ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) เป็นยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) สังเคราะห์ ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของร่างกาย ใช้รักษาโรคหลากหลายชนิด เช่น ข้ออักเสบ โรคผิวหนังอักเสบชนิดแห้งฝ่อ (Lichen sclerosus) โรคลูปัส (Lupus / SLE: Systemic Erythematosus หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ผื่นคัน สะเก็ดเงิน อาการแพ้ ลำไส้อักเสบจากแผลในลำไส้ โรคแผลร้อนใน ยานี้ใช้รักษาโรคหืดกำเริบเฉียบพลันไม่ได้ ถ้าโรคแสดงอาการแล้ว
สารบัญ
- สรรพคุณยา Triamcinolone ใช้รักษาโรคอะไร
- กลไกการออกฤทธิ์ของยา Triamcinolone
- รูปแบบยา Triamcinolone
- ปริมาณการใช้ยา Triamcinolone
- ข้อแนะนำในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (ยาทา)
- ข้อควรระวังในการใช้ยา Triamcinolone
- การใช้ยา Triamcinolone ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
- ถ้าลืมรับประทานยา Triamcinolone ต้องทำอย่างไร
- ผลข้างเคียงจากยา Triamcinolone
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล
สรรพคุณยา Triamcinolone ใช้รักษาโรคอะไร
- ภาวะผิวหนังอักเสบ
- อาการแพ้และอาการอักเสบของโรค
- โรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์
- แผลในปาก
- อาการอักเสบของดวงตา
- โรคข้ออักเสบ
- โรคข้อต่อหัวไหล่อักเสบ เอ็นอักเสบ
- อาการคัดจมูกจากภูมิแพ้
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Triamcinolone
Triamcinolone จะช่วยชะลอการทำงานของเม็ดเลือดขาว ทำให้การอักเสบลดลง (Anti-inflammatory) และส่งผลด้านการกดภูมิคุ้มกัน ผ่านการลดปริมาณในการทำงานของระบบน้ำเหลือง ซึ่งจะลดการอักเสบและอาการปวดจากโรคต่างๆ โดยการลดการปล่อยสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
รูปแบบยา Triamcinolone
Triamcinolone มี 3 รูปแบบ ได้แก่ ยารับประทาน ยาฉีด และยาทา
สำหรับยาทา มีทั้งแบบครีม โลชั่นทาผิวหนัง ยาขี้ผึ้งป้ายปาก โดยลักษณะการใช้งานจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค
ปริมาณการใช้ยา Triamcinolone
โรคข้ออักเสบ
ใช้เป็นรูปแบบ ยาฉีดเข้าข้อ ให้ฉีดลงข้อ โดยทิ้งระยะห่างแต่ละครั้ง 3–4 สัปดาห์ โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
Triamcinolone hexacetonide
- ข้อขนาดเล็ก: ขนาดยา 2–6 มิลลิกรัม
- ข้อขนาดกลาง: ขนาดยา 5–10 มิลลิกรัม
- ข้อขนาดใหญ่: ขนาด 10–20 มิลลิกรัม
Triamcinolone acetonide
- ข้อขนาดเล็ก: ขนาดยา 5–10 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุด 80 มิลลิกรัม
- ข้อขนาดใหญ่: ขนาดยา 40 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุด 80 มิลลิกรัม
เด็ก อายุ 3–12 ปี
Triamcinolone hexacetonide สำหรับการปวดข้อในเด็ก ชนิดไม่ทราบสาเหตุ
- ข้อบริเวณมือและเท้า ข้อขนาดเล็ก ขนาดยา 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และข้อขนาดใหญ่ ขนาดยา 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ข้อกลางนิ้ว (Proximal interphalangeal joints) ขนาดยา 0.6 ถึง 1 มิลลิกรัม
- ข้อโคนนิ้วมือ (Metacarpophalangeal) และข้อโคนนิ้วเท้า (Metatarsophalangeal): ขนาดยา 1–2 มิลลิกรัม
ภาวะผิวหนังอักเสบ
ใช้เป็นรูปแบบ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
- Triamcinolone hexacetide ให้ขนาดยาได้ถึง 500 ไมโครกรัมต่อตารางนิ้ว หรือประมาณ 80 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตรของพื้นที่ผิวหนัง
- Triamcinolone diacetate ขนาด 5–25 มิลลิกรัม โดยแบ่งฉีดครั้งละไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตรของพื้นที่ผิวหนัง
- Triamcinolone acetonide ขนาด 1–3 มิลลิกรัมต่อบริเวณ ขนาดยาสูงสุด 5 มิลลิกรัมต่อบริเวณ ขนาดยาสุทธิสูงสุด 30 มิลลิกรัม
อาการแพ้และอาการอักเสบของโรค
ใช้เป็นรูปแบบ ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
เด็กอายุ 6–12 ปี และผู้ใหญ่
Triamcinolone acetonide ขนาดยาเริ่มต้น 40 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก (Gluteal muscle) บริหารยาซ้ำได้ตามความจำเป็นของอาการ
