เริมและงูสวัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ก่อให้เกิดตุ่มน้ำใสคล้ายคลึงกันจนสร้างความสับสนให้หลายคน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองโรคมีความเหมือนและความต่างกันอยู่ ถ้าสังเกตและแยกอาการได้เบื้องต้นจะเป็นผลดีต่อการรักษา ช่วยหายได้เร็วขึ้น มารู้จักกับโรคเริมและโรคงูสวัดให้มากขึ้นผ่านบทความนี้กัน!
สารบัญ
เริม คืออะไร
เริม (Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpes simplex virus: HSV) แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ชนิดที่ 1 (HSV-1) มักก่อให้เกิดอาการที่ปากหรือใบหน้า และชนิดที่ 2 (HSV-2) มักก่อให้เกิดอาการบริเวณอวัยวะเพศ อย่างองคชาต ปากช่องคลอด ช่องคลอด รวมถึงรอบทวารหนัก
ไวรัสเริมนั้นติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงจากทางกาย การใช้ของร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ อาการมักแสดงใน 2–12 วันหลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย บางรายอาจไม่พบอาการใด ๆ เลยก็ได้
เชื้อไวรัสเริมยังสามารถแฝงตัวอยู่ในปมประสาทแล้วก่อให้เกิดโรคเริมซ้ำ ๆ ในตำแหน่งเดิม โดยเฉพาะเมื่อเจอปัจจัยกระตุ้น เช่น ระบบภูมิคุ้มกันต่ำจากปัญหาสุขภาพหรือยา มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ โดนแดดนาน ๆ ผิวหนังถลอก มีรอยขีดข่วน หรือการผ่าตัดที่กระทบเส้นประสาท
อาการของเริม
โรคเริมส่วนมากไม่มีอาการ ถ้ามีอาการจะพบตุ่มน้ำพองใสขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม มักปวดแสบร้อน และคัน เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเป็นแผลเล็ก ๆ แห้งตกสะเก็ด หายได้ภายใน 2–6 สัปดาห์
เริมที่ปากและอวัยวะเพศอาจมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้
- เริมที่ปาก: เจ็บขณะดื่มน้ำหรือทานอาหาร ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หรือเหงือกบวม หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต
- เริมที่อวัยวะเพศ: แสบขณะปัสสาวะ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นคาว หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต
กรณีติดเชื้อครั้งแรกอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย หรือปวดศีรษะ
การติดเชื้อครั้งแรกมักก่อให้เกิดอาการรุนแรงและกินเวลานาน ขณะที่การติดเชื้อซ้ำมักเกิดในตำแหน่งใกล้เคียงเดิม แต่จะมีอาการน้อยลง ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ไม่รุนแรง และหายเร็วขึ้น
การรักษาเริม
เริมรักษาไม่หายขาด แต่การใช้ยาต้านไวรัสตามที่แพทย์สั่ง เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) หรือแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) จะช่วยลดความรุนแรง ระยะเวลาการเกิดโรค รวมถึงช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ และกลับมาเป็นซ้ำ
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวด ยากันชัก หรือยาแก้อักเสบสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด อักเสบ และลดไข้ร่วมด้วย
วิธีป้องกันเริม
ฃปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสเริมโดยเฉพาะ จึงเน้นไปที่หลีกเลี่ยงการสัมผัส การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเริมในร่างกาย
ที่สำคัญควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการสวมถุงยางอนามัยอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อเริมและโรคทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
งูสวัด คืออะไร
งูสวัด (Shingles) เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกับที่ก่อโรคอีสุกอีใส คือ เชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus: VZV) เพียงแค่ก่อให้เกิดโรคในช่วงเวลาต่างกัน
หลังจากหายจากโรคอีกสุกอีใส เชื้อ VZV ยังคงแอบซ่อนอยู่ในปมประสาทนานหลายปี เมื่อร่างกายอ่อนแอจากอายุที่มากขึ้นหรือปัจจัยอื่น เชื้อจะกลับมาก่อโรคขึ้นใหม่เป็นโรคงูสวัด คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนก็อาจเกิดงูสวัดได้ในอนาคต
งูสวัดติดต่อได้เฉพาะคนที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำตามผิวหนัง และการสูดหายใจนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่คนที่ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยงูสวัดจะไม่เป็นงูสวัดทันที แต่จะเป็นอีสุกอีใสก่อน
ส่วนใหญ่คนที่มีเชื้อมักเป็นงูสวัดสักครั้งในชีวิต และยังอาจเกิดซ้ำได้เช่นเดียวกับโรคเริม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุ 50 ปีขึ้นไป มีปัญหาภูมิคุ้มกัน ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรืออยู่ระหว่างการทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสี
