มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม ต่อมน้ำนม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในเต้านม เมื่อปล่อยไว้หรือรู้ตัวตอนระยะท้าย ๆ แล้ว มะเร็งสามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักกลัว แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะช่วยลดความวิตกกังวล ดูแลตัวเองและป้องกันโรคได้ถูกต้อง หรือคนที่ตรวจพบได้ไวจะสามารถรับการรักษาได้ทัน บทความนี้ได้รวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมมาให้สาว ๆ ได้คลายความกังวลกัน!
สารบัญ
- 1. ใครบ้างควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เริ่มตรวจเมื่อไร?
- 2. ต้องมีอาการผิดปกติก่อนถึงตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?
- 3. หน้าอกใหญ่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าหน้าอกเล็ก?
- 4.ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ จริงหรือไม่?
- 5. คันหัวนมบ่อย ๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?
- 6. มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม เป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า?
- 7. มะเร็งเต้านมถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้จริงไหม?
- 8.การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์กับแมมโมแกรม ต่างกันไหม?
- 9. การตรวจด้วยแมมโมแกรมเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมไหม?
- 10. การกินน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้หรอ?
- 11. การใส่ชุดชั้นในทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?
1. ใครบ้างควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เริ่มตรวจเมื่อไร?
ตอบ: ผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยมีเกณฑ์คร่าว ๆ ต่อไปนี้
- การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยให้ตรวจหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว 7 วัน
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์ ควรตรวจทุก 3 ปี ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และหลังอายุ 40 ปี ควรตรวจเป็นประจำทุกปี
- การตรวจเต้านมด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) และแมมโมแกรม (Digital Mammogram) หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เริ่มตรวจตอนอายุ 35-40 ปี และหลังจากอายุ 40 ปีเป็นต้นไปให้ตรวจเป็นประจำทุกปี
2. ต้องมีอาการผิดปกติก่อนถึงตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?
ตอบ: มะเร็งเต้านมระยะแรกมักไม่มีอาการ ทำให้การตรวจคัดกรองตั้งแต่ตอนไม่มีอาการ เป็นการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งเต้านมดีที่สุด โดยแนะนำให้เริ่มตรวจเต้านมเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป และควรทำเป็นประจำ การรอให้เกิดอาการของมะเร็งเต้านมขึ้นมาแล้ว อาจส่งผลให้การรักษาทำได้ยากขึ้นจากมะเร็งที่ลุกลามจนบางคนอาจต้องสูญเสียเต้านมไป และโอกาสในการรักษาให้หายขาดจากมะเร็งก็มีน้อยลงไปด้วย
สัญญาณที่บ่งบอกถึงมะเร็งเต้านม เช่น คลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ ขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลงไป สีหรือผิวหนังบริเวณหัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม ผิวหนังที่เต้านมมีร่องบุ๋ม มีผื่นหนาคล้ายเปลือกส้ม หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกในช่วงไม่มีประจำเดือน หากพบอาการเตือนเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
3. หน้าอกใหญ่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าหน้าอกเล็ก?
ตอบ: มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม ส่วนหน้าอกจะใหญ่หรือเล็กนั้นเป็นเพราะไขมันที่สะสม ไม่ใช่เนื้อของเต้านม ขนาดของหน้าอกจึงไม่มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม รวมถึงการเสริมหน้าอกให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยซิลิโคนก็ไม่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน แต่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมก่อนเสริมหน้าอก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหน้าอกเล็ก หน้าอกใหญ่ธรรมชาติ หรือเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญ
4.ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ จริงหรือไม่?
ตอบ: มะเร็งเต้านมเกิดได้กับผู้หญิงและผู้ชาย เพียงแค่ผู้ชายมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า โดยชนิดมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยในผู้ชาย คือ มะเร็งเต้านมชนิดลุกลามออกนอกท่อน้ำนม (Invasive Ductal Carcinoma: IDC) และมะเร็งในท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal Carcinoma in Situ: DCIS)
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชายจะเหมือนกับผู้หญิง เช่น อายุมากขึ้น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA เคยฉายแสงหรือรังสีบริเวณทรวงอก หรือผู้ชายบางคนรับประทานยาฮอร์โมนเพศหญิงต่อเนื่องนาน ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
5. คันหัวนมบ่อย ๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?
ตอบ: อาการคันหัวนมเพียงอย่างเดียวไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งเต้านม เพราะมีหลายสาเหตุที่ทำให้คันที่หัวนมได้ เช่น จากการเสียดสีของเสื้อผ้า การระคายเคืองหรืออาการแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ รวมถึงอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน จึงควรสังเกตว่ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดกับเต้านมด้วยหรือไม่ เช่น รูปร่างเต้านมผิดปกติ มีร่องบุ๋มบริเวณเต้านมหรือหัวนม มีแผลที่หัวนมแล้วรักษาไม่หาย หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ ร่วมกับอาการคันหัวนม ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด หรือคนที่รู้สึกกังวลก็สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้
6. มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม เป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า?
ตอบ: สัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงมะเร็งเต้านม คือ มีน้ำเหลือง เลือด หรือของเหลวคล้ายเลือดไหลออกจากหัวนม หากเป็นน้ำนม คนมักเข้าใจว่าไม่เป็นอันตราย อาจเกิดขึ้นได้ จริง ๆ แล้ว ของเหลวที่ไหลออกมาจากหัวนม จะมีทั้งกรณีปกติและผิดปกติ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์
กรณีที่มักบ่งบอกว่าน้ำนมที่ไหลออกมานั้นผิดปกติ คือ มักจะไหลจากข้างใดข้างหนึ่ง โดยจะไหลออกมาเองแม้ไม่ได้บีบกระตุ้น เป็นต่อเนื่องหรือมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ น้ำนมมีเลือดผสม เมื่อพบความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจให้ละเอียด ไม่ควรสรุปไปก่อนว่าเป็นมะเร็งเต้านม
7. มะเร็งเต้านมถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้จริงไหม?
ตอบ: พันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยคนที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือญาติสายตรงอย่าง พ่อ แม่ พี่ หรือน้อง เป็นมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปราว 2-5 เท่า แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับการถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติจะเป็นมะเร็งเต้านมทุกคน เพราะมีอีกหลายปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้ เช่น สภาพแวดล้อม ความเครียด การใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การได้รับสารก่อมะเร็ง และอื่น ๆ
กลุ่มคนที่เป็นมะเร็งถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์มักจะพบลักษณะต่อไปนี้
- มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยหรือต่ำกว่า 40 ปี
- คนในครอบครัวเดียวกันป่วยเป็นมะเร็ง 2-3 คนขึ้นไป
- เป็นมะเร็งเต้านม 2 ข้าง ตามปกติแล้วมะเร็งเต้านมจะเกิดเพียงข้างเดียว
- พบมะเร็งเต้านมในผู้ชาย
หากคุณเป็นคนหนึ่งมีปัจจัยเสี่ยงในข้างต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือตามแพทย์แนะนำ เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะหากตรวจเจอมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
8.การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์กับแมมโมแกรม ต่างกันไหม?
ตอบ: การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือ การส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม คล้ายการตรวจด้วยเรดาห์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื้อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ โดยก้อนในเต้านมมีหลายประเภท เช่น ซีสต์หรือถุงน้ำ ก้อนเนื้อธรรมดา หรือก้อนเนื้อมะเร็งที่มักจะเป็นก้อนแข็ง มีขอบเขตก้อนไม่ชัดเจน
ส่วนการตรวจด้วยแมมโมแกรมเป็นการตรวจทางรังสีคล้ายเอกซเรย์ ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป สามารถจับความละเอียดสูงจนเห็นจุดหินปูนในเต้านมได้ ทำให้สามารถตรวจเจอก้อนเนื้อมะเร็งเต้านมที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งการคลำและการอัลตราซาวด์ไม่สามารถตรวจได้ จึงทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปต้องมีการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมร่วมด้วย
9. การตรวจด้วยแมมโมแกรมเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมไหม?
ตอบ: ถึงการตรวจด้วยแมมโมแกรมจะใช้รังสี แต่ปริมาณรังสีมีน้อยมาก ๆ โดยการทำแมมโมแกรม 1 ครั้งจะเทียบเท่ากับการรังสีที่ได้รับจากในชีวิตประจำวันประมาณ 7 สัปดาห์ ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมจึงถือว่ามีค่อนข้างน้อยมาก และเมื่อเทียบกับประโยชน์แล้ว ก็ยังเป็นผลดีในการตรวจเจอความผิดปกติในเต้านมได้ก่อนวิธีอื่น
10. การกินน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้หรอ?
ตอบ: แม้ว่าน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว จะมีส่วนประกอบคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนในเรื่องนี้ ในทางกลับกันมีการศึกษาบางส่วนชี้ว่า การกินถั่วเหลืองจากอาหารทั่วไปในปริมาณที่เหมาะสม อาจลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมได้ด้วย
11. การใส่ชุดชั้นในทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม?
ตอบ: หลายคนกังวลว่าการใส่ชุดชั้นใน โดยเฉพาะชุดชั้นในที่มีโครงโลหะ จะไปกดรัดเนื้อของเต้านมจนทำให้เป็นมะเร็งเต้านม แต่มีการยืนยันแล้วว่าการใส่ชุดชั้นใน ไม่ว่าแบบใด ไม่มีผลใด ๆ ต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
นี่คือความจริงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่สาว ๆ หลายคนอาจยังไม่รู้ หรือเข้าใจผิดมาตลอด สิ่งสำคัญที่สุดในการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านม คือ การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และตรวจคัดกรองกับแพทย์ตามช่วงอายุที่แนะนำ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ ที่เต้านม ควรไปตรวจกับแพทย์ให้แน่ใจ เพราะอาจไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป หรือหากตรวจเจอมะเร็งเต้านมในระยะแรก จะช่วยให้รับการรักษาได้ก่อน และมีโอกาสรักษาหายขาดได้
อย่ารอให้มีอาการ ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม รู้ก่อนสบายใจกว่า! HDmall.co.th รวบรวมโปรโมชั่นตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งในผู้หญิง จาก รพ. และคลินิก ใกล้บ้านคุณ ไว้แล้ว คลิกดูโปร หรือหาแพ็กเกจไหนไม่เจอ แชทบอกแอดมินได้เลย ที่นี่