แผลในปาก
ใช้เป็นรูปแบบ ยาขี้ผึ้งป้ายปาก โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
Triamcinolone acetonide ความเข้มข้น 0.1% ป้ายบริเวณที่มีอาการ จนกระทั่งเกิดเป็นแผ่นฟิล์มเคลือบ
ป้ายก่อนนอน หรือ 2–3 ครั้งต่อวัน แนะนำให้ป้ายยาหลังรับประทานอาหาร หากใช้ยา 7 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ประเมินการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม
อาการอักเสบของดวงตา
ใช้เป็นรูปแบบ ยาฉีดเข้าวุ้นในตา โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
Triamcinolone acetonide ขนาดยาเริ่มต้น 4 มิลลิกรัม บริหารครั้งเดียว
อาการคัดจมูกจากภูมิแพ้
ใช้เป็นรูปแบบ สเปรย์พ่นจมูก โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
Triamcinolone acetonide ขนาดยาเริ่มต้น พ่นในรูจมูก ข้างละ 1 ครั้งต่อวัน เมื่อควบคุมอาการได้ อาจลดยาเป็นการพ่นเข้ารูจมูกข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ แค่วันละ 1 ครั้ง
เด็กอายุ 2–5 ปี
Triamcinolone acetonide ขนาดยาสูงสุด พ่น 1 ครั้งลงในรูจมูกแต่ละข้าง 1 ครั้งต่อวัน อายุ 6 ถึง 12 ปี อาจเพิ่มขนาดยาเป็นข้างละ 2 ครั้งต่อวัน ในกรณีที่อาการุรนแรง
โรคผิวหนังที่ตอบสนองต่อการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
ใช้เป็นรูปแบบ ยาทาผิวหนัง โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
Triamcinolone acetonide ในรูปแบบครีม โลชัน หรือยาขี้ผึ้ง ความเข้มข้น 0.025%–0.5% ทาลงบริเวณที่มีอาการ วันละ 2–4 ครั้ง
ข้อต่อหัวไหล่อักเสบ เอ็นอักเสบ
ใช้เป็นรูปแบบ ยาฉีด โดยมีขนาดการใช้ยา ดังนี้
ผู้ใหญ่
Triamcinolone hexacetonide ขนาดยา 10–20 มิลลิกรัม
ข้อแนะนำในการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (ยาทา)
ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (Topical steroids) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ หนึ่งในตัวยาของยากลุ่มนี้ เช่น Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นรูปแบบครีมหรือโลชัน
- ไม่ใช้รักษาโรคหน้าแดง (Rosacea) ปากแตก สิว หรือโรคผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
- ใช้รักษาเฉพาะโรคผิวหนังอักเสบที่ตอบสนองได้ดีต่อยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก
- หากใช้ชนิดความเข้มข้นสูงและใช้เป็นบริเวณกว้าง ยากลุ่มนี้อาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต จึงควรหยุดใช้ยาเป็นช่วง ๆ โดยทั่วไปมักใช้ติดต่อกันไม่เกิน 2 สัปดาห์
- ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นสูงกับผิวหนังส่วนที่บาง เช่น ใบหน้า เปลือกตา ซอกพับ อวัยวะเพศ และผิวทารก รวมถึงบริเวณผิวถลอกหรือผิวหนังเปิด เพราะผิวบริเวณดังกล่าวจะดูดซึมยาได้มากกว่าบริเวณ
- หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้มีครรภ์ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ควรเลือกชนิดที่มีความเข้มข้นต่ำถึงปานกลาง และใช้เป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
- ก่อนใช้ยา ต้องมั่นใจว่าผิวหนังบริเวณนั้นไม่เป็นโรคติดเชื้อ
- ไม่ควรใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ควรหลีกเลี่ยงการทายาแบบมีสิ่งปิดทับ เนื่องจากการทาแบบนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่คุ้นเคยกับการให้ยาวิธีดังกล่าว
- กรณีใช้ยาที่มีความเข้มข้นสูงเป็นเวลานาน ถ้าจะลดขนาดยาลง ควรลดอย่างช้า ๆ เพราะการลดขนาดยาเร็วเกินไปอาจทำให้โรคกำเริบ
ข้อควรระวังในการใช้ยา Triamcinolone
ห้ามใช้ยา Triamcinolone กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ผู้ป่วยมาลาเรียขึ้นสมอง
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ที่ยังไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ป่วย ITP (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura) หรือโรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก
- ผู้ป่วยผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อเริม
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไมโคซิสและเชื้อปรสิตในกระแสเลือด
- ผู้ป่วยโรคจิตเวทชนิดเฉียบพลัน