อาการงูสวัด
เริ่มแรกมักมีอาการปวดแสบร้อนหรือคันผิวนำมาก่อน ตามด้วยผื่นแดงตามแนวเส้นประสาท เช่น รอบเอว ใต้ราวนม ใบหน้า หรือลำคอ มักเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย บางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะร่วมด้วย
หลังจากนั้นผื่นแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส แล้วค่อย ๆ ยุบแห้งเป็นสะเก็ด ผู้ป่วยมักหายได้ใน 2–4 สัปดาห์ แต่อาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทคงอยู่นานหลายเดือนไปจนถึงหลายปี
การรักษางูสวัด
เช่นเดียวกับเริมที่รักษาไม่หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ทานยาต้านไวรัสอะไซโคลเวียร์ แฟมไซโคลเวียร์ หรือวาลาไซโคลเวียร์ใน 72 ชั่วโมงที่เริ่มสังเกตอาการได้ เพื่อบรรเทาอาการ ลดความรุนแรงของโรค และป้องกันอาการปวดเส้นประสาท (Post-herpetic neuralgia)
นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาอื่นเพิ่มเติมตามอาการ เช่น
- ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
- ยาแก้อักเสบสเตียรอยด์ อย่างเพรดนิโซน (Prednisone) หากงูสวัดขึ้นบริเวณใบหน้าหรือกระทบต่อดวงตา
- ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาปวดตามร่างกาย
วิธีป้องกันงูสวัด
งูสวัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนงูสวัด ปัจจุบันมีให้เลือก 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อเป็นฤทธิ์อ่อน ฉีดทั้งหมด 1 เข็ม แนะนำให้ฉีดในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเคยและไม่เคยได้รับเชื้อ VZV (เป็นโรคอีสุกอีใส) แต่ไม่แนะนำสำหรับคนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกัน และคนท้อง
และยังมีวัคซีนชนิดซับยูนิต ซึ่งผลิตจากโปรตีนของไวรัส ไม่ใช่เชื้อเป็น ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 2–6 เดือน เหมาะกับคนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดสูง อย่างภูมิคุ้มกันต่ำ และคนอายุ 50 ปีขึ้นไป วัคซีนชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดเชื้อเป็น และยังป้องกันอาการปวดจากงูสวัดได้มากขึ้นด้วย
สรุปสั้น ๆ เริมและงูสวัด เหมือนหรือต่างกันตรงไหน
- เริมเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (HSV) ติดต่อกันผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง และการมีเพศสัมพันธ์ งูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (VZV) เป็นเชื้อก่อโรคตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส
- เริมมักไม่มีอาการ หากมีอาการ จะเกิดตุ่มน้ำพองใสเป็นกลุ่มที่ปากหรืออวัยวะเพศ มักปวดแสบร้อนและคัน ส่วนงูสวัดมักปวดแสบร้อนหรือคันผิวเป็นอาการนำ ก่อนเกิดผื่นแดงเป็นกระจุกแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสตามแนวเส้นประสาท เช่น ลำตัว รอบเอว ลำคอ และใบหน้า
- เริมเกิดซ้ำได้บ่อย ส่วนงูสวัดมักเกิดเพียงครั้งเดียว แต่อาจเกิดซ้ำได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
- เริมและงูสวัดเป็นแล้วไม่หายขาด แต่การใช้ยาต้านไวรัส ร่วมกับยาทาหรือยาแก้ปวดจะช่วยรักษาอาการ ลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้หายเร็วขึ้น
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อป่วยเป็นเริม งูสวัด
หลังจากเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ผู้ป่วยเริมและงูสวัดสามารถดูแลตัวเอง รวมถึงตุ่มน้ำและรอยแผลได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ไม่แกะเกาผิวหนัง ตุ่มน้ำหรือแผล ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ ป้องกันการติดเชื้อและแผลเป็น
- รักษาความสะอาดในช่องปากอยู่เสมอ กลั้วปากด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ
- อาบน้ำและฟอกสบู่ผิวหนังบริเวณที่มีแผลให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง
- ใช้น้ำเกลือเช็ดหรือประคบแผลบริเวณผิวหนัง วันละ 3–4 ครั้ง ช่วยให้แผลแห้ง
- สวมชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
แม้เริมและงูสวัดจะมีอาการตุ่มน้ำใสเหมือนกัน แต่ลักษณะการเกิดที่ต่างกัน เมื่อเราแยกเบื้องต้นได้ ก็ช่วยให้ได้รับการรักษาไวขึ้น และหายดีได้เร็วขึ้นด้วย
ทางที่ดีหากพบผื่นแดง อาการปวดแสบปวดร้อน พร้อมตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นบนร่างกาย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และรักษาอย่างถูกวิธี
จะรอให้เป็นงูสวัด แล้วค่อยวิ่งวุ่นหาคุณหมอไปทำไม นี่เลย แพ็กเกจฉีดวัคซีนงูสวัด ที่ HDmall.co.th ครบ สุดคุ้มที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โปรดี โปรด่วน ห้ามพลาด!