Default fallback image

รู้จักมะเร็งปอดชนิด NSCLC และ SCLC ภัยเงียบใกล้ตัว

“มะเร็งปอด” โรคที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่กลับกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย บางชนิดของมะเร็งปอดเกิดอย่างช้า ๆ กลับกันบางชนิดลุกลามไวจนน่ากังวล และอาการยังไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ป่วยมักรู้ตัวเมื่อมะเร็งปอดเข้าสู่ระยะที่รุนแรงแล้ว 

บทความนี้จะชวนคุณมารู้จักกับโรคมะเร็งปอดให้มากขึ้น มะเร็งปอด คืออะไร มีกี่ชนิด ชนิดใดที่พบบ่อย และวิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยง เพราะการรู้เท่าทันและเข้าใจโรคคือ ก้าวแรกของการป้องกันโรคที่ดี

มะเร็งปอด และชนิดของมะเร็งปอด 

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับปอด โดยเริ่มจากเซลล์ในหลอดลมหรือถุงลมของปอดเจริญเติบโตอย่างผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ กลายเป็นก้อนมะเร็งที่แพร่กระจายในปอดและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย 

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะเซลล์มะเร็ง ได้แก่

1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non–small cell lung cancer: NSCLC)

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กเป็นมะเร็งปอดที่พบมากที่สุด ประมาณ 85–90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด การเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า แต่ตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดี ทำให้มีโอกาสรักษาให้หายได้หากตรวจเจอแต่เนิ่น ๆ 

 มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กยังแบ่งได้เป็นหลายชนิดย่อย ได้แก่ 

  • มะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma: เป็นชนิดที่พบบ่อยสุดของโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มีจุดเริ่มตรงผิวปอด ในหลอดลมและถุงลมปอด มักพบในคนสูบบุหรี่มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะคนอายุน้อยในช่วง 30–40 ปี 
  • มะเร็งปอดชนิด Squamous cell carcinoma: มีจุดเริ่มตรงกลางปอด ใกล้กับหลอดลมขั้วปอด พบมากในคนสูบบุหรี่ 
  • มะเร็งปอดชนิด Large cell carcinoma: สามารถเกิดได้ทุกส่วนของปอด และมักแพร่กระจายได้เร็วกว่าชนิดอื่น

นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กชนิดอื่น ๆ แต่พบไม่บ่อย เช่น มะเร็งปอดชนิด Sarcomatoid carcinoma และมะเร็งปอดชนิด Adenosquamous carcinoma 

2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer: SCLC)

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กจะพบได้น้อยกว่า หรือประมาณ 10–25% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด  แต่มีความรุนแรงมากกว่า และมีแนวโน้มแพร่กระจายได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่พบในคนที่สูบบุหรี่

อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งปอดระยะแรก  

มะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มมักไม่มีอาการ เมื่อโรคลุกลามแล้วถึงเริ่มมีอาการมากขึ้น แต่อาการก็มักไม่เฉพาะเจาะจง ไม่ก็คล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ 

อาการมะเร็งปอดทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น 

  • ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะหรือไม่มี บางคนอาจไอมีเลือดปนในเสมหะ
  • หายใจผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจสั้น
  • เจ็บหน้าอกตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนหายใจลึก ๆ ไอ หรือเคลื่อนไหว
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยนไปจากเดิม
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้จะพักผ่อนเพียงพอ
  • เบื่ออาหาร 
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ อย่างปอดบวม
  • อาการอื่น ๆ เช่น กลืนลำบาก มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง ปวดกระดูก

อาการในข้างต้นอาจเป็นได้ทั้งโรคมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ หากมีอาการในข้างต้น ควรไปตรวจกับแพทย์ให้แน่ชัด

สาเหตุก่อมะเร็งปอด 

หลายคนพอจะทราบมาบ้างแล้ว การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานาน เช่น คนที่สูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน เป็นระยะเวลา 20 ปี จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ และปัจจัยเสี่ยงที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ได้แก่

  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะญาติสายตรง หรือเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย ๆ แม้ไม่สูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้
  • อายุมาก ความเสี่ยงของมะเร็งปอดจะเพิ่มตามอายุ ส่วนใหญ่จะเริ่มมีความเสี่ยงหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบในคนอายุน้อยกว่านั้นได้เช่นกัน
  • การกลายพันธุ์ของยีนบางชนิดในร่างกาย เช่น ยีน EGFR หรือยีน ALK ทำให้เซลล์เติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็งปอด 
  • ฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งปอดมากถึง 1–1.4 เท่า เนื่องจากการสูดดมฝุ่น PM 2.5 ไปในปอดโดยตรงจะทำให้เกิดการอักเสบในทางเดินหายใจ  
  • การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม แร่ใยหิน แร่เรดอน ควันถ่านหิน นิกเกิล ส่งผลให้ต้องสูดดมสารพิษและมลภาวะเหล่านั้นเข้าสู่ปอด
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด เช่น การใช้ยาเสพติดบางประเภท ภาวะขาดวิตามินเอ หรือโรคปอดบางโรค อย่างโรคถุงลมโป่งพอง