ระมัดระวังการใช้ยา Triamcinolone กับผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร โรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis) หรือโรคกระดูกพรุน
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
- ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
- ผู้ป่วยโรคต้อหินหรือต้อกระจก
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยเด็ก ผู้มีครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร
และที่สำคัญ คือต้องหลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยานี้เองโดยทันที
การใช้ยา Triamcinolone ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ยา Triamcinolone จัดอยู่ในยาประเภทซี (Category C) คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้มีครรภ์
สำหรับผู้มีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยาประเภท D (Category D) เพราะมีผลอันตรายต่อเด็กทารก เว้นแต่ในกรณีช่วยชีวิต หรือรักษาอาการรุนแรงที่ไม่มียาอื่น ๆ ใช้แทนกันได้
ถ้าลืมรับประทานยา Triamcinolone ต้องทำอย่างไร
ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)
กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
ผลข้างเคียงจากยา Triamcinolone
- กดภูมิคุ้มกัน เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อทุติยภูมิ (การติดเชื้ออีกสายพันธุ์หลังติดเชี้ออย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว) และความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ
- ส่งผลต่อระบบประสาท อย่างการปวดศีรษะ อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ เช่น การแพ้ยาแบบแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันเมื่อร่างกายได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง ต้องรีบพบแพทย์ทันที แต่มีโอกาสพบน้อยมาก
- รบกวนการทำงานด้านจิตประสาท เช่น นอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า
- ถ้าเป็นรูปแบบที่ต้องสัมผัสกับดวงตา อาจรบกวนการมองเห็น เพิ่มความดันในลูกตา หรือทำให้เกิดต้อกระจก
- ส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อย
- กดการทำงานของต่อมหมวกไต
แม้ว่ายาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอกอย่าง Triamcinolone จะค่อนข้างปลอดภัย และไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องการเกิดความชินต่อยาเมื่อใช้เป็นเวลานาน
แต่ก็ยังเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยเฉพาะยาที่มีความเข้มข้นสูง และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะที่ มักไม่ค่อยเกิดกับระบบภายในร่างกาย
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล
การใช้ยา Triamcinolone ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลก่อนเสมอ โดยต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียด เพื่อลดความเสี่ยง ใช้ยาอย่างปลอดภัย และได้ผลดีที่สุด
- แจ้งข้อมูลการใช้ยาทั้งหมด เช่น ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ อาหารเสริม วิตามิน หรือสมุนไพร ถ้ามียาประจำตัวหลายตัว ควรพกไปให้แพทย์หรือเภสัชกรตรวจสอบด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายระหว่างยาใหม่และยาที่ใช้อยู่
- แจ้งอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ประวัติการแพ้ยา อาการแพ้จากการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรืออาหารและอาการที่แพ้ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม หรือยีสต์) โดยตัวอย่างอาการแพ้ เช่น บวม ผื่นขึ้น หายใจลำบาก
- เวลาที่ไปใช้บริการสุขภาพ ให้นำบัตรแพ้ยาพกติดตัวไป และแสดงบัตรนี้ให้แพทย์หรือเภสัชกรตรวจสอบก่อนเสมอ
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่ตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง
ยา Triamcinolone เป็นยาอันตราย ที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
หากเกิดอาการผิดปกติหลังใช้ยานี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้อง และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม