ไมเกรน (Migraine) ไม่ได้มีแค่อาการปวดหัวข้างเดียวแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่มีรายละเอียดอื่น ๆ รวมถึงระยะของอาการที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน การทำความรู้จักกับระยะของอาการไมเกรนอาจช่วยให้คุณรับมือกับโรคนี้ได้ดีขึ้น
สารบัญ
ไมเกรนคืออะไร เกิดจากอะไร
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับอาการไมเกรนกันก่อน
อาการไมเกรนมีอาการหลัก คือ อาการปวดหัวตุบ ๆ อย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปวดที่ศีรษะเพียงข้างเดียว บางครั้งอาจเกิดขึ้นทั้งสองข้างได้ด้วยเช่นกัน อาการปวดอาจคงอยู่ได้นาน 4 ถึง 72 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนกัน
ปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดไมเกรนขึ้น แต่พบว่าเป็นความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบและอาการปวดหัวขึ้น บางส่วนอาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างสามารถกระตุ้นอาการปวดหัวขึ้นมาได้ เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน การอดอาหาร การนอนน้อย อาหารบางชนิด ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน
4 ระยะของอาการไมเกรน
อาการไมเกรนมี 4 ระยะด้วยกัน แต่ละระยะก็มีสัญญาณและอาการที่แตกต่างกัน คนเป็นไมเกรนไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้งหมดนี้ อาจมีเพียงบางระยะก็ได้
ระยะก่อนมีอาการ (Prodrome)
ระยะก่อนมีอาการจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันก่อนหน้าอาการปวดไมเกรน โดยอาจพบกับอาการต่อไปนี้
- อ่อนเพลีย หาวบ่อย
- คลื่นไส้
- อยากอาหาร หรือกระหายน้ำ
- นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท
- กล้ามเนื้อคอตึงตัว
- ไม่มีสมาธิ
- อารมณ์อ่อนไหวง่าย
- ปัสสาวะถี่ขึ้น
- ท้องผูก
ระยะอาการเตือนนำ (Aura)
ระยะนี้จะเกิดขึ้นในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนหน้าอาการปวด บางคนอาจพบอาการปวดหัวตั้งแต่ระยะนี้ โดยระยะอาการนำอาจพบอาการต่อไปนี้
- แขนขาไม่มีแรง
- ตาพร่า เห็นแสงวูบวาบ
- ได้ยินเสียงวิ้งในหู
- รู้สึกชา เป็นเหน็บบริเวณใบหน้า หรือร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง
- พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาในการพูด
ระยะปวดหัว (Headache / Attack)
อาการปวดหัวตุบ ๆ ตามจังหวะชีพจรที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่งที่เป็นอาการหลักของไมเกรนจะเกิดขึ้นในระยะนี้ หรือปวดศีรษะทั้งสองข้าง โดยระยะเวลาปวดอาจนานต่อเนื่องเป็นวันหรือหลายวัน ตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง และอาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ ไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ซึ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้
ระยะหาย (Postdrome)
ระยะหาย คือ ระยะหลังจากอาการปวดขึ้นอยู่กับอาการปวดหัวสิ้นสุดเมื่อไหร่ ในระยะนี้อาการปวดหัวจะหายไป แต่จะเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เวียนหัว กล้ามเนื้อคอตึงตัว และยังคงรู้สึกไวต่อเสียง และแสงอยู่
การรู้จักกับระยะอาการของไมเกรนจะช่วยให้คุณวางแผนรับมือกับอาการปวดหัวได้ดีมากขึ้น หากคุณมีอาการไมเกรนสามารถใช้ยาแก้ปวดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ พร้อมกับดูแลตัวเองด้วยการนอนหลับพักผ่อนในห้องที่มืด เงียบ และเย็น จะช่วยให้อาการปวดหัวดีขึ้นได้
นอกจากนี้ ควรเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น อย่างแสงจ้า เสียงดัง และกลิ่นฉุน พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการ หากอาการปวดหัวเกิดขึ้นบ่อย หรือรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม
หากคุณกำลังเจอกับสัญญาณเหล่านี้ อย่าลืมไปตรวจหาสาเหตุ จะได้วางแผนรักษาได้ถูกวิธี HDmall.co.th มีแพ็กเกจตรวจอาการปวดหัว โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมเปรียบเทียบจากสถานพยาบาลใกล้บ้านคุณ คลิกเลย