รู้ได้อย่างไรเป็นมะเร็งปอด 

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำหรือ Low–dose CT Scan มักแนะนำให้คนกลุ่มเสี่ยงสูงต่อมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจ โดยเฉพาะคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด ผู้สูงอายุ เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด 

สำหรับคนที่มีอาการเข้าข่ายมะเร็งปอดแล้ว แพทย์จะต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด และอาจตรวจเพิ่มเติมตามความผิดปกติที่ตรวจเจอ ก่อนยืนยันผลการตรวจ เช่น

  • การตรวจทางรังสี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อหาตำแหน่งและขนาดก้อนเนื้อผิดปกติในปอด หรือการตรวจด้วยเครื่องเพท/ซีทีสแกน (PET/CT Scan) เพื่อค้นหาความผิดปกติของปอดในระดับโมเลกุล 
  • การตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อนำของเหลวหรือเนื้อเยื่อที่สงสัยออกมาวิเคราะห์ ทำได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องภายในหลอดลมปอด (Bronchoscopy) การส่องกล้องในช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy) การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดผ่านผนังทรวงอก (Thoracentesis) 
  • การตรวจยีนกลายพันธุ์ของมะเร็งจากชิ้นเนื้อหรือเลือด หากพบยีนกลายพันธุ์สามารถใช้ยาแบบเฉพาะเจาะจงยีน เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุด

ระยะของมะเร็งปอด

ระยะของมะเร็งปอดจะพิจารณาจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง การทำงานที่ผิดปกติของเซลล์หรืออวัยวะร่างกาย ซึ่งระยะของมะเร็งมีความสำคัญกับการรักษา เพราะจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษา และเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม 

มะเร็งปอดชนิด NSCLC แบ่งเป็น 4 ระยะ 

  • ระยะที่ 1 พบก้อนอยู่ในปอด ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และ ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมา
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร มีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองตรงขั้วปอด เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก และผนังหน้าอก
  • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แพร่กระจายไปที่ปอดกลีบอื่นในข้างเดียวกัน ต่อมน้ำเหลืองกลางช่องอก หรือไกลออกไปจากช่องอกข้างนั้น 
  • ระยะที่ 4 มะเร็งกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ต่อมหมวกไตและสมอง 

มะเร็งปอดชนิด SCLC  แบ่งเป็น 2 ระยะ 

  • ระยะที่ 1 หรือระยะจำกัด (Limited stage) เซลล์มะเร็งอยู่ในปอดและต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวเท่านั้น
  • ระยะที่ 2 หรือระยะลุกลาม (Extensive stage) เซลล์มะเร็งกระจายออกนอกทรวงอก หรือกระจายไปที่อวัยวะอื่นของร่างกาย

มะเร็งปอดรักษาได้ไหม รักษาอย่างไร

วิธีรักษามะเร็งปอดหลักมีอยู่ 3 วิธี คือ

การผ่าตัดมะเร็งปอด
การผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกจากร่างกายจะช่วยรักษาโรคให้หายขาด มักใช้ในการรักษามะเร็งปอดระยะที่ 1 และ มะเร็งปอดระยะที่ 2 เป็นหลัก ส่วนมะเร็งปอดระยะที่ 3–4 อาจใช้รักษาร่วมกับเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือฉายแสง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

การฉายแสงหรือการฉายรังสี
เป็นการใช้พลังงานรังสีเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งนั้น หรือควบคุมการลุกลามของมะเร็ง มักใช้รักษามะเร็งปอดที่ไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ใช้เป็นการรักษาเสริม หรือการรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม 

การใช้ยา
แบ่งเป็นเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด มักใช้ในการรักษามะเร็งปอดระยะที่ 2–4 ส่วนมะเร็งปอดระยะที่ 1 อาจต้องดูเป็นกรณีไป

วิธีลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอด 

มะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการในระยะแรก พออาการรุนแรงมากขึ้น อาการอาจไม่เฉพาะเจาะจง คล้ายกับโรคอื่น หรือไม่เกี่ยวกับมะเร็งปอดก็ได้ ทำให้กว่าจะตรวจเจอโรคก็เข้าสู่ระยะท้ายแล้ว ส่งผลไปถึงการวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า โอกาสในการรักษาตัวน้อยลง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

ทางที่ดีควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรคให้ได้มากที่สุด โดยเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่ สถานที่ที่มีฝุ่นควันมาก หรือมลพิษทางอากาศสูง หากต้องทำงานในสภาพแวดล้อมไม่ดี ควรใสเครื่องมือป้องกันตนเอง

ดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น โดยออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ 

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอด เช่น อายุเยอะ สูบบุหรี่จัดหรือเลิกสูบบุหรี่ไม่ถึง 15 ปี ได้รับควันบุหรี่มือสอง สัมผัสฝุ่นควันหรือมลพิษทางอากาศ ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี หรือคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ และตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

การคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำหรือ Low-dose CT Scan เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บตัว สามารถตรวจหาความผิดปกติในปอดได้ตั้งแต่ระยะแรก ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา และหายขาดจากมะเร็งได้ 

อายุมาก มีความเสี่ยงมะเร็งปอดข้อใดข้อหนึ่ง อย่ารอให้อาการมาเตือน! ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดดีกว่า คลิกดูแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ราคาโปรเฉพาะที่ HDmall.co.th 

Scroll to Top