หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง คือ “ภาวะรกเกาะต่ำ” หรือมักเรียกทั่วไปว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” เป็นภาวะอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ หากอาการรุนแรง อาจเป็นเหตุให้ชีวิตได้
เพื่อการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ให้คุณแม่อุ่นใจมากขึ้น มารู้จักภาวะรกเกาะต่ำให้มากขึ้น ภาวะนี้เกิดได้อย่างไร เมื่อเกิดแล้ว ควรดูแลตัวเองแบบไหน มีวิธีป้องกันภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่
สารบัญ
ภาวะรกเกาะต่ำ คืออะไร
โดยปกติแล้ว รกจะอยู่ด้านบนของมดลูก ห่างจากปากมดลูกที่อยู่ด้านล่างสุดของมดลูก กรณีเกิดภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta previa) รกได้เคลื่อนตัวลงมาเกาะด้านล่างของมดลูก ใกล้กับปากมดลูก หรืออาจคลุมปากมดลูกทั้งหมด จึงขวางไม่ให้ทารกเคลื่อนลงมาที่ปากมดลูก
ภาวะรกเกาะต่ำพบได้ประมาณ 0.5–5% ของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ครบกำหนด สามารถแบ่งได้เป็น 4 แบบ ตามระดับตามความรุนแรง คือ
- Low lying placenta: รกอยู่ต่ำ แต่ยังไม่ถึงปากมดลูก ห่างน้อยกว่า 2 เซนติเมตร
- Marginal placenta previa: รกเกาะตรงขอบของปากมดลูก
- Partial placenta previa: รกคลุมปากมดลูกบางส่วน
- Total placenta previa: รกคลุมปากมดลูกทั้งหมด เป็นระดับรุนแรงที่สุด
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะรกเกาะต่ำ มาจากอะไร
สาเหตุหรือกระบวนการเกิดภาวะรกเกาะต่ำยังไม่ทราบแน่ชัด โดยอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของรก (รกใหญ่กว่าปกติ หรือบางกว่าปกติ) ความผิดปกติของมดลูก (มีขนาดใหญ่ผิดปกติ หรือรูปร่างผิดปกติ) รวมถึงตัวคุณแม่เองมีปัจจัยเสี่ยงบางประการ คือ
- ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
- มีประวัติภาวะรกเกาะต่ำในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
- การไหลเวียนเลือดของผนังมดลูกไม่ดี อาจเกิดจากเนื้องอกในมดลูก หรือโรคเบาหวาน
- เคยผ่าคลอด ขูดมดลูก หรือแท้งมาก่อน ทำให้ผนังมดลูกเกิดบาดแผล
- ตั้งครรภ์หลายครั้ง หรือตั้งครรภ์ลูกแฝด ทำให้รกมีขนาดใหญ่
- มีประวัติใช้สารเสพติดหรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะมากกว่า 20 มวนต่อวัน
- ผลข้างเคียงของยารักษาความดันโลหิตสูง
อาการแบบไหนสงสัยว่าเป็นภาวะรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำมักเกิดในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อยไปจนถึงมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่เจ็บครรภ์ เลือดมักหยุดไหลเอง แล้วกลับมาเป็นซ้ำในเวลาไม่กี่วันหรือเป็นสัปดาห์
ในครั้งแรกที่เลือดไหลอาจมีปริมาณไม่มาก และหยุดได้เอง ยกเว้นมีปัจจัยมากระตุ้น อย่างการมีเพศสัมพันธ์ ตรวจภายใน กระทบกระเทือนจากการทำงานหนักหรือนั่งรถ พอครั้งถัดไป เลือดที่ไหลจากช่องคลอดมักมีปริมาณมากขึ้น
นอกจากนี้ อาจรู้สึกเจ็บหน่วง เจ็บแปลบบริเวณท้องน้อย มีการบีบตัวของมดลูกเป็นพัก ๆ ร่วมด้วย หรือบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย ฉะนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกผิดปกติ หรือสงสัยว่าเป็นภาวะรกเกาะต่ำ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิด
ภาวะรกเกาะต่ำอันตรายมากน้อยแค่ไหน
ภาวะรกเกาะต่ำเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ผลกระทบต่อคุณแม่ เช่น
- ตกเลือดหรือเสียเลือดมาก ทำให้อาจเกิดอาการช็อกจากการเสียเลือดมาก
- น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เพิ่มโอกาสที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนด อาจจำเป็นต้อง ผ่าคลอดก่อนกำหนด เพื่อความปลอดภัย
- ติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดได้ง่าย เนื่องจากบริเวณรกใกล้ปากมดลูกมีเส้นเลือดมาก
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เช่น
- มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ และยังมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ
- อาจเสียชีวิตในครรภ์ จากการเสียเลือดหรือคลอดก่อนกำหนด
- เสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิด เช่น ปัญหาทางระบบประสาท หัวใจ ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบย่อยอาหาร
แม้ภาวะรกเกาะต่ำจะมีความเสี่ยง แต่หากได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์ และคุณแม่ทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น งดกิจกรรมที่กระทบต่อมดลูก ไม่ยกของหนัก และตรวจติดตามอัลตราซาวด์อย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถคลอดลูกน้อยได้อย่างปลอดภัย
รู้ได้อย่างไรเสี่ยงภาวะรกเกาะต่ำจริงไหม
หากจะรู้ให้แน่ชัด จำเป็นต้องตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง มักตรวจในไตรมาสแรกหรือช่วง 18–22 สัปดาห์ เพื่อดูตำแหน่งของรกว่าอยู่ใกล้กับปากมดลูก หรือคลุมปากมดลูกหรือไหม กรณีไม่เห็นขอบของรกได้ชัดเจน อาจใช้การอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด
การตรวจอัลตราซาวด์ยังช่วยตรวจดูว่ามีการเกาะแน่นของรกหรือภาวะรกเกาะลึก (Placenta accrete spectrum) หรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เคยผ่าตัดคลอดร่วมด้วยมักเสี่ยงต่อภาวะนี้ หากตรวจพบจำเป็นต้องมีการยืนยันการวินิจฉัยในขั้นต่อไป
คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ แต่มีเลือดออกเพียงเล็กน้อย แพทย์จะแนะนำให้งดทำงานหนัก การออกกำลังกาย มีเพศสัมพันธ์ หรือการเดินทางไกล รวมถึงมีการอัลตราซาวด์ติดตามอาการเป็นระยะ จนถึงช่วง 32–36 สัปดาห์
กรณีมีภาวะรกเกาะต่ำ แล้วมีเลือดออกปริมาณมาก แพทย์อาจให้รักษาตัวในโรงพยาบาล อาจมีการวางแผนผ่าคลอดในช่วงอายุครรภ์เหมาะสม โดยเน้นความปลอดภัย ทั้งแม่และลูกเป็นหลัก
ภาวะรกเกาะต่ำป้องกันได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ จึงยากที่จะป้องกัน แต่คุณแม่สามารถเข้ารับการฝากครรภ์ และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คุณแม่ได้รับดูแลสุขภาพครรภ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
กรณีตรวจเจอภาวะรกเกาะต่ำ แพทย์จะช่วยวางแผนการดูแลสุขภาพ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละไตรมาส ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน การใช้ยา หรือการวางแผนการคลอดล่วงหน้า
ในส่วนของการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ยกของหนัก งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่เสี่ยง เป็นต้น
ดูแลครรภ์อย่างมั่นใจตั้งแต่วันแรกด้วย แพ็กเกจฝากครรภ์ พร้อมโปรพิเศษจาก รพ.ชั้นนำทั่วประเทศ รอคุณอยู่ที่ HDmall.co.th