โรคงูสวัด เป็นโรคที่ลักษณะอาการยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทุกคนมักรู้จักโรคงูสวัดแค่การมีผื่นขึ้นรอบลำตัว และมักเชื่อกันว่า หากผื่นทั้ง 2 ด้านของลำตัวลุกลามมาชนกันเมื่อไหร่ ผู้ป่วยก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
ความจริงแล้ว อาการของโรคงูสวัดมีรายละเอียดที่คุณควรรู้อีกมากมาย และความเชื่อที่เชื่อกันต่อๆ มานั้นก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง
สารบัญ
ความหมายของโรคงูสวัด
โรคงูสวัด (Shingles) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส
เชื้อไวรัส VZV จะก่อให้เกิดโรคงูสวัดภายหลังจากผู้ป่วยเคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน และรักษาหายดีแล้ว
ถึงแม้จะรักษาโรคอีสุกอีใสหายดีแล้วก็ตาม แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังไม่หายไปจากร่างกาย แต่จะซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทและเมื่อไรที่ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยกลับมาอ่อนแอลงอีกครั้ง หรือมีโรคประจำตัว หรืออายุมากขึ้น เชื้อไวรัส VZV ก็จะออกมาก่อโรคงูสวัดให้เกิดขึ้น
อาการของโรคงูสวัด
อาการของโรคงูสงัดสามารถแจกแจงได้เป็น 3 ระยะดังต่อไปนี้
อาการเริ่มต้นของโรคงูสวัด
สัญญาณแรกของอาการโรคงูสวัดคือ อาการชา (Tingling) และอาการปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่ง (Ocalized pain) นอกจากนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย มีไข้ ปวดแสบผิวหนังมากเหมือนถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก
หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีผื่นขึ้นตามตัว โดยผู้ป่วยจะเริ่มสังเกตว่า ผิวหนังของตนมีสีแดง หรือชมพูขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย โดยอาจเป็นจุดเล็กๆ หรือเป็นแถบวงกว้าง หรือยาว
ผื่นที่ขึ้นจากโรคงูสวัดจะขึ้นไปตามแนวของปมเส้นประสาทที่เชื้อไวรัสเข้าไปแฝงตัว สามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บแปลบตามบริเวณที่เป็นผื่นได้ด้วย แต่อาการระยะนี้จะยังไม่อยู่ในขั้นที่สามารถติดต่อไปถึงผู้อื่นได้
อาการระยะที่ 2 ของโรคงูสวัด
หลังจากเกิดอาการเริ่มต้นโรคงูสวัดแล้ว ผื่นแดงที่เกิดขึ้นจะเริ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพอง (Blisters) มีลักษณะคล้ายตุ่มโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) คล้ายหยดน้ำเล็กๆ เกาะตามตัว และนำไปสู่อาการระคายเคืองคันตามมา
ตุ่มน้ำพุพองในโรคงูสวัดสามารถลุกลามมีจำนวนมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีผื่นขึ้น แต่จะไม่มีการกระจายออกไปทั่วร่างกาย โดยบริเวณที่ตุ่มน้ำพุพองมักเกิดขึ้นจะเป็นบริเวณใบหน้า และลำตัว
อาการตุ่มพุพองของโรคงูสวัดยังเกิดได้ในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือไม่เคยได้รับวัคซีนอุสุกอีใสมาก่อนด้วย โดยคนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคงูสวัดจากผู้อื่นได้มากกว่าคนปกติ
เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิด 2 โรคนี้เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน ดังนั้นหากคุณไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส และไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคงูสวัดได้เช่นกัน
