รู้หรือไม่ โรคมะเร็งปากมดลูกและโรคที่เกิดจากไวรัส HPV เป็นภัยเงียบที่ป้องกัน ได้ตั้งแต่ยังเล็ก? นั่นก็คือ การฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูก มาดูกันว่าวัคซีน HPV สำคัญกับลูกแค่ไหน พ่อแม่ควรรู้อะไร และเตรียมตัวก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีนอย่างไร
สารบัญ
HPV คืออะไร
เชื้อ HPV (Human Papillomavirus) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบ่อยบริเวณเยื่อบุผิว ส่งผลให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
เชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์อันตรายที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 มักเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ
นอกจากนี้ ยังมี HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศหรือหูดหงอนไก่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพและความมั่นใจของเด็กและวัยรุ่นผู้ชาย
ทำไมเชื้อ HPV เป็นภัยเงียบของเด็กและวัยรุ่น
เมื่อติดเชื้อ HPV แล้ว คนที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่รู้ว่ามีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย และยังแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์หลายทาง เช่น ทางปาก ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก รวมถึงการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือจากแม่สู่ลูก
เหตุผลที่เด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อ HPV เนื่องจาก
- ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้เชื้อ HPV มีโอกาสเติบโตและก่อโรคได้ง่ายขึ้น
- พฤติกรรมวัยเจริญพันธุ์ ช่วงวัยนี้เริ่มมีความสนใจในเรื่องเพศสัมพันธ์มากขึ้น และเชื้อ HPV เองก็เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้วัยเจริญพันธุ์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้สูง
วัคซีน HPV สำคัญต่อเด็กและวัยรุ่นอย่างไร
วัคซีน HPV เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ครอบคลุมสายพันธุ์อันตรายที่มักก่อโรคมะเร็งอวัยวะเพศและหูดหงอนไก่ และควรฉีดก่อนติดเชื้อ HPV หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนถึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
เด็กและวัยรุ่นในช่วงอายุ 9 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรได้รับวัคซีน HPV เพื่อป้องกันก่อนมีโอกาสได้รับเชื้อ ขณะเดียวกันการได้รับวัคซีน โดยเฉพาะช่วงอายุ 9–14 ปี ยังเป็นช่วงวัยที่วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายได้ดี
อย่างไรก็ตาม สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้แต่อายุ 9 ปีขึ้นไปจนถึง 45 ปี เพียงแค่ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดน้อยลง และร่างกายอาจสร้างภูมิกันได้ไม่ดีในช่วงอายุที่มากขึ้น
วัคซีน HPV ในเด็กฉีดกี่เข็ม
เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกันประมาณ 6–12 เดือน และเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องฉีดจำนวน 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1–2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 เดือน
การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน HPV
การฉีดวัคซีน HPV ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่ควรให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีไข้หรือรู้สึกไม่สบาย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยจะหายดี กรณีมีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ อย่าลืมแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อน
ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน HPV
วัคซีน HPV มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย ส่วนมากจะเป็นอาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด บางคนอาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยตามตัว อาการเหล่านี้มักหายได้เองในเวลาไม่นานหลังฉีดวัคซีน
หากมีอาการรุนแรง ไม่สามารถรับมือได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพป้องกันโรคสูงสุด
การดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีน HPV
การดูแลหลังฉีดวัคซีน HPV จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว ดังนี้
- ดูแลบริเวณที่ฉีด: บริเวณที่ฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวด บวม แดงเล็กน้อย สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น หรือทายาแก้ปวด
- พักผ่อนให้เพียงพอ: การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญหลังการฉีดวัคซีน เพื่อให้ร่างกายมีเวลาฟื้นฟูและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ดื่มน้ำมาก ๆ : การดื่มน้ำเปล่าจะช่วยลดความไม่สบายตัวและช่วยฟื้นฟูร่างกาย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก: วันแรกหลังการฉีดวัคซีน ควรงดกิจกรรมหนัก หรือการออกกำลังกายหนัก เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น
- ติดตามอาการ: หากมีอาการผิดปกติหรืออาการข้างเคียงที่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ทันที
คำถามพบบ่อย
Q: ลูกป่วยในวันที่นัดฉีดวัคซีน HPV ควรเลื่อนหรือไม่?
A : หากลูกมีไข้หรือป่วยในวันที่นัดฉีดวัคซีน HPV ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าจะหายดี เพราะการฉีดวัคซีนในช่วงที่ร่างกายไม่แข็งแรง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ และอาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง
Q: วัคซีน HPV ต้องฉีดซ้ำในอนาคตหรือไม่?
A: เมื่อฉีดวัคซีน HPV ครบเกณฑ์แล้ว ยังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดซ้ำ เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ยาวนานมากกว่า 10 ปี และภูมิคุ้มกันสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น
กรณีฉีดวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ใหม่ เพราะวัคซีนครอบคลุมสายพันธุ์หลักที่อันตรายเหมือนกัน หากต้องการฉีดเพิ่ม ปกติจะไม่แนะนำ แต่ก็ไม่มีข้อห้าม เพียงแค่ต้องรับวัคซีนให้ครบจำนวน เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ที่เพิ่มเข้ามา
อย่างไรก็ตาม วัคซีนไม่ได้ครอบคลุมสายพันธุ์ HPV ทั้งหมด แม้ได้รับวัคซีน HPV แล้ว การตรวจสุขภาพและการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังคงมีความสำคัญอยู่ให้ลูกรักปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูก! ด้วยแพ็กเกจวัคซีนครบวงจรที่ HDmall.co.th จองรับโปรพิเศษได้เลย
โปรฉีดวัคซีน HPV 2 สายพันธุ์
โปรฉีดวัคซีน HPV 4 สายพันธุ์
โปรฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์