เรื่องของระบบทางเดินหายใจ scaled

เรื่องของระบบทางเดินหายใจ

ปกติแล้ว ร่างกายของเราจะรับแก๊สออกซิเจนเข้าไปใช้ประโยชน์ และขับของเสียออกมาในรูปของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ กระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สเหล่านี้เรียกว่า “ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory system)” 

ระบบทางเดินหายใจเป็นระบบที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา มีหลายอวัยวะทำงานร่วมกัน เช่น จมูก ปอด แถมยังสำคัญต่อร่างกายมาก ถ้าผิดปกติ หรือมีอะไรไปทำให้การทำงานหยุดชะงัก ก็อาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว 

บทความนี้จึงจะพามารู้จักกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งอวัยวะต่าง ๆ การทำงาน ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ และวิธีดูแลระบบทางเดินหายใจให้แข็งแรง 

ระบบทางเดินหายใจ มีอวัยวะอะไรบ้าง 

อวัยวะในระบบทางเดินหายใจแบ่งตามตำแหน่งที่อยู่ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนบน และอวัยวะในทางเดินหายใจส่วนล่าง 

อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนบน

จมูก (Nose)
เป็นทางผ่านด่านแรกของอากาศที่หายใจเข้าไป ภายในจมูกจะมีขนขนาดเล็ก มีเยื่อเมือกหนา ๆ ช่วยกรองฝุ่นละอองและดักจับเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทรับกลิ่นอีกด้วย

คอหอย (Pharynx)
เป็นหลอดตรงยาวที่เชื่อมต่อกันระหว่างช่องจมูกและช่องปาก โดยมีเพดานอ่อนเป็นตัวกั้น คอหอยเป็นทางผ่านของทั้งอาหารและอากาศ และยังเกี่ยวข้องกับการออกเสียงด้วย

อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนล่าง

หลอดลม (Trachea)
เป็นท่อที่ต่อมาจากคอหอยและกล่องเสียงลงสู่ปอด มีลักษณะเป็นหลอดกลม ๆ เป็นกระดูกอ่อนที่เปิดให้อากาศเข้าตลอดเวลา หลอดลมมีหน้าที่หลัก ๆ คือ นำอากาศที่เราหายใจเข้าสู่ปอด 

หลอดลมแบ่งเป็น

  • หลอดลมขนาดใหญ่ ต่อมาจากกล่องเสียง
  • หลอดลมปอด (Bronchi) แตกแขนงจากหลอดลมใหญ่ไปสู่ปอดทั้งซ้ายและขวา
  • หลอดลมฝอย (Bronchiole) เป็นแขนงเล็ก ๆ แยกย่อยไปยังถุงลมในปอดอีกทีหนึ่ง

ปอด (Lung)
ปอดอยู่บริเวณ 2 ข้างของช่องทรวงอก ฐานปอดจะแนบสนิทกับกะบังลม มีหัวใจอยู่ตรงกลางระหว่างปอด 2 ข้าง 

ภายในปอดประกอบด้วยถุงลมจำนวนมาก มีขนาดเล็ก ยืดหยุ่น ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊ส โดยจะเติมออกซิเจนเข้าสู่หลอดเลือด และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด เพื่อขับออกทางการหายใจ 

จากนั้นเลือดที่ถูกเติมออกซิเจนก็จะถูกส่งต่อไปยังหัวใจ เพื่อเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด และกระจายเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย

กะบังลม (Diaphragm)
เป็นแผ่นกล้ามเนื้อด้านล่างกระดูกซี่โครงที่แบ่งช่องอกออกจากช่องท้อง โดยการหดและคลายตัวของกะบังลมนั้นมีผลต่อการควบคุมการหายใจเข้าออก 

ระบบทางเดินหายใจ ทำงานอย่างไร 

โดยทั่วไป เราจะมีอัตราการหายใจอยู่ที่ราว ๆ 14–18 ครั้งต่อนาที อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมการหายใจเข้า–ออก ได้แก่ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดและความต้องการออกซิเจน

เช่น เวลาหลับ เราจะหายใจช้าลง แต่ขณะออกกำลังกาย เราจะต้องการออกซิเจนเยอะ ทำให้หายใจถี่ขึ้น 

กระบวนการทำงานของระบบทางเดินหายใจ มีดังนี้

  • เมื่อหายใจเข้า กะบังลมจะเลื่อนต่ำลง ทำให้พื้นที่ช่องอกมากขึ้น พอความดันอากาศรอบ ๆ ปอดลดลง อากาศจากภายนอกจึงไหลเข้ามายังปอดได้ โดยมีจมูกคอยกรองฝุ่นและเชื้อโรคจากอากาศที่เราหายใจเข้ามา 
  • หลังจากนั้น อากาศจะเคลื่อนผ่านคอหอย กล่องเสียง และหลอดลม ลงมายังปอด และแลกเปลี่ยนแก๊สที่ถุงลมปอด
  • แก๊สออกซิเจนจากอากาศที่เรารับเข้ามาจะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดแดงและไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ส่วนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากทั่วร่างกายจะลำเลียงผ่านหลอดเลือดดำมายังปอด และแพร่สู่หลอดลมในปอด จากนั้นจะถูกขับออกพร้อมลมหายใจออกนั่นเอง 

ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ

ระบบหายใจก็เกิดความผิดปกติได้เหมือนกับระบบอื่น ๆ มีตั้งแต่หายใจติดขัด คัดจมูก ไอ จาม เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างหายใจไม่ออก หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด

ตัวอย่างโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ

  • โรคหวัด เกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด ทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล มักหายได้เองภายใน 1 อาทิตย์ 
  • คออักเสบ เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อาการที่เห็นชัด ๆ คือ เจ็บคอ ไอ และมีไข้ในบางครั้ง
  • ปอดอักเสบ หรือปอดบวม มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา มักทำให้มีไข้สูง หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก อาจพบฝีในปอดหรือน้ำคั่งในปอดได้ด้วย
  • วัณโรค เกิดจากแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) จะพบอาการไอเรื้อรัง เสมหะเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีไข้ อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด

โรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ 

  • หอบหืด เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม ส่งผลให้หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก และหายใจมีเสียงวี้ด ๆ
  • โรคภูมิแพ้ เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจากการได้รับสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และอาจเกิดอาการกับระบบอื่น ๆ ได้ด้วย
  • ถุงลมโป่งพอง เกิดจากการอักเสบของถุงลมในปอด จนพองและแตกออก ทำให้มีอาการไอเรื้อรังและหายใจตื้น สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่
  • มะเร็งปอด มักเกิดจากการสูดดมควันบุหรี่ อาการในระยะแรกที่สังเกตได้คืออาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด 

การดูแลระบบทางเดินหายใจให้แข็งแรง 

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อป้องไม่ให้ถุงลมและปอดถูกทำลาย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์ ปราศจากมลภาวะ
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

ไม่ใช่แค่ระบบทางเดินหายใจเท่านั้น ถ้าระบบใดระบบหนึ่งในร่างกายอ่อนแอ มีปัญหา หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้นตามมาได้ จึงควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ 

กินอาหารดี ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปีกันนะ HDmall รวบรวมแพ็กเกจตรวจสุขภาพดี ๆ ไว้ให้ จองง่าย ได้คิวไว แถมใกล้บ้าน หรือถ้าหาอันไหนไม่เจอ ก็ทักหาแอดมินของเราได้เลย ตอนนี้! 

อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านดี ๆ ได้ที่ HDBlog

คำถามที่พบบ่อย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

Scroll to Top