“มะเร็ง” เป็นภัยเงียบที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้โดยไม่ทันตั้งตัว ยิ่งรู้เร็วเท่าไร โอกาสรักษาให้หายขาดยิ่งมีมากขึ้น ปัจจุบันมีวิธีตรวจหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็งที่สะดวก และเจ็บตัวน้อย เพียงแค่ตรวจเลือด หรือที่เรียกว่า การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือตรวจเลือดหามะเร็ง ช่วยให้เรารู้แนวโน้มการเกิดมะเร็งหลายชนิดได้เร็วขึ้น ส่งผลดีต่อการรักษา และยังลดอัตราการเสียชีวิตการจากการตรวจพบมะเร็งในภายหลังได้ด้วย
สารบัญ
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง คืออะไร
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเป็นการตรวจวิเคราะห์เลือด เพื่อค้นหาสารบางชนิดที่เซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ ผลิตออกมา หรือจากร่างกายเราเองตอบสนองต่อการเกิดมะเร็ง
เช่น สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง (DNA, RNA) โปรตีน ฮอร์โมน หรือเอนไซม์ที่ไม่เหมือนกับเซลล์ปกติ สารเหล่านี้เรียกรวมว่า สารบ่งชี้มะเร็งหรือ Tumor markers ซึ่งสามารถพบได้ในเซลล์และบนผิวของเซลล์ สารคัดหลั่ง และเลือดของเราด้วย
การตรวจเลือดแล้วพบสารเหล่านี้ เหมือนกับการตรวจคัดกรองโรคร้ายเบื้องต้น ช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้นั่นเอง
นอกจากคัดกรองความเสี่ยงในคนที่ไม่เคยเป็นมะเร็งแล้ว ยังช่วยติดตามผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง และช่วยเฝ้าระวังการเกิดซ้ำของมะเร็งหลังการรักษาจบลงแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งมักต้องทำควบคู่กับวิธีการตรวจอื่น ๆ เพื่อให้ผลตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจทางรังสี การตรวจอัลตราซาวด์
ประโยชน์และข้อดีของการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง
การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งมีข้อดีทางการแพทย์อยู่หลายอย่าง
- วินิจฉัยโรคมะเร็งบางชนิด มะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งตับ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง ร่วมกับการซักประวัติ และการตรวจทางการแพทย์อื่น ๆ โดยไม่ต้องตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ซึ่งปกติแล้วมักเป็นวิธียืนยันผลการเป็นมะเร็ง
- คัดกรองมะเร็งบางชนิดในคนความเสี่ยงสูง ช่วยคัดกรองมะเร็งบางชนิดในคนที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะมะเร็งตับ และมะเร็งต่อมลูกหมาก
- เพิ่มโอกาสในการรักษา: การตรวจเจอเซลล์มะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด และมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูง
- วางแผนการรักษา: ผลการตรวจบอกข้อมูลหลายอย่าง ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการรักษา โดยช่วยประเมินความรุนแรงของโรค ระยะของโรค และช่วยเลือกวิธีรักษามะเร็งให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
- ติดตามผลการรักษา: การตรวจสามารถใช้ติดตามประสิทธิภาพของการรักษามะเร็ง และตรวจสอบว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ ถ้าสารบ่งชี้มะเร็งลดลง แสดงถึงผลการรักษาดี กลับกันสารบ่งชี้มะเร็งที่เพิ่มขึ้นอาจบอกถึงการกลับมาเป็นใหม่ของมะเร็ง
- ทำได้ง่าย รวดเร็ว เจ็บตัวน้อย: การตรวจเลือดสามารถทำได้ง่าย มีความรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดหรือกระบวนการวินิจฉัยที่ซับซ้อน
การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง เหมาะกับใคร
ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเอื้อต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น โดยเฉพาะ
- เคยเป็นมะเร็งหรือมีประวัติมะเร็งในครอบครัว: หากครอบครัวเคยมีคนเป็นมะเร็ง ควรตรวจเพื่อค้นหาความเสี่ยงในระยะเริ่มต้น และคนที่เคยเป็นมะเร็งควรตรวจ เพื่อเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำ
- มีปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน: พฤติกรรมในชีวิตประจำวันและสภาพแวดล้อมบางอย่าง อาจเป็นปัจจัยเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำงานในสภาพแวดล้อมเสี่ยง
- พบอาการผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ: ถ้ามีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดโดยไม่มีสาเหตุ หรือหาสาเหตุไม่เจอ เช่น น้ำหนักลด มีเลือดออกที่อวัยวะต่างๆ ควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด
- อายุเยอะ: การตรวจคัดกรองตามความเสี่ยงในแต่ละช่วงอายุมีความสำคัญ เพราะอายุที่มากขึ้นหมายถึงโอกาสพบมะเร็งมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง ทำอย่างไร
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก เจ็บปวดน้อย และรู้ผลได้ในเวลาอันสั้น วิธีการตรวจเหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไป เพียงแค่เจาะเลือดเล็กน้อย นำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ แล้วรอฟังผล
นอกจากการตรวจเลือดแล้ว คุณหมอจะสอบถามข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ และอาจแนะนำให้ตรวจอย่างอื่น เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับผลเลือดด้วย เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจอุจจาระ การตรวจน้ำลาย หรือการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง คัดกรองมะเร็งอะไรได้บ้าง
การตรวจเลือดสามารถตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งได้มากกว่า 10 ชนิด เช่น