อาการระยะที่ 3 ของโรคงูสวัด
เมื่อคุณมีตุ่มน้ำพุพองเกิดขึ้นตามตัว ตุ่มน้ำดังกล่าวก็สามารถแตกออก และของเหลวไหลออกมา หลังจากนั้นตุ่มน้ำจะเปลี่ยนเป็นแผลสีเหลืองแบน และเริ่มแห้งจนเปลี่ยนเป็นแผ่น หรือตกสะเก็ด
ในช่วงที่ตุ่มน้ำแตก หรือตกสะเก็ด คุณอาจมีอาการเจ็บ หรือระคายเคืองเล็กน้อย เพียงแต่ระยะเวลาอาจระคายเคืองอาจยาวเป็นเดือน บางรายอาจยาวนานเป็นปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นโรคงูสวัดแล้วตุ่มน้ำตามตัวเริ่มแตกออกจนกระทั่งแตกออกจนหมดทุกตำแหน่ง นั่นถือเป็นสัญญาณที่ดีอีกอย่างของการลดโอกาสแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้
ตำแหน่งที่เกิดโรคงูสวัด
ตำแหน่งของร่างกายที่มักเกิดโรคงูสวัดขึ้น ได้แก่
1. โรคงูสวัดที่ใบหน้า
โรคงูสวัดสามารถเกิดขึ้นได้หลายบริเวณของร่างกาย รวมถึงบนใบหน้าด้วย ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อทุกอวัยวะบนใบหน้าได้เช่นกัน เช่น
หากผื่นงูสวัดเกิดใกล้กับหู นั่นหมายถึงระบบประสาทเกี่ยวกับการได้ยินกำลังติดเชื้อไวรัส และอาจสูญเสียการได้ยินทั้งหมด หรือประสิทธิภาพการได้ยินน้อยลง นอกจากนี้กล้ามเนื้อใบหน้ายังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติด้วย
หรือหากเป็นผื่นงูสวัดใกล้กับปาก หรือในปาก จะรู้สึกเจ็บแสบบริเวณที่เป็นอย่างมากจนอาจรับประทานอาหารได้น้อยลง หรือรับประทานไม่ได้เลย อีกทั้งประสาทการรับรสยังอาจเปลี่ยนไปด้วย
นอกจากนี้การเกิดโรคงูสวัดใกล้กับโคนผม หรือบริเวณศีรษะยังทำให้ยากต่อการหวีผมเพราะทำให้เจ็บแผล และสามารถทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งบริเวณแผลดังกล่าวจะส่งผลให้หนังศีรษะบริเวณนั้นล้านด้วย
การโรคงูสวัดที่ตา ในตา รวมถึงหน้าผากยังเกิดได้มากในผู้ป่วยโรคงูสวัดเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวนมากถึง 10-20% เลยทีเดียว เราสามารถเรียกการเกิดโรคงูสวัดที่บริเวณนี้ได้ว่า “Herpes zoster ophthalmicus”
โรคงูสวัดที่ดวงตาสามารถเกิดขึ้นได้บริเวณเปลือกตา (Eyelid) จอตา (Retina) กระจกตา (Cornea) และยังสามารถลุกลามผื่นมาถึงบริเวณข้างๆ หรือบนจมูกได้ด้วย
นอกจากนี้อาจเกิดอาการปวดแสบผิวหน้าบริเวณใกล้ดวงตาที่เปลือกตา ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ น้ำตาไหล ตาไวต่อแสบมากกว่าปกติ การมองเห็นพร่าเบลอไม่ชัดเหมือนเดิม
โรคงูสวัดที่ตาหากไม่รับการรักษาโดยเร็ว สามารถเกิดอาการแทรกซ้อนที่ทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นหากเกิดผื่นงูสวัดบริเวณใกล้ดวงตาควรรีบไปพบแพทย์ และเริ่มรักษาภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ
2. โรคงูสวัดที่หลัง
ผื่นโรคงูสวัดยังเกิดขึ้นได้ที่รอบเอวของร่างกาย และอาจกระจายตัวออกไปที่แผ่นหลังซีกใดซีกหนึ่ง หรือหลังส่วนล่าง
3. โรคงูสวัดที่สะโพก และก้น
หากเป็นโรคงูสวัดที่สะโพกใกล้กับก้น โดยปกติผื่นจะลุกลามแค่ที่ร่างกายซีกนั้นๆ เช่น หากเป็นงูสวัดที่สะโพกข้างซ้าย ผื่นก็สามารถลุกลามไปที่ก้นข้างซ้ายได้ แต่จะไม่ลามไปที่ก้นข้างขวา
