ขี้ตาเยอะ ในโรคภูมิแพ้ scaled

ขี้ตาเยอะ ในโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้มีขี้ตาเยอะ ขี้ตาของโรคในกลุ่มนี้ ลักษณะมักจะเป็นสีขาว ลักษณะยืดๆ เป็นเส้นหรือเป็นเมือก

ภูมิแพ้ เป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมที่เป็นกันมากทั่วโลก หลักการพื้นฐานคือร่างกายมีปฏิกิริยาไวเกินเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (Antigens) ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว

สาเหตุการเป็นภูมิแพ้ มาจากกรรมพันธุ์ มลภาวะ ขาดการออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อม ภายในที่พักอาศัย ที่ทำงาน เช่น เลี้ยงสัตว์ ปูพรม ใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละอองและไรฝุ่น

ภูมิแพ้ที่เกิดกับเยื่อบุตา

รูปแบบของภูมิแพ้ที่เกิดกับเยื่อบุตา มีได้หลายรูปแบบ ดังต่อไปนี้

1. ภูมิแพ้ชนิดเฉียบพลัน

เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดเฉียบพลัน (Acute allergic conjunctivitis) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเยื่อบุตาเกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้โดยจะเกิดอาการคันขึ้นอย่างเฉียบพลัน ระคายเคืองจนน้ำตาไหล

อาการที่ดูน่าตกใจคือ เยื่อบุตาจะบวมน้ำเหมือนเป็นวุ้นโป่งใสอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที บางรายเยื่อบุตาอาจบวมจนล้นออกมานอกขอบตา

สารก่อภูมิแพ้ที่พบว่าเป็นสาเหตุ อาจเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงที่ไม่ค่อยมีคนแพ้กัน เช่น แพ้น้ำหอม แพ้หมึกหรือฝุ่นจากเครื่องเขียน จึงยากที่พ่อแม่จะสังเกตเห็น

หากมีอาการเพียงแค่ทางตา แทบจะไม่ต้องทำการรักษาอะไรมาก แค่ไม่ขยี้ตาเพราะจะทำให้ตาบวมกว่าเดิม และควรรีบประคบด้วยน้ำเย็นจัด หรือเจลเย็น อาการจะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที และหายได้เป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรืออาจใช้ยาหยอดตาลดอาการแพ้ร่วมด้วย

สิ่งหนึ่งต้องพึงระวังคือ อาการเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้เฉียบพลัน ช่วงแรกจะมีอาการแค่ทางตา แต่อาจตามด้วยอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ของร่างกายก็ได้ เช่น อาการแพ้ยา อาการแพ้พิษแมลง หรือ อาการแพ้อาหาร ต้องเฝ้าสังเกตอาการ

หากมีอาการดังต่อไปนี้ตามมา เช่น เกิดผื่นลมพิษทั่วทั้งตัว หรือมีอาการอึดอัด แน่นหน้าอก หายในไม่ออก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะถ้าช้าอาจเป็นตรายถึงแก่ชีวิตได้

2. ภูมิแพ้ตามฤดูกาล

เยื่อบุตาอักเสบที่เกิดตามฤดูกาล (Seasonal allergic หรือ Hay Fever conjunctivitis) และเยื่อบุตาอักเสบที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial allergic conjunctivitis) มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยได้แก่เกสรดอกไม้ แมลงสาบ และสารต่างๆ ที่อยู่ในบรรยากาศแต่ละประเทศหรือภูมิประเทศ

ตัวกระตุ้นอาจเกิดจากโปรตีนในแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียซึ่งอยู่ในโพรงจมูกและที่ผิวหนัง

อาการของภูมิแพ้ประเภทนี้มีลักษณะเด่นคือ อาการคัน ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตาสีขาวเป็นเส้นยาวยืดๆ บางรายอาจมีอาการแค่ระยะเวลาสั้นๆ ตามฤดู จึงเรียกเป็น Seasonal (Hay Fever) conjinctivitis

บางรายมีอาการแสดงได้ตลอดทั้งปี (Perennial allergic conjunctivitis) คนไข้มักจะมีอาการทางจมูกมีอาการจามหรือมีน้ำมูกไหล

ในรายที่มีอาการเรื้อรังจะพบว่าเยื่อบุตาจะไม่ใสเหมือนปกติ แต่จะมีลักษณะขุ่น สีออกเหลือง มักมีอาการตาแห้งและอาจมีเส้นเลือดจากบริเวณเยื่อบุตางอกเข้าไปในขอบกระจกตา

