โรคหลอดเลือดสมอง ภัยร้ายที่หลายคนอาจไม่ทันระวัง เมื่อเป็นแล้วรักษาไม่ทัน สามารถนำไปสู่ความพิการ หรืออาจเสียชีวิตได้เลย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมีอยู่หลายอย่าง ทั้งปัจจัยที่เลี่ยงได้ และปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้
สารบัญ
รู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก (Stroke) เป็นภาวะสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองแตก ตีบ หรืออุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ เซลล์สมองขาดออกซิเจนจนสมองตายในท้ายที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันเวลาอาจเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินอันตราย จำเป็นต้องนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากสมองและระบบประสาทเกิดความเสียหายมากเท่าไร จะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้มากเท่านั้น
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
มีหลากหลายปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง บางปัจจัยหลีกเลี่ยงได้ แต่บางปัจจัยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- อายุ มักพบในคนอายุ 55–65 ปีขึ้นไป และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ปี
- เพศ เพศชายมักมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศหญิง
- พันธุกรรมและประวัติในครอบครัว หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคที่มีผลกับหลอดเลือด เช่น กลุ่มอาการมาร์ฟาน (Marfan syndrome) หรือภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ความเสี่ยงจะสูงกว่าคนทั่วไป
ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนแปลงได้
การเกิดโรคหลอดเลือดสมองบางส่วนอาจมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคประจำตัว และปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังพอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้
โรคประจำตัวและความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง
- โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงโรคได้มาก 3–17 เท่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
- โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย ถ้าเป็นบริเวณสมอง มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2–3 เท่า
- โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน ทำให้ไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด จนกีดขวางการลำเลียงเลือด
- โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด หรือหัวใจวาย เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด หากลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง จะทำให้สมองขาดเลือดได้
- โรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เกล็ดเลือดสูง เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ
- ภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบ ทำให้หลอดเลือดแข็ง
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การสูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสองต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้เป็น 2 เท่า โดยสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือด ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองลดลง และยังมีผลให้หลอดเลือดแข็งตัว
- การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก โดยดื่มมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานในผู้ชาย และมากกว่า 1 ดื่มมาตรฐานในผู้หญิง จะทำให้ความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดแข็งตัว
- การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้ยาเสพติดหรือยากระตุ้นบางชนิด
- ความเครียด
- การใช้ฮอร์โมนที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนบำบัด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
คนที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นเป็นเวลานานสามารถนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ความเสี่ยงจะสูงขึ้นแบบทวีคูณ การลดและเลี่ยงปัจจัยที่เราแก้ไขได้เองให้เร็วที่สุด และทำอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
อาการและสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke) และโรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) โดยความรุนแรงหรืออาการของแต่ละคน จะขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย
อาการเด่น ๆ ของโรคหลอดเลือดสมองที่พบได้ อาจเกิดขึ้นเป็นระยะแล้วหายไป
- มีปัญหาด้านการสื่อสาร พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจคำพูดคนอื่น
- มีปัญหาด้านการมองเห็น ตามัวข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เห็นภาพซ้อน
- มีปัญหาด้านการทรงตัว ทรงตัวผิดปกติ เซื่องซึมลง
- มีอาการชาและอ่อนแอตามแขนขา ใบหน้า ปากเบี้ยว มักเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน
เมื่อเกิดอาการน่าสงสัย ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที หากไม่แน่ใจว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่สามารถตรวจดูได้จากหลัก “FAST”
- F – Face (ใบหน้า) ยิ้มแล้วมีอาการปากเบี้ยวหรือเปล่า
- A – Arm (แขน) ยกแขนเหนือศีรษะ แล้วสังเกตว่าข้างใดข้างหนึ่งดูไม่มีแรง หรือตกลงมาหรือไม่
- S – Speech (การพูด) ลองถามคำถามง่าย ๆ ว่าพูดได้ ตอบได้หรือไม่ เสียงชัดหรือเปล่า
- T – Time (ระยะเวลา) หากเกิด 1 ใน 3 อาการข้างต้น จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองราว ๆ 72% แต่หากเกิดทั้ง 3 ข้อ โอกาสจะเพิ่มขึ้นถึง 85% และจำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ยิ่งได้รับการรักษาเร็ว และความรุนแรงจะลดน้อยลงตามไปด้วย
ดูแลตัวเองแบบไหนถึงจะไม่เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
หัวใจสำคัญในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง คือ การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและมีวินัย เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และหากิจกรรมทำให้จิตใจผ่อนคลาย เครียดน้อยลง
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำเสมอ คือ การตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะกันไว้ก่อน ดีกว่าแก้ทีหลังเสมอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
ลองดู แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจตรวจสุขภาพสมอง จากรพ. และคลินิกใกล้บ้าน HDmall.co.th มัดรวมไว้ให้แล้ว เลือกดูรีวิว พร้อมเปรียบเทียบราคาได้ทันทีก่อนจอง