- PSA (Prostatic specific antigen): ใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ยังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นมะเร็งได้ทันที เพราะอาจผลิตขึ้นจากเซลล์ปกติหรือเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก มักแนะนำให้ตรวจควบคู่กับการคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
- AFP (Alpha fetoprotein): ใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี มักแนะนำให้ตรวจทุก 3–6 เดือน ร่วมกับการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง และอาจใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลูกอัณฑะ หรือมะเร็งรังไข่
- CA19-9 (Cancer antigen 19-9): ใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อน แนะนำให้ทำร่วมกับซีทีสแกน (CT scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) และอาจใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งในทางเดินอาหารอื่น ๆ มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม
- CEA (Carcinoembryonic antigen): ใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ และมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะภาวะที่มะเร็งแพร่กระจาย มักแนะนำให้ตรวจร่วมกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และอาจใช้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งชนิดอื่นที่พบได้น้อยกว่า เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งรังไข่
- CA15-3 (Cancer antigen 15-3): ใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม ใช้ติดตามมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายหรือกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง ควรตรวจร่วมกับแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์ และอาจใช้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งอื่น อย่างมะเร็งรังไข่
- CA125 (Cancer antigen 125): ใช้ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ ติดตามระยะและการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งรังไข่ แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์ควบคู่ไปด้วย และอาจใช้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งอื่น เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งในทางเดินอาหาร และมะเร็งปอด
- HCG (Human chorionic gonadotropin): พบได้ในรกและหญิงตั้งครรภ์ ปกติใช้ตรวจสอบการตั้งครรภ์ ถ้าค่า HCG สูงในคนทั่วไป อาจบ่งบอกถึงมะเร็งปากมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งปอด
- NSE (Neuron specific enolase): มักตรวจพบในมะเร็งของระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก
- PAP (Prostatic acid phosphatase): มักตรวจพบค่า PAP สูงในคนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคต่อมลูกหมากโต ตับแข็ง กระดูกพรุน
- HGH (Human growth hormone): สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด มักจะตรวจควบคู่กับการตรวจหาค่า NSE
- Ferritin: สัมพันธ์กับมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ ถ้าตรวจพบค่า CEA พร้อมกันอาจบ่งบอกถึงมะเร็งเต้านม
- Thyroglobulin: ใช้ติดตามในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ประเมินผลการรักษาหรือตรวจการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งต่อมไทรอยด์
- LDH (Lactate dehydrogenase): ไม่เจาะจงมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ใช้ตรวจหาเซลล์ผิดปกติในร่างกาย และติดตามการรักษามะเร็งบางชนิด
อย่างไรก็ตาม บางครั้งค่าผิดปกติที่ตรวจพบอาจเกิดจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ ไม่ใช่มะเร็งเสมอไป การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง ควรได้รับการแปลผลและวินิจฉัยโรคโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ
รวมถึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด แล้วนำมาพิจารณาร่วมกับประวัติของผู้ป่วย และมีการตรวจซ้ำเป็นระยะ (Follow up) เพื่อความแม่นยำและถูกต้องของผลตรวจ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็ง
การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งมีข้อจำกัดและข้อควรรู้บางประการ ดังนี้
- สารบ่งชี้มะเร็งไม่ได้ยืนยันผลการเป็นมะเร็ง: การตรวจเจอสารบ่งชี้มะเร็งผิดปกติเพียงอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าเป็นมะเร็งเสมอไป บางครั้งภาวะอักเสบ ติดเชื้อ หรือโรคอื่น ๆ อาจทำให้ตรวจพบสารบ่งชี้มะเร็งได้ จึงต้องมีการตรวจอื่นเพิ่มเติม และมีการติดตามผลเป็นระยะ
- สารบ่งชี้มะเร็งไม่ได้เป็นตัวบอกชนิดของมะเร็งเสมอไป: มะเร็งหลายชนิดสร้างสารบ่งชี้มะเร็งชนิดเดียวกันได้ การตรวจค่าเหล่านี้อย่างเดียว บอกชนิดของมะเร็งไม่ได้แน่ชัด จำเป็นต้องตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย
- วิธีการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งส่งผลต่อผลการตรวจ: ระดับสารบ่งชี้มะเร็งที่ตรวจด้วยวิธีที่ต่างกัน ใช้ชุดน้ำยาตรวจต่างกัน หรือทั้งสองอย่าง อาจส่งผลให้ค่าที่แตกต่างกัน ควรใช้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการหรือสถานพยาบาลเดียวกันทุกครั้ง
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งเป็นวิธีที่ช่วยให้เราเฝ้าระวังสุขภาพได้ง่าย ๆ คนที่มีความเสี่ยงสามารถปรึกษาคุณหมอถึงการตรวจแบบไหนที่เหมาะกับความเสี่ยงตัวเอง และควรสอบถามถึงข้อดีและข้อจำกัดของการตรวจด้วย เพื่อผลการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำ
มะเร็งเกิดได้แบบไม่รู้ตัว ค้นหาความเสี่ยงได้ก่อนใคร จองเลยที่ HDmall.co.th รวมแพ็กเกจตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งหลายชนิดให้คุณหมดกังวล