3. ภูมิแพ้ชนิด VKC

เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ชนิด Vernal conjunctivitis (VKC) เป็นภูมิแพ้ที่มักจะเป็นซ้ำๆ ทั้งสองตา โดยตาข้างหนึ่งอาจจะมีอาการมากกว่า

อาการจะรุนแรงที่สุดในช่วงอากาศร้อน VKC พบบ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย และมีอาการภูมิแพ้ที่อื่นๆ เช่น ผิวหนังอักเสบ หอบหืด และ 2 ใน 3 มีประวัติครอบครัว

การพยากรณ์โรคจะแตกต่างกันไปแต่ละคน หากมีอาการตั้งแต่เด็ก 95% อาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คนที่ไม่หายจะมีลักษณะของ AKC ในหัวข้อต่อไป

อาการแสดงของ VKC คือ เด็กจะคันตาอย่างรุนแรง ขี้ตาเป็นเมือกปริมาณมาก แสบตา แพ้แสง น้ำตาไหล กระพริบตาหรือขยิบตาบ่อยจนผิดสังเกต แพทย์จะตรวจพบเปลือกตาด้านเยื่อบุตาจะเป็นตุ่มเม็ดโตๆ หรือเป็นเม็ดที่บริเวณขอบกระจกตาโดยรอบ หรือมีทั้งสองอย่าง

หากเป็นมากๆ สุขภาพกระจกตาจะแย่ไปด้วย เด็กจะตาแห้ง ผิวตาลอกง่าย เป็นแผลที่กระจกตาด้านบนที่เรียกว่า Shield Ulcer ซึ่งมีลักษณะรีๆ เพราะเมื่อกระพริบตา เม็ดตุ่มที่เปลือกตาจะเสียดสีกับกระจกตาจนผิวชั้นนอกลอกหลุด มีเมือกหนาไปคลุมแผล กันไม่ให้ผิวชั้นนอกงอกมาคลุมปิดแผลได้ ทำให้แผลหายช้า เสี่ยงต่อการมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในแผล

การรักษา เน้นที่การบรรเทาอาการเพราะเด็กจะคันรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวันหรือการเรียน ยาหยอดตาประเภทบรรเทาอาการคันระคายเคืองที่หาซื้อตามร้านขายยาทั่วไปมักไม่ได้ผล

ส่วนมากต้องใช้ยาหยอดตาประเภทสเตียรอยด์จึงจะคุมอาการได้ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องระยะเวลานาน เมื่ออาการดีขึ้นก็ต้องค่อยๆลดยาลงจนหยุด

การใช้สเตียรอยด์นานเกินไปอาจทำให้คนไข้เสี่ยงต่อภาวะต้อหิน และต้องระมัดระวังว่าแผลธรรมดาอาจกลายเป็นแผลติดเชื้อที่อันตรายได้

หากมีแผลที่กระจกตาต้องเน้นการใช้น้ำตาเทียมบ่อยๆ ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กหยอดน้ำตาเทียมเองได้ ช่วยให้เด็กรู้จักดูแลตนเอง

การรักษาจะได้ผลดีกว่าคอยพึ่งผู้ปกครองหรือครู ผู้ปกครองต้องคอยเตือนเด็กไม่ให้ขยี้ตา เพราะการขยี้มากเกินไปยิ่งทำให้เยื่อตาบวมและอาการคันมากขึ้น

มีรายงานทางการแพทย์ว่า การขยี้ตาแรงๆ บ่อยๆ อาจทำให้กระจกตาอ่อนแอลงกลายเป็นโรคกระจกตาย้วย (Keratoconus)

4. ภูมิแพ้ชนิด AKC

เยื่อบุตาอักเสบชนิด Atopic keratoconjunctivitis (AKC) เป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรังชนิดนี้มักพบได้ในผู้ใหญ่ อายุประมาณ 30-50 ปี ทั้ง 2 เพศเป็นมากพอๆ กัน โดยเป็นทั้ง 2 ตา เป็นอยู่ตลอดแทบจะไม่หายขาด มักร่วมกับการมีโรคภูมิแพ้ระบบอื่นๆ ของร่างกาย

คนไข้มักจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่มาทางอากาศ ประมาณ 5% เคยเป็นเยื่อบุตาอักเสบชนิด Vernal มาก่อน

