โรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน Supraventricular Tachycardia scaled

โรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia)

โรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia: SVT) อธิบายอย่างง่ายคือ มีการลัดวงจรของระบบไฟฟ้าในกล้ามเนื้อหัวใจเป็นระยะๆ  การลัดวงจรนี้โดยปกติอาจเกิดได้วันหนึ่งหลายๆ ครั้ง ครั้งละเป็นวินาที หรือเป็นนาที แต่ถ้าเกิดต่อเนื่องนานๆ เป็นชั่วโมงแล้ว เรียกว่า “ไม่ดีแน่”

หัวใจเริ่มเต้นตั้งแต่เรายังเป็นตัวอ่อน

การที่หัวใจเต้นเองได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่นั้นเป็นเพราะหัวใจมีกล้ามเนื้อพิเศษ ที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นเพื่อไป “กระตุก” ให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวและคลายตัวเป็นจังหวะตลอดเวลา โดยไม่ต้องมีอะไรไปช่วย

พอใช้งานไปซักระยะ (อายุเพิ่มมากขึ้น หรือมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น) ระบบไฟฟ้าก็ต้องมีระบบรวนกันบ้างเป็นเรื่องปกติ

บางคนระบบไฟฟ้ารวนไม่กี่วินาทีก็กลับมาเป็นปกติ บางคนก็รวนนานไป หรือเกิดต่อเนื่องเป็นชั่วโมง กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องให้คุณหมอช่วยจัดการระบบไฟฟ้าของหัวใจให้เข้าที่เข้าทาง

โรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน 

ภาวะที่มีการลัดวงจรของหัวใจ เรียกรวมๆ ว่า “Arrythmia” สามารถเกิดที่ตำแหน่งใดของหัวใจก็ได้ที่เป็นส่วนสร้างกระแสไฟฟ้า

แต่สำหรับโรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน (Supraventricular Tachycardia) หรือที่คุณหมอชอบเรียกกันย่อๆว่า “SVT” เป็นภาวะที่แยกย่อยออกมา ก็คือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ โดยจุดที่ผิดปกติไปอยู่ที่หัวใจห้องบน มาเต้นแทรกระหว่างที่หัวใจกำลังเต้นในจังหวะปกติ

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ คล้ายๆ กับเรากำลังตีกลองอยู่เป็นจังหวะ อยู่ๆ ก็มีคนตีกลองแทรกเข้ามาในจังหวะที่เรากำลังตีอยู่นั่นเอง

ความถี่ของโรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน สามารถพบได้ที่ 2.25 คน ต่อประชากร 1,000 คน และผู้หญิงมักเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชาย อีกทั้งยังมีข้อมูลว่า ในคนอายุมากจะเกิดโรคนี้ได้บ่อยกว่าคนอายุน้อย

ปัจจัยที่กระตุ้นโรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน

SVT สามารถถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยอื่นๆได้ ไม่จำเป็นว่า ต้องมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหัวใจเพียงอย่างเดียว ปัจจัยที่พบบ่อย เช่น

  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ภาวะที่กังวลมาก
  • ความเครียด
  • ยาลดน้ำมูกบางชนิด หรือยาขยายหลอดลม
  • การสูบบุหรี่จัดๆ

จะรู้ได้อย่างไรว่า ตนมีโรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน

เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจบีบรัดตัวเองเร็วจะทำให้มีช่วงเวลาคลายตัวน้อยลง ส่งผลให้เลือดที่ไหลไปเลี้ยงร่างกายลดลง จึงอาจรู้สึกใจสั่นและรู้สึกว่า หัวใจเต้นเร็วในอก หรือลำคอ รู้สึกแน่นๆ ติดๆ ในลำคอ

อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือต่อเนื่องยาวนาน แต่หากมีอาการเหล่านี้ขึ้นมา ขอให้ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเบื้องต้น (EKG)

อาการที่พบบ่อย

  • เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
  • ใจสั่นต่อเนื่องยาวนานเป็นชั่วโมง
  • หน้ามืด เป็นลม
  • เหงื่อแตก ตัวเย็น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • หมดสติ

อาการที่ว่ามาถือว่า “อันตรายมาก” และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดภาวะช็อคจากการทำงานของหัวใจ หรือ Cardiogenic Shock ได้ ดังนั้นอย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์

บางคนแม้จะไปพบแพทย์แล้วแต่ก็ยังอาจตรวจไม่พบก็ได้ เพราะตอนที่ใจสั่น กระแสไฟฟ้ามีการลัดวงจรอยู่ แต่พอไปถึงโรงพยาบาลแล้ว อาการได้หายไปก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างก็ไม่เป็นไร ขอให้แจ้งอาการกับแพทย์ไว้

แพทย์อาจพิจารณาให้วิ่งสายพานทดสอบ (EST) หรือติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าดูว่า มี SVT บ่อยขนาดไหน และยาวนานเพียงใด

การรักษาโรคหัวใจเต้นเร็วจากหัวใจห้องบน

มีหลายวิธีที่สามารถรักษา SVT ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วย ดังนี้

การรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองที่บ้าน 

เช่น บีบจมูก ปิดปาก และพยายามเป่าลมให้แรง ๆ (Valsalva Maneuver) คล้ายกับการพยายามเบ่งขณะอยู่ในห้องน้ำ รวมทั้งการนวดบริเวณคอ (Carotid Massage) แต่วิธีนี้ระวังอาการหน้ามืดด้วย

การใช้ยา

หากอาการเกิดขึ้นยาวนาน หรือมีความรุนแรง จะมีการใช้ยาอะดีโนไซน์ (Adenosine) ฉีดเข้าเส้นเลือดดำเพื่อเข้าปิดกั้นคลื่นกระตุ้นภายในหัวใจที่ผิดปกติ แต่ถ้าคุณเป็นโรคหอบหืด แพทย์จะฉีดยาวีราพามิล (Verapamil) ให้แทน

นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายชนิดที่ใช้ป้องกันการเกิดอาการ SVT ได้ เช่น ไดกอกซิน (Digoxin) เบต้าบล็อกเกอร์ (Beta Blockers)

รักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า (Cardioversion) 

มักนำมาใช้เพื่อหยุดอาการ SVT โดยจะมีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (Defibrillator) มาส่งกระแสไฟฟ้าเข้าที่หน้าอกของ แต่ไม่ต้องกลัวไปเพราะส่วนใหญ่จะใช้ยาสลบ (General Anaesthetic) ขณะทำการรักษาด้วยวิธีนี้

การสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ (Catheter Ablation) 

เป็นกระบวนการรักษาที่ทำให้หัวใจมีแผลเป็นขนาดเล็กเพื่อช่วยปิดกั้นสัญญาณทางไฟฟ้าที่แล่นไปเป็นวงกลม และช่วยป้องกันการเกิดอาการของ SVT

วิธีนี้จะใช้สายสวนสอดเข้าทางเส้นเลือดดำ ก่อนเคลื่อนไปยังหัวใจเพื่อบันทึกกิจกรรมทางไฟฟ้า เมื่อพบตำแหน่งที่เป็นสาเหตุแล้ว แพทย์จะจี้ความร้อนด้วยกระแสไฟฟ้า หรือความเย็น (Cryoablation)

หมั่นดูแลสุขภาพและหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายและหัวใจแข็งแรง ห่างไกลจากโรค


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. รุจิรา เทียบเทียม

Scroll to Top