นอกจากนี้อาจมีอาการปวดแสบผิว คันระคางเคือง หรือชาบริเวณที่เป็นงูสวัดด้วย โดยปกติหากรักษาผื่น หรือตุ่มพุพองเรียบร้อยแล้ว อาการปวดแสบจะหายไป แต่แผลผื่นจะยังไม่หายไป
โรคงูสวัดติดต่อกันได้หรือไม่
โรคงูสวัดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั้นสามารถแพร่กระจายไปในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อไปจะไม่เป็นโรคงูสวัด แต่เป็นโรคอีสุกอีใสแทน
ดังนั้นจึงหมดห่วงได้ว่าจะติดโรคงูสวัดจากผู้อื่น โดยเฉพาะหากเคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือเคยรับวัคซีนป้องกันมาแล้ว ส่วนวิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่
- ปกปิดแผลผื่นให้มิดชิด อย่าให้เสี่ยงถูกผู้อื่นสัมผัส
- หลีกเลี่ยงการเกาผื่น
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ และทำความสะอาดแผลให้สะอาดอยู่เสมอ
- เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ในโรคงูสวัด
โรคงูสวัดทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้หลายอย่าง หากไม่รีบรักษาอาการของโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น
- ผื่นติดเชื้อแบคทีเรีย หากไม่รักษาความสะอาดผื่น หรือแผลงูสวัดให้ดี ก็มีโอกาสที่แผลจะติดเชื้อโรคจนเกิดเป็นปื้นสีขาวที่แผลได้ รวมถึงมีไข้สูงขึ้นด้วย
นอกจากการรักษาความสะอาด การติดเชื้อโรคงูสวัดยังเกิดได้จากการใช้เล็บเกา หรือขูดแผลบ่อยๆ ทำให้แผลหายช้า และอาจเกิดการลุกลามที่บริเวณผิวข้างเคียงได้ - รู้สึกปวดตามเส้นประสาท อาการปวดจะมีระยะคงอยู่ไปนานหลายเดือน หรืออาจเป็นปี ถึงแม้ตัวโรคจะดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้มักพบในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- อาการอักเสบตามอวัยวะภายใน เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ สมองอักเสบ ไขมันสันหลังอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
- เป็นอัมพาตบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะผู้เป็นโรคงูสวัดบริเวณใบหน้า เชื้อที่อยู่ในปมประสาทอาจลุกลามเข้าไปทำให้เกิดอัมพาตได้ จนอาจทำให้เกิดอาการเม้มปากไม่สนิทครึ่งซีก สูญเสียการได้ยิน หลับตาได้ไม่สนิท หรือตาบอด
ผื่นงูสวัดพันรอบเอวจะตายไหม?
อาการของโรคงูสวัดที่หลายคนรู้กัน คือ มีผื่นพันรอบตัว และหากผื่นจากร่างกายทั้งสองซีกมาชนกันเมื่อไหร่ ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด
เพราะผื่นของโรคงูสวัดสามารถขยายตัวได้ แต่จะอยู่ในบริเวณของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น เป็นไปได้ว่า ความเข้าใจผิดนี้จะมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดบนร่างกายทั้ง 2 ซีก ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยากมาก
อาการของโรคงูสวัดสามารถลุกลามทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงซึ่งผลกระทบในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากพบว่า ร่างกายมีผื่น หรือแผลตุ่มพองที่ไม่ทราบสาเหตุร่วมกับมีอาการร่วมอื่นๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยว่า “เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดหรือไม่”
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา