3. เริ่มล้างแผลด้วยน้ำอุ่นสะอาดและสบู่อ่อน ๆ หลีกเลี่ยงการทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวลงที่ไปที่แผล
  4. ถ้าแผลมีหนองไหลออกมา ให้เช็ดน้ำหนองออกให้หมด
  5. ใช้เครื่องมือทำความสะอาดแผลที่มีลักษณะเป็นคีมคีบ เพื่อนำมาเขี่ยและหยิบสิ่งสกปรกออกจากแผล ควรทำอย่างระมัดระวังและนิ่มนวล ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์สัมผัสถูกแผลแรง ๆ จนบาดเจ็บ
  6. ทายาฆ่าเชื้อในรูปแบบยาทาหรือเจลปิโตรเลียมลงไปที่แผล
  7. ปล่อยให้แผลแห้งจากอากาศ อย่าปิดแผลให้แผลอับชื้น เมื่อแผลแห้งดีแล้ว ให้ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ

แอลกอฮอล์ล้างแผล ใช้อย่างไร 

หลายคนยังเข้าใจผิดว่า ถ้าเป็นแผล ก็ต้องใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เชื้อโรคจะได้ไม่เข้าไปในแผล  ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด และการใช้แอลกอฮอล์ลักษณะนั้นยังจะทำให้แสบร้อนบริเวณแผลมากด้วย

วิธีใช้แอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง คือการเช็ดรอบ ๆ แผล ไม่ใช่ทาลงไปที่แผล เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่รอบ ๆ แผลให้หมด ส่วนการล้างแผลที่เหมาะสม ควรใช้น้ำเกลือหรือน้ำต้มสะอาดเท่านั้น

เป็นแผลรุนแรงแค่ไหน ควรไปหาหมอ 

ถ้าดูแลบาดแผลตามคำแนะนำแล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น และยังมีอาการต่อไปนี้ ควรให้หมอช่วยตรวจสอบว่า บาดแผลดังกล่าวมีการลุกลาม อักเสบ หรือติดเชื้อในระดับใด เช่น

  • แผลขยายใหญ่และลึกกว่าเดิม
  • แผลเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือมีลักษณะคล้ายผื่นขึ้นรอบ ๆ แผล
  • ขอบแผลยังมีเนื้อเยื่อเปื่อยยุ่ยอยู่
  • มีหนอง หรือน้ำสีเขียวไหลออกมา แม้จะทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ตาม
  • ยังคงมีสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ทำให้เกิดแผลติดอยู่ข้างในแผล
  • มีไข้สูงแม้จะไม่ได้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการมีบาดแผล 

ถ้าไม่รีบรักษา จากแผลบาดเจ็บธรรมดา อาจลุกลามกลายเป็นอาการแทรกซ้อนได้ เช่น

  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) มาจากการติดเชื้อใต้ผิวหนัง
  • ภาวะกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) เกิดจากการติดเชื้อที่ชั้นผิวหนัง แล้วลุกลามลงไปถึงชั้นกระดูก
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) เกิดจากการติดเชื้อของแผล ส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายกำจัดเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียได้ไม่ดีพอ ทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดด้วย
  • โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) เป็นภาวะที่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปกัดกินผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณที่มีแผล ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น
  • แผลเป็น (Scar) ไม่ว่าบาดแผลจะหายเองโดยธรรมชาติหรือจากหมอรักษา ก็จะทิ้งร่องรอยแผลเป็นเอาไว้ โดยจะเป็นเยอะหรือเป็นน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการสร้างคอลลาเจนนั่นเอง 

หลาย ๆ คนอาจคิดว่า แผล คือเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องรักษาอะไรมากมาย เดี๋ยวเดียวก็หาย แต่จริง ๆ แล้ว ถ้ายิ่งขาดความใส่ใจ หลายคนจึงมีแผลเป็นติดตัว ทิ้งรอยไว้นาน หรืออาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ลุกลามมาจากหลาย ๆ บาดแผลได้ 

แม้ในปัจจุบันจะมีนวัตกรรมเลเซอร์แก้ไขปัญหารอยแผลเป็นและการฉีดยาแผลเป็นคีลอยด์แล้ว แต่ผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึกของแผลเป็นด้วยเช่นกัน

แผลเป็นบางแผล ใช้เวลารักษาไม่นานก็หายเป็นปกติ แต่บางที แผลเป็นก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด แต่ยังพอมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้าง

ดังนั้น เมื่อเป็นแผล ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร ทุกคนควรทำความสะอาดและดูแลแผลให้หายดีโดยเร็ว หรือถ้าไม่มั่นใจว่าจะดูแลแผลอย่างไรดี ก็ควรให้หมอรักษาให้ และเรียนรู้วิธีดูแลแผลเองอย่างเหมาะสมต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top