กายภาพบำบัดขาอ่อนแรง ทำด้วยตัวเองได้ที่บ้าน scaled

กายภาพบำบัดขาอ่อนแรง ทำด้วยตัวเองได้ที่บ้าน

ขาอ่อนแรงเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย เช่น ขาอ่อนแรงในเด็กที่มีผลมาจากพัฒนาการของสมอง ขาอ่อนแรงในวัยกลางคน เนื่องจากมีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือมีภาวะหลอดเลือดสมอง ที่ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรงของร่างกาย นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลง กล้ามเนื้อฝ่อลีบลง ก็มักจะพบการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การกายภาพบำบัดขาอ่อนแรงสามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อขา ทำให้ผู้ป่วยขาอ่อนแรงจากเกือบทุกสาเหตุสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนหรือใกล้เคียงปกติที่สุด

สาเหตุของขาอ่อนแรงมีอะไรบ้าง?

ขาอ่อนแรงเป็นอาการแสดงที่สำคัญของโรค หรือความผิดปกติของการทำงานของร่างกายหลายส่วน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ขาอ่อนแรงจากระบบประสาท (Nervous system) จะรวมความผิดปกติของสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาท ซึ่งทำหน้าที่สั่งการให้กล้ามเนื้อเกิดการเคลื่อนไหว เช่น การอ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมอง การอ่อนแรงจากเส้นประสาทถูกกดทับหรือได้รับบาดเจ็บ
  2. ขาอ่อนแรงจากระบบกล้ามเนื้อ (Muscular system) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยตรงกับกล้ามเนื้อบริเวณขาเอง ซึ่งอาจจะเกิดการอ่อนแรงเพียงมัดเดียว แต่กล้ามเนื้อนั้นมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหว หรือเกิดได้ที่กล้ามเนื้อหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้ เช่น กรณีการฝ่อลีบจากการไม่ได้ใช้งาน (Disuse atrophy)

วิธีรักษาอาการขาอ่อนแรง

วิธีรักษาอาการขาอ่อนแรงนั้นต้องเริ่มจากการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการอ่อนแรงให้ถูกต้องเสียก่อน เพื่อให้ออกแบบวิธีการรักษาได้เหมาะสม

การตรวจร่างกายที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการตรวจกำลังของกล้ามเนื้อขา เพื่อยืนยันว่ามีการอ่อนแรงจริง และมีความรุนแรงเท่าใด โดยทำได้ด้วยการให้แรงต้านในลักษณะสู้แรงกับกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ที่ผู้ป่วยรายงานว่ามีอาการอ่อนแรง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้รวมกับข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนร่วมกับมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ ก็อาจจะมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังที่เคลื่อนตัวไปทับบางส่วนของไขสันหลัง หรือเส้นประสาทที่มาเลี้ยงขา

อาจจะยังมีการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ด้วยอย่างการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การตรวจทางห้องปฏิบัติการในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดเอ็มจี

เมื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการอ่อนแรงเจอแล้ว ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หรือแก้ที่สาเหตุเพื่อป้องกันการลุกลามของอาการแล้ว การทำกายภาพบำบัดขาอ่อนแรงก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยถือเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยฟื้นฟูให้ขาที่อ่อนแรงกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

วิธีการทางกายภาพบำบัดสำหรับฟื้นฟูอาการขาอ่อนแรงทำได้อย่างไรบ้าง?

การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ซึ่งต้องอาศัยการวินิจฉัยจากนักกายภาพบำบัด มีวิธีการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดแตกต่างกันดังนี้

1. กล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยง (Denervated muscle)

เนื่องจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อชนิดนี้เกิดจากเส้นประสาทที่เป็นทางเดินของกระแสประสาทถูกตัดขาด ทำให้กระแสไปสาทไม่สามารถเดินทางไปสั่งการให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ กล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทนั้นจึงเกิดการฝ่อลีบลง

การฟื้นฟูต้องอาศัยการกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่แทนกระแสประสาทไปสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัว เพื่อชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นเส้นประสาทที่เสียหายจึงจะฟื้นตัวและกลับมาสั่งการกล้ามเนื้อได้อีกครั้ง

กระแสไฟฟ้าที่สามารถใช้ได้ในการนี้นั้นมีหลายชนิด บางชนิดสามารถเลียนแบบการหดตัวของกล้ามเนื้อได้เหมือนธรรมชาติ โดยไม่ให้ความรู้สึกเจ็บ

ปัจจุบันการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเป็นวิธีเดียวในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ขาดประสาทมาเลี้ยง
นอกจากนี้เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อต่อไม่มีการเคลื่อนไหว ก็มักจะติดแข็ง การออกกำลังกายแบบทำให้ (Passive Exercise) ซึ่งอาศัยแรงจากนักกายภาพบำบัดหรือแรงจากผู้ป่วยเองในการเคลื่อนไหวข้อต่อของผู้ป่วย ก็มักจะถูกนำมาใช้ในการรักษาร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้าด้วย

2. กล้ามเนื้อ่อนแรงชนิดที่ยังมีเส้นประสาทมาเลี้ยง (Innervated muscle)

กรณีของกล้ามเนื้อที่ยังมีเส้นประสาทมาเลี้ยง การฟื้นฟูจะมุ่งเน้นไปที่การออกกำลังกายตามความสามารถของกล้ามเนื้อ หากยังอ่อนแรงอยู่ แต่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองบ้าง

การออกกำลังกายที่จะนำมาใช้มักจะเป็นการออกกำลังกายแบบช่วยเหลือ (Active assisted exercise) กล่าวคืออาศัยแรงของผู้ป่วยร่วมกับแรงจากภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงของนักกายภาพบำบัด แรงที่เกิดจากกระกระตุ้นไฟฟ้า หรือเทคนิคที่ช่วยให้เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น เช่น การจัดท่าทางเพื่อลดแรงโนมท่วงต่อการออกกำลังกายนั้น การออกกำลังกายโดยใช้เครื่องแขวนทางกายภาพบำบัด (Suspension)

ในกรณีที่กล้ามเนื้อมีกำลังมากพอที่จะรับแรงต้านได้ นักกายภาพบำบัดอาจจะให้แรงต้านด้วยวิธีต่างๆ เช่น แรงจากนักกายภาพบำบัดเอง ถ่วงด้วยถุงทรายขณะออกกำลังกาย หรืออาศัยเครื่องมือออกกำลังกายชนิดต่างๆ เพื่อเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม การเลือกอุปกรรืช่วยเดินที่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ

วิธีการออกกำลังกายและฟื้นฟูตนเองเบื้องต้นที่บ้าน เมื่อมีอาการขาอ่อนแรง

หลังจากพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อคัดกรองอาการขาอ่อนแรงที่เป็นสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติที่รุนแรงแล้ว คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการขาอ่อนมีดังนี้

  1. ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (Quadricep exercise) เริ่มจากนั่งบนเก้าอี้ให้มั่นคง เหยียดเข่าข้างที่อ่อนแรงออกไปด้านหน้าให้สุด ถ้าทำได้ดีอาจจะเพิ่มความยากด้วยการใช้ถุงทราย (Weight cuff) ถ่วงที่ข้อเท้า เริ่มจากน้ำหนักน้อยๆ และค่อยๆ ปรับให้น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring exercise) นอนคว่ำบนเตียงค่อยๆ พับเข่าข้างที่อ่อนแรงจนส้นเท้าสัมผัสก้น ถ้าทำได้ดีอาจจะเพิ่มความยากด้วยการใช้ถุงทรายถ่วงที่ข้อเท้า เริ่มจากน้ำหนักน้อยๆ แล้วค่อยๆ ปรับให้น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง (Triceps surae) ยืนเกาะวัสดุที่มั่นคง เช่น ขอบโต๊ะ หายใจออก เขย่งปลายเท้าจนสุด หายใจเข้า และค่อยกลับมายืนตำแหน่งเดิม

ท่าออกกำลังกายทั้งหมดที่แนะนำไว้เบื้องต้นนี้สามารถทำได้ 10 ครั้งต่อเซ็ต ทำ 1-3 เซ็ตต่อรอบ วันละ 1-2 รอบ

ขาอ่อนแรงเป็นอาการที่พบได้บ่อย การมั่นสังเกตตัวเองจะช่วยทำให้เข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมักจะให้ผลการรักษาที่น่าพอใจกว่า บางรายอาจจะมีการอ่อนแรงชัดเจนขณะเดิน บางรายอาจจะมีอาการอ่อนแรงขณะเดินขึ้นลงบันได้เท่านั้น นอกจากนี้การอ่อนแรงแบบเฉียบพลันภายใน 1-2 วันยังเป็นอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองได้ หากมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดทันที


เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

  • Low J, Reed A. Nerve and muscle stimulation. In: Electro therapy explained. London: Butterworth-Heinemann, 1990: 67-71.
  • Along G. Priciples of electrical stimulation In: Nelson RM, Currier DP eds. clinical electrotherapy. California: Appleton and Lange, 1987:65-72
Scroll to Top