ลักษณะการเกิดโรคคล้ายภูมิแพ้ชนิดตามฤดูกาล แต่ AKC อาจเป็นได้ตลอดทั้งปี ต่างจาก VKC ที่มักเป็นช่วงอากาศร้อน แต่ AKC อาการจะแย่ลงเมื่ออากาศเย็น มีอาการคันตาเรื่อยๆ ขี้ตาเป็นน้ำ คนไข้อาจจะตามัวลงได้จากตาแห้ง

ใน AKC คนไข้มักมีเปลือกตาอักเสบเรื้อรังจนเปลือกตาด้านในกลายเป็นพังผืด เปลือกตาด้านนอกมักจะหนา มีแผลเป็น เป็นสะเก็ด จนอาจมีขนตางอกผิดทิศทาง เปลือกตาม้วนเข้าหรือแบะออกเพราะแผลเป็นดึงรั้ง มีริ้วรอยเหี่ยวย่นที่เปลือกตามากกว่าอายุเพราะคันตาขยี้ตาอยู่ตลอด

การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

โดยทั่วไป การวินิจฉัยโรคนี้ใช้แค่การดูจากอาการเท่านั้น ยกเว้นต้องการตรวจหาว่าสารใดเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อาจเป็นสาเหตุของโรค

การรักษาและบรรเทาอาการ

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือหมั่นทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน พรม ผ้าม่านเป็นประจำหากแพ้ไรฝุ่น หรืออาจต้องหลีกเลี่ยงถ้าแพ้ขนหรือผิวหนังของสัตว์

2. การสวมแว่นตาป้องกันลมและฝุ่นควัน ไม่ให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

3. การประคบเย็นจะช่วยลดอาการคันตาหนังตาบวมได้

การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยามีหลายวิธีขึ้นกับระดับความรุนแรง ดังนี้

1. การใช้น้ำตาเทียม

ช่วยเจือจางและชะล้างสารก่อภูมิแพ้ และ สารอักเสบที่อยู่ในเยื่อบุตาและน้ำตา

2. ยาหยอดตาประเภทแอนตี้ฮิสตามีน

หากมีอาการคันตา ตาแดง บรรเทาอาการคันด้วยการใช้ยาประเภทนี้ หลายยี่ห้อจะมีส่วนผสมยาที่ช่วยหดเส้นเลือด ช่วยให้ตาดูขาวใสขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ไม่แนะนำให้หยอดยาหดเส้นเลือดเป็นประจำทุกวัน เพราะอาจดื้อยา ทำให้อาการตาแดงกลับจะแย่ลง

3. ยาหยอดตากลุ่มยับยั้ง

ยาหยอดตากลุ่มยับยั้ง mast cells (Mast cell stabilizer) ช่วยป้องกันมิให้เกิดโรคภูมิแพ้เป็นซ้ำขึ้นมาใหม่ เหมาะสำหรับการหยอดในระยะยาวต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์

สามารถหยอดนานหลายเดือนโดยไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ช่วยลดอาการคันได้รวดเร็วทันใจ

4. ยาผสมระหว่างยาแอนตี้ฮิสตามีนและกลุ่มยับยั้ง

ยาผสมระหว่างยาแอนตี้ฮิสตามีนและกลุ่มยับยั้ง mast cells มีคุณสมบัติของยา 2 กลุ่มร่วมกัน คือ มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันการเกิดมีอาการซ้ำใหม่

5. ยาหยอดตาในกลุ่มสเตียรอยด์

มีประสิทธิภาพดีมากในรายที่มีอาการภูมิแพ้รุนแรงจริงๆ อาจจะต้องใช้ยาหยอดตาประเภทนี้ แต่ไม่แนะนำให้ซื้อมาหยอดเอง

การเริ่มใช้และเลิกใช้ให้อยู่ภายใต้การตรวจติดตามผลการรักษาโดยจักษุแพทย์

6. ยารับประทานประเภทแอนตี้ฮิสตามีน

ในรายที่มีอาการระบบอื่นๆ ยารับประทานประเภทแอนตี้ฮิสตามีนมีประโยชน์ แต่อาจก่อให้เกิดตาแห้งได้

7. การรักษาโดย immunotherapy

คือการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายยอมรับสารก่อภูมิแพ้นั้น วิธีนี้จะมีประโยชน์ถ้าเราสามารถตรวจพบได้ว่าสารใดเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่แท้จริงในผู้ป่วยรายนั้น


เขียนบทความโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี

Scroll to Top